http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,415,032
Page Views16,749,255
« November 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไม้สักและไม้พะยูง ระวังจะถูกหลอกขายต้นกล้า

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไม้สักและไม้พะยูง ระวังจะถูกหลอกขายต้นกล้า

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไม้สักและไม้พะยูง ระวังจะถูกหลอกขายต้นกล้า

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ           

                ไม้สักเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก.ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใด จะตัดต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และดังระเบิดเมื่อ พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.2535 ตราขึ้นเพื่อให้ประชาชนปลูกป่าได้ในที่ดินกรรมสิทธิ์   การเพาะกล้าไม้สักขายเฟื่องฟูถึงขั้นเกิดการปล้น ขโมย กล้าไม้สักจากแปลงเพาะกล้าและจากสวนป่าไม้สักของหน่วยงานรัฐหลายแห่ง  

                 แต่ก็ดับไปด้วยพฤติกรรมการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว  แหล่งผลิตต้นกล้าไม้สักซบเซา  ภาคเอกชนเลิกเห่อปลูกไม้สัก  แนวคิดให้เอกชนมีสิทธิปลูกป่าไม้สักเป็นอาชีพล่มสลาย


                ไม้พะยูงเป็นไม้ที่เฝ้าระวังด้วยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ.2507  และอยู่นอกบัญชีไม้ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ.2484  ไม้พะยูงดังระเบิดเมื่อเกิดการลักลอบตัดฟันเพื่อขายส่งออกไปยังประเทศจีนและเวียดนาม ไม่เว้นแม้ในป่าอนุรักษ์ของรัฐบาล ที่ดินหัวไร่ปลายนา กระทั่งในวัดวาอาราม ด้วยสนนราคาที่แพงสุดโต่ง

                ขายได้ทั้ง ๆ ที่ต้นไม้มีขนาดเล็กและคดงอ ท่อนสั้น ๆ จนเกิดกระแสนิยมปลูกต้นพะยูง แหล่งผลิตกล้าไม้ขายได้เป็นเทน้ำเทท่า  ใครๆก็อยากปลูกไม้พะยูงราคาแพง ๆ ไว้ในเขตบ้าน ที่ดินส่วนบุคคล 


                แต่แล้ว คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 106/2557 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2557 เพิ่มไม้พะยูงและพวกเข้าในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ.2484  กลายเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม่ว่าขึ้นอยู่ที่ใดๆ จะตัดต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ แบบเดียวกับไม้สักและไม้ยาง  เป็นอันว่า ไม้สักและไม้ยาง ไม้พะยูงและพวก  ถูกตีตรวนในมาตราเดียวกัน


                ด้วยบุญญาบารมีพระสยามเทวาธิราช เกิดการกลับลำขึ้นกลางคัน เมื่อ มติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 7 สิงหาคม  พ.ศ.2561  อนุมัติหลักการแก้ไขพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484  มาตรา7 “ให้ไม้ทุกชนิดในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง เช่น ที่ดินที่มีโฉนด นส.3 นส.3ก. นส.3ข. ใบจอง นส.2 สค.1 ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้ามและการทำไม้ไม่ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่อีกต่อไป”

กระแสไม้สักและไม้พะยูงดีขึ้น  เกิดความเปลี่ยนแปลง  จนน่าห่วงใยเพราะกระแสที่โหมจากโลกออนไลน์  จึงอยากนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไม้สักและไม้พะยูงเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คนที่อยากปลูกป่าเป็นอาชีพ ทำเงิน ดังนี้คือ


                  ผศ.ดร.บุญวงศ์ ไทยอุสาห์  อดีตอาจารย์ภาควิชาการปลูกสร้างสวนป่า คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน  กล่าวว่า  ไม้สักในประเทศไทยมีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น มีชื่อทางการค้าว่า teak มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Tectona grandis Linn.f อยู่ในวงศ์ VERNENACEAE แต่ในทางการค้า มีการแบ่งชนิดไม้สักออกไปตามสีและคุณสมบัติเนื้อไม้ที่แตกต่างกัน เช่นไม้สักทอง ไม้สักหิน ไม้สักไข ไม้สักหยวกและไม้สักขี้ควาย ไม้สักจะเป็นไม้สักทองหรือไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและการจัดการ ไม่ใช่สายพันธุ์  


                  ศ.ดร.สอาด บุญเกิด เขียนลงใน วารสารสักทอง ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ฉบับที่ 13 ปีที่ 17 (กรกฎาคม-กันยายน 2535) มาให้ผู้ที่มีความสนใจทราบดังต่อไปนี้

