ลุ่มน้ำเพชรบุรี ภาพความอุดมสมบูรณ์ที่คาใจ
โดย ธงชัย เปาอินทร์
จากเหนือสุดที่เชียงรายไล่ลงใต้ไปสุดที่นราธิวาส เพชรบุรีเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเหนือใต้ ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ด้านพืชพันธุ์และสัตว์ป่าอย่างไร ภูมิอากาศจะเป็นอย่างไร ร่องลมมรสุมประเภทไหนที่มีอิทธิพลเหนือพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีหรือไม่ เพียงใด ทำไมผมต้องใส่ใจกับลุ่มน้ำผืนนี้ ทั้งที่ชีวิตและความผูกพันนั้นเพียงเป็นคนชอบไปถ่ายรูปที่หน่วยพิทักษ์ป่าบ้านกร่าง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ลุ่มน้ำเพชรบุรีครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดแค่นั้นคือ จังหวัดเพชรบุรี 86.73% ราชบุรี 9.23% สมุทรสงคราม 2.75% และประจวบคีรีขันธ์ 1.29 % ประกอบด้วยห้วย/แม่น้ำสาขาสำคัญ 4 สาขาคือ ห้วยแม่ประจันต์ ห้วยผาก ห้วยแม่ประโดน และห้วยบางกลอย ที่ป้อนน้ำไหลเข้าสู่ลุ่มน้ำเพชรบุรีมีพื้นที่ 6,254.45 ตร.กม. สรุปว่าแม่น้ำเพชรบุรียาว 227 กม.
แต่ปากแม่น้ำเพชรบุรีแยกเป็นสองสาขา ปากแม่น้ำเพชรบุรีสายตรงจะไปออกสู่อ่าวไทยที่ บ้านแหลม แต่อีกสายไปทางเหนือเรียกว่าแม่น้ำบางตะบูนไหลไปออกที่ปากน้ำบางตะบูน ผลการศึกษาวิจัยพบว่า มีปริมาณตะกอนไหลสะสมมากถึง 46 ตัน/ตร.กม. ทั้งๆที่ตั้งแต่ขุนต้นน้ำจนสุดที่ปากน้ำมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง รวม 17 แห่ง ขนาดเล็กอีก 5 แห่ง จุปริมาณน้ำเก็บกักได้ถึง 710 ล้าน ลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทาน 562,688 ไร่
ขุนต้นน้ำอยู่ทางทิศตะวันตกของลุ่มน้ำ เป็นพื้นที่สูงชันชายขอบประเทศไทยและประเทศเมียนมาร์ ถือเป็นสันปันน้ำระหว่าง 2 ประเทศ น้ำจึงไหลลงมาทางทิศตะวันออกสู่ทะเลอ่าวไทย สภาพภูมิประเทศจึงเป็นภูเขาสูงไล่ระดับลงมาจนถึงปากอ่าวซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม สภาพป่าไม้โดยธรรมชาติจึงเป็นป่าดงดิบชื้นและป่าดงดิบแล้ง ตอนปลายๆน้ำเป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ปะปนกัน
เขื่อนขนาดใหญ่ได้แก่เขื่อนแก่งกระจาน เก็บกักปริมาณน้ำได้ถึง 710 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 19,000 กิโลวัตต์ จ่ายไฟฟ้าได้ปีละ 70 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ท้องน้ำเหนือเขื่อน 46.5 ตารางกิโลเมตรกลายเป็นที่เพาะเลี้ยงและเจริญพันธุ์ของสัตว์น้ำประเภทปลา กลายเป็นอาหารหลักของชาวเพชรบุรี และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
พื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี 6,254.45 ตร.กม. ถูกประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 2,914.70 ตร.กม.(1,821,687.84 ไร่)ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2524 และมีการผนวกพื้นที่เพิ่มเติมในปีพ.ศ.2527 สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ประกอบด้วยป่าดงดิบชื้นและป่าดงดิบแล้ง บนขุนต้นน้ำ มีป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังบางส่วนแทรกอยู่ที่ลาดต่ำ
สภาพภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดู ได้แก่ฤดูแล้ง ฤดูฝน และฤดูหนาว แน่นอนว่า บนผืนป่าขุนต้นน้ำย่อมตั้งอยู่บนที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,513 เมตร จึงมีอุณหภูมิหนาวเย็นมากกว่าส่วนอื่นๆของลุ่มน้ำนี้ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 986-1,140 มม./ปี ร่องลมมรสุมที่พาดผ่านได้แก่ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลอันดามัน และลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้จากอ่าวไทย
ด้วยป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์มากที่สุดช่วงกลางทางระหว่างเชียงรายและนราธิวาส นกอพยพจึงเกิดการเปลี่ยนถ่ายมากที่สุด มักมาตามฤดูกาล นอกจากนั้นยังพบว่า นกอพยพจากประเทศอินเดียและพม่า ก็ไหลมาทางป่าผืนนี้ด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ที่นี่จึงเป็นสวรรค์ของนักดูนกจากทั่วประเทศและทั่วโลก เป็นแหล่งพักพิงของนกที่มีอาหารและที่พักอุดมสมบูรณ์ที่สุด และมีความปลอดภัยสูงสุดเพราะผืนป่าส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งได้รับการคุ้มครองทั้งพื้นที่ด้วยเจ้าหน้าที่และกฎหมาย
แต่ไม่พบข้อมูลจากเพจของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานว่า มีสัตว์ป่าประเภทต่างๆกี่ชนิด นกกี่ชนิด เป็นนกประจำถิ่นหรือนกอพยพกี่ชนิด คำตอบเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำเพชรบุรีด้าน สัตว์ (นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) ขาดหายไปอย่างน่าเสียดาย บริบทหนึ่งที่อุทยานแห่งชาติทุกแห่งต้องกำหนดเป็นแผนแม่บทสำคัญคือ
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติประเภทสัตว์ป่า นกและแมลง ในผืนป่าอุทยานแห่งชาติ ถ้าแยกแยะได้ด้วยว่า ในป่าแต่ละชนิดแต่ละฤดูกาลมีสรรพสัตว์ชนิดใดมากน้อยแค่ไหน ก็น่าจะเพิ่มความสมบูรณ์ของฐานข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติได้อย่างมีนัยยะสำคัญทีเดียวเชียวละครับ