ทริปทำบุญไปเที่ยวไป ตอนที่1.หุบเขาและขุนเขา
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
หอเกียรติยศ บ้านอุดมไพร ในหุบเขา
ช่วงเวลาก่อนการประชุมสามัญประจำปี มูลนิธิสมเพิ่มกิตตินันท์ ม.14 ต.ศรีสะเกษ อ.นาน้อยจ.น่าน ในหุบเขาแห่งลุ่มน้ำห้วยสามสบ ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเพียง 350 ม. ชาวบ้านเร่งมือสร้างบ้านหลังหนึ่งซึ่งจะเป็น “หอเกียรติยศแด่ท่านอุดม หิรัญพฤกษ์ อดีตประธานกรรมการมูลนิธิตลอดชีวิต ผู้มีพระคุณแก่เด็กด้อยโอกาสในป่าดงดอยห่างไกลความศิวิไลซ์ มานานว่า 35 ปี ด้วยเมตตาจิตร่วมจากเพื่อนพ้องร่วมอุดมการณ์ “เพื่อให้เด็กด้อยโอกาสได้มีโอกาส”ทางการศึกษาในรูปทุนการศึกษาแบบต่อเนื่องตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนจบปริญญาตรีหรือตามแต่กำลังสติปัญญาของเด็กและหรือกำลังทรัพย์ของครอบครัว
คุณป้าอำไพ หิรัญพฤกษ์ คู่ชีวิตของท่านประธานฯที่ไม่เคยขาดการมาร่วมแจกทุนการศึกษาแม้แต่ปีเดียว พร้อมลูกๆ ได้ให้เกียรติเจิมป้าย “บ้านอุดมไพร” เพื่อใช้เป็นที่พักแรมคืนของคณะกรรมการและผู้มีเมตตาจิตสืบไป ตกแต่งด้วยภาพประวัติสาสตร์ของชีวิตผู้เสียสละ และเพื่อนๆ บ้านที่พร้อมพัก 2 ห้อง 4 เตียง มีระเบียงกว้างๆให้นั่งเล่นเย็นสบายๆ สุขา 2 ห้อง พร้อมน้ำอุ่น ความจริง ทั้งท่านอุดม-ป้าอำไพ หิรัญพฤกษ์ คือผู้ที่มาเปิดอาคารกิตตินันท์ เป็นอาคารเรียนหลังแรกของหมู่บ้านตั้งแต่ปีพ.ศ.2524
มื้อค่ำ อิ่มอร่อยด้วยรสชาติอาหารพื้นบ้าน”อาหารเหนือ”
มื้อค่ำทุกปีกว่า 35 ปี ที่แม่ครัวคนเดิมและทีมงานแม่บ้านแห่งหุบเขา ทำ”ยำไก่บ้านใส่หัวปลีหอมกลิ่นมะแขว่น” น้ำพริกอ่องหมูสับและผักพื้นบ้านนึ่ง(ฟักทอง ผักขี้หูด ถั่วแปลบ) แกล้มด้วยแคบหมู กะหล่ำน้ำปลาของโปรด ปลอดสารเพราะปลูกที่นี่ ในบรรยากาศเรียบง่ายภายใต้แสงไฟยามค่ำคืน อากาศเย็นสบายๆ ไม่เร่งร้อนก็ผ่อนคลาย ชิมิๆ
พี่อ๊อดเดินดุ่มไปคว้าไมค์เก่าคร่ำ คีเพลงโปรดแล้วครวญคร่ำได้อย่างไพเราะ และแล้ว คณะก็เดินกันไปเสริมกำลังให้พี่อ๊อด คาราโอเกะขนาดครอบครัว ช่วยเพิ่มบรรยากาศความเงียบเหงาในราตรีที่เดือนไม่เต็มดวง แสงไฟบดบังแสงดาวและแสงเดือน เสียงนกกลางคืนแตกตื่นไม่ร้องบอกเวลา หริ่งหรีดเรไรเงียบหายไปสิ้น แม้แต่เสียงเขียดแอ้
ฟ้าสางกลางหุบเขา เตรียมทำบุญถวายผ้าป่า
แน่นอนว่ามาถึงถิ่นต้องดื่มกินให้เต็มพิกัด กาแฟซองผสม โอวัลตินจากตลาด และกาแฟสดชงจากถุงผ้าด้วยกาแฟที่ปลูกและเก็บมาคั่วดื่มกันเองที่นี่ กาแฟที่ชาวบ้านปลูกไว้เกินกำลังเก็บ อุทิศให้มูลนิธิและเด็กๆนักเรียนทุนไปช่วยกันเก็บ ล้าง ตาก สี ขัด คั่ว และแพคกิ้ง ยามจะชงเลี้ยงแขกจึงบดด้วยเครื่องบดทันสมัย
ปีนี้ เจ้าของไร่กาแฟยังเดินมาบอกว่า “ลุงธง ปีนี้ ยังไม่มีแรงเก็บมาขายนะ ลุงธงพาละอ่อนไปเก็บมากินเตอะ”
กองทัพมดหิ้วถุงไปเก็บจากไร่ตาเขียน ตาเสถียร ตาเหลี่ยม ตาธงเดินไปเก็บจากบ้านหลังเขาของเจเจ ตาเลยให้ลูกเขยลูกสาวเก็บมาขาย นายด่วนแบกมาชั่งขายสดๆ ตาธงรับซื้อหมด ทุกเม็ด ตากจนแห้งก็แพ็คใส่ถุงกระเทียม แขวนผึ่งไว้อีก 3 เดือน เพื่อไปเข้าขั้นตอนการสี การคั่ว การแพ็คกิ้ง และการบด
ประธานกรรมการมาถึง ท่านก่อเกียรติ เกสรสิริ อดีตผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ มาถึง และขบวนเดินไปสำนักสงฆ์ เชิงเขาท้ายบ้าน
