ถนนข้าวสารจากอดีตถึงปัจจุบัน
โดย ป่าน ศรนารายณ์
ถนนข้าวสารมีอดีต ผมก็มีอดีตบนถนนข้าวสาร เรื่องราวระหว่างอดีตของถนนข้าวสารกับเรื่องราวอดีตของผมแตกต่างกันแน่นอน วันนี้ ถนนข้าวสารกลายเป็นแหล่งชุมนุมของชนหลากหลายเชื้อชาติ พวกเขามาจากไหนกันบ้าง มุมไหนของโลกกลมๆใบนี้ ล้วนหลั่งไหลเข้ามาและจากไปอย่างกับว่าเล่น แต่อดีตของผมแม้เมื่อเธอจากลาไปไกลถึงไหนแล้ว ผมก็ยังไปเดินย่ำร่ำหาอดีตรัก ณ ห้องแถวไม้ชั้นเดียวหลังเก่า ที่วันนี้ก็ยังคงสภาพเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่..ไม่มีจักรเย็บเสื้อผ้าที่เคยวางตั้งถึง 8 ตัวที่ห้องสองคูหานั้น ผมวนเวียนไปหลายครั้งหลายครา แม้ว่าวันวานไม่อาจหวนคืน แต่ผมไปเพราะว่า มันช่างน่าตื่นตาตื่นใจเมื่อได้สัมผัสนานาเพื่อนมนุษย์
อดีตถนนข้าวสารเมื่อวันวาน
ปีพ.ศ.2435 กรมโยธาธิการ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงโปรดอนุญาตให้ตัดถนนในตรอกข้าวสาร เพื่อใช้สัญจรและเอื้ออำนวยความสะดวกกับประชาชนที่อยู่อาศัยและค้าขายอยู่ในละแวกนั้น เริ่มต้นจากถนนจักรพงษ์ที่พาดผ่านหน้าวัดชนะสงคราม มุ่งไปทางตะวันออกเฉียงใต้ จนไปตัดกับถนนเฟื่องนครที่มาจากข้างวัดบวรวรวิหาร และไปบรรจบสี่แยกคอกวัว เป็นถนนช่วงสั้นที่เดิมเรียกว่าตรอกข้าวสาร
ประชาชนที่เข้ามาอยู่อาศัยสองฝั่งตรอกข้าวสาร เริ่มมีการค้าขายข้าวสารจนกลายเป็นตลาดข้าวสารที่ใหญ่ของเขตพระนคร แขวงตลาดยอดกันเลยทีเดียว ด้วยเนื่องมาจากใกล้ฉางข้าวหลวงที่ตั้งอยู่สะพานข้างโรงสีริมคลองหลอดในวันนี้ บ้างก็เปิดขายของชำ บ้างก็เปิดขายก๋วยเตี๋ยว บ้างก็รับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า ขายถ่านก็ยังมี และอยู่อาศัยทั่วไปก็ไม่น้อย เดิมก็เป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียว หลังคามุงสังกะสี แต่บางบ้านก็สร้างทรงปั้นหยาสวยสง่ากว่าใครๆ
ถนนเปลี่ยนวิถีชีวิตก็เปลี่ยน
พ.ศ.2525 ถนนข้าวสารเริ่มเปลี่ยนไป ปีนั้นเป็นปีเฉลิมฉลองกรุงเทพ 200 ปี ฝรั่งต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวเพื่อชื่นชมงานอันอลังการยิ่ง จนไม่มีโรงแรมที่พักพิง ฝรั่งเหล่านั้นขอเช่าห้องแถว ห้องนอน จากชาวบ้านพักเพื่อท่องเที่ยวทุกวันๆ ถนนข้าวสารกลายเป็นบ้านพักให้เช่า "บ้านพักราคาถูกๆ วันละ 100 บาท/คน มุ้งหลังที่นอนผืน ผ้าห่มไม่ต้องเลย ร้อนมาก มีพัดลมพัดให้พอมีลมระบาย ก็เยี่ยมแล้ว"
หลังงานสมโภชน์ 200 ปี ฝรั่งอั้งม้อกลับบ้าน มีใครคนหนึ่งไปเขียนเรื่องราวที่พักแสนถูก คนไทยใจดี และอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวอันได้แก่ วัดพระแก้วอันยิ่งใหญ่ พระบรมมหาราชวังหมาดุสิตปราสาท สนามหลวง ท่าพระจันทร์ คลองหลอด ฯลฯ จะไปทางไหนได้ทั่ว รถเมล์ผ่านแทบทุกสาย รถแท็กซี่ สามล้อ วิ่งกันขวักไขว่ ด้วยไมตรีมีน้ำใจของคนไทย ได้ใจฝรั่งมั่งค่ามากมาย วิถีชีวิตชาวถนนข้าวสารก็เลยเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและสถานการณ์
