http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,276,467
Page Views16,603,073
« September 2024»
SMTWTFS
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930     
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

เพลินชมเพลงทรงเครื่องเมืองอ่างทอง โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

เพลินชมเพลงทรงเครื่องเมืองอ่างทอง โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

เพลินชมเพลงทรงเครื่องเมืองอ่างทอง

โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

                ทุกเสาร์อาทิตย์ หากผมไม่ได้ไปท่องเที่ยวเพื่อหาข้อมูลมาเขียน หรือไปกับองค์กรที่เชิญให้ร่วมไปทำงานการประชาสัมพันธ์แล้ว ผมกลับไปรวมตัวกับพี่น้องท้องเดียวกันเป็นหลัก มีห้าคนแต่ไปร่วมกันด้วยนิสัยและความชมชอบคล้ายคลึงกันเพียงสาม ว่ากันตามจริงในสามคนยังเหลือเพียงสองคนที่ไปทางเดียวกัน ส่วนผมแปลกแยกแตกต่างอย่างมีเป้าหมายเพิ่มเติม  

            ผมไปทุกที่ที่มีงานให้ทำ ใช่แล้วครับ ด้วยเหตุผลว่าผมเป็นเจ้าของเว็บไซต์ เป็นนักเขียน เป็นช่างภาพ และเป็นหน้าที่ที่ต้องหาเรื่องมาเล่าให้เพื่อนๆแฟนเว็บไซต์ได้อ่านเรื่องใหม่ๆอยู่เสมอ ก็ติดสอยห้อยตามไปได้ทุกที่

            เสาร์ที่ 17 กันยายน 2554 มีรายการแสดง เพลงทรงเครื่องพื้นเมืองอ่างทอง มาแสดงที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ริมถนนพระสุเมร ติดแยกผ่านฟ้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร บ่าย 13.00-16.00 น. การรวมตัวเกิดขึ้น นัดกันแล้วก็ตั้งท่าจะไปหาอาหารจานโปรดกินกันก่อน แล้วไปต่อด้วยการไปชมการแสดง จากวิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม 

อ.สุขสันติ แวงวรรณ  วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง

            อาจารย์สุขสันติ แวงวรรณ(อ้อ) จากวิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง E-mail:kruoor.w@gmail.com โทร.089-8153385 ไก้กล่าวเล่าความเบื้องต้นว่า การแสดงวันนี้ประกอบด้วย ระบำแววพัชนี  ระบำบันเทิงเภรี และเพลงทรงเครื่อง เรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ตอน เข้าห้องศรีมาลา อันเป็นการกล่าวนำรายการเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้เข้าชม จะได้พอจะนึกภาพออกก่อนชม 

นักศึกษาและอาจารย์ช่วยกันขับขานทำนองเสนาะ

            มุมห้องข้างเวทีเป็นวงดนตรีไทย ประกอบด้วยเครื่องดนตรีอาทิเช่น ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องเล็ก ตะโพนมอญ ปี่ชวา ฉิ่ง ฉาบ กับ โหม่ง และแถมแต้มด้วยกลองยาวอีก 2 ตัว นักดนตรีแต่งชุดนักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป์อ่างทอง  นักร้องนั่งเรียงแถวหน้าสุด ทั้งหมดมีทั้งหญิงและชาย กระเทยไม่เห็นสักคน แปลก เป็นไปได้ไงกัน 

ระบำแววพัชนีที่งดงาม

            เมื่อเริ่มการแสดงชุด ระบำแววพัชนี สาวๆหน้าตาดีก็กรีดกรายย้ายร่างออกมาตามจังหวะของเสียงเพลงที่บรรเลง ทุกอนงค์ถือพัดขนนกยูงกรีดกราย ลีลาท่าร่ายรำงดงามจับใจ ใบหน้าที่ยิ้มระรื่นของนักแสดงสาว วงแขนที่วาดวงระเวียงไปมา ท่วงท่าของเท้าที่ขยับเขยิบ ทำให้เอวองค์ไหวระริกรี้ แต่อย่างไรก็ดี ด้วยกล้องถ่านหมดกลางคัน ก็เลยมีรูปมาอวดเพียงรูปเดียว แฮะ แฮะ 

