จอมโกงจอมภู โดย อินทรี ดำ
2.สำนึกดี สำนึกร้าย
ณ ที่ทำการหน่วยปรับปรุงต้นน้ำภูพยับหมอก ซึ่งเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น ชั้นบนแบ่งเป็น 2 ห้องนอน ห้องน้ำ-ส้วม 1 ห้อง เครื่องนอนแบบง่ายๆ ชั้นล่างโล่งโจ้ง เทพื้นปูนขัดมัน มีหน้าต่างประตูมิดชิด ห้องน้ำ-ส้วม 1 ห้อง โต๊ะทำงานไม้สักพร้อมเก้าอี้ 1 ชุด เครื่องพิมพ์ดีพร้อมเก้าอี้นั่ง 1 ชุด ห้องโถงวางชุดรับแขกไม้สักทำเอง 1 ชุด เก้าอี้นั่ง 4 ตัว โต๊ะกลางขนาด 80x80 ม.1 ตัว ด้านหลังอาคารเป็นห้องโล่งเก็บวัสดุอุปกรณ์หลวงและทำครัว
ทองม้วนรับผิดชอบตามหน้าที่
หลังอาหารเช้าแบบง่ายๆสไตล์ทองม้วน มณีนั่งดื่มกาแฟร้อนรอพี่หัวหน้าคนเก่า พี่สงวน ธนชัย นักวิชาการป่าไม้ 6 ซึ่งจะมอบงานในหน้าที่หน่วยปรับปรุงต้นน้ำภูพยับหมอกให้กับมณี และขยับขึ้นไปบัญชาการ ศูนย์จัดการลุ่มน้ำน่าน เพื่อบริหารจัดการหน่วยปรับปรุงต้นน้ำในท้องที่จังหวัดน่านทั้งจังหวัด 11 หน่วยงาน ตำแหน่งพี่สงวนสูงขึ้น
พี่สงวน เดินทางมาถึงด้วยรถปิ๊กอัพราชการ ส่ง-รับมอบงานตามเอกสารที่เตรียมมาให้เบ็ดเสร็จ มณีได้แต่ลงชื่อรับมอบและเก็บแฟ้มไว้ในที่ทำการ เพื่อรายงานไปยังกองอนุรักษ์ต้นน้ำ กรมป่าไม้ ต้นสังกัดต่อไปตามระเบียบ
“แปลงปลูกป่าทั้งหมดตามรายละเอียดในแฟ้มนะ 4,700 ไร่ หน่วยงานเราปลูกป่าด้วยต้นไม้กระยาเลย ห้ามปลูกต้นสัก ดีใจด้วยที่ได้เป็นหัวหน้าคนใหม่ โอเค แล้วเจอกันที่ศูนย์จัดการลุ่มน้ำน่าน ในจังหวัดนะมณี” แล้วพี่สงวนก็จากไป
มณีให้หัวหน้าคนงานใหญ่ศรีวรรณรอ แล้วเดินไปคุยไปในเรือนเพาะชำกล้าไม้ที่คนงาน 8 คนกำลังรื้อซากถุงเพาะกล้าไม้เก่าๆทิ้ง ทำความสะอาดโรงเรือน เพื่อเตรียมเพาะกล้าไม้ใหม่ แล้วเดินข้ามห้วยสามสบไปยังบ้านพักคนงาน ที่คนงานสร้างพออยู่อาศัยกันไปตามประสา แต่แท้ที่จริงเป็นเพียงเพิงพักง่ายๆ ครอบครัวละหลัง ถ้าหลายครอบครัวก็หลังใหญ่ขึ้น แต่ทั้งหมดเหมือนเล้าไก่เสียมากกว่า สภาพเพิงพักโย้เย้แทบไม่เหมือนบ้านคน
เสียงใสๆของป้าคำร้องทัก “สวัสดีค่ะหัวหน้า” มณีจึงแวะเข้าไปทักทายด้วย บ้านหลังนี้พักกันสองครอบครัว ลุงชุ่มหัวหน้างานสนามและลูกเขยกับลูกสาวคนโต สภาพบ้านเป็นร้านค้าของชำประจำแคมป์คนงาน ศรีวรรณกระซิบบอกว่า ปล่อยเงินกู้ร้อยละ 20 ด้วย มณีชวนกันเดินไปจนสุดซอยกลางหมู่บ้าน
สำนึกดีบอกมณีว่า
”เหมือนเล้าไก่มากกว่าบ้าน แค่พอคุ้มนอน กองทัพเดินด้วยท้อง คนทำงานน่าจะต้องอยู่ดีกินดีตามสมควรกว่านี้ คนงานที่มีครอบครัวน่าจะมีบ้านให้อยู่ครอบครัวละหลัง คนงานหนุ่มสาวก็แยกสร้างเป็นห้องแถวอีกสองหลัง กั้นห้องให้อยู่กันเป็นสัดส่วน”
