นวัตกรรม วนเกษตร ที่ลาดกระทิง
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ผู้บริหาร ออป.ภาคกลางถ่ายภาพร่วมกับสื่อมวลชนจากส่วนกลาง
อดีตคือความหลัง เมื่อครั้งที่ผมเข้าเรียนวนศาสตร์ปี 1มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน แล้วต้องไปดูงานเทอมแรกที่บริษัทไม้อัดไทยจำกัด ศรีราชา (2511) นอนกลางทะเล กินอาหารทะเล ปรีดิ์เปรมเกษมสุขสนุกปาก แต่พอเช้าตรู่ต้องบุกตะลุยด้วยรถบรรทุกผ่านผืนป่าไม้ยางนา ตะเคียนทอง ป่าที่เรียกกันว่า ป่าที่ราบต่ำ(Lowland Forest) พร้อมกับร้องเพลงที่ฝึกกันมาจากสโมสรวนศาสตร์ทุกค่ำคืน
“รื่นรมย์ชมพรรณไม้ในป่า ที่ได้มาชมแล้วเพลินใจ นกแว่วร้องก้องมาแต่ไกล เสียงกอไผ่เสียดกอดังคล้ายเสียงเพลง ........... ...โน่นไม้ยาง นั่นไม้ยูง ลิบลิ่วแลสูงเคียงข้างไม้แดง โน่นไม้สักราคาแพง แลเห็นชะนีห้อยโหนต่องแต่งหลายตัว ...”
แก่แล้ว จำได้กระท่อนกระแท่น แต่จำได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่รถโขยกเขยกผ่านผืนป่าดงพงพีที่มีแต่ป่าไม้ไพรพง ต้นยางสูงเสียดฟ้า จุดหมายปลายทางคือสวนป่าลาดกระทิง กลับรู้สึกสนุกเหลือกำลัง
สมัยนั้นทางยากลำบากกว่านี้มากนัก
วันนี้ เดินทางด้วยรถตู้ แอร์เย็นฉ่ำ ถนนราบดุจปูด้วยแพรไหม ลมหายใจแผ่วโผยเพราะผ่านไปจุดไหนก็ไม่เห็นไม้ยางยูงสูงลิบลิ่วดังแต่อดีตเมื่อ 50 ปีที่ผ่านเลย ป่าที่ราบต่ำกลายเป็นไร่มันสำปะหลังและสวนป่ายูคาลิปตัสกับตึกรามบ้านช่องไปทั่ว ไม่เหลือแม้ร่องรอยของลูกไม้ยางและตะเคียนสักต้น ทางภาคอีสานยังดีที่เห็นมีทั่วไปตามหัวไร่ปลายนา รู้สึกเศร้า
คุณฉลาด สุธาน๊ะ หัวหน้าสวนป่าลาดกระทิง เล่าให้ฟังว่า เดิมสวนป่าลาดกระทิงเป็นสวนป่าปลูกเพื่อทดแทนตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ของบริษัทไม้อัดไทยจำกัด ตั้งแต่ปีพ.ศ.2511,2519จนถึงปีพ.ศ.2532 ปิดป่าสัมปทาน ก็ปิดการดำเนินงาน แต่ยังต้องทะนุบำรุงสวนป่า ต่อมาส่งมอบต่อให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จัดการตราบทุกวันนี้ พื้นที่ 19,187.06 ไร่
ปลูกสวนป่าดังนี้คือ ยูคาลิปตัส 34% กระถินเทพา 26% ไม้สัก 7% ยางพารา 2% พื้นที่ที่เหลือเป็นพื้นที่อนุรักษ์ไว้ 31% รูปแบบการปลูกสร้างสวนป่าแบบเดิมๆ ปลูกป่าด้วยระยะปลูก 2x4 หรือ 2x3 เมตร ระหว่างแถวต้นไม้ป่าอนุญาตให้ชาวไร่เข้าปลูกพืชไร่ได้ เมื่อต้นไม้ยังไม่เติบโตจนบดบังแสงแดด
ด้วยรูปแบบเดิมนี้ เน้นที่สวนป่าได้จำนวนต้นไม้ตามประสงค์ ชาวบ้านได้อาศัยปลูกพืชไร่เพียง 1 หรือ 2 ปี เป็นการปลูกสร้างสวนป่าตามหลักการปลูกป่าในตำราเป๊ะ ปีถัดไปไปปลูกแปลงไหน ชาวบ้านก็จะได้พื้นที่ใหม่ไปทำพืชไร่ ครั้นหมดพื้นที่สวนป่า ชาวบ้านก็หมดพื้นที่ทำกิน สวนป่าก็หมดบทบาทการปลูกป่า แต่การทำไม้เพื่อหาเงินจากการขายไม้ยังดำเนินต่อไป
สวนป่าลาดกระทิง ตัดต้นไม้ขายได้เงินเข้ารัฐ แถมมีกิจกรรมการเผาถ่านไม้อีกด้วย
