จากสวนรุกขชาติกำแพงแสนเป็นป่าในเมือง
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
สำนักงานราชบัณฑิตยสภาให้คำนิยามของคำว่า “สวนรุกขชาติ” คือ บริเวณที่ปลูกพรรณไม้นานาชนิด โดยเฉพาะไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจและไม้ดอกซึ่งมีอยู่ในท้องถิ่น มักเขียนป้ายบอกชื่อสามัญและชื่อวิทยาศาสตร์ไว้ด้วย เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า arboretum สวนรุกขชาติ ปลูกเฉพาะไม้ยืนต้นขนาดใหญ่และไม้ดอกในท้องถิ่นเท่านั้น
เดิมทีเดียว เมืองเก่ากำแพงแสน (ชื่อตั้งใหม่)เป็นเมืองเก่าสมัยทวารวดี ตั้งอยู่ระหว่างเมืองนครไชยศรีและเมืองอู่ทอง ปัจจุบันนี้อยู่ในเขตปกครองของ ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐมซึ่งปรากฏในตำนานและในภาพถ่ายดาวเทียมสามารถเห็นรูปทรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมมนของพื้นที่ได้อย่างชัดเจน มีคูน้ำกว้าง 30 เมตร รอบกำแพงดินของเมือง 757x803 เมตร มีพื้นที่กว้าง 315 ไร่ วัดความยาวโดยรอบตามคูเมืองได้ 2.75 กม.
ภายในกำแพงเมืองเก่า ไม่ปรากฏซากโบราณสถานแต่อย่างใด ไม่มีร่องรอยการขุดค้นทางประวัติศาสตร์ ยังมีร่องรอยของประตูเมือง 4 ประตู ได้แก่ประตูทิศเหนือเรียกประตูท่านางสรง ประตูด้านทิศตะวันออกเรียกว่า ประตูท่าพระ ประตูด้านทิศใต้เรียกว่าประตูท่าช้าง ประตูด้านทิศตะวันตกเรียกว่าประตูท่าตลาด
ต้นไม้ป่าภายในกำแพงเมืองเก่าที่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นคือต้นตะโก ขึ้นแทรกอยู่ประปราย เช่น ต้นสะแกนา ต้นคาง ต้นพุดมีอยู่เพียงต้นเดียว ดอกสีขาวลำต้นขนาดใหญ่กว่าคนโอบ ไม้พื้นล่างประกอบด้วยกระบองเพชรรูปใบพายแบนๆ ไม้เลื้อยหลากหลายชนิด ดินทรายแห้งๆแต่แน่น มีเนินดินมูนขึ้นเป็นหย่อมๆ และมีสระน้ำ คูน้ำบางจุด
ม.ราชภัฎนครปฐม
อ.เอก จาก รร.สาธิต ม.เกษตร กำแพงแสน
สัตว์ป่ามีเพียง กระรอก กระแต หนู ไน่ย นกประจำถิ่นเช่นนกเอี้ยงสาลิกา นกเอี้ยงหงอน นกแซงแซงหางปลา นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ นกบั้งรอก นกปรอดเหลืองธรรมดา นกปรอดหัวสีเขม่า นกตะขาบทุ่ง ฯลฯ เคยเป็นแหล่งดูนกของนักดูนก แต่ภายหลังมีการถ่ายทำภาพยนตร์บ่อย มีการจุดประทัดมาก นกแตกตื่นไปไม่กลับมาอีก
โดยเฉพาะนกอพยพเช่นนกเหยี่ยวรุ้งที่เคยอพยพมาในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม หายไป
เมืองเก่ากำแพงแสนถูกตั้งเป็นค่ายลูกเสือกำแพงแสน มีสิ่งก่อสร้างเป็นบ้านพักแรมและอาคารเอนกประสงค์ทรงแปดเหลี่ยมพร้อมซุ้มค่ายลูกเสือ และโรงเรียนเมืองเก่ากำแพงแสน มีอาคารเรียนและบ้านพักครู สังกัดสำนักจัดการพื้นที่การศึกษานครปฐม
เมืองเก่ากำแพงแสน ประกาศเป็นโบราณสถานสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมบริหารจัดการภายใต้ สำนักศิลปากร ที่ 2 สุพรรณบุรี มีหน้าที่ควบคุมพื้นที่ภายในเขตเมืองเก่ากำแพงแสน แต่ไม่มีการขุดค้นทางประวัติสาสตร์ มีเพียงการเฝ้าระวังพื้นที่ และการออกอนุญาตให้กองถ่ายภาพยนตร์และละครเข้ามาดำเนินการถ่ายทำได้ตลอดทั้งปี
เมืองเก่ากำแพงแสน กรมป่าไม้ประกาศจัดตั้งให้เป็นสวนรุกขชาติกำแพงแสน ปัจจุบันนี้สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (บ้านโป่ง) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีที่ทำการเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว 1 หลัง บ้านพักห้องแถวคนงาน 1 หลัง แปลงเพาะชำกล้าไม้ เรียกตำแหน่งผู้รับผิดชอบว่า หัวหน้าสวนรุกขชาติกำแพงแสน เฝ้าระวังต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนพื้นดินในเมืองเก่า
