ไม้พะยูง แพงโคตรๆ
ไม้ที่แพงกว่าทองคำ ราคา 250,000 บาท/ลูกบาศก์เมตร
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ตกตะลึงจังงัง เมื่อได้อ่านบทความเรื่อง สถานการณ์ไม้พะยูงในประเทศไทย ที่เขียนโดย คุณพนิดา รุ่งรัตนกุล และสุจิตรา จางตระกูล เนื้อหาพอจะสรุปได้ว่า ในผืนป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถูกลักลอบตัดไม้พะยูงมากถึง 31,935 ท่อน/แผ่น ปริมาตรเนื้อไม้ 2,727,939 ลบ.ม. มูลค่ามากถึง 719,159,550 บาท เฉลี่ย 250,000 บาท/ลบ.ม. เท่าที่จับได้และพบว่าเป็นผืนป่าอนุรักษ์ทั้งสองประเภทคือ อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มันเจ็บกระดองใจ
ไม้พะยูงม.เกษตร กำแพงแสน
มันเจ็บอย่างไรนะหรือ แรกเลย พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 กำหนดให้ไม้พะยูงเป็นไม้หวงห้ามธรรมดา ต่อมา ประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทั้งสองประเภท ครอบพื้นที่ที่มีไม้พะยูงขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 แล้วก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติทั้งสองประเภท พร้อมเงินงบประมาณและยานพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ การสื่อสาร ครบถ้วน ส่วน IUCN จะว่าอย่างไรก็ไม่มีความหมายแล้ว
คุณพนิดาเขียนว่า ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งสองประเภทดังกล่าวที่ไม้พะยูงถูกลักลอบตัดนั้น แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ
กลุ่มป่าภูพาน-ภูสระดอกบัว ได้แก่อุทยานแห่งชาติภูพาน,ภูผายล,ภูผาเหล็ก,ภูสระดอกบัว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐานและภูวัว
กลุ่มป่าพนมดงรัก-ผาแต้ม ได้แก่ อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย ,เขาพระวิหาร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม,พนมดงรัก,ห้วยศาลา และเขตฯห้วยสำราญ
กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว
กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ,ทับลาน,ปางสีดา และตาพระยา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่
มันเจ็บจี๊ดอย่างรุนแรงว่า ทั้งหลักกฎหมายและคนพร้อมเงินและอุปกรณ์ นั้นไม่สามารถปกป้องไม้พะยูงได้เลย เพราะอำนาจเงินเหนือความปรารถนาใดๆ ผู้คนพลเมืองทั้งของประเทศไทยและประเทศกัมพูชา จึงยอมเสี่ยงพร้อมอาวุธและอุปกรณ์ บุกเข้ามาลักลอบตัดกันอย่างหนัก ดังกระหึ่มไปด้วยข่าวสารผ่านสื่อมวลชนทุกสาขา ไม่เว้นกระทั่งสื่อออนไลน์
ผมไม่รู้จริงๆว่า ใครเป็นคนเสนอให้รัฐบาล คสช.ประกาศฉบับที่ 106/2557 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ วันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ประกาศให้ไม้พะยูงและพวกอีก 14 ชนิด บรรจุลงในมาตรา 7 แห่ง พรบ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ต้นพะยูงและพวกถูกจับไปตีตรวนด้วยกฎหมายดังกล่าว เข้าไปอีก ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งหรือชะลอการลักลอบตัดไม้พะยูงอยู่ดี
ผมเป็นเพียงนักวิชาการป่าไม้แก่ๆที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งใหญ่โตระดับนโยบายของกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช แต่อย่างใด แค่คนเขียนหนังสือส่งเสริมการปลูกป่าภาคเอกชน ทำได้เพียงเพียรวิ่งตัววิ่งบนหน้าเว็บไซต์ทองไทยแลนด์ดอทคอม มานานกว่า 9 ปีแล้ว
“ปลดโซ่ตรวนไม้สัก ไม้พะยูง และพวก จากมาตรา 7 แห่งพรบ.ป่าไม้พ.ศ.2484 และยกเลิกพรบ.สวนป่าพ.ศ.2535 ให้ปลูกไม้สัก ไม้พะยูงและพวก ได้อย่างอิสระเสรีบนที่ดินกรรมสิทธิ์ (โฉนด นส.3 นส.3ก.) สปก.4-01 ที่เช่าที่ราชพัสดุ และที่ดินเช่าป่าสงวนแห่งชาติ จะมีคนปลูกต้นไม้ดังกล่าวเต็มบ้านเต็มเมือง โดยรัฐไม่ต้องลงทุนแต่อย่างใดทั้งสิ้น”
ผมเชื่อมั่นว่า การเปิดกว้างทางแก้ไขนั้นต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทั่วโลกเอกชนเขาปลูกป่าเป็นอาชีพกันจนรัฐบาลเก็บภาษีเงินได้ รวยกันไปทั่ว ประเทศไทยปลูกได้ทั้งไม้สักและไม้พะยูง ไม้ดี ปลูกง่าย ตายยาก โตเร็ว และราคาแพง ได้อย่างยอดเยี่ยม ทำไมไม่กล้าเปิดให้ปลูกกันเต็มที่ไปเลยหนอ