สำนึกร้ายบอกมณีว่า
“ปล่อยให้อยู่กันไปอย่างนี้แหละ ไม่ต้องเปลืองเงินค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าซ่อมบำรุง จะได้ประหยัดเงินงบประมาณเอาไว้เผื่อเบิกเท็จเข้ากระเป๋า”
มณีชวนศรีวรรณนั่งรถกระบะไปดูสวนป่าที่ปลูกไปแล้ว 4,700 ไร่ สำนึกดีบอกมณีว่าต้องรู้พื้นที่งานให้ครบถ้วน แปลงปลูกป่าแต่ละปีงบประมาณเป็นอย่างไร จำเป็นต้องปลูกซ่อมหรือต้องรื้อปลูกใหม่ให้เป็นป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์เหมาะสมกับเงินงบประมาณที่ให้มาแต่ละปี
แต่เมื่อตระเวนไปดูจนครบทุกแปลงแล้ว มณีได้แต่ปลงอนิจจัง แปลงปลูกป่าผลงานไม่สวยอย่างสังเวียนเพื่อนร่วมรุ่นมันทักที่กองอนุรักษ์ต้นน้ำวันแรกจริงๆ คงเป็นเพราะบังคับให้ปลูกด้วยต้นไม้กระยาเลยหลายชนิด ยกเว้นห้ามปลูกไม้สักใบกว้าง เลยเติบโตช้าและมองแทบไม่เห็นว่าเป็นแปลงปลูกป่าที่ผ่านมาหลายปีแล้ว
สำนึกดีบอกมณีว่าต้องหาทางปลูกซ่อมใหม่ แต่สำนึกร้ายก็แย้งว่าเปลืองเงินงบประมาณ อาจมากกว่างบซ่อมบำรุงที่ได้รับมาแต่ละปี
ความรู้สึกขัดแย้งกันเองอยู่ในที ภาพรวมแปลงปลูกป่ามองแทบไม่เห็นว่าเป็นสวนป่าปลูกแล้ว รกครึ้มไปหมด แต่ถ้าคิดว่าการยึดคืนพื้นที่มาจากชาวไร่ได้แล้วแม้ปล่อยเป็นป่าไร่ร้างไม่มีการเข้ามาถางทำไร่ข้าวโพด ไร่ข้าวซ้ำซากก็ยังดูเป็นป่าที่ค่อยๆเติบโตตามธรรมชาติ “ป่าฟื้นตัวได้เอง” เพียงแต่ช้ากว่าการปลูกและบำรุงรักษาอย่างจริงจัง
มณีขับรถเข้าไปที่ตลาดอำเภอนาน้อย ได้รู้ว่าร้านค้าอาหารจะซื้อหาจากร้านไหน วัสดุอุปกรณ์การปลูกป่าที่จำเป็นจะซื้อร้านไหน น้ำมันวัสดุเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์กระบะ รถยนต์บรรทุก 6 ตัน และเครื่องปั่นไฟ จะหาซื้อได้จากร้านใด มณีขับรถเข้าไปที่ทำการอำเภอนาน้อย บอกให้ศรีวรรณนั่งรอ แล้วเดินไปขอพบนายอำเภอนาน้อย เพื่อเป็นการแนะนำตนเอง
สำนึกดีบอกมณีว่ามาบ้านท่านไม่ควรนิ่งดูดาย ต้องไปคารวะเสียก่อน นายอำเภอดีใจมาก เดินออกมาส่งมณีที่หน้าที่ทำการ
“ขอบคุณมากที่มาพบครับ อำเภอยินดีอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่าง”
มณีกราบลาด้วยความนอบน้อม ผลดีของการรู้จักคำว่ามีสัมมาคารวะ ทำให้มณีมีพวกเป็นนายอำเภอแล้วหนึ่งคน