            1.สักทอง อยู่ในป่าโปร่งชื้นไกลห้วย หรือแล้งแต่ใกล้ห้วย ดินค่อนข้างสมบูรณ์ การแตกของเปลือกเช่นเดียวกับสักหยวก แต่อยู่ในที่ที่แห้งชื้นไปบ้างเท่านั้น เรือนยอดสมบูรณ์ ใบมีขนาดปานกลาง เนื้อไม้จะเป็นเส้นตรง ผ่าง่าย มีความแข็งแรงกว่าสักหยวก สีเข้ม เป็นสีน้ำตาลเหลือง หรือที่เรียกกันว่าสีทอง ไม้สักหยวก และไม้สักทองจะอยู่ในทำเลที่คล้ายกัน และลักษณะภายนอกคล้ายกันอาจจะสังเกตได้อีกเล็กน้อยก็คือ ร่องของเปลือกไม้สักหยวกจะกว้างกว่าไม้สักทอง แต่แตกเป็นร่องตรงเหมือนๆ กัน

            2.สักหยวก อยู่ในป่าโปร่งชื้น ริมห้วย ต้นตรง เปลือกแตกเป็นร่องตื้นแต่ยาวตรง เรือนยอดสมบูรณ์ ใบขนาดกลาง เนื้อไม้หรือแก่นจะมีสีน้ำตาลอ่อน หรือ สีจาง ถากหรือฟันง่าย

            3.สักไข ไม้สักพวกนี้อยู่ในป่าโปร่งแล้งเป็นส่วนมาก ความเจริญเติบโตดูจะช้า ร่องของเปลือกลึกและตัวเปลือกเป็นสันกว้าง ระหว่างร่อง ลำต้นตรงเปลา แต่มีลักษณะแกร็นๆ พุ่มของเรือนยอดบอบบาง แต่ก็มีใบเต็ม จะทราบได้ว่าเป็นสักไข ก็ต่อเมื่อถึงมือช่างไม้ เพราะเนื้อไม้จะมีไขปน ยากแก่การขัด และการทาแชลแลค หรือแลคเกอร์ สีของไม้สักไขจะเป็นสีน้ำตาลเข้มปนเหลือง

            4.สักหิน ไม้สักพวกนี้จะอยู่ในป่าโปร่งแล้งในระดับสูง การแตกของเปลือกเป็นร่องลึกและเรือนยอดดูไม่ค่อยแข็งแรง ใบเล็กกว่าปกติจะทราบได้แน่นอนเมื่อมีการโค่นล้ม หรือตบแต่งโดยพวกโค่นล้มเลื่อยและช่างไม้ เพราะเนื้อไม้จะแข็งกว่าไม้สักทั่วไปและเปราะ สีของเนื้อไม้มักจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม

            5.สักขี้ควาย ไม้สักพวกนี้จะเกิดอยู่ในที่ค่อนข้างแล้งในป่าผสมผลัดใบต่างๆและมักจะพบอยู่ในบริเวณรอยต่อ (Transition zone) ของป่าโปร่งผลัดใบต่างๆ และป่าแพะ ลักษณะของเรือนยอดมักจะไม่สมบูรณ์ ลำต้นจะตายบ้าง กิ่งหรือเรือนยอดแห้งตายไปบ้างกิ่งสองกิ่ง ลักษณะของเปลือกแตกเป็นร่องไม่สม่ำเสมอ ขาดเป็นตอนๆ และร่องลึก ลักษณะของเปลือกแตกเป็นร่องไม่สม่ำเสมอ ขาดเป็นตอนๆ และร่องลึก ลักษณะไม่สมบูรณ์ เนื้อไม้จากไม้พวกนี้หรือทราบแน่ว่าเป็นสักขี้ควาย ก็ต่อเมื่อโค่นลงมาเลื่อยดู ก็จะเห็นได้ชัดว่า เนื้อไม้จะมีสีเขียวปนน้ำตาล น้ำตาลแก่ น้ำตาลอ่อน ปนกันดูเป็นสีเลอะๆ


                  ผศ.ดร.วิชาญ เอียดทอง  ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้  คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  บางเขน และพวก (พ.ศ.2557)กล่าวว่า  ไม้พะยูงมีชื่อทางการค้าว่า Siam Rosewood มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Dalbergia cochinchinensis Pierre  อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE (FABACEAE) ไม้พะยูงแบ่งตามสีและลายของแก่นไม้ได้ดังนี้คือ ไม้พะยูงทอง ไม้พะยูงดำ ไม้พะยูงแดงหรือพะยูงไหมหรือพะยูงแดงจีน  ไม้พะยูงลายหรือพะยูงแกลบ                

              1.ไม้พะยูงทอง  สีพื้นแก่นออกโทนเหลือง เหลืองทอง ส้ม วงปีแคบเรียงเป็นวงกลม  เดิมเคยมีรายงานว่าพบที่ นครนายกและสระบุรี แต่ปัจจุบันนี้ พบยากแต่หากมีการนำไม้พะยูงจากท้องถิ่นอื่นมาปลูกในสองจังหวัดนี้ แล้วพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงจากต้นพันธุ์เดิมมาเป็นพะยูงทอง ก็แสดงว่า เกิดจากสิ่งแวดล้อมและแร่ธาตุในดิน  

