สุพรรณบุรี
เมืองหลวงนักร้องเพลงลูกทุ่ง
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ค่ำคืนแสนสุขสมกับเสียงเพลงของสุรพล สมบัติเจริญ เพิ่งจบลงไป ณ วิกแสงจันทร์ ฝั่งตรงข้ามวัดหนองปลาไหล อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ความสุขยังปลื้มปริ่มไปทั่วใบหน้าของแฟนเพลง ขณะที่สุรพลเดินข้ามถนนมายังลานจอดรถหน้าวัดหนองปลาไหล แฟนเพลงก็เดินตามกันเป็นพรวน แต่ทันใด ประกายไฟแว๊บขึ้นพร้อมเสียงปืนที่กระหน่ำยิง สุรพลถลาล้มลง แฟนเพลงมากมายส่งเสียงร้องด้วยความตระหนกตกใจ
“ฉันโอบหัวของสุรพมาแนบไหล่ ฉันเห็นเลือดพุ่งกระฉูดจากรอยปืน ฉันได้แต่ร้องเสียงหลงเรียกชื่อสุรพล ๆๆ ฉันจำได้ติดตราตรึงใจไม่เคยลืมเลือน เพราะฉันและพี่น้องผองเพื่อนเป็นแฟนประจำที่ติดตามไปฟังแทบทุกครั้ง เมื่อสุรพลมาปิดวิกใกล้บ้าน หรือไม่ไกลจนเดินไปไม่ได้”
คำบอกเล่าของพี่น้อง 3 สาวใหญ่ในวันที่มีอายุกว่า 70 ปีในห้องร้องเพลงคาราโอเกะของ ชมรม สว.มก.กำแพงแสน บ่ายวันหนึ่ง
กับคำถาม “เสียงร่ำลือกันว่า เมียน้อยของผู้มีอิทธิพลคนกำแพงแสน ไปติดสุรพล จริงเท็จเพียงใด” ได้รับคำตอบว่า
“ไม่มีหรอก สุรพลมาปิดวิกครั้งหนึ่งก็ถึงจะได้มารอฟังเพลง เมียน้อยผู้มีอิทธิพลคนนั้นก็เหมือนพวกฉัน สมัยนี้เรียกว่าแฟนคลับ เป็นเพียงผู้ชื่นชอบเสียงเพลงก็ติดตามกันไปฟังเป็นประจำ กลุ่มใครก็ไปกับกลุ่มมัน อีกอย่างนักร้องดังขนาดนั้น จะเอาเวลาที่ไหนไปเจ๊าะแจ๊ะกับผู้หญิงอื่น ๆ เมียเขาก็สวยสง่าออกนะคะ”
และนั่นคือคำกล่าวเล่าเรื่องที่ติดตามตัวกลุ่มแฟนเพลงของสาวกำแพงแสน ซึ่งเป็นคำยืนยันว่า สุรพลถูกยิงตายนั้น ไม่น่าจะด้วยเหตุผลเรื่องชู้สาวอย่างแน่นอน แต่จะเป็นด้วยสาเหตุใดไม่มีใครเล่าให้ฟัง เหตุการณ์ครั้งนั้น เกิดเมื่อค่ำหลังเลิกวงวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2511 เป็นความสูญเสียศิลปินนักร้องและนักแต่งเพลงมือดีของประเทศไปอย่างน่าเสียดาย
พวกเราชาวผู้สูงวัย เมื่อได้มาพบกันในห้องร้องเพลงคาราโอเกะ เขียนชื่อเพลงและนักร้องใส่มือผู้ควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วก็เดินไปหยอดเงินบำรุงลงตู้ กดน้ำร้อนน้ำชากาแฟตามชอบมานั่งล้อมวงพูดคุยกันไป ฟังเสียงเพลงที่เพื่อนๆร่วมชมรมร้องให้ฟัง แต่ไม่กล้าวิจารณ์ผู้ร้อง เป็นมารยาทหนึ่งที่สมาชิกชมรมถือเป็นสรณะ
เรื่องที่คุยกันส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเพลง ครูเพลงที่แต่ง ปีพ.ศ.ที่อายุเพลงเกิดขึ้น บางเรื่องก็เล่าเกร็ดของการแต่ง แล้วแต่ว่าใครจะรู้เรื่องใดมา และบางครั้งก็พูดคุยกันว่า นักร้องและครูเพลงส่วนใหญ่ที่ดังๆนั้นเป็นคนสุพรรณบุรี ยกตัวอย่างกันขึ้นมาถก เช่น
เมืองสุพรรณบุรีนี้แปลกที่คนสุพรรณมักพูดด้วยสำเนียงเหน่อๆ แต่ทำไมเวลาร้องเพลงถึงได้ไพเราะเสนาะเหลือเกิน ก็ไม่มีใครตอบได้ว่าเป็นด้วยเหตุใดกัน หรือบางทีก็จะเล่ากันว่า เพลงพื้นบ้านเมืองสุพรรณนั้นเป็นเพลงอีแซว
