ประเพณีแซนโฏนตาเมืองขุขันธ์ตอน5.
ฟ้อนบูชาบรรพบุรุษ รำลึกบรรพชน
โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง/ภาพ
ประเพณีแซนโฏนตาเมืองขุขันธ์จัดกันมานับสิบปี แต่ปีนี้จัดได้อย่างยิ่งใหญ่อลังการ พี่น้องชาวเมืองขุขันธ์และใกล้เคียงแห่แหนกันมาจนแน่นไปทั้งอำเภอล้นหลามไปจนถึงสนามหน้าอนุสรณ์สถานพระยาไกรภักดี(ตากะจะ) ถนนในตลาดฝั่งตรงข้ามก็เดินกันอยู่ขวักไขว่ เครื่องเซ่นไหว้ที่แห่แหนกันมาทั้งวัน เรียงรอพิธีกรรมอยู่หน้าอนุสรณ์สถาน เมื่อขบวนแห่เครื่องเซ่นไหว้เสร็จสิ้นลงตรงที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าประจำที่ประจำการ นั่นหมายถึงว่า ทุกอย่างที่คงอยู่ตามกำหนดการพร้อม
แต่งานยิ่งใหญ่อลังการใดหรือที่ขาดประเพณีการฟ้อนรำบูชาบรรพบุรุษย่อมไม่ได้ ปีนี้ทางองค์กรที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันนำเสนอเต็มอัตราศึก ด้วยการฟ้อนรำตามวัฒนธรรมการแสดงของชนเผ่าส่วย หรือกูย หรือเขมร หรือเยอ ซึ่งล้วนมีศิลปะการฟ้อนรำที่ใกล้เคียงกัน แต่ละชุดฟ้อนก็แตกต่างกันไปตั้งแต่เครื่องแต่งกาย ท่าฟ้อนรำ แม้แต่การวางท่าทางบนใบหน้าของเหล่านางรำ ทุกกระบวนท่าเป็นไปตามศิลปะของชนเผ่า แน่นอนว่าอาจเปลี่ยนแปรไปจากดั้งเดิมด้วยการพัฒนาการ
นางฟ้อนรำชุดแรกที่เห็นเป็นชุดยิ่งใหญ่อลังการ เครื่องแต่งองค์ล้วนดูเป็นพิธีกรรม ศิลปะเป็นเขมร หรือส่วยชัดเจน อันเป็นการแสดงถึงศิลปะวัฒนธรรมที่สืบสานจากรากเหง้า เพื่อให้คงอยู่และบ่งบอกชาติเชื้อเผ่าพันธุ์ การฟ้อนด้วยชุดเครื่องใหญ่เหล่านี้ ผมสังเกตุเห็นว่า นักฟ้อนเองต้องยักเยื้องไปตามกรอบของศิลปะต้นแบบ แม้แต่ใบหน้าที่เคร่งขะมึงทึง ปราศจากรอยยิ้มพริ้มพรายก็ใช่ ตรงนี้เองที่แตกต่างจากฟ้อนรำของไทยภาคกลาง ที่นางฟ้อนนางรำรำไปฟ้อนไปก็โปรยปรายรอยยิ้มไปทั่ว
ชุดถัดมาเป็นชุดผสมผสานระหว่างชนเผ่าและการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลง ท่าทีนางรำก็เปลี่ยนไป ดูมีความเป็นศิลปินมากกว่าต้นแบบดั้งเดิม แต่ก็อาจจะยังดูแข็งๆ แม้ลีลาท่าทางอ่อนช้อยพอควร เสียดายที่ไม่ได้ฟังการบรรยายจากพิธีกรว่าเป็นการฟ้อนรำชุดอะไร เอกสารที่แจกกำหนดการก็ไม่ได้บรรยายรายละเอียดเหล่านี้ การสื่อสารระหว่างผู้จัดงานกับสื่อสารมวลชนก็ด้วนไปตามระเบียบ ปีหน้าฟ้าใหม่อาจจะเพิ่มเข้ามาให้ก็คงจะช่วยให้การเขียนเล่าเรื่องราวได้สาระเพิ่มมากขึ้นเน๊าะ
ชุดที่ผมมีความรู้สึกว่า หวาน สวย และเริ่งรื่น ก็คือชุดสุดท้าย ก่อนเข้าพิธีการ เป็นการฟ้อนด้วยเครื่องแต่งกายเรียบง่ายแต่งดงาม เครื่องแต่งกายไม่เคร่งขรึมเหมือนชุดก่อนๆ ตัวนางรำเองก็อรชรอ้อนแอ้น ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มตลอดเวลา ลีลาการฟ้อนไม่รู้เลยว่าเป็นแบบอย่างไทย หรืออย่างเขมร หรืออย่างลาว ในการฟ้อนหน้าเครื่องเซ่นไหว้หน้าบรรพบุรุษของชาวเมืองขุขันธ์ครั้งนี้อลังการ ช่างภาพจากสำนักไหนบ้างไม่รู้ ถ่ายรูปกันไม่หยุดหย่อน น่าจะได้ภาพสวยงามไปเผยแพร่กันทั่ว
การฟ้อนด้วยศิลปะของชาติเชื้อเผ่าพันธุ์ส่วยเมืองขุขันธ์ เป็นการบูชาบรรพบุรุษอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งชาวเมืองขุขันธ์ร่วมใจกันอย่างเต็มกำลัง ทั้งกายและใจ ทั้งทรัพย์สินเงินทองและเวลา เป็นการรวมพลังของชาวเมืองที่ เข้มแข็ง และ เข้มขลัง ยากที่จะเห็นได้จากเมืองอื่นๆ รูปแบบเอกลักษณ์ประเพณีบูชาบรรพบุรุษรำลึกบรรพชนยิ่งใหญ่ สวยงาม และน่าสืบสานต่อไป เพื่อให้เป็นประเพณีที่ควรแก่การมาร่วมชมและท่องเที่ยว เป็น Festival ครับ