สวนป่าท่ากุ่ม โนโบรุ อุเมดะ จ.ตราด
ศูนย์เรียนรู้การปลูกป่า ออป.ภาคกลาง
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ออป.ภาคกลางเชิญสื่อมวลชนส่วนกลางชมงาน
ผมรู้จักไม้พะยูงตั้งแต่ปีพ.ศ.2518 เพราะไปสำรวจคัดเลือกตีตราไม้ในป่าสัมปทานแถบอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งๆที่เพิ่งจะรู้จักแต่กลับชอบและอยากได้ไว้ในครอบครอง ผมขอซื้อไม้แผ่นหนา 1 นิ้วหน้า 10 นิ้วจากชาวบ้านที่ตีขึ้นฝาเรือนเอาไว้ มาทำโต๊ะอาหารให้แม่และกลึงแจกันรูปทรงต่างๆเอามาแจกญาติพี่น้อง ครับ ซึ่งสมัยนั้น ไม้พะยูงแทบไม่มีค่างวดแต่อย่างใดเลย และในปีต่อๆมาต้องไปปราบปรามการตัดไม้พะยูงแถบศรีสะเกษ สุรินทร์ ยโสธร อุบลราชธานี แบกเสาพะยูงเหลี่ยมหน้า 8 นิ้ว บั้งชั้นซี 3 แทบหลุด
ผอ.ออป.ภาคกลาง จอง มงคลสกุลฤทธิ์ แนะนำกว้างๆ
วันนี้ เมื่อต้องสืบค้นประวัติถึงถิ่นกำเนิดไม้พะยูง จึงได้รู้ว่า
ในประเทศไทย พบในป่าเบญจพรรณชื้นและป่าดิบแล้งยกเว้นภาคเหนือและภาคใต้ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 200 เมตร ดังนี้คือ
ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี
ไม้พะยูงถากแบบที่ถูกลักลอบ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้แก่ บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำพู เลย อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด และนครราชสีมา
ภาคกลาง ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี และนครนายก
หน.สวนป่าท่ากุ่ม คุณวัชรินทร์ สีนวล บรรยายสรุป
ในต่างประเทศพบในประเทศ กัมพูชา(อุดรมีชัย เสียมเรียบ สตรึงเตร็ง เสียมปาง) ลาว(แขวงบอริคำไซ คำม่วน ซาละวัน เซกอง จำปาสักและอัตตะปือ) และเวียดนาม(กวางนัม เกียไล และคอนตูม)
ไม้พะยูง มีเพียงชนิดเดียว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dalbergia cochinchinensis Pierre อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE (FABACEAE) ชื่อสามัญ Siamese Rosewood หรือ Thailand Rosewood
แต่ในทางการค้า ไม้พะยูงถูกแบ่งเป็น 4 ชนิดตามสีและลายของแก่นไม้ (เช่นเดียวกับไม้สัก) ได้ดังนี้คือ
1.ไม้พะยูงทอง สีพื้นแก่นออกโทนเหลือง เหลืองทอง ส้ม วงปีแคบเรียงเป็นวงกลม เดิมเคยมีรายงานว่าพบที่ นครนายกและสระบุรี แต่ปัจจุบันนี้ พบยาก
2.ไม้พะยูงดำ สีพื้นแก่นออกโทนแดงอมม่วงเข้มจนถึงน้ำตาลดำ มีแถบวงปีกว้าง พบทั้งมีลายไม่เป็นระเบียบและเป็นระเบียบ ไม้พะยูงชนิดนี้หายากเป็นอันดับ 2 รองจากพะยูงทอง นิยมทำเครื่องดนตรีมากที่สุด เพราะสีเข้มสวยและให้เสียงกังวานดี พบในภาคอีสานตอนบน แถบอุทยานแห่งชาติภูพานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว
3.ไม้พะยูงไหมหรือพะยูงแดงหรือแดงจีน (จีนเรียก หงมู่ หรือ ลีหัวเมาะ) ลักษณะลายและสีคือ สีพื้นแก่นไม้สีออกโทน สีแดงเลือดหมู หรือแดงเลือดนก หรือ Greyed-orange Group 175 A-D ตามสีในสมุดเทียบสี The Royal Horticultural Society สีสม่ำเสมอกัน เห็นลายเส้นวงปีไม่ชัดเจน เห็นแต่สีน้ำตาลแดงอมดำ เสี้ยนตรง พะยูงสีแบบนี้หายาก พบไม่บ่อย หายากรองจากพะยูงดำ พบในท้องที่ภาคอีสานตอนล่าง แถบเทือกเขาพนมดงรักและเทือกเขาสันกำแพง และพบว่าแหล่งเมล็ดต้นพะยูงแดงมาจากคือ
4.ไม้พะยูงลายหรือพะยูงแกลบ แก่นสีพื้นไม้ออกโทนเหลือง หรือ Greed-orange Group 170 A-B ตามสีในสมุดเทียบสี The Royal Horticultural Society หรือ มีสีพื้นมากกว่า 2 สี ขึ้นไป ลายวงปีชัดเจนและไม่ชัดเจน ไม่เป็นระเบียบ บางครั้งอาจพบว่าแก่นสีค่อนข้างซีดจาง และมีกระพี้แทรกในแก่น พะยูงสีนี้ พบมากที่สุดในประเทศไทยเทือกเขาภูพานและเทือกเขาภูพานน้อย
สวนป่าไม้พะยูง
ดร.วิชาญ เอียดทองและพวก (2557) พบว่า ไม้พะยูงบางต้นไม่สร้างแก่น การสร้างแก่นไม้พะยูงมีปัจจัย 3 ปัจจัยดังนี้คือ ปัจจัยพันธุกรรม ปัจจัยสิ่งแวดล้อมและปัจจัย การจัดการทางวนวัฒน์ และพบว่า แก่นไม้พะยูงที่มีสีโทนเข้มส่วนใหญ่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนน้อย (1,000-1,200 มม./ปี) ส่งผลให้แก่นไม้มีลายวงปีสีโทนเข้มขึ้นกว่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีมากกว่า 1,200 มม.