ถ้าเป็นไม้ยูคาลิปตัสหรือกระถินเทพา ที่แตกหน่อตอสองได้ ชาวบ้านอาจทำไร่ควบไปในสวนป่าได้อีกสักปี ชะตากรรมของชาวบ้านที่ต้องอาศัยผืนป่าทำกินหม่นหมอง อาจมีหรืออาจหมด สภาพความเป็นอยู่ระหว่างหน่วยงานกับชาวบ้านประหนึ่งศัตรู หรืออาจเหมือนรัฐบาลกับประชาชนคนตาดำๆ
คุณฉลาดเล่าต่อว่า หลายปีมานี้ แนวคิดการบริหารจัดการพื้นที่สวนป่าแตกต่างออกไป เพื่อให้ สวนป่าอยู่ได้และชาวบ้านอยู่ดี ควบคู่กันไป รูปแบบวนเกษตรจึงต้องปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกป่าแปลงใหม่แตกต่างจากรูปแบบเดิมๆ
จากระยะปลูกต้นไม้ป่า 2x3 เมตร (266ต้น/ไร่)หรือ2x4 เมตร(200 ต้น/ไร่) เน้นจำนวนต้นและระยะปลูก ปลูกต้นไม้แบบแถวเดียว มาเป็นการปลูกสร้างสวนป่าด้วยระยะปลูก แบบแถวคู่ ระยะปลูกต้นไม้ 1x2x6 เมตร หรือ 1.5x1.5x4.5 เมตร ชาวบ้านทำไร่ระหว่างแถวต้นไม้ได้มากขึ้น และทำได้ตลอดไป แบบว่ายั่งยืน มีที่ทำกินตลอดไป
สัดส่วนรายได้ของสวนป่าจากไม้ป่าเศรษฐกิจโตเร็ว เช่นยูคาลิปตัส กระถินเทพา หรือกระถินเทพณรงค์ ที่ปลูกด้วยระยะดังกล่าวแบบแถวคู่ สูงสุด ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็ได้ผลผลิตจากพืชไร่เช่นข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ได้เป็นตัวเงินสูงสุด แถมยั่งยืนเพราะทำกินได้ตลอดไป
สวนป่าลาดกระทิง ไม่ทิ้งแม้กระทั่งกิ่งก้านต้นไม้ เก็บงำนำมาเผาถ่านด้วยเตาเผา 6 เตา ผลิตถ่านไม้ได้เดือนละ 375 กระสอบ ปีละ 4,500 กระสอบ ยังคงเป็นผลประโยชน์ของหน่วยงาน กระทั่งการเพาะกล้าไม้ของสวนป่าก็ยังเป็นรายได้เมื่อเอกชนคนทั่วไปมาขอซื้อเพื่อการนำไปปลูกบนที่ดินกรรมสิทธิ์ของเขา
งานวิชาการ สวนป่าแปลงเก่า สำรวจหากำลังผลิตเพื่อผลของรายได้ที่ชัดเจน การปรับปรุงพันธุ์ไม้เพื่อให้ได้พันธุ์ดี การคัดเลือกแม่ไม้ที่มีลักษณะดี ให้ผลผลิตสูง การเพาะกล้าด้วยระบบการตัดปักชำ ถ้าเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้นทุนจะสูงเกินไป ทั้งนี้ ยังเป็นผลพวงของสวนป่ามากกว่าชาวบ้านในแต่ละชุมชน
จะเห็นตุ่มขาวๆที่ราก นั่นคือไมคอไรซ่า
โครงการส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจ โดยอาศัยต้นแบบจากการทดลองของสวนป่า และเป็นต้นแบบให้ประชาชนที่สนใจนำไปปลูกบนที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเอง ผลประโยชน์ของชุมชนเกิดตรงนี้มากขึ้นกว่าการชาวไร่อาศัยทำไร่ในสวนป่าและปลูกผสมผสานกัน ต้นไม้ที่ส่งเสริมได้แก่ ต้นกระถินเทพณรงค์ ยูคาลิปตัสพันธุ์ดี เพื่อให้ชาวไร่ได้ทั้งเนื้อไม้และพืชไร่
เจ้าของที่ดิน ยังทำไร่ตามชอบ เช่นมันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าวไร่ แต่ปลูกผสมด้วยตนไม้ป่าเศรษฐกิจพันธุ์ดีเช่นยูคาลิปตัส หรือกระถินเทพณรงค์ ตามรูปแบบที่สวนป่าลาดกระทิงทดสอบแล้วว่า เจ้าของไร่จะได้ประโยชน์สูงสุดทั้ง พืชไรที่จะปลูกได้ตลอดไปในสวนป่าเศรษฐกิจ ผลผลิตพืชไร่จะได้ทุกปี ต้นไม้ป่าจะได้เมื่อถึงอายุตัดฟัน และไว้ตอได้อีกอย่างน้อย 2 ตอหรือ 2 ปีเป็นอย่างน้อย
