ค่ายปฏิบัติธรรม อัครเบญจพล (Lotus Camp)
อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ผมออกเดินทางจากหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน นครปฐม ไปตามถนนมาลัยแมน มุ่งหน้าไปอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เลี้ยวซ้ายเมื่อถึงสามแยกไปอำเภอบ่อพลอย ผ่านวัดทิพย์สุคนธาราม อำเภอห้วยกระเจา แล้วมุ่งหน้าไปยัง “ค่ายปฏิบัติธรรมอัครเบญจพล” ห่างจากอำเภอบ่อพลอย 10 กม.มีป้ายไม้เล็ก ๆติดชื่อไว้ ติดกับฟาร์มหมูขนาดใหญ่
เลี้ยวเข้าซอยเป็นถนนดินลูกรังสีแดง ระยะทางราวๆ 4 กม.ถึงป้ายบอกทางว่าเป็น ค่ายปฏิบัติธรรมอัครเบญจพล มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ตรงทางเข้าเป๊ะ ผ่านดงไม้นานาชนิด สูงปรี๊ดเป็นสนประดิพัทธ์ เตี้ยๆลงมาหน่อยเป็นต้นสะเดาบ้าง ต้นพฤกษ์บ้าง มีบ้านสองชั้นหลังใหญ่ 1 หลัง อาคารเปิดโล่งคล้ายๆศาลาการเปรียญ และมีโรงทานง่ายๆอยู่ด้านหน้า
ผมเดินเข้าไปถ่ายรูปบริเวณทั่ว ๆไป ไล่ไปจนถึงก้นครัว โดยได้ทักทายกับท่านอาจารย์ ศุภกิจ อัครเบญจพลและคู่ชีวิตของท่านคุณดวงใจ แต่ท่านกำลังรับแขกคือผู้หญิงผู้ชายและเยาวชนที่เข้ามาปฏิบัติธรรม บางคนก็เดินไปกินก๋วยเตี๋ยวที่ทางค่ายจัดเตรียมไว้ให้พร้อมสรรพ บางคนก็หิ้วของฝากมามอบแด่อาจารย์หลากหลายชนิด
กระทั่งถึงกระเช้าไข่ไก่ต้ม จำนวน 1,000 ฟอง เพราะศิษย์ที่นำมาแก้บนหลวงปู่ฤษีแล้วมอบให้กับทางค่ายเป็นอาหารมื้อใหญ่
เมื่อท่านอาจารย์มีช่วงเวลาปลอดศิษย์ทั้งหลาย ผมจึงขอเข้าไปพบและได้พูดคุยกันด้วยความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องราวชาวค่าย พอจะจดจำได้ว่า
ค่ายอัครเบญจพลเป็นค่ายที่เปิดอบรมและเข้ามาพักฟรี มีพื้นที่เกือบ 40 ไร่ ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงาหลากหลายชนิด ส่วนอาคารต่าง ๆที่เห็นก็มีหลากหลายสไตล์ตามความจำเป็นใช้ โรงครัวและโรงทาน อาคารปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิและเดินจงกลม รวมถึงยามที่ต้องปล่อยวางและปลุกจิตให้ตื่นด้วยความกระชุ่มกระชวยด้วยเสียงเพลง
ที่นี่ ไม่ได้บริการแบบรีสอร์ทหรือโรงแรม มีบ้านพักเดี่ยว 15 หลัง ที่นอน เสื่อ หมอน ผ้าห่ม เรียงรายบนศาลา เมื่อศิษย์ทั้งหลายมาถึงก็จะต้องจัดหาให้พอเพียงสำหรับตนเองใช้และรวมทั้งต้องช่วยกันทำความสะอาดห้องหรือที่พักแรมด้วยตนเอง เพราะค่ายเปิดแนวคิดการอบรมเพียง 3 วัน 2 คืน ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมอาหารสามมื้อ ซึ่งทำครัวและบริการโดยบุตรสาวและสามี น้องสาวและน้องเขย
