นกเขาเปล้าธรรมดา
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ชื่อสามัญ Thick-billed Green-Pigeon
ชื่อวิทยาศาสตร์ Treron curvirostra Gmelin,1789
ชื่อวงศ์ COLUMBIDAE
ถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์
ในต่างประเทศ พบตั้งแต่หิมาลัยตะวันออกลงไปจนถึงเกาะสุมาตรา เกาะบอเนียว บังคลาเทศ ภูฎาน บรูไน กัมพูชา ฮ่องกง อินเดีย อินโดนิเซีย ลาว มาเลเซีย เนปาล ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม
ในประเทศไทย พบในป่าดงดิบและชายป่า สวนผลไม้และสวนสาธารณะ ที่ราบถึงความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,280 เมตร
สถานภาพ เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อย บางส่วนมีการอพยพระยะสั้น เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
ลักษณะทั่วไป
เป็นนกขนาด 25.5-27.5 ซม. ปากสีขาวแกมเขียว โคนปากสีแดง ขนหัวสีเทา หนังรอบตาสีฟ้าแกมเขียว ขนลำตัวเขียว ขนปีกบินสีดำมีแถบสีเหลือง ปลายหางคู่นอกๆ สีอ่อน ตัวผู้ ขนหลังสีน้ำตาลแดง ตัวเมียขนหลังสีเขียว แข้งและตีนแดง ตัวเมีย ขนหลังสีเขียว
พฤติกรรมและการขยายพันธุ์
ชอบออกหากินเป็นฝูง อาหารที่ชอบได้แก่ลูกไทร ผลไม้ เสียงร้อง “อู้-อู้-อู้-อู๋-อู้ แหลม คล้ายครวญคราง ทำรังตามต้นไม้ ช่วงผสมพันธุ์ระหว่างเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน วางไข่ 2-4 ฟอง
บันทึกผู้เขียนและผู้ถ่าย
ปีพ.ศ.2518 เป็นช่วงที่ผมไปทำงานประจำฝ่ายจัดการป่าไม้เขตอุบลราชธานี ถูกสั่งให้ไปเดินสอบสวนสิทธิ์ชาวบ้านที่ทำกินในป่าสงวนแห่งชาติ แถบอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับป่าไม้อำเภอและปลีดอำเภอ จากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่งต้องเดินผ่านป่าดงทึบ ชนิดแหงนคอมองตะวันไม่เห็น แต่ละวันที่เดินทางกันไปนั้น เสียงอาหารที่พวกเราเตรียมไปคือ ข้าวสาร ส่วนกับข้าวนั้นเดินไปก็เก็บหาผักหญ้าจากข้างทางติดมือไปยังหมู่บ้าน แต่ด้วยการไปทำงานลักษณะนี้เอื้อประโยชน์แก่ประชาชนคนอยู่อาศัยและทำกินในป่า แต่ละหมู่บ้านที่พวกเราไปจึงมีผู้ใหญ่บ้านให้การต้อนรับ ส่วนใหญ่จัดเตรียมอาหารท้องถิ่นไว้ให้
นกเขาเปล้าธรรมดา
ช่วงเวลานั้น ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าแต่อย่างใด ใครใคร่กินเนื้อสัตว์ป่าก็ล่ากันเอาตามวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น พวกเราก็เหมือนกัน ผมถึงได้เห็นนกเขาเปล้าธรรมดาลงกินดินโป่งเป็นฝูงๆ และได้กินเนื้อนกเขาเปล้าธรรมดาว่าหอมมันและอร่อยเหลือ บางวันก็ไล่กระต่ายป่า บางวันก็ได้ไก่ป่า ฯลฯ
ผมถ่ายรูปนกเขาเปล้าธรรมดาได้จากริมถนนจากหน่วยพิทักษ์ป่าสามยอดไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านกร่าง ช่วงต้นไทรกำลังตกผลชวนกิน ด้วยกล้องเล็ก ๆที่ผลิตให้มีกำลังซูม(ดึงภาพ)ได้อย่างมีประสิทธิภาพถ่ายได้ไม่ยาก เพราะนกตัวใหญ่