แต่ที่สวนป่าท่ากุ่ม โนโบรุ อุเมดะ จ.ตราด มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 4,500-5,000 มม./ปี ดินเป็นกรดมีค่า pH 4.07 อุณหภูมิเฉลี่ย 20-34 องศาเซลเซียส แถมดินมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างคือเป็นดินร่วนปนเหนียว (ดินร่วน 34% ดินเหนียว 31% และดินทราย 25% ที่ดินสวนป่าสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 40-60 เมตร พื้นที่ทั้งหมด 4,656.475 ไร่
ความแตกต่างระหว่างถิ่นกำเนิดของแต่ละภูมิภาค(สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ) พันธุกรรมของแต่ละสายพันธุ์และระบบวนวัฒน์วิธีในการจัดการสวนป่า แบบเชิงเดี่ยวหรือผสมผสาน จะส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโต คุณลักษณะของเนื้อไม้หรือสีไม้หรือลวดลายมากน้อยเพียงใดหรือไม่ เป็นเรื่องที่ควรศึกษาและวิจัยอย่างละเอียด เพราะอาจส่งผลถึงราคาของไม้พะยูงได้
ไม้พะยูงแปรรูปจากต้นที่ล้ม
ลองติดตามดูอัตราการเจริญเติบโตทั้งทางความสูงและความโต(เส้นรอบวงเพียงอก 1.30 ม.ของไม้พะยูงในการปลูกผสมผสานกับไม้ป่าหลายชนิดด้วยระยะปลูกที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นผลการศึกษาของคณะวนศาสตร์ ที่ได้ส่งมอบชิ้นงานนี้ให้กับ ออป.เมื่อปีพ.ศ.2558 พบว่า
ปลูกปีพ.ศ.2522 ระยะปลูก 4x4 เมตร ความโต 95 ซม.ความสูง 16 เมตร ปีพ.ศ.2523 ระยะปลูก 4x6 เมตร ความโต 92 ซม.ความสูง 15 เมตร และปีพ.ศ. 2526 ระยะปลูก 4x4 เมตร ความโต 87 ซม ความสูง 14 เมตร เป็นต้น
พะยูงมีลักษณะประจำพันธุ์คือ คดงอ
แนวคิดการปลูกป่าด้วยระบบวนเกษตร (Agroforestry) เชิงประณีต คิด วิเคราะห์แล้วลงมือทำ ปัญหาสำคัญ จังหวัดไหนควรจะปลูกผลผลิตการเกษตรแบบอายุสั้นหรืออายุยาว ชนิดไม้ป่ามีค่าราคาแพงควรเป็นไม้ป่าชนิดไหนจึงเหมาะสมกับภูมิประเทศ ระบบวนวัฒนวิธีที่เหมาะสม ระยะเวลาที่พึงประสงค์ ความเป็นไปได้ เมื่อกฎหมายและระเบียบเอื้อเพียงใดหรือไม่
ขนาดที่แตกต่าง
อย่างไรก็ดี สวนป่าท่ากุ่มโนโบรุ อุเมดะ ตั้งอยู่ห่างจังหวัดตราดเพียง 30 กม.การคมนาคมสะดวก หากจะเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้การปลูกป่าเชิงพาณิชย์ ย่อมได้รับความสนใจ เพราะแทบไม่เคยมีใครรู้ข้อมูลเลยว่า พื้นที่ภาคตะวันออกเคยเป็นถิ่นกำเนิดของไม้พะยูง เพราะทราบทั่วกันว่า เป็นจังหวัดที่มีลักษณะภูมิอากาศแบบฝนแปดแดดสี่
มีนักวิชาการป่าไม้พร้อมในการสนองด้านความรู้ประสบการณ์การปลูกสร้างสวนป่าตามหลักวนเกษตรที่พัฒนาสุดขั้ว มีตัวอย่างไม้พะยูงทั้งที่เป็นต้นในป่าปลูกและเป็นไม้แปรรูปที่บ่งชี้ถึงคุณสมบัติของเนื้อไม้ว่า สวยงามหรือแตกต่างจากไม้พะยูงในท้องถิ่นอื่นๆหรือไม่เพียงใด มีขบวนการศึกษาวิจัยที่ตอบโจทย์ในหลายๆเรื่องได้อย่างลงตัว
ถ้ามีบ้านพักแรมคืนบริการแก่ผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ บริการอาหารหวานคาวและผลไม้ตามฤดูกาล ด้วยฝีมือและรสชาติอย่างเมืองตราด มีเอกสารประกอบการศึกษาเรียนรู้แจกให้เป็นคู่มือการปลูกสร้าง
สวนป่าในระบบวนเกษตรที่ออป.จัดทำมาจากประสบการณ์และวิชาการที่เหมาะสม ผมเชื่อว่า จะเป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงเกษตรกรรมที่โดดเด่นของภาคตะวันออกและสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าปลูกได้จากแรงจูงใจที่ได้รับ
สนใจศึกษาและเรียนรู้ ติดต่อที่ ผอ.ออป.ภาคกลาง คุณจอง มงคลสกุลฤทธิ์ โทร.081-7391232 หรือที่หัวหน้าสวนป่าท่ากุ่ม โนโบรุ อุเมดะ คุณ วัชรินทร์ สีนวล โทร089-0263194 ....