ค่ำนั้น มณีใช้ชีวิตเรียบง่าย กินตามที่ทองม้วนทำไว้ให้กิน แต่การต้องอยู่คนเดียวทั้งหน่วยงานค่อนข้างว้าเหว่ ศรีวรรณและทองม้วนเดินกลับข้ามห้วยสามสบไปยัง”บ้าน” เสียงไก่ป่าขานขัน นกร้องมาจากป่าบนหลังเขา อากาศยามเย็นปลายเดือนตุลาคมเริ่มเย็น มณีมีเหลือเพียงลุงนวล ยามอยู่เป็นเพื่อนที่ป้อมด้านหน้าหน่วยกับเสียงเคาะระฆังแต่ละชั่วโมงขับกล่อม
หน่วยปรับปรุงต้นน้ำภูพยับหมอกมีเพียงหัวหน้าหน่วยคนเดียว มณีมีหน้าที่ต้องทำบัญชีเบิกจ่ายค่าแรงคนงานทั้งหมดรวมกับใบเสร็จค่าวัสดุเชื้อเพลิงรถยนต์ 2 คัน ค่าวัสดุอุปกรณ์การเพาะชำกล้าไม้จำพวกถุงพลาสติก เมล็ดไม้ที่จะเพาะชำ วัสดุการเกษตรจำพวกจอบ เสียม ลวด ตะปู ฯลฯ ค่าใช้สอยสำหรับการซ่อมบำรุงเครื่องปั่นไฟ รถยนต์ บ้านพัก เรือนเพาะชำกล้าไม้ ถ้าตั้งใจโกง โกงได้ทุกเม็ด
สิ้นเดือนแรก เวียนมาถึง มณีนั่งมองบัญชีที่ต้องทำเบิกจ่ายค่าแรงคนงาน รายชื่อที่เขียนเรียงทีละคน ไล่ลำดับจากชายไปหญิง มณีนั่งมองบัญชีเรียกชื่อคนงานทุกเช้ากับบัญชีที่จะต้องทำเบิกจากทางราชการ ไม่มีคนงานคนไหนขยันมาทำงานครบ31 วันเลยสักคนเดียว และเดือนนี้เป็นเดือนแรกที่มณีต้องจัดทำบัญชีเบิกจ่ายค่าแรงคนงาน ในฐานะหัวหน้าหน่วยปรับปรุงต้นน้ำภูพยับหมอกครั้งแรก เดือนแรก
มณีนึกถึงวันที่ไปกราบลาพ่อว่าจะไปทำงานตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ตรี สวนสักห้วยทาก อำเภองาว จังหวัดลำปาง
“มึงอย่าไปโกงเขากินนะ ความสุขอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่เงิน”
พ่อตบอกผางๆ ผมชี้แจงพ่อว่า
“ผมไม่ได้ไปคุมโรงเลื่อยตัดไม้ครับ ผมไปเป็นผู้ช่วยการปลูกป่าไม้สักที่สวนสักห้วยทากครับพ่อ”
เสียงตวาดจากพ่อดังก้องหู
“มึงก็ต้องไปโกงค่าแรงคนงาน มึงอย่าไปโกงเขานะ มึงดูกรรมกรที่โรงสีบ้านเราซิ กว่าเขาจะได้ค่าแรง 10 บาท เหงื่อไหลท่วมทั้งวัน เขาเหนื่อยนะ”
“ครับพ่อ”
พ่อนั่งจ้องหน้ามณีนิ่งไปครู่ใหญ่ แล้วพูดต่อเสียงค่อยลง
“แต่มึงโกงหลวงได้ ไม่เป็นหนี้เป็นสินแล้วต้องรู้จักพอ ไปได้” ความจริงผมไปเป็นผู้ช่วยเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 600 บาท/เดือน ผมไม่มีอำนาจเบิกจ่ายเงินคนงานสักคน
“ครับ”
มณีกราบลาพ่อไปขึ้นรถไฟเพื่อเดินทางไปจังหวัดลำปาง จากวันนั้นเมื่อปีพ.ศ.2516จนถึงวันนี้ปีพ.ศ.2521 มณีเพิ่งมีโอกาสทำบัญชีเบิกจ่ายค่าแรงคนงานเป็นครั้งแรก และคืนนี้มณีกำลังจะทำบัญชีเบิกจ่ายค่าแรงคนงานครั้งแรก เดือนแรก มณีตัดสินใจทำบัญชีโกงค่าแรงงานจากหลวงตามที่พ่อสั่ง ด้วยการเบิกจ่ายค่าแรงงานคนงานเต็มเดือนทุกคน แต่คนงานทำงานคนละกี่วัน มณีตั้งใจมั่นจ่ายเต็มตามที่มาทำงานจริงทุกคน
“มณีไม่ได้ฉ้อราษฎร์ แต่บังหลวง”