สาธิตเพลงเรือ เพลงฉ่อยให้ฟัง

            จบกระบวนท่าอาจารย์สุขสันติก็จะออกมาเล่าเรื่องราวการแสดงต่างๆของพื้นบ้านเมืองอ่างทอง เช่นกล่าวถึงเพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ฟังแล้วก็เหมือนว่าท้องทุ่งกว้างใหญ่ในแถบถิ่นอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ฯลฯ ก็น่าจะมีพ่อเพลงแม่เพลงที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ฟังแล้วก็อดหวลคำนึงถึงอดีตเมื่อวัยเด็กเสียมิได้ ด้วยว่าบ้านริมคลองห้วยคันแหลนที่เคยกว้างขวางนั้น ครั้นถึงฤดูที่น้ำเต็มฝั่ง ช่วงเดือนพฤศจิกายนพ้นงานทุ่งงานนา รอเพียงข้าวกล้าจะออกรวงแก่เกี่ยวได้ในปลายปี

น่ารักน่าชังกับทีท่าน่ารัก  อ้าว กท.มาโผล่ได้ไง

            อันเป็นช่วงที่ว่างเว้นจากทุกภาระ ออกหาผักหาปลามากินกันตามประสาคนริมทุ่งชายนา ครั้นถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองน้ำนองตลิ่ง สะพานไม้ที่ทอดข้ามฟากสองฝั่งกลายเป็นเวที  ชาวบ้านสานกันกับวัดก็จัดการละเล่นพื้นบ้านให้ได้ครึกครื้น 

            การละเล่นก็มี การร้องเพลงเรือ พ่อเพลงแม่เพลงจะแต่งตัวกันด้วยเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาดเตะตา  ผู้หญิงจะนุ่งโจงกระเบน เสื้อสีแขนสามส่วน ห่มผ้าสะไบเฉียงสีสด ส่วนฝ่ายชายก็จะนุ่งโสร่งตาสก็อต สวมเสื้อลายดอกโตๆ สีสันฉูดฉาดยาดตา แถมผัดหน้าทาแป้งแต่งแต้มแตกต่างไปจากทุกวันด้วยแป้งดินสอพองนี่ละ   

                                        

            อุปกรณ์ประกอบการละเล่นที่เห็นกับตา มีเพียงด้ามพายเรือ ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายก็ถือกันคนละเล่ม สำหรับใช้กระทุ้งพื้นกระดานสะพานวัด เพื่อให้จังหวะสอดคล้องกับบทเพลง แต่ละฝ่ายจะมีกัน 4-5 คน เด็กๆชอบนั่งชิดติดกลุ่มนักแสดงก้นกระเทือนเมื่อด้ามพายกระทุ้งกระแทกให้จังหวะ  

            เพลงเรือมักเริ่มขึ้นด้วยเสียงใสๆของฝ่ายหญิง ท่วงทำนองเนื้อเพลงเหมือนว่าจะต่อว่าและเกี้ยวพาราสีกัน ฝ่ายชายก็จะต้องแก้กลับรับกันด้วยความไพเราะ ทุกปีที่ได้เห็น เป็นช่วงเวลาที่จดจำได้ว่ามีความสุขสนุกสนานมากๆ

            หลังการเล่นเพลงเรือก็แข่งเรือกัน จ้ำพรึด จ้ำพรึด

อ่างทองเมืองกลองยาวโด่งดัง ลีลาน่าสนุกสนาน

            ระบำบันเทิงเภรีเป็นการนำเสนอลีลาการร่ายรำทำนองกลองยาว หนุ่มสาวแต่งตัวด้วยเสื้อสีสวย ชายนุ่งผ้าม่วงสีน้ำตาลไหม้ คาดเอวด้วยผ้าประเจียดสีฟ้า คาดหัวด้วยผ้าสีฟ้าเช่นกัน เสื้อคอกลมสีเหลืองอ่อน  กลองยาวคู่หนึ่งของวงดนตรีบรรเลง ครึกครื้น