ถนนข้าวสารโด่งดังไปทั่วโลก
ปีพ.ศ.2528-29 เป็นปีที่ชวนให้ตื่นตระหนกตกใจ เมื่อฝรั่ง ญี่ปุ่น แขก อาหรับ สิงคโปร์ ใต้หวัน อิสราเอล แม้กระทั่งรัสเซีย โอย แห่แหนกันเข้ามาเพียบ ส่วนใหญ่เลยก็ชาวต่างชาติที่นิยมแบกเป้บนหลัง เรียกตามภาษฝรั่งว่า นักท่องเที่ยวกลุ่ม Backpacker สำเหมาๆ ง่ายๆ บางคนเดินกินข้าวโพดไปตามทาง บางคนนั่งริมฟุตบาทกินผัดไทยในกล่องโฟม บางคนฉีกกินหมูปิ้งกับข้าวเหนียว กินได้จนกระทั่งส้มตำปู ส้มตำปูปลาร้า อะไรจะปานนั้น
พ.ศ.2533 มีการเล่นสงกรานต์บนถนนข้าวสาร ช่วงวันที่ 11-15 เดือนเมษายน อากาศในเดือนนี้ร้อนแทบตับแตก แต่ด้วยกุสโลบายและภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนเก่าคนแก่แต่อดีตได้สร้างสรรค์ประเพณีเกิดการรดน้ำดำหัวเพื่อขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ประเพณีดีแสนดีได้แปรเปลี่ยนเป็นรดน้ำไล่จีบสาว อีกวัฒนะธรรมหนึ่งในการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้ผูกสมัครรักใคร่กันได้กว้างขวางขึ้น ฝรั่งชอบมาก
ดังมากยิ่งขึ้นเมื่อเดอะบีชมาถ่ายทำที่นี่
อเล็ก การ์แลนด์ ผู้ประพันธ์เรื่องเดอะบีช กล่าวว่า ไม่มีถนนไหนในโลกที่มีมนุษย์หลากหลายเผ่าพันธุ์เท่าถนนข้าวสาร และมีเรื่องที่พิศดารมากมายเกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ก่อนและหลังหนังเดอะบีชออกฉาย ถนนข้าวสารก็ยิ่งโด่งดังจนแทบจะหาที่แทรกตัวนอนไม่ได้ เกิดเกสท์เฮ้าส์มากมาย ร้านรวงที่เคยขายวัสดุก่อสร้าง ร้านของชำ ร้านขายถ่าน แม้กระทั่งร้านตัดเย็บเสื้อผ้าของอดีตรักปลายปีพ.ศ.2519 ของผม เปลี่ยนเป็นร้านอาหารชั้นล่าง ที่พักนอนชั้นบน
นอกจากนั้นยังมีการแดสงความสามารถหลากหลายมากมายแบบอย่าง ในร้านรวงก็มี ริมถนนข้าวสารก็มี ดนตรี เครื่องเป่าแปลกๆ สารพัดสารเพที่เกิดและเปลี่ยนไป ส่วนอาหารการกินนั้นแปลกแตกต่างกันมากขึ้นๆ ข้าวราดแกงของไทยหายไป สเต๊ก อาหารญี่ปุ่น อาหารแขก แทรกตัวเข้ามาอย่างรวดเร็ว มันคือวิวัฒนาการที่ผ่านเวลาไปอย่างสายลม แต่มันมหัศจรรย์ยิ่งนัก
วันนี้ จึงไม่ใช่เพียงถนนข้าวสารเท่านั้น หากแต่ทุกถนนใกล้เคียงจนถึงถนนพระอาทิตย์ ก็มีเกสท์เฮ้าส์ ผับ ร้านจำหน่ายตั๋วรถตู้ ตั๋วรถทัวร์ และตั๋วเครื่องบิน
ที่นี่ ทุกตารางนิ้วมีโอกาส ก็สุดแต่ใจใครจะไขว่คว้า นี่ถ้าน้องช่างเสื้อยังอยู่ ป่านนี้ก็รวยไม่รู้เรื่องเเล้ว ทุกวันนี้ ผมเดินเล่นที่ถนนข้าวสาร ผมก็ยังคิดถึงเธอเสมอ