ในคมขวาน๓
เส้นสายลายคำ ที่คำปุน
Khampun Ubon Weaving
โดย “สาวภูไท”
คำ ในภาษาลาวอีสานแต่โบราณมาหมายถึงทองคำ และทุกสิ่งทุกอย่างที่มีค่าในสายตา ในความรู้สึกรัก และหวงแหน แม้บุคคลอันเป็นที่รักและหวงแหนอย่างเด็กในครอบครัวที่ผู้ใหญ่แสนรักและห่วงหวงมักถูกเรียกด้วยคำหวานหูจ้อย ๆ เช่น “คำเอย” “คำน้อย” “คำหล้า” “คำแพง” “คำพอ” “สายคำ” ..... ล้วนแสดงว่าผู้ถูกเรียกนั้นมีค่ายิ่งนักยกความรักให้สุดจิตสุดใจเลยทีเดียว คนที่มีชื่อ “คำ” นำหน้า หรือต่อท้ายจึงเสมือนเป็นตัวแทนแห่งความรัก ความหวงแหน
คำปุน ที่จะพาไปรู้จักวันนี้ก็มีความหมายไม่แตกต่างจากที่กล่าว คำปุนวันนี้เป็นความรักความภูมิใจของไทอุบลราชธานีอย่างแท้จริง
เดิมทีเดียวเรารู้จักคำปุนด้วยสินค้าผ้าไหมทอมือสวยล้ำ เลอค่า มักซื้อไปเป็นของฝากจากใจที่ปีติปลื้มเปรมทั้งผู้ให้และผู้รับ หลัง ๆ มานี้เรารู้จักคำปุนในสัญลักษณ์แห่งมูนมังมรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่าของอุบลราชธานี ที่หน่วยงานทางราชการที่มีหน้าที่ในด้านนี้ยังต้องอายม้วน
โดยเฉพาะในด้านการทอผ้าไหม ที่คุณแม่คำปุน ศรีใสรักเป็นชีวิตจิตใจ จึงเก็บกำทุกอย่างที่เป็นอุปกรณ์ กระบวนการผลิตด้วยกี่แบบพื้นบ้านอุบลราชธานี เมื่อมีแรงสนุบสนุนจากลูกชายนักออกแบบที่มีหัวใจเดียวกันแล้ว ความรู้สมัยใหม่ ผสมผสานงานฝีมือมรดกของแม่ บ้านคำปุนจึงกลายเป็นดั่งพิพิธภัณฑ์แสดงถึงวิถีชีวิตคนทอผ้าด้วยกี่ที่สืบทอดความเป็นอุบลราชธานีได้อย่างภาคภูมิใจ
ผ้าทอเมืองอุบลเคยมีชื่อเสียงว่าสวยงามล้ำค่ามาแต่อดีตในสมัยบุกเบิกสร้างบ้านแปงเมืองใหม่ ๆ บรรพบุรุษชาวอุบลเชื้อสายเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์ได้ย้ายครอบครัวอพยพมาตั้ง ณ ดอนมดแดง ดงอู่ผึ้ง บ้านห้วยแจะระแม ริมฝั่งแม่น้ำมูล สตรีชาวเมืองอุบลยังคงสืบทอดศิลปะการทอผ้าด้วยฝีมือฝีเท้า(เหยียบกี่)และมันสมองคิดออกแบบลวดลาย จากการเก็บขิด มัดหมี่ ลายถี่ ลายห่าง หมี่คั่น หมี่ขอ หมี่มับไม ไหมเงิน ไหมคำ ลายล่อง ลายขวาง ลายพญานาค ลายดอกจิกดอกผักแว่นมากมายที่พัฒนาให้สวยขึ้นเรื่อย ๆ มา
สมัยเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช เป็นผู้ที่มีสายสัมพันธ์กับราชสำนักรัตนโกสินทร์ ได้ส่งของกำนัลเป็นผ้าทอพื้นเมืองอุบลไปทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าอยู่หัวและขุนนางผู้ใหญ่ในราชสำนักกรุงเทพฯเป็นจำนวนมาก เช่น ไหมลาวต่างสี ๑๐๐ ผืน ผ้าขาวลาว ๑๐๐ พับ (ร.ต.สุนัย ณ อุบล ๒๕๓๕) ต่อมาครั้นพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์มาดำรงค์ตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์(รัชกาลที่๕)สำเร็จราชการมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ ณ อุบลราชธานี ได้ส่งผ้าไหมอุบลไปทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบมาดด้วยความชื่นชมความงามแห่งผ้านั้น