            กระบวนท่าเริงรำสื่อถึงเมืองอ่างทองแหล่งทำกลองระดับโลก ศิลปะการแสดงออกแบบท่าพูดได้ว่า สมกับเป็นนักศึกษาของวิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทองโดยแท้ แต่ผมไม่รู้เลยว่าท่ารำเหล่านั้น แต่ละท่าเขาเรียกว่าอะไรกัน รู้แค่เพียงว่า ดูสนุก สวยสุดๆ และเหมือนเริ่งรื่นกว่าการแสดงรำในท่วงทำนองอื่นๆ เหมือนวิถีชีวิตบ้านๆ ย่านอ่างทอง 

           ส่วนสาวงามก็นุ่งผ้าโจงกระเบนสีน้ำเงินเข้ม คาดเอวด้วยผ้าสีฟ้า สวมเสื้อคอกลมแขนสั้นลวดลายดอกไม้ ทัดดอกไม้ใกล้มวยผมที่ขึ้นเกล้าดูเด่นที่ดวงหน้าและรอยยิ้มพร้มพราย ยิ่งเมื่อเธอชะม้ายชายตาด้วยแล้ว อูย สยิวอะ

           อันกลองยาวนี้ ผลิตกันหนาตามากๆที่บ้านเอกราช หมู่บ้านทำกลองของอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลที่โด่งดังไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศลูกค้ากลุ่มใหญ่ ทำเงินเข้าประเทศปีหนึ่งๆมหาศาล แต่จะเป็นกี่ร้อยหรือกี่พันล้านนั้นไม่รู้ครับ รู้แต่ว่ากลองที่ส่งไปขายในประเทศญี่ปุ่นนั้น ต้องผลิตตามรูปแบบและคุณภาพที่ทางญี่ปุ่นกำหนดให้ 

ท่ารำของเหล่านางงามๆ

           ในวิถีชีวิตพื้นบ้านย่านอ่างทอง  กลองยาวจะออกมาสำแดงก็เมื่อมีมงคลเสียส่วนใหญ่ เป็นงานรื่นเริง งานวัด ใช้กันมากก็งานแห่นาคเพื่อส่งเข้าโบสถ์บวชเป็นพระ หรือเมื่อนึกสนุกอยากจะรำวงกันในยามค่ำคืน หรือรำโทนกลางลานบ้านในคืนเดือนหงาย กลองยาวไม่นำไปแสดงในงานอัปมงคลใดๆ แต่อย่างไรก็ตาม กลองยาวเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ไม่ควรปล่อยให้เลือนหายไป เล่นง่าย ฝึกได้ไม่ยากนัก สนุก

อีกลีลาการแสดง

            อาจารย์สุขสันติออกมากล่าวเมื่อระบำจบ คราวนี้ถึงเพลงทรงเครื่องเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ตอนเข้าห้องศรีมาลา เรื่องราวก็มีอยู่ว่า จหมื่นไววรนาถผู้ลูกของขุนแผนคู่กัดของขุนช้างที่ต่างก็รักนางวันทอง เมียเมียชื่อนางศรีมาลาอยู่แล้วหนึ่งคน  เมื่อขันอาสาไปตีเมืองเชียงใหม่ได้ชัยชนะ จึงได้นางสร้อยฟ้ามาเป็นเมียอีกหนึ่งคน ปลูกเรือนให้อยู่ในบริเวณเดียวกัน 

                                          

นางสร้อยฟ้าหน้าเศร้าสร้อยระห้อยหาสามี

           นางสร้อยฟ้ารู้สึกคิดถึงสามีมาก และเกิดความรู้สึกอิจฉาริษยานางศรีมาลา ด้วยครางแคลงใจว่าจหมื่นไวจะไม่รักตนนัก ร้อนรุ่มกลุ้มอุราจนสุดจะทน จึงดั้นด้นไปถึงห้องของนางศรมาลา เกิดการตบตีกันขึ้นระหว่างสามคนผัวเมีย อาจารย์เล่าว่านำเรื่องนี้ไปแสดงที่เชียงใหม่ เมื่อจบการแสดงได้รับเสียงปรบมือดังสนั่นหวั่นไหว ก็ดีใจ การแสดงก็ใช้บทเพลงทรงเครื่องที่จะแสดงวันนี้ 