ทั้งนี้ สวนป่าลาดกระทิงได้รับงบประมาณจากรัฐให้ปลูกไม้ป่าเศรษฐกิจโตช้า ไร่ละ 5,940 บาท และไม้ป่าเศรษฐกิจโตเร็ว ไร่ละ 3,500 บาท/ไร่ แบ่งจ่าย 3 ปี
ยูคาลิปตัสตอ 2 และมันสำปะหลังอีกรอบ
ปลูกข้าวไร่ในป่าเศรษฐกิจแบบ 2 แถว
นางสมชิด วรวินัน นำที่ดินมีโฉนดเข้าร่วมโครงการ 36 ไร่ ปลูกต้นยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส แบบแถวคู่ พืชไร่ปลูกมันสำปะหลัง เมื่อวัยที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 ภาพที่เห็นมันสำปะหลังกำลังเติบโต และจะเก็บเกี่ยวเป็นรายได้ระยะแรก นางสมชิดตอบว่า น่าจะได้ไร่ละ 5 ตัน เป็นเงินมากน้อยแล้วแต่ราคาขณะที่ขุดมัน
ส่วนต้นยูคาลิปตัส ปลูกแบบแถวคู่ 1.5x1.5 สลับฟันปลา ระยะห่างที่เว้นให้ปลูกมันสำปะหลัง 4.5 เมตร จำนวน 9,612 ต้น (36ไร่)
แต่อย่างไรก็ตาม สวนป่าลาดกระทิงได้เก็บสถิติรายได้จากการทำการปลูกป่าแบบวนเกษตร ดังตารางต่อไปนี้ สนใจติดต่อได้โดยตรงที่สวนป่าลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา
คุณ มงคล ศรีอนันต์ ผอ.ออป.เขตศรีราชา รับผิดชอบสวนป่าในภาคตะวันออกทั้งหมด 8 สวน เล่าว่า ในสวนป่าไม้อะราง (นนทรีชนิดหนึ่ง) ต้นไม้เติบโตสม่ำเสมอ เป็นแปลงทดลองทางวิชาการป่าไม้ ของผู้เชี่ยวชาญจากองค์การ CSIO ประเทศออสเตรเลีย คุณคงศักดิ์ ภิญโญภูษาฤกษ์ บัดนี้ผลพวงทางวิชาการจบโครงการ กลายเป็นที่พักของช้างป่ากว่า 20 เชือก
“ช่วงเวลา 16.00 น.เป็นต้นไป ช้างโขลงหนึ่งราวๆ 20 เชือก มักจะเดินทางเข้ามาหากิน และพอถึงเวลามืดค่ำก็อาศัยสวนป่าต้นอะรางเป็นที่พักแรม ไม่ยอมกลับเข้าป่าอนุรักษ์เขาอ่างฤาไน จะด้วยประการใด ตอบได้ยากครับ เพราะสื่อสารกันคนละภาษา แต่ช่วงเวลาดังกล่าว ทุกวันๆ ชาวบ้านรู้ดีว่า จะไม่เข้ามาเก็บเห็ด เด็ดผักหวานป่าแถวนี้ กลัวช้าง”
คุณมงคลเล่าเหมือนจะเห็นภาพ ทำเอาสื่อมวลชนอย่างพวกเราแทบไม่อยากเดินทางไปสวนป่าคลองตะเกรา เพราะอยากจะเฝ้าถ่ายรูปและวิดีโอโขลงช้างดังกล่าว
“เห็นทีจะต้องแอบมากันอีกสักครั้ง เพื่อช้าง อ้อ มันจะเป็นไปได้ไหมครับว่า ถ้าสร้างห้างฝั่งตรงข้าม ให้พ้นวิถีช้าง เพื่อเป็นสถานที่นำเที่ยวหรือชมช้างป่า” เงียบ ไม่มีคำตอบ
นักวิชาการป่าไม้ในออป.ภาคกลาง
อย่างไรก็ดี ช้างโขลงนี้ไม่ทำลายต้นอะรางและยูคาลิปตัสแต่อย่างใด หากินไปตามขอบสวนป่าที่ยังมีชายห้วยให้พันธุ์พืชอาหารช้างพอเพียงให้เขาเก็บกิน วันหนึ่ง อาจเปิดชมช้างบนห้างส่องสัตว์ป่าได้ด้วย เป็นอีกมิติของการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรท่องเที่ยวประเภทสัตว์ป่า ปัญหาคือ เมื่อสร้างห้างส่องสัตว์ป่าแล้วต้องทดลองให้มั่นใจว่า เมื่อชมจนพอใจแล้วจะย่องกลับได้อย่างไรไม่ให้ช้างไล่ตามมาด้วย ชดโช้
กล้าไม้ปักชำคัดเลือกพันธุ์แล้ว