เที่ยววัดสำคัญในพระนครศรีอยุธยา
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
เช้าวันรุ่งขึ้น 10 พค.2562 เจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพระนครศรีอยุธยา 2 อนงค์ มารับที่ศาลาอยุธยา แล้วก็บ่ายหน้าไปยังวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร ท้องที่ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง เขตพระราชวังหน้า “วังจันทรเกษม” แต่ถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่เสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 วันเวลาที่ผันผ่านไปนานถึง 96 ปี สิ่งก่อสร้างในวัดชำรุดเสื่อมสภาพ จนถึงปีพ.ศ.2406 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 จึงได้เสด็จปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ พร้อมพระราชทานชื่อใหม่ให้ว่าวัดเสนาสนาราม เป็นวัดฝ่ายธรรมยุตินิกาย ทั้งนี้ พระองค์ได้รวมเอาวัดเสื่อซึ่งเคยอยู่ชิดติดกันให้เป็นวัดเดียวกัน
พระอุโบสถเป็นอุโบสถเก่าสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา พร้อมพระประธาน ส่วนภาพจิตกรรมฝาผนังนั้นเป็นฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ มองหาให้ดีจะพบว่ามีภาพอิโรติกตามอารมณ์ขันของช่างอยู่ด้วยภาพหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีวิหารพระพุทธไสยาสน์ วิหารพระอินทร์แปลง ผนังวิหารหลังนี้มีจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์อยู่ด้วยเช่นกัน
วัดนี้มีต้นจันอินปลูกรอบอุโบสถ ลำต้นใหญ่ 2-3 คนโอบ แต่เป็นโพรงและกิ่งหักบ่งบอกอายุที่ยาวนาน ซึ่งต้นจันอินนั้นเหลืออยู่ตามวัดเก่าๆเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผิดกับต้นไม้ในวัดนิเวศธรรมประวัติ บนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ปลูกด้วยไม้ป่าหายากดอกมีกลิ่นหอมตลบอบอวล คือต้นพะยอม ซึ่งก็มีขนาดใหญ่ 2-3 คนโอบเช่นกัน
วัดนิเวศธรรมประวัติ สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อใช้บำเพ็ญพระราชกุศล ด้วยการสร้างอุโบสถให้แปลกตาไปจากวัดในพระพุทธศาสนาทั่วไป ทรงโปรดให้สร้างด้วยศิลปะแบบโกธิค (GOTHIC) มียอดโบสถ์ทรงโดมอย่างโบสถ์ฝรั่ง มีนาฬิกาและระฆังชุด ผนังแต่งแต้มด้วยกระจกสีสวยงาม โดยมีพระพุทธนฤมลธรรมโมภาสเป็นองค์ประธาน เป็นพระอารามหลวงชนิดราชวรวิหาร สังกัดธรรมยุตินิกาย
กุฎีวัดนิเวศธรรมประวัติก็ทรงโปรดให้สร้างด้วยศิลปะยุโรป แต่ละหลังแตกต่างกันไป ดูเหมือนหมู่บ้านจัดสรร ร่มรื่นด้วยต้นไม้ประดับ สะอาดและชวนให้ปฏิบัติธรรม ด้านหลังมีอาคารเรียนปริยัติธรรมให้สามเณรได้ศึกษาหาความรู้ มีกระเช้าข้ามไปมาระหว่างเกาะกับแผ่นดินใหญ่ แต่ในคลองมีแต่ผักตบชวา น่าจะให้มหาวิทยาลัยเกษตร กำแพงแสนซึ่งได้ทดลองใช้จุลินทรีพิฆาตได้ผลแบบ ตายสลายไปหมดทั้งคลอง
ต้นสาละต้นนี้ไม่ใช่ต้นสาละในพุทธประวัตินะครับ
ในเกาะบางปะอินนี้มีอีกวัดหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ด้านเหนือของเกาะ มีสะพานข้ามไปมาได้ ชื่อวัดชุมพลนิกายารามราชวรวิหาร เป็นวัดหลวงชั้นโทชนิดราชวรวิหาร สร้างโดยสมเด็จพระสรรเพชรที่ 5 (พระเจ้าปราสาททอง) ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเมื่อพ.ศ.2175 สถานที่สร้างคือบ้านเดิมของพระราชชนนี พระประธานในอุโบสถศิลปะสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ โดยมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างหลวงสมัยรัชกาลที่ 4
