ในคมขวาน ๒๑
เอิ้นขวัญพ่อนาคจิตรกร ขาววงศ์ ณ บ้านแก้งโตน อำเภอน้ำยืน อุบลราชธานี
โดย สาวภูไท
ต้นพฤษภาคม ๒๕๕๙ เป็นช่วงเวลาที่ต้องจารึกไว้ ในดินแดนแห่งคมขวาน ถึงความร้อนแล้งแสนสาหัสฉากรรจ์ แม้นว่าจะมีพายุฤดูร้อนพัดผ่านพาฝนมาตกลงบ้าง แต่พอเม็ดฝนจางหายไปพร้อมกับสายลมเพียงข้ามวันแดดก็แผดจ้าพาเอาความร้อนระอุอ้าวแผ่เข้ามาโอบอุ้มไว้เช่นเดิม
กระนั้น บนเส้นทางจากอุบลราชธานีสู่อำเภอน้ำยืน ซึ่งเป็นอำเภอชายแดนติดเทือกพนมดองเร็ก ผ่านเขตอำเภอเดชอุดมมุ่งสู่ทิศใต้ ยังได้เห็นว่าชาวนา ชาวไร่ แห่งน้ำยืนเตรียมตัวสู่ฤดูกาลใหม่ด้วยใจที่ไม่เคยสิ้นความหวัง ไม่พังสลายมลายไปกับความร้อนระอุอ้าวที่ชาวเมืองบ่นกันนักหนา ทิวข้าวโพดสีเขียวแผ่ผืนเหยียดยาวสุดตีนภู สลับกับดินสีแดงถูกรถไถพลิกฟื้นขึ้นมาคอยท่าพืชพันธุ์ในฤดูกาลต่อไปผืนใหญ่ยาวสุดสายตา มองออกไปจากหน้าต่างรถตู้ดูคล้ายถูกระบายด้วยสีแดงแต่งแต้มขลิบขอบด้วยสีเขียวของภูเขาเตี้ย ๆ ที่ตรงสุดขอบฟ้า
กลีบดอกคูนสีเหลืองปลิดจากขั้ว ร่วงลิ่วปูพรมบนผืนดิน ต้นข้าวโพดถอดช่อดอกออกที่ปลายสุดคล้ายข้าวแตกรวง ที่บ้านสาวภูไทในอำเภอวารินก็วับไหวด้วยดอกกระเจียวสีขาวแซมชมพูก้านอวบอ้วนชนิดกินได้โผล่พ้นพื้นดินขึ้นมาแย้มยิ้ม กระเจียวกลุ่มนี้ได้พันธุ์มาจากแม่ออก แม่ชี ที่วัดป่าโนนขุมเงิน อำเภอโพนนาแก้ว สกลนครที่มีน้ำใจเมตตาแบ่งให้มาปลูก ปีแรกนึกว่ามันตายไปแล้ว ปีที่สองเห็นโผล่มาหนึ่งดอก แต่ปีนี้เห็นมีกลุ่มใหญ่ให้ชื่นใจและรำลึกถึงวัดป่าที่โพนนาแก้วแหล่งต้นตอ
กันเกราต้นใหญ่ทิ้งดอกป่งใบเขียวขจีแต่ดอกเข็ม ดอกโมก ยังบานไสวพริบพราวให้เห็นตรงราวป่า ฟ้าใหม่ในดินแดนแห่งคมขวานยังคงสดใส ประเพณี วิถีชีวิตยังคงสืบเนื่องด้วยความหวังเช่นปกติ ไม่หวั่นไหวไปกับความร้อนแล้งแห่งธรรมชาติหรือการบ้านการเมือง จะต่างไปก็เพียงว่า แรงงานที่พลิกฟื้นผืนดินเปลี่ยนจากคนเป็นเครื่องจักร เครื่องยนต์ ลูกหลานชาวคมขวานรุ่นใหม่ ๆ กลับจากเมืองไทย เมืองเทศ ต่างแบกใบปริญญาและหน้าที่การงานระดับสูงมาให้พี่น้องป้องปลายแลพ่อแม่ได้ยิ้มพราย