การประชุมคณะกรรมการสามัญประจำปี 2565
สรุปผลการแจกทุนประจำปี 2565 ดังนี้คือ ได้รับเงินบริจาค 278,801 บาท เงินปันผลจากสหกรณ์ครูน่าน ปี 2564 106,425 บาท ดอกเบี้ย 34,369.23 บาท
รายจ่ายปี 2565 ดังนี้คือ 1.แจกทุนสกน.1/4.1.2-37 ทุน 29,600 บาท 2.แจกทุน สกน.1/4.1.3-23 ทุน 80,500 บาท 3.แจกทุน สกน.1/4.1.4-27 ทุน 162,000 บาท 4.แจกทุน สกน.1/4.1.5-8 ทุน 80,000บาท 5.แจกทุนอนุรักษ์ฯธรรมชาติ 1 ทุน -10,000 บาท รวมเป็นทุนตามวัตถุประสงค์ 362,100 บาท 6.ค่าบริการทางบัญชีปี 2565 เป็นเงิน 5,000 บาท 7.หักภาษี4.87 บาท 8.ค่าจัดทำเอกสาร 1,000 บาท 9.ค่าจัดทำแผ่นพับ 500 แผ่น 5,000 บาท
คณะกรรมการมูลนิธิได้พิจารณาทุนการศึกษาต่อเนื่องปี 2566 ดังนี้คือ
1.นักเรียนทุนชั้น ป.2-ป.6 รวม 29 ทุน แต่เกรดต่ำกว่า 2.00 จำนวน 1 ทุน จึงเหลือเพียง 28 ทุน เป็นเงิน 22,400 บาท
2.นักเรียนทุนชั้น ม.1-ม.3 จำนวน 22 ทุน เกรดต่ำกว่า 2 3 คน จึงเหลือทุนที่ให้ 19 ทุน เป็นเงิน 66,500 บาท
3.นักเรียนทุนชั้นม.4-ม.6 หรือปวช. รวม 29 ทุนเป็นเงิน 174,000 บาท แต่เกรดต่ำกว่า 2 จำนวน 7 ทุน จึงเหลือให้ทุนเพียง 22 ทุน เป็นเงิน 132,000 บาท
4.นักเรียนทุนระดับอุดมศึกษา ปี1-ปี 4.จำนวน 13 ทุน เป็นเงิน 130,000 บาท แต่เกรดต่ำกว่า 2. จำนวน 2 ทุน เหลือ 11 ทุน เป็นเงิน 110,000 บาท
5.สรุป ทุนปี 2566 จำนวน 80 ทุน เป็นเงินทั้งสิ้น 330,900 บาท ค่าบริการทางบัญชี 5000 บาท ทุนอนุรักษ์ทรัพยากร 10000 บาท ค่าถ่ายเอกสาร และเข้าเล่ม 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 346,900 บาท
เที่ยวไปละนะ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน
ออกจากมูลนิธิสมเพิ่มกิตตินันท์ หุบเขาเล็กๆ มุ่งหน้าไปเยี่ยมยามวัดวาพื้นบ้าน วัดหนองเตา วัดศรีสะเกษ บันทึกภาพเป็นหลักฐานกันตามธรรมเนียม อิอิ
ได้เวลากำลังดี ตะวันบ่ายคล้อยลง จึงต้องขึ้นไปบนดอยสูงกว่า 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ใกล้ดอยเสมอดาว สายลมพัดตึง ๆ เพราะบ้านพักตั้งอยู่บนเนินเขาสูง มองไกลออกไปเป็นผืนป่าเบญจพรรณ ประเภทมีไม้สัก โดยมีแม่น้ำน่านไหลผ่าลางหุบเขา พื้นที่ป่าแห่งนี้ เดิมนั้นชาวบ้านหนองบัว บ้านใหม่ บ้านหนองเตา บ้านหัวเมือง บ้านน้ำหก บ้านเชียงของ บ้านนาราบ บ้านศรีบุญเรือง ฯลฯ บุกรุกแผ้วถางป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณลง ทำไร่ข้าวโพด
ปีพ.ศ.2521 ผมมาปฏิบัติหน้าที่ลุ่มน้ำห้วยสามสบ แต่ผ่ายป่าผืนนี้ไปท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่แก่งหลวง แก่งลางแม่น้ำน่าน หาดทรายรูปวงพระจันทร์ สงบ งดงาม และเหมือนเป็นโลกส่วนตัวยามได้ลงอาบน้ำและกางเต็นท์นอนฟังเสียงป่า เมื่อกลับมาและกลับไปหลายครั้ง จึงตัดสินใจ ยึดพื้นที่กว่า 800,000 ไร่ เอามาเป็นพื้นที่ปลูกป่าต้นน้ำ
ต่อมาอุทยานแห่งชาติมาสำรวจพื้นที่ จึงยกให้เป็นอุทยานแห่งชาติศรีน่านแต่นั้นมา แล้วก็โด่งดังเพราะทะเลหมอกดอยเสมอดาวและผาหัวสิงห์
หลังอาหารค่ำ ก็ห้องใครห้องมันละสิครับ นอนๆๆๆ ไม่มีกิจกรรมในร่ม นอนฟังเสียงจากป่าจนสว่างคาตา และนั่นคือจุดหมายจะได้ชมทะเลหมอกดอยเสมอดาว แห่ๆๆๆ ลมพัดตึงวันใด ทะเลหมอกหายวับในทันที แห้ว แต่อย่างไรก็ตาม การพักผ่อนหย่อนใจใช่ว่าจะต้องกรี๊ดลั่นทุ่งทุกครั้ง แห้วบ้างเป็นธรรมดา เนอะ