เปิดฉากแย่งสามีกันจ้าละหวั่น นี่แหละเมียสองต้องห้าม

           กลับวิทยาลัยกันได้พักใหญ่ มีจดหมายตามหลังมา กล่าวหาสาดเสียเทเสียว่า เป็นการแสดงที่หยาบคายมาก ถึงกับทำให้คณาจารย์เป็นงง หลังจากนั้นอาจารย์ก็เชื้อเชิญให้ชม 

           เปิดฉากตัวแสดงเป็นนางสร้อยฟ้าน่ารักและสวยเหลือใจ  ร่ำร้องทำนองเพลงประกอบท่าร่ายรำงามเหลือ อารมณ์ความรู้สึกบ่งบอกว่านางช่างมีทุกข์เหลือคณา ด้วยความคิดถึงสามีพระจหมื่นไววรนาถที่ห่างหายไปหลายราตรี มิได้เยี่ยมกรายมาพรอดรักดังแต่เก่า 

กับสามีก็เกิดกรณี ลีลาดุเด็ดเผ็ดมัน แต่ สงสารสร้อยฟ้าจัง

           นักแสดงนั้นทั้งร้อง ทั้งรำ และทั้งสอดใส่อารมณ์สมกับเรื่อง ดูแล้วก็แทบน้ำตาหยดแมะๆ เห็นอนงค์นางสร้อยฟ้าแล้วก็ได้แต่คิดว่า ถ้ามีภรรยาสวยๆเช่นนี้มีหรือจะปล่อยให้เหงาหง่าว เมื่อนางสร้อยทนไม่ได้แน่แล้วก็เดินไปยังเคหาของนางศรีมาลา แล้วก็เกิดตบตีกันพัลวันพัลเก พระไวก็สุดจะทนทานได้ เมื่อโกรธขึ้งขึ้นก็คว้าดาบไล่ฟาดฟันนางสร้อยฟ้าอย่างอยากจะฆ่าเสียให้ตาย เข้าข้างนางศรีมาลา ชัดๆ

 

           หลังจบการแสดง ผมเดินไปแสดงความชื่นชมกับอาจารย์สุขสันติ และได้เสวนากับเพื่อนๆที่มาร่วมชม คุยกันไปคุยกันมาก็นึกได้ว่า ทำไมคนเชียงใหม่จึงเขียนจดหมายมาด่าว่าเป็นการเล่นเพลงทรงเครื่องพื้นเมืองอ่างทองหยาบคาย ทั้งๆที่ผมนั่งดู ฟังเสียงร้อง ชมท่าร่ายรำและบทเจรจา  ก็รู้สึกชื่นชมว่า แสดงกันเก่งและงดงามมากๆ  ดำรงศิลปะการแสดงแขนงนี้ไว้ได้แน่นอน 

มึนโฮ เลยหรือจหมื่นไววรนาถเอ๋ย

           คำตอบก็คือ โกรธที่ทำกับนางสร้อยฟ้าเสียยับเยิน ในฐานะที่เป็นเขยเชียงรายสายเหนือก็รับรองได้เช่นกันว่า หากเป็นเช่นที่แสดง ก็โกรธกันแน่ๆ หรือไม่ก็อินมากไปจนกลายเป็นความรู้สึกร่วมเสียละกระมังหนอ  สำหรับการแสดงของวิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทองนี้ ก็เพิ่งจะเคยได้ชมครั้งนี้เท่านั้น เห็นทีจะต้องเฝ้ารอว่า จะไปแสดงที่ไหนกันอีก อยากตามไปดู   

 

            อาจารย์ครับ ส่งอีเมลแจ้งมาบ้างนะครับ อยากได้เรื่องมาสืบสานงานศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตมาเขียนลงเว็บไซต์ ยิ่งมากเรื่องก็ยิ่งอยากได้ ขอขอบพระคุณล่งหน้า      

 

  

                                                            

        

 

 

 

Tags : ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี 

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view