การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ถ่ายภาพนก
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
นิยามของคำว่า อนุรักษ์(conservation)คือ wise use และนิยามของคำว่า wise use คือ การใช้อย่างชาญฉลาด การอนุรักษ์จึงมิใช่การเก็บรักษาหรือการเฝ้าระวัง หากแต่หมายถึงการใช้อย่างชาญฉลาด ดังนั้น การประกาศเขตป่าอนุรักษ์จึงมิใช่เพียงการเก็บ การเฝ้าระวัง การหวงห้าม หากแต่หมายถึง การใช้อย่างชาญฉลาด แล้วใช้ไงล่ะ
เพียงเสี้ยววินาทีที่บันทึกภาพได้
กิจกรรมการท่องเที่ยวหรือการพักผ่อนหย่อนใจของมนุษย์ จึงต้องมีกรอบแห่งความเหมาะสม เพื่อปกป้องทรัพยากรการท่องเที่ยวมิให้เสื่อมสลายหรือถูกกระทำย่ำยี องค์กรที่เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมต่างๆจึงต้องสร้างกฎกติกาเพื่อให้การท่องเที่ยวในพื้นที่อนุรักษ์หรือแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป ได้เข้าไปอยู่ในกรอบการท่องเที่ยวอย่างชาญฉลาด
เพียงเสี้ยววินาทีภาพก็เปลี่ยน
โปรดเข้าใจเสียด้วยว่า การท่องเที่ยวหลากหลายมิติจึงมิใช่การทำลาย ทุกบริบทอยู่ในเงื่อนไขการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด เรียกได้ว่าเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนก็โอเค ส่วนกิจกรรมการท่องเที่ยวจะเป็นในรูปแบบใดๆก็ขึ้นอยู่กับทรัพยากรท่องเที่ยวของพื้นที่เหล่านั้น อาจเป็นการท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่สวยงาม การท่องเที่ยวที่ธรรมชาติเอื้ออำนวยให้
หรือการท่องเที่ยวเพื่อชมและเรียนรู้ วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม หรือขนบธรรมเนียมประเพณีของชุมชนหรือชนเผ่านั้นๆ ซึ่งคำว่าวัฒนธรรมนั้นมิใช่เพียงแค่ การฟ้อน พิธีกรรมทางศาสนา หรือการละเล่น เรื่องอาหารการกินของแต่ละชุมชนหรือชนชาติก็เป็นวัฒนธรรมที่น่าสนใจ เพราะแต่ละชนเผ่าย่อมมีวัฒนธรรมการทำและการกินอาหารที่แตกต่าง
ในแต่ละแหล่ง แต่ละพื้นที่อนุรักษ์ หรือแต่ละภูมิภาค ย่อมมีทรัพยากรท่องเที่ยวที่แตกต่าง กิจกรรมการท่องเที่ยวที่ประทับใจมักต้องพึ่งพากล้องถ่ายรูป และมือถือในยุคดิจิตอลเฟื่องฟู จะอย่างไรก็ตาม การบันทึกภาพด้วยอุปกรณ์ใดๆย่อมให้ความงดงามและมิติที่แตกต่างอย่างแน่นอน ยิ่งโดรนถ่ายภาพนิ่งหรือเคลื่อนไหวในมุมสูง อะฮ้า ยิ่งอลังการ
การท่องเที่ยวที่เป็นกิจกรรมเฉพาะกลุ่ม ย่อมมีความนิยมตรงกันในหมู่สมาชิก การถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ การถ่ายภาพเคลื่อนไหว การถ่ายภาพธรรมชาติ และกลุ่มที่ชื่นชอบการถ่ายภาพนก ย่อมมีอุปกรณ์ เครื่องมือ ความพร้อม ขีดความสนใจและความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีกำลังทรัพย์และมีเวลา เพราะทุกอย่างต้องมีเงินเป็นปัจจัยหลัก
แต่การถ่ายภาพของนกก็มิได้จำกัดเฉพาะนักท่องเที่ยวดังกล่าวเสมอไป สมรรถนะของกล้องที่มีราคาแพงและมีน้ำหนักมากมายหลายสิบกิโลกรัม หรือรถยนต์ที่สามารถบุกตะลุยไปได้ไกลและหนทางยากลำบาก ข้อจำกัดประเด็นนี้ ปัจจุบันคลี่คลายไปได้อีกส่วนหนึ่งเมื่อกล้องดิจิตอลยุคใหม่มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ประสิทธิภาพการถ่ายระยะไกล พิสดาร
แต่มีสิ่งที่ไม่แตกต่างระหว่างกล้องขนาดใหญ่และกล้องขนาดจิ๋ว ก็คือ ตากล้องที่ต้องมีความสงบงามในใจตน อดทนและทนอดแม้หิวและเหนื่อยอ่อน มีสมาธิและการสอดประสานของสมอง สายตา และนิ้วที่จะกดชัตเตอร์ เพื่อให้ได้ภาพในแต่ละเสี้ยววินาทีที่แตกต่าง เพราะตัวแบบคือนกเคลื่อนไหวเร็ว องค์ประกอบอื่นๆก็เช่นกัน ดวงตะวันหรือแสงอาจเปลี่ยนฉับพลันจนบันทึกภาพไม่ทัน ภาพประกอบเหล่านี้ ถ่ายด้วยกล้องขนาดเล็กเพียง 3.5 กรัม จิ๋วจริงๆ
ตะวันก็เปลี่ยนทิศในชั่วพริบตา
ไบรด์บังไพร จำเป็นมาก