วัฒนธรรมการใช้ผ้าทอแต่เดิมมาจะแยกแบบ แยกลาย และเทคนิคการทอเป็นผ้าที่ใช้ในโอกาสต่าง ๆ ผ้านุ่ง ผ้าผืนแพรวา ผ้าถือ ผ้าห่ม ผ้าถวายพระ ผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน ผ้าทำธง(ทุง) ผ้าสำหรับผู้หญิง ผ้าสำหรับผู้ชายจะไม่ปะปนกัน ครั้นยุคสมัยเปลี่ยนผันความสวยงามแห่งผืนผ้าและลวดลายยั่วใจให้นำไปตัดเป็นเสื้อผ้าทั้งผู้หญิงผู้ชายไม่แบ่งแยกอีก ผ้าทอก็ยิ่งเฟื่องฟู ข้าราชการ พนักงานของรัฐ ครูอาจารย์หันมาให้เป็นเอกลักษณ์กันทั่วไป
ยุคกลุ่มสีเฟื่องฟู ผ้าทอจากโรงงานมากลืนกลบแทบทำให้เราลืมมรดกชิ้นนี้ไปเสียสิ้น ร้านโอทอป กลุ่มผ้าทอ กลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านมีอาการหายใจรวยรินกันทั่ว
ไม่นึกเลยว่าวันเข้าพรรษาปี ๕๔ จะบังเอิญโชคดี ด้วยหนูเปิ้ลผู้กระตือรือร้นได้กระหืดกระหอบมาบอกว่า บ้านคำปุนเปิดให้ชมวันนี้
“จริงเหรอ งั้นจะช้าอยู่ไย ไปกันทันทีเลย”
คำปุน แห่งนี้ตั้งอยู่ฝั่งอำเภอวารินชำราบ ริมถนนสายอุบล-ศรีสะเกษ ห่างจากโรงเรียนวารินชำราบไปนิดเดียว เป็นสถานที่ผลิตผ้าไหมลายคำอย่างมัดหมี่ กาบบัว เก็บขิด ด้วยกี่พื้นเมืองกระบวนการทั้งหมดใช้มือแบบดั้งเดิม เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์จะเปิดต้อนรับผู้มาเยือนเพียงปีละครั้ง เพียง ๑ วันเท่านั้น ส่วนมากเราอยากเข้าชมแต่มักจะลืม ๆ ไปว่าวันไหนกันแน่จึงได้เข้าเยี่ยมชมสถานที่นี้ไม่บ่อยนัก เพราะหากต้องการสินค้าของคำปุนก็ไปที่ร้านในตัวเมืองอุบลอยู่แล้ว
ไม่ผิดหรอกที่จั่วหัวเรื่องว่า เส้นไหมลายคำที่คำปุน
Khampun Ubon Weaving Centre
วิถีทอผ้าในอดีตที่ใช้พัฒนาลวดลายแสนงามล้ำค่ามาจนปัจจุบันของคำปุน มิใช่จะแสนงามล้ำค่าเฉพาะในชิ้นงาน แต่ยังรวมถึงน้ำใจของผู้เป็นเจ้าของที่แผ่ขยายออกไปยังอุบลราชธานีใจส่วนอื่น ๆ
ลายคำจากคำปุนจึงหมายถึงคำในหัวใจด้วย
ปีนี้เป็นปีที่ ๑๓ แล้ว ที่บ้านคำปุนและกลุ่มมูนเมืองเปิดให้เข้าชมนิทรรศการ รวม ๒ วัน คือวันที่ ๑๕ และ ๑๖ กรกฏาคมที่ผ่านมา โดยเก็บค่าผ่านประตูท่านละ ๑๐๐ บาทเพื่อนำรายได้ไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ เป็นทุนสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ศรีอุบลรัตนาราม อีกส่วนให้แก่เด็กนักเรียนที่ขาดแคลนและการกุศลอื่น ๆ ดังที่คำปุนเคยทำมา อย่างเช่นเมื่อปีที่แล้วได้นำไปช่วยมูลนิธิบ้านโฮมฮัก ๒๐,๐๐๐ บาท สมทบในการสร้างลวดลายดินเผาประดับหน้าบันวัดป่านานาชาติอุบลราชธานี ๕๐,๐๐๐ บาท ถวายเป็นปัจจัยบำรุงเสนาสนะ วัดภูจ้อมก้อม อ.โขงเจียม อุบลราชธานี ๕๐,๐๐๐ บาท บริจาคศูนย์การแพทย์ชุมชนวัดใต้(พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ) ๔๗,๘๕๐ บาท สมทบกองทุนเพื่อเป็นเงินเดือนเจ้าหน้าที่และค่าดูแลพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม ๕๐,๐๐๐ บาท.
ขอบคุณ คุณแม่คำปุน ศรีใส และคุณมีชัย แต้สุจริยา ทรัพยากรบุคคลล้ำค่าของชาวอุบล ที่เปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้ทัศนาความสวยงาม แล้วยังได้ฟังเพลงกันตรึม ดนตรีเพราะ ๆ ของน้อง ๆ จากสุรินทร์ด้วย นี่เป็นสิ่งหนึ่งควรปรบมือให้คุณมีชัยผู้มองเห็นคุณค่าของดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้ด้วยค่ะ
๐๐๐๐๐๐