ทริปทำบุญไปเที่ยวไป ตอน2.
ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ตะวันรุ่งที่ดอยเสมอดาว
หัวหน้าทริป ท่านรองเบญจวรรณ ขัมภรัตน์ จัดสมาชิกสาวน้อยและหนุ่มใหญ่เข้าที่เข้าห้องเรียบร้อยทั้ง 17 ชีวิต กับบ้านเชิงดอยกม.16 อดีตแคมป์กรมทางหลวงเก่า เป็นบ้านนอกระบบของกรมอุทยานแห่งชาติศรีน่าน 4 หลัง 8 ห้อง เตียงสำรองอีก 1 ให้ไกดิ์ชราได้พักกาย อัตราหลังละ 2,000 บาท (ไม่มีใบเสร็จรับเงินของกรมอุทยานฯ จนท.เก็บตรงหน้าบ้าน ) อาหารค่ำและเช้าสั่งตรงร้านสวัสดิการของอุทยานฯ
คืนนั้นลมกระโชกแรง ทำให้ทุกคนหลบเข้าห้องพัก และพักจริงๆจังๆ ต่อเมื่อตะวันรุ่ง พระอาทิตย์แมนขึ้นขอบฟ้าฟากตะวันออก ตรงข้ามระเบียงบ้านพัก ทุกคนเดินออกมาชื่นชมแสงสีทองผ่องอำไพ แต่ไร้ทะเลหมอกดังที่เคยมี และเป็นเสน่ห์ของดอยเสมอดาวมานับสิบๆปี
“คืนไหนมีลมแรง เช้ามักไม่มีทะเลหมอก” เป็นจริง
แต่ด้วยความสดของอากาศบนเขสูงและอ็อกซิเย่นจากผืนป่าที่หนาแน่นไปทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำน่าน ทำให้รู้สึกได้ถึงความสดชื่น อากาศเย็นสบายๆ หายใจโล่งโปร่งไปทั่วปอด ปราศจากฝุ่นเช่นในเมืองใหญ่ ทุกคนออกมาวางท่าแอคทาง ยักเอว เหยียดขา ยกแขน แกว่งไกวส่ายสะบัดด้วยอาการของความสุข รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และนั่นคือภาพประทับใจที่ได้ถ่ายไว้ให้จดจำ หลังท้อเช้าข้าวต้มเครื่องง่ายๆกับไข่ลวก ก็พร้อมออกเดินทางไปยัง “เมืองน่าน”
เพียงอึดใจทศกัณฑ์ ก็ถึงแล้ว เสาหลักเมืองน่าน
วัดมิ่งเมือง เป็นพระอารามหลวง และเป็นที่ตั้งเสาหลักเมืองน่าน ได้ลงไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และได้อธิษฐานจิตพระประธานศิลปะเมืองน่าน ภาพวาดบนผนังฝีมือช่างพื้นบ้าน บอกเล่าเรื่องราวเช่นที่วัดนิยมให้จารึกไว้ ทั้งทางธรรมและวิถีชีวิตของชนชาวเหนือเมืองน่าน
โปรดเข้าใจ น่าน ไม่ใช่ล้านนาตะวันออกแต่อย่างใด น่านเป็นนคราอิสระที่ปกครองตนเองกว่า 700 ปี เฉกเช่นนครแพร่ เขลางค์นคร เชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา ซึ่งแต่ละนครล้วนมีเจ้าผู้ครองนครทั้งสิ้น ประวัติศาสตร์การควบรวมแว่นแคว้นเหล่านี้ เมื่อสยามเข้มแข็งเหนือกว่า
