ประเพณีหนึ่งดียว"ทอดข้าวเม่าหาเงินสร้างวัด"
ตั้งแต่เกิดมาจนวันนี้อายุเลย 60 ปี ก็เพิ่งจะได้ความรู้ใหม่จากเพื่อนรุ่นน้อง คุณไตรเทพ ไกรงู นสพ.คมชัดลึก ชวนให้ร่วมเดินทางไปดู บุญข้าวเม่าทอด เพื่อหาเงินสร้างวัดที่จังหวัดพิจิตร ฟังครั้งแรกแล้วรู้สึกแปลกๆ แต่ก็อยากรู้และไม่อยากให้ผู้ที่ชักชวนเสียกำลังใจ ผมจึงไปแบบเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ปัทโธ่ กว่าจะสร้างวัดสักวัดหมดเป็นสิบเป็นร้อยล้านบาท นี่จะทอดข้าวเม่าขาย จะได้กี่สตางค์กัน ไม่เชื่อๆ ต้องไปพิสูจน์ทราบสักหน่อย
บุญข้าวเม่าทอดสร้างอุโบสถ สวยงาม
เรื่องข้าวเม่านี่พอดีได้อ่านหนังสือของยายนางแห่งบ้านผับแล้ง เมืองอุบลราชธานี เขียนเล่าไว้ในหนังสือสารคดีสำหรับเยาวชนรางวัลชนะเลิศ แว่นแก้ว 2551 ชื่อ เมื่อยายอายุเท่าหนู ตอนสายลมในป่าข้าว นิยามคำว่า ข้าวเม่า เอาไว้ว่า
ข้าวเมื่อแตกรวงจะเริ่มผลิตน้ำนมสีขาวอยู่ภายในเมล็ด เมื่อข้าวเริ่มแก่ น้ำนมจะแข็งกลายเป็นเนื้อข้าวให้เรากิน ขณะน้ำนมข้าวเพิ่มแข็ง เราเก็บเกี่ยวเอาเมล็ดข้าวเหนียวมาคั่ว ตำเอาเปลือกออก จะได้ข้าวเม่าสีเขียวอ่อน นุ่มหวานหอม กินเป็นของหวาน แหม เลยไม่ต้องพรรณาให้ยากเลย ฮิฮิ!! แต่นั่นเป็นมิติของข้าวเม่าแห่งคนเมืองอุบลเขากินกัน
มะพร้าวกองโตกับกิจของสงฆ์ยามเช้า
ส่วนข้าวเม่าทอดของวัดหาดมูลกระบือนี่ซิ จะเหมือนของยายนางไหมหนอ หรือว่าจะเหมือนข้าวเม่าทอดของยายยูงยายยอม แม่ค้าฝาแฝดแห่งบ้านทุ่งห้วยคันแหลนแขวงเมืองวิเศษชัยชาญหรือเปล่า อันข้าวเม่าทอดของยายยูงยายยอมฝาแฝดนี่ ถ้าหน้าแล้งก็ตั้งกะทะทอดขายที่ศาลาหน้าวัด แต่ถ้าหน้าน้ำปริ่มคลองก็ลอยละล่องท่องไปขายเรื่อยๆ รู้กันว่า ถ้าข้าวเม่าทอดมาละก็ กวักมือพร้อมเสียงตะโกนลั่นคลอง "ข้าวเม่าแวะหน่อย"
หลวงพ่อวิเชียร ผู้ริเริ่มและสืบสาน
แต่ถ้าเรือข้าวเม่าผ่านบ้านยายย้งกับยายเง็กสองศรีพี่สาวที่กำลังจั่วไพ่ตองกันอยู่ละก้อ เสียงตะโกนจะดังว่า "เฮ้ยอียูงอียอม ข้าวเม่าครบเครื่อง" เป็นที่รู้กันว่า ต้องข้าวเม่า 10 แพ กล้วยแขก 10 ถุง โรยด้วยกากมันๆเยอะๆ เพราะว่านั่นคืออาหารมื้อเดียวที่ได้รับระหว่างจั่ว เล่นไม่กินข้าวกินปลา เล่นกันจนกินโรงสีข้าวเป็นโรงๆ (วอนซะแล้วนะมึง เดี๋ยวอีเจ๊ด่าแหลก)
เพื่อเป็นการไขข้อข้องใจ จึงเริ่มต้นด้วยการออกเดินทางจากกรุงเทพมุ่งสู่นครสวรรค์แล้วเข้าไปยังเมืองพิจิตร ดินแดนเจ้าชาละวันตัวแดง เรื่องเล่าจากนิทานพื้นบ้านไกรทองที่เคยจดจำจนฝังใจ ทำให้เห็นน้ำนิ่งๆใสๆ ก็ไม่กล้าลง กลัวไอ้เข้ ระยะทางราวๆ 344 กม. แล้วต่อด้วยทางอยู่ที่ปากเพื่อไปยังวัดหาดมูลกระบือ ต.ย่านยาว อ.เมือง จ.พิจิตร ไม่ไกลเลย
กล้วยไข่กองเป็นภูเขา ปั้นเป็นข้าวเม่ารอทอด
พบวัดตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน มีอุโบสถสวยวิจิตรตระการตา หน้าโบสก์มีเจดีย์เก่าแก่องค์หนึ่ง นอกนั้นก็เรียบๆเหมือนวัดบ้านนอกทั่วไป มีสลิงโดยสารข้ามฟากช่วยให้ชาวบ้านไปมาหาสู่กันได้สะดวกมากขึ้น ค่าโดยสารตามสมควร วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๒๗๗ หรือเมื่อ ๒๗๐ ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วัดนี้เป็นสำนักศึกษาพระธรรมวินัยและพุทธาคม ที่มีชื่อเกียรติคุณเป็นที่ปรากฏทางตอนเหนือของเมืองพิจิตรมาแต่อดีต
วันที่ไปถึง (21 สค52) เย็นมากแล้ว คุณไตรเทพพาไปดูลาดเลาที่วัด มีการเตรียมเปิดนัดของพ่อค้าแม่ค้าในสนามหน้าวัด มีโรงลิเกหน้าวัดแต่ยังไม่แสดง เครื่องเล่นเด็กๆสีสันฉูดฉาด ร้านเป้าปืน ลูกดอกข้วางลูกโป่ง ลูกบอลล์ขว้างเป้า แลกรางวัลตุ๊กตาสารพัดสีสวย ร้านอาหารหวานคาวร้านขายแมลงทอดกรอบ วัดได้ค่าที่เช่าจากแม่ค้าอีกส่วนหนึ่ง
ลิเก ศิลปะพื้นบ้านภาคกลางของไทย
แฟนพันธุ์แท้ มีทุกยุคสมัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ก็เคยนั่งริงค์ไซท์อย่างนี้แหละ
โรงเรือนตั้งเตาและกะทะใบบัวขนาดใหญ่วางเรียงเป็นสองแถว(ฝั่งวัด-ฝั่งตรงข้ามวัด) นับรวมกันได้ 30 ชุด มีกองมะพร้าวแห้งกองอยู่นับหมื่นลูก เครื่องขูดมะพร้าว มะพร้าวที่ปอกเปลือกแล้วพร้อมขูดใส่เข่งอยู่ กล้วยไข่กองเป็นระยะๆ ข้าวเม่าในกระสอบ น้ำตาลทราย ปี๊บน้ำมันพืชเรียงเป็นตับ ในกาละมังมีข้าวเม่าคลุกน้ำตาล และกะทิ นวดจนเข้าที่อยู่หลายกาละมัง ปรากฎว่าโรงเรือนทั้งสองฝั่งแม่น้ำ เตรียมพร้อมที่จะปั้น ทอด ขายข้าวเม่าเต็มพิกัดเชียวละ ชาวบ้านที่เห็นสูงอายุเป็นส่วนใหญ่ มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
ทำมาตั้งแต่สาวๆแล้วจ้ะ
ได้เห็นอุปกรณ์และเครื่องเคราก็มั่นใจได้เลยว่า เป็นข้าวเม่าทอดแบบยายยูงยายยอม เหตุที่เขาทอดขายนี่เมื่อพูดคุยกับชาวบ้านย่านผู้ใหญ่ทั้งชายและหญิง ได้ความรู้ความเข้าใจและเรื่องราวมากขึ้นมาว่า เมื่อก่อนร่อนชะไล ประมาณปี พ.ศ.2497 หลวงพ่อวิเชียรหรือ พระครูพิเชษฐ์ธรรมคุณ เจ้าอาวาสวัดหาดมูลกระบือ เริ่มต้นชักชวนชาวบ้านมาทอดข้าวเม่าขายหาเงินบำรุงวัด ในวันงานประเพณีแข่งเรือยาวประจำปีของวัด (ปีนี้ 21-22 สิงหาคม 2552)
น้าก็ทอดๆๆๆ มาตั้งแต่ยังสาวใสๆ จ้ะ
น้าสาวคนหนึ่งเล่าว่า เคยตามแม่มาช่วยงานวัดตั้งแต่เมื่อยังเด็กๆ สัก 50 ปีที่แล้ว ก็ช่วยมาตลอดจนถึงทุกวันนี้ สืบทอดกันไปทีละรุ่นๆ เหมือนเป็นประเพณีไปแล้ว ไม่มาช่วยก็อยู่บ้านไม่ติด หงุดหงิดมาก เราไม่ไปคนอื่นไป เอ..มันยังไง ก็เลยมาเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในรอบปี โอย.. มากันตั้งแต่เช้ามืดจนดึกดื่นทุกคืน จนกว่าจะหมดงาน ปีนี้เริ่มขายกันมาตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคมแล้ว โน่นแหละ ของหมดก็เลิก ได้บุญวันนี้ก็เอาไว้ก่อนแหละ
ข้าวเม่าทอดครบสูตร ฟูน่ากินจัง
