http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,276,735
Page Views16,603,351
« September 2024»
SMTWTFS
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930     
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

คึดฮอดเมืองลาว15. ไหว้พระธาตุอิงฮัง โดยเอื้อยนาง เรื่อง-ภาพ

คึดฮอดเมืองลาว15. ไหว้พระธาตุอิงฮัง โดยเอื้อยนาง เรื่อง-ภาพ

คึดฮอดเมืองลาว ๑๕

ไหว้พระธาตุอิงฮัง(ต่อ)

 

               ศูนย์รวมศรัทธาของผู้คนสองฝั่งโขงตอนกลางนี้ คือ พระธาตุพนม  เชื่อกันแต่โบราณแล้วว่า  ได้เกิดมาเป็นคนชาติหนึ่งแล้ว  ต้องได้ไปไหว้พระธาตุพนมสักครั้งหนึ่งเป็นอย่างน้อย  เพื่อความเป็นสิริมงคลแห่งชีวิตสมกับที่ได้เกิดมา  ดังนั้นในช่วงฤดูแล้งหลังการเก็บเกี่ยว  โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันมาฆบูชา  ซึ่งเป็นประเพณีไหว้พระธาตุพนมของทุกปี  ถนนทุกสายที่มุ่งสู่อำเภอธาตุพนม  จังหวัดนครพนม  จะกลายเป็นจอแจคลาคล่ำทันที  ด้วยความศรัทธาที่ใหญ่หลวง  ไหว้สักการพระธาตุพนมแล้วจะให้ครบบริบูรณ์เป็นสิริมงคลยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้นของชีวิต ก็คือต้องได้ไหว้พระธาตุหลวงเวียงจันทน์  กับพระธาตอิงฮัง สะหวันนะเขตอีกด้วย

            พระธาตุพนมอยู่ฝั่งขวา  ส่วนพระธาตุหลวงกับพระธาตุอิงฮังอยู่ฝั่งซ้าย  ทั้งยังไกลกันคนละเขตแขวง  จึงไม่ง่ายนักที่จะเดินทางข้ามโขงไปไหว้ทั้งสองแห่งในช่วงเวลาเดียวกัน  ต้องวางแผนไว้ก่อนอย่างเป็นระบบ  หลายคนจึงเก็บความหวังไว้ให้ครองใจก่อน  ว่าจะต้องไปให้ได้ในสักวันใดวันหนึ่งแน่แท้

            สำหรับพระธาตุอิงฮัง  เอ่ยชื่อออกมา  หลายคนอาจไม่คุ้น  และไม่รู้จัก เพราะไม่มีชื่อเสียงอย่างพระธาตุหลวงเวียงจันทน์    ชื่อแขวงสะหวันนะเขตเองก็เป็นที่รู้จักไม่มากนักนอกจากพี่น้องป้องปลายแถบใกล้เคียงทั้งสองฝั่งที่เป็นอันเดียวกันอยู่แล้ว   เพิ่งจะแป็นที่รู้จักจริง ๆ ช่วงที่มีสะพานข้ามโขงทอดยาวเชื่อมลาว-ไทยมานี่เอง  ผู้เขียนนั้นเคยไปไหว้พระธาตุอิงฮังมาครั้งหนึ่งแล้วตั้งแต่ยังไม่มีสะพานข้ามโขง  แต่ครั้งนั้นเดินทางไปในช่วงเทศกาลที่มีผู้คนพลุกพล่าน(ส่วนมากก็ไปจากฝั่งขวา คือไทย)มากมายล้นหลาม   จนไม่สะดวกในการไหว้พระธาตุ  จึงได้แต่ตั้งความหวังไว้ว่าสักวันหนึ่งจะกลับมาอีกที 

             จนกระทั่งวันเข้าพรรษาปี๕๔นี่เองจึง  ได้ยกขบวนกันไปทั้งลูกหลาน และพกเพื่อนจากที่ทำงาน(สำนักพิมพ์ชมรมเด็ก)คือคุณต้อมไปด้วยอีกหนึ่งคน  (สำหรับคุณต้อม ชาวกรุงผู้รู้จักอีสานและเมืองลาวเฉพาะในเรื่องราว ข่าวคราว  ตำนานความแห้งแล้งกันดารในอดีต ครั้นได้มาครั้งนี้แล้วเธอก็ตกหลุมรักอีสานกับลาวทันที  และเกิดมีความหวังตั้งใจไว้ว่า   หากมีวันหยุดงานติดกันอีกทีจะขอไปลาวทางด้านช่องเม็กที่เราเอ่ยถึงเหมือนไปนานั้นด้วย)