เช่นกับวันนี้ที่บ้านแก้งโตน อำเภอน้ำยืน สาวภูไทเพิ่งมีโอกาสไปร่วมงานบุญของเพื่อนพร้อมกับเพื่อน ๆ เต็มรถตู้หนึ่งคัน และยังมีรถเก๋ง รถปิกอัพที่ไปส่วนตัวรวมแล้วเกือบยี่สิบคนมุ่งไปบ้าน คุณอุดร ขาววงศ์ ที่จัดงานบวชให้หลานชายผู้ซึ่งทำงานอยู่กรุงเทพฯ และลามาบวชที่บ้านเกิด มาสู่ความอบอุ่น กรุ่นรัก ของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย แลพี่น้องป้องปลายดังกล่าว
เอิ้นขวัญ เรียกขวัญ สู่ขวัญ เป็นพิธีกรรมที่สืบเนื่องมาจากศาสนา ความเชื่อเดิมของชาวอีสานแล้วปรับสู่วิถีพุทธ-พราหมณ์ โดยทั่วทำขึ้นในทุกโอกาสที่เกิดเหตุด่วนทั้งเรื่องที่เป็นมงคล และเกิดเคราะห์หามยามร้าย เกิดอุบัติเหตุเภทภัย คนในครอบครัวก็จะจัดการเอิ้น(เรียก)ขวัญที่อาจอาจกระเจิดกระเจิงให้กลับมาเพื่อปลอบโยน ให้อยู่กับเนื้อกับตัว อย่าหลบลี้หนีหายไปไหน หากเป็นพิธีการเต็มรูปแบบจะมีพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธี ตั้งพาขวัญ(พานบายศรี) เชิญญาติพี่น้องมาช่วยร้องเรียกขวัญ ในคาถาบทนำก่อนเริ่มพิธีของพ่อพราหมณ์ก็จะมีการกล่าวสรรเสริญอัญเชิญเทพต่าง ๆ เช่น อินทร์ พรหม ไท้แถน ครุฑ นาค รวมถึงเหล่าวิญญาณบรรพชนที่นับถือ และพระรัตนไตร ปัจจุบันอาจมีการตัดทอนให้สั้นลงบ้าง
นาค เป็นสัตว์ในความเชื่อเดิมของอุษาคเนย์ นาคผู้เป็นใหญ่เรียก พญานาค มีบ้านเมืองเวียงวังอยู่ใต้พื้นดินพื้นน้ำเรียกว่า พิภพบาดาล เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิบันดาลฝนและความอุดมสมบูรณ์ให้โลกมนุษย์ เมื่อศาสนาพุทธ พราหมณ์เผยแพร่เข้ามาอุษาคเนย์ นาคจึงถูกปรับเปลี่ยนเข้าอย่างกลมกลืน ปัจจุบันเราจะพบพญานาคมากมายในงานศิลปะต่าง ๆ ในทางพุทธศาสนา
นาค ในอีกความหมายหนึ่ง ว่า นาค หมายถึงผู้ประเสริฐ ผู้ไม่ทำบาปเช่นพระพุทธเป็นต้น และ นาค หมายถึง ผู้เตรียมตัวจะบวช เรียกนาค มีทั้งนาคพระและนาคเณร(ปรีชา พิณทอง,๒๕๓๒)ดังนั้นนาคจิตรกร ขาววงศ์ในวันนี้คือผู้เตรียมตัวจะบวชค่ะ และพวกเราก็เดินทางมาร่วมงานครั้งนี้ในพิธีเอิ้นขวัญนาคนี่เอง
จากอุบลราชธานีถึงบ้านแก้งโตนใช้เวลาเดินทางชั่วโมงกว่า ๆ จึงมาถึงก่อนพิธีเอิ้นขวัญนาคเล็กน้อย ทันได้เห็นกระบวนการปรับเปลี่ยนนายจิตรกร ให้เป็นนาคจิตรกร ที่จะเข้าสู่การเป็นพระจิตรกรในวันพรุ่งนี้ เวลา ๐๓.๐๙ น ณ พัทธสีมาวัดบ้านแก้งโตน