เลยไปอีกนิดเดียวเป็นข่วงเมืองน่าน หน้าอุโบสถวัดภูมินทร์ วัดที่มีพระอุโบสถแปลกตาทรงจัตุรมุข พระประธาน 4 องค์หันหลังชนกัน เป้นพระประธาน 4 องค์ ภาพเขียนสีฝีมือไทลื้อ ชนพื้นเมืองชาวน่านที่ได้จำหลักเอาไว้อย่างอัศจรรย์ บอกเล่าเพระธรรม วิถีชีวิตของชาวบ้านและคนเมืองจากต่างแดน ภาพประทับใจ ปู่ม่านย่าม่าน หรือภาพกระซิบรักบันลือโลก
ย้อนอดีต ไทลื้อ ที่วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา
พอรถตู้จอดเทียบสนิทดี เสียงดนตรีพื้นบ้าน “สะล้อ ซอ ปิน” แววๆผ่านสายลมจอย สมาชิกที่มีทั้งผู้เคยมาและผู้มาเป้นครั้งแรก เดินเกาะกลุ่มกันเข้าไปที่วงดนตรี สว.ไทลื้อ ทั้งชายและหญิงแต่ตัวเรียบง่ายตามวิถีชีวิตเดิมๆ “ปินคือ พิณ” กีต้าของชาวไทลื้อนั่นแล แล้วก็ได้เปลี่ยนกันบันทึกภาพ บ้างก็เลยไปห้องสุขา และบ้างก็เข้าไปชมศิลปะไทลื้อ ต้นแบบวัดภูมินทร์
“น่าเสียดายที่เคยมี อ้ายไทลื้อ นุ่งห่มอย่างบ่าวเมืองไทลื้อ มัคคุเทศก์คนเก่งหายไปเหียก่า” มิเช่นนั้นแล้ว คงได้ฟังเรื่องราวย้อนประวัติศาสตร์ ไทลื้อวัดหนองบัว แต่ถ้ามีเวลามากมายก็คงได้ฟังเรื่องเล่าขานตำนานไทลื้อสิบสองปันนา ชนเผ่าที่ต้องอพยพมาจากแดนไกลแน่นอนว่าอดีตไม่อาจหวนคืน “เก็บผักใส่ซ่า เก็บข้าใส่เมือง” นั่นแล
หลายคนได้บันทึกภาพ แต่หลายคนได้ผ้าทอแบบลายน้ำไหลฝีมือช่างทอไทลื้อตัวเก่า เป็นของฝากไปใส่ตู้เก็บ หรืออาจใช้ ”ใส่ไปงานบุญงานปอย”
ถนนหมายเลข 3 และ มุมโค้ง I LOVE YOU
หลังมื้อเที่ยง รถสองตอน เจเจ นำขบวนรถตู้ 2 คัน ห้อตะบึงไปยังถนนหมายเลข 3 และมุมโค้ง I LOVE YOU เพียงเพื่อให้มวลมหาสมาชิกได้ไปพบประสบการณ์จริง ที่กลายเป็นแลนมาร์คสำคัญ ใครมาแอ่งน่านไม่ผ่านถนนหมายเลย 3 เป็นว่ามาไม่ถึงเมืองน่าน ไปเสียได้ แย่งซีนวัดพระธาตุแช่แห้งและวัดพระธาตุเขาน้อยไปสิ้น
และแล้วตากล้องก็ต้องจ้องถ่ายเดี่ยว ถ่ายคู่ ถ่ายหมู่ ถ่าย....ตามแต่ละอนงค์จะพึงประสงค์จงใจ บ้างกระโดด ตัวลอย บ้างกระเด้งเตี้ยๆ
“แอ แอ..กระโดด” สิ้นเสียง เสียงหัวเราะบนรอยยิ้มพริ้มพราว
บ้างรวมหมู่แล้วร้อง “เป็บซี่” บนความรู้สึกที่แปลกไป ไกดิ์ชราต้องยอมโยนกล้องให้ไกดิ์หนุ่มหล่อ เจเจ บรรเลงตามใจชอบ แสงแดดที่สาดใส่ยามบ่ายร้อนแรงขึ้น แต่กว่าจะได้จนครบจบที่ใจ ก็ต้องเร่งขึ้นรถตู้แล้วมุ่งหน้าไปยัง อช.แม่จริม น่านตอนใต้ เพื่อ”ล่องแก่งน้ำว้า”
“สุดท้ายแล้วครับลุง โค้ง I LOVE YOU “ เจเจเปิดประตูรถพร้อมกล้อง ทำหน้าที่สู้กับแดดที่แสบหน้าเต็มๆ