            แล้วเราก็เลยผ่านด่านตรวจอย่างทุลักทุเลที่ฝั่งมุกดาหาร  นั่งรสบัสของลาวข้ามโขงจากฝั่งขวาสู่ฝั่งซ้ายโดยมีเด็กหญิงตัวน้อย ๆ ผู้ตื่นตาตื่นใจกับทุกสิ่งรอบข้างไปไหว้พระธาตุด้วย

            แม่น้ำโขงด้านเหนือของมุกดาหารและสะหวันนะเขตกว้างใหญ่ลิบลับ  สองฟากฝั่งทั้งซ้ายขวาต้นข้าวกำลังเขียวขจีตัดกับท้องฟ้าที่มีปุยเมฆขาวลอยฟ่อง

            ครั้งก่อนเคยเล่าเรื่องอาณาจักรสีโคดตะบอง(ศรีโคตรบูรณ์)ใกล้เมืองท่าแขกตรงกันข้ามนครพนมในคึดฮอดเมืองลาว ๗ แล้ว  ที่นี่อยู่ห่างจากเมืองท่าแขกตามเส้นทางหมาย๓ของลาวเพียง๘๐กิโลเมตร  ถือว่าไม่ไกลจากศูนย์ของอาณาจักรที่เอ่ยถึงนั้นเลย  จึงมีร่องรอยอิทธิพลขอมอยู่เช่นกัน  ที่สำคัญและเด่นชัดในสะหวันนะเขตตอนนี้ก็คือ ที่พระธาตุอิงฮัง  กับปรางค์หินเก่าที่พังทลายลงมากแล้วแห่งหนึ่ง  ซีงคนที่นี่เรียกว่า  “เฮือนหิน”  ตั้งอยู่ห่างออกไปตามลำน้ำโขงประมาณ ๗๐ กิโลเมตรจากสะหวันนะเขต  โอกาสต่อไปคงจะได้ไปเยือน 

            

              วันนี้ไปไหว้พระธาตุอิงฮังกันก่อนนะคะ

              อิงฮัง เป็นคำลาวสองคำผสม คือ   อิง หมายถึง พิง, แอบ   ฮัง  หมายถึง  รัง,ต้นรัง

ดังนั้น  อิงฮัง ก็คือ พิงต้นรังนั่นเอง โดยได้ชิ่อมาจากตำนานพระธาตุพนม(อุรังคนิทาน)ซึ่งเป็นวรรณกรรมล้านช้าง  ในยุคสมัยที่รุ่งเรือง ขยายอาณาเขตครอบพื้นที่สองฝั่งโขงตอนกลางนี้

           ในตำนานอุรังคนิทานที่ว่านั้น  ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า  ปางนั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่ในเชตวันอาราม  ครั้นรุ่งอรุณวันหนึ่งทรงหลิง(แลเห็นด้วยทิพย์จักษุ)เห็นว่าพระพุทธเจ้าทั้งสามพระองค์ที่ดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วนั้นล้วนมีพระธาตุไว้ ณ ดอยกปณคีรี(ที่ตั้งพระธาตุพนม)ใกล้กับเมืองสีโคตรตะบองพระองค์จึงได้เสด็จมาประทับหลาย ๆ แห่งตามที่นิทานกล่าวถึง  จนรุ่งอรุณวันหนึ่งได้ทรงรับอาราธนามายังฝั่งนี้  ทรงบาตรประทับยืนคอยพระยาสุมิตธรรมเจ้าเมืองสีโคตรตะบองอยู่ ณ ใต้ต้นรัง(อิงฮัง)

            พระธาตุที่สร้างขึ้น ณ บริเวณนี้ในภายหลังจึงตั้งชื่อว่า  พระธาตุอิงฮัง

              นั่นเป็นตำนานค่ะ 

            ใต้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว(ขัวมิคตะพาบไท-ลาว)แห่งที่ ๒ (เปิดใช้เมื่อต้นปี ๒๕๕๐)ที่เรานั่งรถข้ามไปนั้น  แม่น้ำโขงดูกว้างใหญ่ลิบลับ  สองฟากฝั่งทั้งสองเขียวขจีด้วยกำลังเขียวขจีด้วยทิวข้าว  ตัดกับท้องฟ้าที่มีปุยเมฆขาวลอยฟ่อง  เรานั่งสามล้อลาวไปตามถนนสู่นาดังเวียดนาม  ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญระหว่าง ลาว - เวียดนามมีตลาดใหญ่ในสะหวันนะเขตชื่อ ตลาดสิงคโปร์ ขากลับจะพาแวะชมกันนะคะ

