ริมโขงตั้งแต่บึงกาฬ ่มุกดาหารไปจนจรดเมืองอุบลในทุกๆอำเภอริมโขง ไล่ไปถึงโขงเจียม สภาพทางกายภาพของแผ่นดินแถบนี้..
ล้วนเป็น..
"หินทราย"
หินทรายในก้อนหรือในแผ่นผืนเดียวกัน จะมีความอ่อน ความแข็ง ที่ "ไม่เท่ากัน"
ครั้นเมื่อส่วนอ่อนถูก "น้ำฝนบ้าง" "น้ำโขงบ้าง" วนเซาะ ส่วนอ่อนของหินทรายก็หลุดจากส่วนแข็งกลายเป็นทรายในน้ำโขงหรือทรายบนแผ่นดิน เหลือแต่ส่วนแข็งที่กลายเป็นหลุมบ่อ หลุมบ่อที่เกิดจากการกัดเซาะนี้เรียกกันในภาษาอีสานว่า
"โบก"
โบกมีรูปลักษณ์ต่างๆกันไปตามความอ่อนแข็งที่ถูกกัดกร่อนบนแผ่นหินทราย
บางแห่งแค่เป็นรูเล็กๆ บางแห่งกว้างกว่าดูเหมือนสะพานโค้ง บางแห่งมีรูปทรงคล้ายกระโหลกมนุษย์ดึกดำบรรพ์
บางแห่งมีความลึกหลายเมตร บางแห่งทั้งลึก ทั้งกว้างจนคนหนุ่มสาวลงไปจู๋จี๋กันได้
บางแห่งใหญ-่ยาว-ลึกจนสมาชิกทั้งครอบครัวลงไป
อยู่ได้ในโบกน้ำตกหินทราย (ซึ่งมีมากแถบบึงกาฬ)
ใครไปบึงกาฬ ไปมุกดาหารไปอำนาจเจริญ ไปจนจรดอุบลราชธานี ถ้าไม่ไปเยือนริมโขงยามหนาว ยามแล้งแล้วไม่ได้ไปดูโบก ก็ถือได้ว่าไปไม่ถึงความเป็น (ริม) โขง
และถ้ายามฝนนี้หรือฝนไหน ถ้าไปเมืองอุบลแล้วไม่ได้กินปลาโขง ไม่ได้กินเห็ดป่า ก็เหมือนไม่ได้มาเมืองนี้เลย!
รูปเหล่านี้ไม่ได้ถ่ายในช่วงฝนนี้ แต่ถ่ายในช่วงปลายฝนต้นหนาวหลายปีแล้ว
มันเป็นช่วงที่น้ำในโบกยังไม่เหือดแห้งพอมีให้สะท้อนแดด สะท้อนฟ้า
แดดยามเย็นปลายฝนต้นหนาวนั้นมีคุณสมบัติดีนักดีหนาคือแสงที่ยอนแสงทะแยง 15-10องศาออกมานั้น
สะท้อนน้ำในโบกออกมาสวยจับใจนัก
ผมใช้เวลาอยู่ที่นั่นพร้อมกับพี่น้องชาวประมงท้องถิ่นที่เป็นไกด์กิติมศักดิ์ให้ผมท่านนั้นจนค่ำ!
กลับออกมาด้วยแสงดาวส่องทาง!
รูปนี้เก่าหลายปีมาแล้ว ถ่ายที่แก่งอะไรจำไม่ได้ จำได้แต่ว่ามันอยู่ติดกับหาดชมดาวที่สวยนักสวยหนา!
จะเรียกว่าผืนติดกันก็ได้!
นี่ถ้ามีโอกาสอยู่แถวนั้นนานหลายวัน ผมน่าจะได้ภาพที่มีสีสันสวยกว่านี้
เอารูปมายั่วให้คนอยากไปถ่ายรูป
แต่รอให้โควิดจางๆกันไปก่อนนะครับ