เป็นการทำค่ายแบบว่ามาบ้านญาติ มาแล้วก็ต้องลงมือช่วยกันทำทุกอย่างด้วยตนเอง บางคนเป็นนายแพทย์ บางคนเป็นข้าราชการ บางคนเป็นคนสามัญทั่วไป แต่มีไม่น้อยเป็นนักธุรกิจที่สามารถหาความสุขสบายได้อย่างหรูเริด แต่ก็กลับต้องมาช่วยเก็บกวาดปัดที่นอนกันวุ่นวาย มาใช้ชีวิตเหมือนชีวิตที่เป็นจริง
มีหลายคนนะครับที่ตามพ่อแม่มาแต่เด็กจนเดี๋ยวนี้เติบโตเป็นหนุ่มแต่ก็ยังคงมาปฏิบัติธรรมที่นี่ รับรสพระธรรมคำสอนและคติสอนใจให้ใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดา
ผมเห็นเด็กหญิงเล็ก ๆ บนตักแม่ ยังคิดว่า ถ้าหนูน้อยคนนี้เติบโตขึ้นอีก 10-15 ปีข้างหน้าจะติดตามมากับพ่อแม่อีกหรือไม่ ก็ได้คำตอบล่วงหน้าจากท่านอาจารย์แล้วว่า มีเกิดขึ้นจริง ปัจจุบันนี้โตเป็นหนุ่มสาวแล้วก็ยังคงเดินทางมาปฏิบัติธรรมที่นี่
หลักธรรมที่สอนก็ไม่ได้ให้ยึดติดกับคำสอนจนแกะไม่ออก แต่สอนให้ดำรงชีวิต พัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัว โดยอาจารย์เองถือคติเพียงวลีสั้นๆว่า
“ยิ่งให้ ยิ่งได้ มีความอดทนและละวาง”
ด้วยความรู้ ความเข้าใจ ของท่านอาจารย์ ศุภกิจ อัครเบญจพล จากการที่ท่านเองชอบนั่งสมาธิและปฏิบัติธรรมมาแต่เด็ก เมื่อถึงวัยศึกษาและทำงาน จึงได้อาศัยใช้หลักธรรมดำเนินชีวิตตลอดมา ท่านสำเร็จการศึกษาปริญญาโทด้านการศึกษาทรัพยากรมนุษย์ และสอนหนังสือที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่เมื่อเกษียณราชการ จึงได้เปิดค่ายปฏิบัติธรรมอัครเบญจพลด้วยเงินก้นถุงที่สะสมมา
“เพื่อสืบทอดจรรโลงพระศาสนา อบรมจิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้อื่น”
“การเปิดอบรม ทำเพียงหลักสูตร 3 วัน 2 คืน หรือช่วงวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ตามแต่สภาพของศิษย์จะมีเวลามากน้อยเพียงใด อบรมให้ฟรีไม่มีค่าวิชาการแถมมีอาหารพร้อม 3 มื้อ แต่ส่วนใหญ่ศิษย์ก็มักจะบริจาคสมทบค่าใช้จ่ายให้อย่างที่เห็นนี่แหละครับ”
“เสื้อผ้าที่สวมใส่ในระหว่างปฏิบัติธรรม หากมีชุดขาวอยู่แล้วก็นำมาใช้ได้ แต่ถ้าไม่มีมาก่อนเลย ก็มีสำรองให้ซื้อหาได้ ไม่ได้บังคับและกะเก็งรายได้เหล่านี้เลย สนใจเปิด www.LOTUS CAMP.COM ก็จะได้รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง หรือกำหนดการเปิดฝึกอบรม หรือจะติดตามความเคลื่อนไหวใน Facebook//AkarabenjapolCamp.”