              2.ไม้พะยูงดำ  สีพื้นแก่นออกโทนแดงอมม่วงเข้มจนถึงน้ำตาลดำ มีแถบวงปีกว้าง พบทั้งมีลายไม่เป็นระเบียบและเป็นระเบียบ  ไม้พะยูงชนิดนี้หายากเป็นอันดับ 2 รองจากพะยูงทอง นิยมทำเครื่องดนตรีมากที่สุด เพราะสีเข้มสวยและให้เสียงกังวานดี พบในภาคอีสานตอนบน แถบอุทยานแห่งชาติภูพานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว

             3.ไม้พะยูงไหมหรือพะยูงแดงหรือแดงจีน (จีนเรียก หงมู่ หรือ ลีหัวเมาะ)  ลักษณะลายและสีคือ สีพื้นแก่นไม้สีออกโทน สีแดงเลือดหมู หรือแดงเลือดนก  หรือ Greyed-orange Group 175 A-D ตามสีในสมุดเทียบสี The Royal Horticultural Society  สีสม่ำเสมอกัน เห็นลายเส้นวงปีไม่ชัดเจน  เห็นแต่สีน้ำตาลแดงอมดำ เสี้ยนตรง  พะยูงสีแบบนี้หายาก พบไม่บ่อย หายากรองจากพะยูงดำ พบในท้องที่ภาคอีสานตอนล่าง แถบเทือกเขาพนมดงรักและเทือกเขาสันกำแพง และพบว่าแหล่งเมล็ดต้นพะยูงแดงมาจากคือ

                จาก จ.สุรินทร์ ได้แก่ อ.ศรีขรภูมิ-3  อ.สำโรงทาบ-11 อ.กาบเชิง-17,28,30,38 อ.ท่าตูม-37 อ.จอมพระ-42 จาก จ.ยโสธร ได้แก่ -6,33,อ.ค้อวัง-49   จากจ.ศรีสะเกษ ได้แก่-22,23,51  จาก จ.นครราชสีมา ได้แก่ บัวใหญ่-13  จาก จ.ร้อยเอ็ด ได้แก่ -16, ราศีไศล-46,-72 จากจ.มหาสารคาม ได้แก่ โกสุมพิสัย-56 จากกาฬสินธุ์ ได้แก่-27, สหัสขันธุ์-58 จาก จ.ขอนแก่น ได้แก่ ชุมแพ-80 จาก จ.บุรีรัมย์ ได้แก่ สตึก-62  

             4.ไม้พะยูงลายหรือพะยูงแกลบ  แก่นสีพื้นไม้ออกโทนเหลือง หรือ Greed-orange Group 170 A-B ตามสีในสมุดเทียบสี   The Royal Horticultural Society  หรือ มีสีพื้นมากกว่า 2 สี ขึ้นไป  ลายวงปีชัดเจนและไม่ชัดเจน  ไม่เป็นระเบียบ  บางครั้งอาจพบว่าแก่นสีค่อนข้างซีดจาง  และมีกระพี้แทรกในแก่น  พะยูงสีนี้ พบมากที่สุดในประเทศไทยเทือกเขาภูพานและเทือกเขาภูพานน้อย   

  

                สรุป วิชาญ เอียดทองและพวก (2557) พบว่า ไม้พะยูงบางต้นไม่สร้างแก่น การสร้างแก่นไม้พะยูงมีปัจจัย 3 ปัจจัยดังนี้คือ ปัจจัยพันธุกรรม  ปัจจัยสิ่งแวดล้อมและปัจจัย การจัดการทางวนวัฒน์ และพบว่า แก่นไม้พะยูงที่มีสีโทนเข้มส่วนใหญ่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนน้อย (1,000-1,200 มม./ปี) ส่งผลให้แก่นไม้มีลายวงปีสีโทนเข้มขึ้นกว่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีมากกว่า 1,200 มม.


                 การปรับเปลี่ยนแนวคิดและกระบวนการปกป้องไม้ดีมีค่าราคาแพงของประเทศไทย ซึ่งไม้ที่เป็นพระเอกตลอดกาลอย่างไม้สักและไม้พะยูงนั้นทรงคุณค่า  ถ้ามีการเปิดวิสัยทัศน์เชิงบวกและก้าวนำด้วยเทคโนโลยีเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ไม้สักและไม้พะยูง  นับว่าเป็นคุณแก่การเพิ่มศักยภาพให้ประชาชนหันมาปลูกป่าเป็นอาชีพทำเงิน ป่าปลูกจะเต็มเมือง


                 แต่ควรระวัง  จะถูกหลอกขายต้นกล้า ว่าเป็นกล้าไม้สักทองและกล้าไม้พะยูงทอง กรุณาศึกษาข้อมูลจากปรมาจารย์ด้านวิชาการป่าไม้ทั้งสองท่านไว้ให้จงดี  ขอให้ทุกท่านจงโชคดี

                 พึงสังวรว่า ทั้งไม้สักและไม้พะยูงมีเพียงชนิดเดียว แต่จะได้เนื้อไม้และลวดลายเป็นไม้สักทองหรือไม้พะยูงทองหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมของภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ปลูก และการจัดการทางวนวัฒนวิธี มิใช่เกิดจากสายพันธุ์แต่อย่างใด  

 

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view