โกนผม และ อาบน้ำ คือกระบวนการแรกก่อนเข้าสู่การเอิ้นขวัญนาค ซึ่งแน่ละหนุ่มหน้ามนคนจากกทม.ที่มีผมดกดำเต็มศีรษะจะต้องถูกตัดและโกนจนเกลี้ยงเกลา หมอพราหมณ์ในวันนี้ คือ คุณพ่อบุญชู มนตรี จะเป็นผู้โกนผมหลังจากพ่อ แม่ ญาติผู้ใหญ่ และเพื่อนมิตรได้ขลิบผมให้ก่อนแล้ว
ในท่ามกลางความร้อนระอุอ้าวนั้น โอ่งมังกรบรรจุน้ำจนเต็มถูกตั้งไว้เคียงข้าง น้ำแข็งก้อนถูกเทลงผสมจนน้ำในโอ่งเย็นเฉียบ สายน้ำถูกฉีดไปทั่วพื้นบรรเทาความร้อนไปได้อักโข ที่สำคัญความร้อน ความเย็น ผสานให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่นด้วยกลิ่นอายแห่งความรักที่ญาติผู้ใหญ่บรรจงสร้างขึ้นเพื่อลูกหลานอันเป็นที่รัก
พิธีกรรม พิธีการในงานบุญใดๆ ของคนอีสานมาแต่โบราณนั้นจะให้ความสำคัญของคนมากกว่าเสมอ ความรักใคร่ ห่วงใย แลอาทรกันและกัน เอาใจกันและกัน คือหัวใจของงาน สาวภูไทเองยอมรับว่าห่างเหินไปจากบรรยากาศที่ให้ความรู้สึกนี้ไปนาน นับเป็นบุญอย่างยิ่งได้มาพบเจออีกในโอกาสนี้
กระบวนการโกนผมนาคเป็นกระบวนการแสดงออกถึงความอาทรต่อผู้เป็นนาคอย่างเต็มเปี่ยม ขณะพ่อพราหมณ์โกนผมก็มีผู้คอยดูแลเอาใจใส่ เช่น ชโลมน้ำเย็นให้ คอยเช็ด คอยแตะๆ เกลี่ย ๆ อ่อนโยนและนุ่มนวล จนสุดท้ายพ่อนาคเป็นผู้ใช้น้ำล้างมือล้างน้ำพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ก่อนตนเองจะถูกชำระคราบของบุคคลธรรมดาสู่ความเป็นนาคด้วยสายน้ำเย็นจากมือของคนที่รักและห่วงใย
แล้วก็ถึงกระบวนการเอิ้นขวัญ หน้าพาขวัญฝีมือประณีตของคุณครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านแก้งโตน ที่บรรจุสิ่งสำคัญในพิธีคือ ไข่ขวัญ ข้าวต้มมัด และปั้นข้าวเหนียว ประดับด้วยดอกไม้และด้ายสายสิญจน์สีขาวระย้าระย้อย
เสียงฆ้องที่ดังมุง ๆ ๆ สลับเสียงสาธยายมนตร์ของพ่อพราหมณ์ตามด้วยการประสานเสียงร้องไชโย และมาเดอขวัญเอย
มาเดอขวัญพ่อนาคเอย มาอยู่กับเนื้อกับคีง
อย่าได้มัวประวิงสิ่งใด เพื่อจะเดินเข้าสู่ร่มพระศาสนา ด้วยใจที่เปี่ยมสุข
.....
ขอบคุณ คุณอุดร ขาววงศ์ และเพื่อน ๆ ชาว ป.กศ ๐๘ ทุกท่านค่ะ