“สิ่งที่อยากให้เข้าไปเห็นคือ บรรดาศิษย์ช่วยกันจัดทำพิมพ์พระพุทธรูป ขนาด 3 ศอก 4 ศอก และ 11 ศอก เพื่อร่วมกันบริจาคสร้างพระแล้วนำไปถวายยังวัดต่าง ๆ หรือบางทีก็จะให้ยืมพิมพ์ไปจัดทำยังสถานที่ที่จะสร้างเลยทีเดียว สนใจก็ติดต่อเข้ามาได้เช่นกันครับ เป็นทานอีกชนิดหนึ่งที่ร่วมกันทำกับศิษย์หลาย ๆรุ่น”
“นอกจากนี้ ยังมีอาคารที่สร้างไว้ให้ ลูกเสือ เนตรนารี เข้ามาฝึกอบรมด้วยเช่นกัน เป็นเรือนนอนยาวตั้งอยู่ทางด้านหลัง ที่พักปฏิบัติธรรมเป็นหลัง ๆ และยังมีพื้นที่ว่างให้ถากถางแล้วกางเต็นท์นอนแบบไปแคมปิ้งก็ได้เช่นกัน”
โอกาสนี้ ขอนำกติกาและหลักเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการที่เกี่ยวข้องกับลูกเสือและเนตรนารี มาประกอบเพิ่มเติมความรู้อีกสักหน่อย
กิจกรรมเข้าค่ายพักแรมลูกเสือ-เนตรนารี
ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ทุกโรงเรียนต้องจัดให้นักเรียนทุกคนได้เข้าร่วม เพื่อมุ่งปลูกฝังให้นักเรียนเป็นผู้มีระเบียบวินัย มีความสามัคคี ตรงต่อเวลา ฝึกการเป็นผู้มีระเบียบวินัย มีความอดทน ฝึกทักษะในการแก้ปัญหา การทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยมีคุณครูเป็นผู้จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เข้าร่วมวันเรียนสัปดาห์ละ 1 วัน ฝึกเข้าค่ายพักแรม ออกไปพักค้างแรมนอกสถานที่ โรงเรียนจะต้องวางแผนการจัดการอย่างเป็นระบบและรัดกุมมากที่สุด รวมถึงการเรียนเชิญวิทยากรผู้กำกับลูกเสือ-เนตรนารี ที่มีประสบการณ์เข้ามาเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรม เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะและประสบการณ์ใหม่ๆ โดยมีคุณครูคอยติดตามดูแลความปลอดภัยของนักเรียนอยู่อย่างใกล้ชิดอีกด้วย
การนำนักเรียนออกไปเข้าค่ายพักแรมนอกสถานที่ โรงเรียนจะต้องวางแผนไว้ตั้งแต่ต้นปีการศึกษาและเตรียมการต่าง ๆมาเป็นลำดับ อย่างต่อเนื่อง
1. หลักการและเหตุผล
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 กำหนดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนไว้ 3 กิจกรรมคือกิจกรรมแนะแนว กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและกิจกรรมตามความถนัดและความสนใจ การเดินทางไกลและแรมคืน ให้ผู้กำกับกลุ่มหรือผู้กำกับลูกเสือ นำลูกเสือไปฝึกเดินทางไกลและแรมคืนในปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง ครั้งหนึ่งให้พักแรมอย่างน้อยหนึ่งคืน การเดินทางไกลและแรมคืน มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกให้ลูกเสือมีความอดทน อยู่ในระเบียบวินัย รู้จักช่วยตัวเอง รู้จักอยู่และทำงานร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนเรียนวิชาลูกเสือเพิ่มเติมและต้องประเมินคุณภาพการฝึกอบรมด้วย
2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อให้ลูกเสือ-เนตรนารีได้ฝึกความอดทนความมีระเบียบวินัย รู้จักช่วยตัวเอง รู้จักอยู่และทำงานร่วมกับผู้อื่น
2.2 เพื่อให้ลูกเสือ-เนตรนารีเป็นพลเมืองดี รู้จักช่วยเหลือสังคมด้วยความเต็มใจ
3.3 เพื่อให้ลูกเสือเนตรนารีได้พัฒนาตนเองเต็มศักยภาพจากประสบการณ์ตรงและเรียนรู้เพิ่มเติม