เพื่อนสื่อ วีรศักดิ์ ภักดี ตะโกนว่า “เจอแล้ว พระประธานในโบสถ์ ศิลปะอู่ทองสร้างด้วยทองสำริดปางมารวิชัย และรัตนโกสินทร์” ก็อตเป็นสื่อที่มีความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาและศิลปะแต่ละยุคสมัย ขณะนี้กำลังบูรณปฏิสังขรณ์อยู่ทั้งหลัง ภาพเขียนสีก็ลบเลือน ปูนผนังโบสถ์แตกร่อน ถ้าไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้เที่ยววัดละก็ คงไม่อยากเข้าไปชม
วัดตูม ตั้งอยู่ริมถนนสายประตูชัย อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอารามหลวงตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเสด็จมาบูรณะ แต่ไม่ได้ทรงเปลี่ยนชื่อเหมือนวัดอื่นๆ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง กระทั่งถึงรัชกาลที่6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ลงยันต์ในธงพระครุฑผ่าห์เพื่อพระราชทานเป็นธงชัยเฉลิมพลช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
วัดตูมนั้นมีชื่อก็ธรรมดาๆ แต่มีความสำคัญมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ด้วยเหตุผลหนึ่งนั่นคือ พระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อยแบบจักรพรรดิราชสมัยกรุงศรีอยุธยานามว่า หลวงพ่อทองสุขสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย แต่ที่อัศจรรย์คือ เศียรพระเปิดออกได้ และมีน้ำไหลซึมตลอดเวลา น้ำพุทธมนต์ในเศียรพระนี่แหละที่ใช้ในพระราชพิธีที่วิหารพระมงคลบพิตรและพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 แห่งจักรีวงศ์ เลยทีเดียว
วัดสุดท้ายปลายซอย คือวัดช้างใหญ่ ประวัติคือเป็นถิ่นชาวมอญที่เลี้ยงช้างอาศัยอยู่แต่ครั้งกรุงเก่า เพื่อถวายงานแก่พระมหากษัตริย์ ตำแหน่งพระยาราชมนู จตุรงคบาทควบคุมและดูแลช้างศึกของพระมหากษัตริย์ ตำแหน่งสูงสุดได้เป็นถึง เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีสมุหกลาโหม โดยมีหน้าที่ดูแลบำรุงช้างศึกสำคัญคือ
เจ้าพระยาไชยานุภาพ เจ้าพระยาปราบหงสาวดี ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเจ้าพระยาปราบไตรจักร เป็นช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระเอกาทศรถ วัดร้างไปตั้งแต่เสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 จนถึงสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จมาบูรณะปฏิสังขรณ์ แต่ไม่ทรงเปลี่ยนชื่อวัด วัดนี้ยังมีพระประธานศิลปะอยุธยา อายุกว่า 600 ปี นามว่าหลวงพ่อโต ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแปลกตา วาดตามแบบอยุธยาแต่เป็นฝีมือช่างสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
#ททท.สำนักงาน พระนครศรีอยุธยา ไม่มาไม่ได้ #วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร #วัดนิเวศธรรมประวัติ #วัดชุมพลนิกายารามราชวรวิหาร #วัดตูม #วัดช้างใหญ่ #เทศกาลหุ่นไล่กาชุมชนบ้านสามเรือน #กุ้งเผาวัดเชิงเลน #โอโภชนา
อย่างนี้มันต้องซ่อม