แม่เพลงคนดังคือแม่บัวผัน จันทร์ศรี อ.ศรีประจันต์ เป็นแม่เพลงจนได้เป็นศิลปินแห่งชาติปีพ.ศ.2533 และคนต่อมาก็คือขวัญจิต ศรีประจันต์ ก็ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ปีพ.ศ.2539 แต่ก็เป็นศิลปินเพลงอีแซว ไม่ใช่เพลงลูกทุ่งแท้ๆ จนกระทั่ง ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ในปีพ.ศ.2540 ด้านศิลปะการแสดง ที่เป็นลูกทุ่งขนานแท้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่า จังหวัดสุพรรณบุรีจังหวัดเดียวมีศิลปินแห่งชาติด้านศิลปะการแสดงถึง 3 คนเลยทีเดียว
แต่ถ้าย้อนไปในอดีตแล้ว นักร้องลูกทุ่งที่ได้ชื่อว่าเป็น ราชาเพลงลูกทุ่ง ยกย่องกันว่าคือ สุรพล สมบัติเจริญ เดิมชื่อลำดวน เกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2475 มีพ่อเป็นเปลื้อง ข้าราชการสรรพากร กับแม่ วงศ์ สมบัติเจริญ กำเนิดพี่น้องท้องเดียวกันถึง 6 คน บ้านอยู่ ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี สุรพลเป็นคนที่ 2
สุรพลเรียนจบมัธยมปีที่ 6 โรงเรียนกรรณสูติศึกษาลัย แล้วไปเรียนต่อช่างก่อสร้างอุเทนถวาย กรุงเทพ แต่ไม่จบ ต่อมาไปเป็นครูโรงเรียนจีนแล้วก็ลาออก ไปสอบเข้าเป็นนักเรียนจ่าพยาบาล กรมแพทย์ทหารเรือ แต่ด้วยความชอบในการร้องเพลง ตกกลางคืนจึงหนีไปร้องเพลงตามงานจนถูกติดคุกแต่กลับกลายเป็นขวัญใจคนในคุก
ครั้งหนึ่งได้ไปร้องเพลงงานสังสรรค์ทหารอากาศ น้ำเสียงและลีลาประทับใจ เรืออากาศเอก ปราโมทย์ วัณณะพงษ์ สุรพลจึงได้ย้ายสังกัดไปอยู่ในกองดุริยางค์ทหารอากาศ ที่นี่เองที่เขาได้เรียนรู้เรื่องดนตรีและการร้องเพลง อัดเสียงเพลงแรกชื่อน้ำตาลาวเวียง ปี 2496 ตามมาด้วยชูชกสองกุมาร สาวสวนแตง เป็นโสดทำไม ของปลอม หัวใจผมว่าง ลืมไม่ลง ฯลฯ
สุรพลร้องเพลงให้กับวงดนตรี ชุมนุมศิลปิน มากที่สุด สุรพลมีพรสวรรค์ในการแต่งเพลงได้เองและร้องเอง แถมยังแต่งเพลงให้กับเพื่อนศิลปินอีกมากมาย เมื่อตั้งวงดนตรีสุรพล สมบัติเจริญ รับงานทั่วไป ชีวิตรุ่งโรจน์จนหยุดไม่อยู่ ดังกระฉ่อนไปทั่วเมืองไทย สุรพลมีลูกชายหยิงถึง 5 คนกับ ศรีนวล สมบัติเจริญ
ส่วนราชินีเพลงลูกทุ่งหญิง พุ่มพวง ดวงจันทร์ เดิมชื่อ รำพึง จิตรหาญ เกิดเมื่อ วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2504 บ้านหนองนกเขา ตำบลไพรนกยูง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท มีพี่น้องท้องเดียวกันถึง 12 คน เธอเป็นคนที่ 5 พุ่มพวงติดตามพ่อแม่มาทำมาหากินเป็นคนงานตัดอ้อยที่บ้านทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
โบราณว่าลูกมากยากจน นั้นจริง ครอบครัวของพุ่มพวงก็เช่นกัน ยากจนมาก เธอจึงได้เรียนหนังสือแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จึงยังอ่านหนังสือไม่ออก แต่มีความจำดีเลิศ และมีความสามารถด้านการร้องเพลง พ่อจึงให้ขี่หลังไปร้องประกวดตามงานวัดต่าง ๆเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ในชื่อ น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย
ชีวิตพลิกผันเมื่อได้มีโอกาสร้องเพลงโชว์ในงานประจำปีวัดทับกระดาน วงดนตรีไวพจน์ เพชรสุพรรณ ได้ขึ้นไปร้องเพลงและพ่อได้ฝากฝังกับไวพจน์ ไวพจน์รับเป็นบุตรบุญธรรมแล้วพาเข้าวงไปด้วย เมื่อพุ่มพวงอายุเพียง 15 ปี ที่นี่เองที่รู้จักกับ ธีระพล แสนสุข ก็ได้เป็นแฟนคนแรก และลาออกไปอยู่วงดนตรีของศรเพชร ศรสุพรรณ ทำหน้าที่เป็นหางเครื่องและนักร้อง
ต่อมาปีพ.ศ.2519 มนต์ เมืองเหนือ รับพุ่มพวงเข้าวงและเปลี่ยนชื่อให้เป็น พุ่มพวง ดวงจันทร์ พุ่มพวงเคยตั้งวงดนตรีเป็นของตนเองแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่ง นายห้าง ประจวบ จำปาทองและปรีชา อัศวฤกษ์นันท์ ได้ตั้งวงดนตรีคู่กับเสรี รุ่งสว่างในชื่อ เสรี-พุ่มพวง พุ่มพวงมาดังมากเมื่อครู ลพ บุรีรัตน์ แต่งเพลงสนุกๆให้พุ่มพวงร้องและเต้น
เช่นเพลง สาวนาสั่งแฟน นัดพบหน้าอำเภอ อื้อฮื้อหล่อจัง ดาวเรืองดาวโรย ฯลฯ ดังมากช่วงปี 2515-2534 นักฟังเพลงติดใจในน้ำเสียงที่หวาน ออดอ้อน และลีลาเต้นสนุกๆ เพลง อกสาวเหนือสะอื้น ทำให้ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำพระราชทาน และได้ร้องเพลงพระราชนิพนธ์ ส้มตำ ถวายหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชกัลยากุมารี
พุ่มพวงได้ฉายาว่าเป็นราชินีลูกทุ่งหญิงต่อจากผ่องศรี วรนุช พ.ศ.2526 ได้แสดงภาพยนตร์ และได้รู้จักกับไกรสร แสงอนันต์ จึงได้ย้ายมาค่ายเพลงของอาจารย์ ไพบูลย์ ศุภวารี ช่วงนี้ผลงานเพลง ตั๊กแตนผูกโบว์และเพลงโลกของผึ้ง ดังกระหึ่ม
เธอมีเพลงดังในวงการมากมาย เช่น นักร้องบ้านนอก, กระแซะเข้ามาซิ, อื้อหือหล่อจัง, หนูไม่รู้, หัวใจถวายวัด, ขุดดินแช่ง, ขอให้รวย, หม้ายขันหมาก, อนิจจาทิงเจอร์, เสียสาวเมื่ออยู่ ม.ศ. ฯลฯ และทุกเพลงก็ประสบความสำเร็จ
พุ่มพวงถึงแก่กรรมอย่างสงบด้วยโรคลูปุส เมื่อเวลา 20:00 น. ของวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ณ โรงพยาบาลพุทธชินราช สิริอายุได้ 31 ปี
แต่อนุสาวรีย์ทั้งของสุรพล สมบัติเจริญ และ สายัณห์ สัญญา ที่บ้านขุนช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ช่างดูไม่สง่างามสมกับชื่อเสียงและผลงานมากมายของสุรพลและสายัณห์เลย ซึ่งอนุสาวรีย์ของพุ่มพวง ดวงจันทร์ที่วัดทับกระดานก็เช่นกัน ดูแล้วก็รู้สึกอึดอัดใจ ทำไม ไม่สร้างให้อลังการงานสร้างกันหนอ
นักร้องลูกทุ่งชายหญิงชาวสุพรรณบุรีที่เสียชีวิตไปแล้วแต่ได้ฝากผลงานเพลงลูกทุ่งไว้อย่างมากมายได้แก่ ก้าน แก้วสุพรรณ ศรเพชร ศรสุพรรณ สังข์ทอง สีใส สายัณห์ สัญญา ดำ แดนสุพรณ เมืองมนต์ สมบัติเจริญ ส่วนนักร้องลูกทุ่งชายหญิงที่ยังมีชีวิตอยู่ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เสรี รุ่งสว่าง เปาวลี พรพิมล นั้นคือ อนุสาวรีย์มีชีวิตของชาวสุพรรณบุรีที่ทุกคนภาคภูมิใจ
คำปรารภคือ ทำไมชาวสุพรรณบุรีไม่สร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ๆ พื้นที่สัก 100 ไร่ เพื่อประดิษฐานรูปปั้นของนักร้องลูกทุ่งเมืองสุพรรณบุรี ผู้ทำชื่อเสียงให้กับจังหวัดสุพรรณบุรีอย่างเกริกไกร ทำให้เหมือนเมืองแนชวิลล์ ประเทศอเมริกา เมื่อถึงปีหนึ่งก็เปิดเทศกาลดนตรีลูกทุ่งให้กึกก้องเกรียงไกรไปทั่วประเทศ ละหนอ