เทศกาลหุ่นไล่กาชุมชนบ้านสามเรือน
อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
เที่ยวชมวิถีชีวิตไทยๆ
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ดีใจได้ปลื้มเมื่อได้รับอนุญาตจาก ท่านผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางอรสา อาวุธคม ให้ร่วมเดินทางไปกับเพื่อนสื่อมวลชนสายท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 เพื่อไปร่วมงานเทศกาลหุ่นไล่กาชุมชนบ้านสามเรือน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เว็บไซต์ทองไทยแลนด์ดอทคอม ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้
บ้านสามเรือน
บ้านสามเรือน เป็นหมู่บ้านที่เริ่มต้นจากการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานการทำกินเพียง 3 ตระกูล หรือ 3 ครอบครัว บุกเบิกด้วยการตัดและถางป่าสะแกแปลงเป็นนาข้าว แถมโชคดีที่มีห้วยหนองคลองบึงอุดมสมบูรณ์ด้วย น้ำและดิน อาชีพหลักคือการทำนาปลูกข้าวไว้กินและเหลือก็ขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้ากันกินกันใช้ นั่นคือการอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพา
เมื่อทำนาปลูกข้าวแล้ว ก็ย่อมเกิดปัญหาจากนก หนู กระแต แมลง ฯลฯ ที่เข้ามาร่วมอาศัยเป็นแหล่งอาหารด้วย ถ้าใครที่เคยเป็นลูกชาวนาอาจได้เห็นฝูงนกกระติ๊ด(กรีดกินตอนข้าวเป็นน้ำนม จะเหลือแต่รวงข้าวลีบ) นกกระจาบ นกกระจอก นกพิราบ นกเขา ลงกินเมล็ดข้าวใกล้สุกเป็นฝูงๆ ชาวนาจึงคิดหาวิธีไล่นกกาเหล่านั้น ด้วยการใช้ฟางข้าวมามัดแล้วสวมเสื้อเก่าๆไปปักเป็นหุ่นริมคันนา ยามใดลมพัด แขนเสื้อที่ยาวย้วยก็ไหวพะเยิบๆ เหมือนแกว่งแขนไล่ เรียกกันสั้นๆว่า หุ่นไล่กา
น่าทึ่งคือ จากหุ่นไล่กาที่ปักไว้ตามมุมหรือคันนาแต่ละแห่ง ได้ถูกประมวลให้เป็นเรื่องเล่าแล้วชุมนุมหุ่นไล่กาจนเกิดเป็นเทศกาลหุ่นไล่กาชุมชนบ้านสามเรือน จากแปดบ้านแปดทิศ ประกอบแสงสีเสียงและการแสดงสด แถมด้วยพลุดอกไม้ไฟตระการตา เพิ่มสีสันของท้องทุ่งให้บรรเจิดเกิดความรู้สึกร่วมถึงวัฒนธรรมการทำนาข้าว หุ่นไล่กา นี่เป็นการละเล่นที่สร้างความตื่นตาตื่นใจถือเป็นมิติแห่งความคิดสร้างสรรค์ เยี่ยมยอด
ปัจจุบันนี้ ชุมชนบ้านสามเรือนขยายตัวออกเป็น 8 หมู่บ้านดังนี้คือ บ้านสามเรือน หมู่ 2บ้านสามเรือนหมู่ 3 บ้านหลวง บ้านขอม บ้านเทโพ บ้านโรงเจ้า บ้านคุ้งระกำ บ้านเสาวังคา กลายเป็นชุมชนขยายที่มีความเกี่ยวพันกันไม่ทางสายเลือดก็ทางใดทางหนึ่ง พื้นเพส่วนใหญ่ของชาวชุมชนบ้านสามเรือน นับถือพุทธศาสนา
รถตู้เลียบถนนทางเข้าหมู่บ้าน ทุ่งร้างเหลือแต่ตอซังข้าว กับเป็ดไล่ทุ่งนับพันตัว เป็ดไข่สีน้ำตาลเทากำลังไซร้หาอาหารอยู่ในซอกกอต้นข้าวกลางท้องนา เป็นเมล็ดข้าวร่วงจากการเกี่ยวอย่างมีความสุข หรืออาจมีแมลง กุ้ง หอย ปู ปลาติดมาบ้าง เป็ดไล่ทุ่งจะเติบโตเร็ว เนื้อแน่นเมื่ออาหารอุดมสมบูรณ์ วิถีชีวิตของเป็ดไล่ทุ่งนั้น เริ่มมองหาไม่ค่อยเห็นกันสักเท่าไรแล้ว
สภาพภูมิประเทศที่ราบลุ่มมีท้องทุ่งนาที่หล่อเลี้ยงด้วยหนองคลองและห้วยเล็กห้วยน้ำ ที่ตื่นตามากคือมีดงต้นโสนขึ้นทั่วไปตามชายคลอง หรือในนาข้าวที่หลายครอบครัวหันมาเลี้ยงต้นโสน ดอกโสนสีเหลืองอร่ามนั้นชาวบ้านจะเก็บดอกและยอดอ่อนมาลวก หรือ ผัดน้ำมัน หรือผัดกะทิ จิ้มน้ำพริกชนิดตางๆตามชอบ หรือแกงส้มผักรวม เป็นวิถีชีวิต เป็นวัฒนธรรมการทำอาหารกินกัน จากวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติ
แต่ที่อัศจรรย์คือเมื่อต้นโสนตายลงไป เกิดเชื้อเห็ดตับเต่างอกเป็นดอกสีคล้ำน้ำตาลอมดำ ดอกมีขนาดใหญ่ถึงน้ำหนัก 1 กก.ก็มี กระจายกันขึ้นไปทั่ว แต่ชาวสามเรือนนั้นเป็นคนภาคกลางกินไม่เป็น จนกระทั่งเมื่อมีสะใภ้เป็นชาวอีสานเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน แล้วเก็บเห็ดตับเต่าไปทำอาหารกิน ชาวสามเรือนจึงได้รู้ว่า มันกินอร่อยและทำกินได้หลายอย่าง มีคุณๆมากมาย
ต้นโสนไม่ใช่พืชออกดอกให้เก็บกินได้เพียงฤดูเดียวอีกต่อไป เกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อรู้ว่าราคาเห็ดตับเต่านั้นแสนแพงและสามารถส่งเป็นสินค้าออกไปขายยังถิ่นอื่นๆเช่น ภาคเหนือ ภาคอีสานและกรุงเทพ สรุปว่า ทำไร่โสนแล้วปล่อยให้เกิดเห็ดตับเต่าได้เงินมากกว่าทำนาข้าว ข้าวได้ราคาไร่ละไม่ถึงหมื่นบาทแต่เห็ดตับเต่าในทุ่งโสนนั้นได้ถึงไร่ละแสนบาท
ขนมดอกโสน
ภาพที่เห็นขณะรถตู้เคลื่อนผ่านจึงมีดงต้นโสนขึ้นกระจัดกระจายไปทั่ว ทำนาต้นโสนหรือทำนาเห็ดตับเต่า ต่อมามีการพัฒนาอาหารจากเห็ดตับเต่าสด เป็นเห็ดตับเต่าแห้งบ้าง เห็ดตับเต่าเคล้าพริกเกลือและปรุงรสชาติแปลกๆ ส่งออกไปจำหน่าย ได้มูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้นไปอีก เห็ดตับเต่าได้รับความสนใจเก็บขายได้ตังส์และเริ่มใช้ประกอบอาหารไปทั่วทุ่ง
ชุมชนบ้านสามเรือน ยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ดำเนินชีวิตตามประสาชาวนา ที่ยังคงศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อเหมือนบรรพบุรุษ วัฒนธรรมการประกอบอาหารพื้นบ้านและขนมหวานมีให้เห็นอาทิเช่น ขนมเปียกปูน ขนมดอกบัว ขนมด้วง ขนมไข่เหี้ยน้ำ ขนมดอกโสน ขนมกะยาคู(ใบเตยโขลกกับข้าวน้ำนม) หรืออย่างคืนเดือนเพ็ญชุมชนสามเรือนก็จะทำพิธีสวดพระธรรมเสกน้ำกลางแม่น้ำแล้วลงอาบน้ำตอนคืนเดือนเพ็ญ เรียกว่า อาบน้ำเพ็ญ นี่ก็อีกหนึ่งวัฒนธรรมที่งดงามและหาชมได้ยาก
ส่วนอาหารที่นิยมทำกินตามวิถีชีวิตชาวบ้านทุ่ง ก็ไม่พ้นพืชผักที่หาได้จากท้องทุ่งริมคลองหนองน้ำ และทุ่งโสนคือเห็ดตับเต่า อาหารประเภทโปรตีนก็เป็นปลาในแม่น้ำลำคลอง จนถึงขุดบ่อเลี้ยงปลา หนูพุกหรือหนูนาที่จับจากธรรมชาติน้อยลงไปจึงขยายกรรมวิธีเป็นการเพาะเลี้ยงหนูพุกไว้เป็นอาหารและจำหน่าย ชีวิตบ้านทุ่งแสนสุขสม
แต่เมื่อเกิดการท่องเที่ยวในลักษณะโฮมสะเตย์ขึ้นในหมู่บ้าน การท่องเที่ยวการเชิงเกษตรก็ตามมาโดยปริยาย เป็นวิวัฒนาการตามกาลเวลา และแล้ววันหนึ่งก็ถึงซึ่งเทศกาลหุ่นไล่กาซึ่งเป็นการฟื้นอดีตวิถีชีวิตชาวนากับหุ่นไล่กาแปลงเป็นเรื่องราวและสร้างสรรค์ให้เป็นเทศกาลที่น่าชมและน่าประทับใจ ดัดแปลงจากวิถีชีวิตเป็นวัฒนธรรมการละเล่นพื้นบ้านเช่นเดียวกับหัวโตเมืองอู่ทอง ผีตาโขนที่ด่านซ้ายเมืองเลย ฯลฯ
การจัดงานเทศกาลแสงสีเสียงหุ่นไล่กาครั้งนี้ ระหว่างวันที่ 9-12 พฤษภาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. ทุกวันและทุกคืน โดยได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พระนครศรีอยุธยา ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพระนครศรีอยุธยา คุณอรสา อาวุธคมดำเนินการขับเคลื่อนโดย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสามเรือน คุณศุภฤกษ์ กลั่นกล้า ทั้งนี้ ชาวสามเรือนได้จัดทำหุ่นไล่กาซึ่งมีทั้งหุ่นไล่กาไทย หุ่นไล่กาญี่ปุ่น หุ่นไล่กาฝรั่ง หุ่นไล่กาจีน และหุ่นไล่กาไทย จัดขบวนแห่ครึกครื้นรื่นเริงทุกขบวนโดยชุมชนทั้ง 8 ชุมชน
#หุ่นไล่กาชุมชนบ้านสามเรือน #ททท.สนง.พระนครศรีอยุธยา #ทองไทยแลนด์ดอทคอม #พระนครศรีอยุธยา ไม่มาไม่ได้ #อินทรีดำ ธงชัย #Thongchai Pao-in #ศาลาอยุธยา #วัดตูม #วัดช้าง #วัดนิเวศธรรมประวัติ #วัดเชิงเลน #โอโภชนาตลาดเก่าเสนา