            ผ่านสวนไดโนเสาร์ที่มีรูปไดโนเสาร์ยืนตระหง่านริมถนน  สามล้อผู้มีอัธยาศัยก็นำพาคณะของเราที่มีเด็กตัวน้อย ๆ ติดมาด้วย  ประมาณ ๑๐ กิโลเมตรก็เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ ๓ กิโลเมตรก็ถึงชุมชนที่ตั้งวัดพระธาตุอิงฮัง  ผู้หญิงที่นุ่งกางเกงมาต้องไปเปลี่ยนเป็นผ้าถุงในจุดที่ให้บริการ ผู้เขียนนั้นมีผ้าตราช้างสารพัดประโยชน์มาด้วยอยู่แล้วจึงใช้คลุมทับกางเกงกลมกลืนไปกับคนอื่นได้สบาย

            พระธาตุอิงฮังเป็นศาสนสถานแบบขอมผสมลาวล้านช้าง  เนื่องในศาสนาฮินดูวัฒนธรรมขอม  แล้วถูกปรับเปลี่ยนในภายหลัง  อาจเป็นเพราะช่วงบนพังทลายลงมาจึงมีการบูรณะเสริมสร้างขึ้นใหม่ให้เป็นพระธาตุเจดีย์เนื่องในพุทธศาสนา  ตั้งอยู่บนลานกว้าง และมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม  มีกำแพงสูงล้อมรอบมีประตูทางเข้าทั้งสี่ด้าน  ภายในปริมณฑลจัดแบ่งเนื้อที่เป็นองค์พระธาตุอยู่ตรงกลางล้อมด้วยกำแพงแก้ว  รายรอบจัดแบ่งเป็นสวนตกแต่งสวยงาม  และส่วนที่เป็นศาลาโล่ง ๆ อยู่ด้านหนึ่งสำหรับผู้มาทำบุญ มีพระเสี่ยงทายและเซียมซีไว้สำหรับผู้นิยมเสี่ยงทายด้วย

            องค์พระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมกว้างด้านละ ๙ เมตร สูง ๒๕ เมตร ฐานและส่วนล่างขององค์สถูปเป็นศิลปะดั้งเดิมแบบขอม ด้านบนและยอดเป็นศิลปะแบบล้านช้าง ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกฐาน และพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ปางต่าง ๆ ในกำแพงแก้วเป็นส่วนที่ต้องห้ามไม่ให้สตรีเข้าภายใน  ผู้เขียนจึงได้แต่อาศัยเจ้าขุนผู้ลูกชายเป็นตา และเป็นมือกล้องให้ 

            รูปทรงโดยรวมแล้ว  พระธาตุอิงฮังดูคล้ายกับพระธาตุแบบแผนอีสานและลาวที่เห็นอยู่ทั่วไป  แต่หากพิจารณาใกล้ชิดจะเห็นความขรึมขลังและแปลกตา  เห็นความผสมกลมกลืนของลาวกับขอมอย่างเด่นชัด  โดยมีชั้นล่าง ๆ ประดับตกแต่งด้วยรูป ลวดลายสลักต่าง ๆ เป็นของเดิมในวัฒนธรรมฮินดูขอม รวมทั้งหินส่วนที่นำไปตกแต่งในสวนด้านข้าง ๆ ด้วย

            ด้านหน้า  นอกเขตหวงห้ามสำหรับผู้หญิงมีที่ตั้งกระถางธูปเทียนและดอกไม้สำหรับสักการบูชาตามธรรมเนียม  ใกล้ ๆ นั้นมีฆ้องใบเขื่องแขวนโยง และมีเสียงดังโหม่ง ๆ อยู่เรื่อย ๆ ด้วยมีผู้ต้องการเสียงนี้ไปลั่นฆ้องให้เกิดเสียงโหม่ง ๆ อยู่เนือง ๆไม่ขาดสาย  คล้ายอยากจะบอกไปถึงฟ้า ถึงแถน บอกถึงความศรัทธาที่มีมาต่อเนื่อง และสืบไปชั่วกาลนาน

            ผู้หญิงเข้าในพระธาตุไม่ได้  ก็ลั่นฆ้องดัง ๆ ก็ได้คือกันค่ะ

๐๐๐๐

           

           

 

 

 

Tags : คึดฮอดเมืองลาว

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view