ในพื้นที่ 315 ไร่นี้มีหน่วยราชการบริหารจัดการ 3 หน่วยงาน การอนุญาตให้ถ่ายทำภาพยนตร์ผ่านมาจากกรมศิลปากร เสียงระเบิดของการถ่ายทำไล่นกจนหวาดวิตกและไม่อพยพมาอีก การดำเนินการที่เกี่ยวกับการตั้งค่ายลูกเสือ ผ่านสำนักงานจัดการพื้นที่การศึกษา นครปฐม (เข้าค่าย) การปลูกต้นไม้เพิ่มเสริมป่าผ่านกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ในสภาวะก้ำกึ่งที่มีหน่วยราชการถึง 3 หน่วยบริหารจัดการทับซ้อนกันเช่นนี้ ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้อย่างไรและจะเข้าถึงได้ยากง่ายหรือไม่เพียงใด หรือการอนุญาตให้ถ่ายภาพยนตร์และละครต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรมเพื่อให้นกอพยพไม่ตกใจและหวนกลับมาพักพิงอิงอาศัยได้อย่างในอดีต จะเป็นไปได้หรือไม่
ต้นไม้ตายพราย อาจล้มใส่ผู้คน ต้องจัดการ
วันที่ 21 ตุลาคม 2561 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมคนปัจจุบัน ร่วมกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13(บ้านโป่ง) เปิดพื้นที่ ป่าในเมือง ตามนโยบายของรัฐบาลยุค พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ประกอบไปด้วย พิธีการเปิด การปล่อยทีมนักปั่นจักรยาน การเชิญชวนให้ประชาชนโดยรอบพื้นที่นำสินค้าจากชุมชนต่างๆมาจัดจำหน่าย การแสดงของเยาวชนโรงเรียนเมืองเก่ากำแพงแสน การแสดงการฟ้อนด้วยศิลปะของพี่น้องชาวไทยทรงดำ(ลาวโซ่ง) และผู้นำทำการปลูกต้นไม้ เป็นอันเสร็จพิธีการ
คำถามคาใจ ในพื้นที่เดียวกันแตกต่างกิจกรรมถึง 3 หน่วยราชการและทำให้เกิดผลกระทบต่อกันดังกล่าวมาแต่ต้น เมื่อประกาศจัดตั้งเป็นป่าในเมืองเพิ่มอีก จะใช้หลักการบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างไรเพื่อให้สอดคล้องกันและกัน นกอพยพจะกล้ากลับมาหรือไม่ กิจกรรมนักดูนกจะกลับมาหรือเปล่า ต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มเช่นต้นปาล์มต่างถิ่นกำเนิด จะจัดการอย่างไร
ถ้าจะพัฒนาให้ป่าในเมืองเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนคนทั่วไป โดยเฉพาะคนกำแพงแสนและนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะพัฒนาได้อย่างไรหรือไม่ เพราะเท่าที่เข้าออกมากกว่า 15 ปี ไม่พบแม้ม้านั่งที่สร้างจากต้นไม้ล้มขอนนอนไพร เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนใช้เป็นที่นั่งเล่น หรือปูเสื่อนำอาหารมานั่งสังสรรค์กันภายในครอบครัวได้เลย ใครควรเป็นเจ้าภาพ
อันตรายจากสัตว์ป่าคงไม่มี แต่อันตรายจากคนจากการประสงค์ร้าย สระน้ำแต่ละจุดจะมียามช่วยชีวิตคอยเฝ้าระวังหรือไม่ กิ่งไม้ที่แก่และอาจผุหักหล่นใส่รถและคนได้ ใครจะเป็นคนเฝ้าระวังและจัดการตัดหรือแก้ไขให้เกิดความปลอดภัยได้ เพียงการตั้งชื่อใหม่คงไม่ใช่เป้าหมายของคำว่า ป่าในเมือง
ตลอดงานได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยตรี ภูมิพัฒน์ ชนัชญาอิศม์เดช แห่งโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นพิธีกรและเอนเตอเทนท์ตลอดงาน สวนรุกขชาติกำแพงแสน-ป่าในเมือง มีหัวหน้าชื่อประดุง จิตละอ่อน พนักงานป่าไม้ชำนาญการ รับผิดชอบ สนใจเข้าไปพักผ่อนและขอต้นกล้าพันธุ์ไม้ไปปลูกกันได้ที่โทร.086-1709353