วัตถุดิบล้วนได้มาจากการบริจาคและเจ้าอาวาสซื้อมา เมื่อก่อนนี้พระเณรช่วยกันทอด เดี๋ยวนี้หลวงพ่อแก่ลงไปมาก ก็เลยงดกิจนี้ไป พระก็น้อยลง ภาพที่เห็นเป็นแบบย้อนอดีตให้ดูเฉยๆ ไม่มีการจ้างแรงงานใดๆ ชาวบ้านมาช่วยทำด้วยหัวใจ วัดมีโรงอาหารเลี้ยงฟรีอีก วัตถุดิบเครื่องแกงต่างๆก็ได้มาจากชาวบ้านบริจาคไว้ เช่นฟักทอง แตงกวา ฟักแฟง มะเขือ ฯลฯ
เช้าตรู่ เดินทางจากโรงแรมไปยังวัดหาดมูลกระบือ ผู้คนแห่กันมามากหน้าหลายตา มีกระทั่งลูกช้างขอทาน(มันน่าทุบควาญช้างจริงๆเล้ย) ร้านค้าขายมากมายหลายอย่าง ก๋วยเตี๋ยวก็มี แมลงทอดมีถึง 3 ร้าน เสื้อผ้า ของใช้ สารพัดสารเพ ลิเกกำลังออกแขก ตัวโจ๊กเริ่มสำแดง แล้วก็เสียงระนาดลาดตะโพนดังปนเปกันไปทั้งลานวัด มันคือเสียงเพลงแห่งบ้านทุ่งงานวัด มันไม่ใช่เพลงคลาสสิกในโรงแรมหรูปูพรมแดง นี่แหละถึงแก่น กลิ่นอายบ้านทุ่งแบบไทยๆ
ที่หลังวัดและฝั่งตรงข้ามวัด แม่เฒ่าสาวแก่กำลังปั้นข้าวเม่าด้วยข้าวเม่าที่นวดกับน้ำตาลและเหยาะกะทิ จนเข้าที่ ปั้นแล้วก็เรียงใส่ถาดไว้ รอให้คนทอดเอาไปทอด มีโรงเรือนทอดข้าวเม่าเตากะทะน้ำมันกำลังร้อนฉ่า หน้าเป็นมันกันทุกคน คนซื้อก็วนเวียนกันเข้ามาซื้อ แล้วก็เดินจากไป รายเก่าไปรายใหม่ก็โผล่หน้าเข้ามาอีก ไม่ขาดสาย
อ.โจ้ ขวัญทอง สอนศิริ ยอดนักพากษ์เรือแข่ง
ได้ความว่า แต่ละปีวัดมีรายได้จากการทอดข้าวเม่าขายปีละ สามสี่แสนบาท หักกลบลบต้นทุนที่จำเป็นแล้วเหลือเงินเข้าวัด บูรณะพุทธสถานได้ปีละ แสนเศษจนถึงสองแสนบาทเศษเท่านั้น แม้ว่ายอดเงินไม่มากมายนัก แต่สิ่งที่ได้รับกลับมากมายมหาศาล ด้วยกุสโลบายอันชาญฉลาดของหลวงพ่อวิเชียรที่ได้ให้กับชุมชน นั่นคือสร้างบุญร่วมกัน สร้างความรักความผูกพันระหว่างกันและกัน ได้น้ำใจไมตรีที่คนสองฝั่งแม่น้ำน่านร่วมกันสานสายสัมพันธุ์กันมายาวนาน และอาจชั่วลูกชั่วหลาน
จ้ำพรึด ๆ ๆ ๆ
พระยาอนุมานราชธน ได้ให้ความหมายของคำว่าประเพณีไว้ว่า ประเพณี คือ ความประพฤติที่ชนหมู่หนึ่งอยู่ในที่แห่งหนึ่งถือเป็นแบบแผนกันมาอย่างเดียวกัน และสืบต่อกันมานาน ถ้าใครในหมู่ประพฤติออกนอกแบบก็ผิดประเพณี หรือผิดจารีตประเพณี ส่วนอีกนิยามหนึ่งกล่าวว่า
ประเพณี หมายถึง ระเบียบแบบแผนที่กำหนดพฤติกรรมในสถานการณ์ต่างๆ ที่คนในสังคมยึดถือปฏิบัติสืบกันมา ถ้าคนใดในสังคมนั้นๆฝ่าฝืนมักถูกตำหนิจากสังคม
เรือยาวแข่งกันทุกปีที่หน้าวัด
งานประเพณีแข่งเรือยาวของวัดหาดมูลกระบือ เมื่อจัดกันทุกปีก็ต้องยอมรับว่าเป็นประเพณีแน่นอน แต่การลงแขกทอดข้าวเม่าขายหาเงินเข้าวัดอย่างที่ชาวบ้านบ้านหาดมูลกระบือถือปฏิบัติกันอยู่นี้ เข้าทำนองว่า เป็นประเพณีบุญข้าวเม่าทอด มันจะได้ไหม ? หรือว่า ถ้าหลวงพ่อวิเชียรสิ้นไปวันใด งานบุญข้าวเม่าทอดจะยังคงอยู่หรือสิ้นตามท่านไปด้วยไหม?
ชาวบ้านหาดมูลกระบือเท่านั้นที่ต้องตอบโจทย์