http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,276,932
Page Views16,603,567
« September 2024»
SMTWTFS
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930     
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

บ้านทุ่งแสนสุข โดย มณีดิน ตอน2.ตำนานเจ๊กโรงสี

บ้านทุ่งแสนสุข โดย มณีดิน ตอน2.ตำนานเจ๊กโรงสี

บ้านทุ่งแสนสุข  โดย มณีดิน

ตอน2.ตำนานเจ๊กโรงสี

 

 

             บางคืนแม่ก็เล่าเรื่องบ้านเก่าของอากงและอาม่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่เชิดชูบูชา    แม่เล่าเหมือนเล่านิทานเลย

            “นานมาแล้ว  ลูกผู้ชายชาวจีนแผ่นดินใหญ่ 3 คนพี่น้อง ดั้นด้นลงเรือสำเภาอพยพหนีความอดอยากยากจนมาจากเมืองซัวเถาประเทศจีน  คนโตชื่อแป๊ะซา(ลุงคนที่สาม)อายุ 16 ปี คนรองชื่อแป๊ะบุญ(ลุงคนที่สี่)อายุ 14 ปี  น้องคนสุดท้องคืออากงเป็นลูกชายคนที่ห้าของครอบครัว จึงเรียกว่า เจ๊กโหงว อายุ 9 ปี เท่านั้นเอง” 

               สามพี่น้องมาอยู่เมืองบางกอกเมืองที่คนจีนเรียกกันว่า มั่งก๊ก  เริ่มงานเป็นกุลีแบกหาม อาบเหงื่อต่างน้ำตามแบบอย่างคนจีนรุ่นก่อนๆทำกันอยู่ เช่นที่ท่าเรือคลองเตย ท่าเรือตลาดน้อย ฯลฯ

               พอโตเป็นหนุ่มก็ชวนกันมาอยู่ที่ตลาดศาลเจ้าโรงทอง แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ รับจ้างทำงานทุกอย่าง และ อดออมรอมริบทุกบาททุกสตางค์       จนซื้อเรือเอี่ยมจุ้นขนาด 10 เกวียน ใส่ใบเรือ 3 ใบ บรรทุกสินค้าเครื่องใช้อุปโภคบริโภคขายส่ง เป็นเรือโชว์ห่วยเคลื่อนที่สัญจรไปทั่วแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ

                ต่อมา แป๊ะซาแต่งงานแล้วก็ออกเรือโดยสารที่เรียกกันว่า “เรือเขียวเรือแดง” เป็นเรือสองชั้นวิ่งขนส่งขึ้นล่องจากสิงห์บุรีลงมาวิเศษชัยชาญผ่านไปผักไห่  จนถึงอำเภอเสนาแล้วออกปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอบางไทร ผ่านลานเท ปทุมธานี นนทบุรี ปลายทางสุดท้ายที่ ท่าเตียนหน้าวัดโพธิ์  กรุงเทพฯ  

            ส่วนแป๊ะบุญก็ตั้งร้านขายของโชว์ห่วยและแพรพรรณในตลาดศาลเจ้าโรงทอง  เช่น กะปิ น้ำปลา ผัก ปลาทูเค็ม ปลากระป๋อง กระเทียมสด กระเทียมดอง ผ้าโสร่ง ผ้าโจงกระเบน ผ้าขาวม้า กางเกงขาก๊วย(สามส่วน)สีดำแบบชาวนา สารพัดสารพันสรรค์หามาขายได้เงินเป็นขายหมด 

            น้องชายคนที่ห้า  อากงโหงว ได้ส่วนแบ่งเป็นเรือเอี่ยมจุ๊นลำเก่าบรรทุกสรรพสินค้าขึ้นล่องไปขายในทุ่ง ในป่า ที่มีน้ำเจิ่งนองทุกที่ ทุกปี หน้าน้ำคราใด อากงก็เข้ามาค้าขายที่บ้านทุ่งห้วยคันอยู่ทุกครา  

            “อากงเคยเล่าให้ฟังว่าล่องเรือจากแม่น้ำน้อยเข้าปากคลองขนาก ไล่มาจนถึงบ้านตลาดใหม่แล้วติดใบลัดทุ่งเข้าบ้านห้วยคัน ห้วยมันกว้าง  ลมทุ่งแรง เรือวิ่งฉิวปลิวลมเชียว  อากงมุ่งมา ขายส่งให้กับร้านขายโชว์ห่วยเจ้าใหญ่ เป็นร้านเตี่ยกับแม่อาม่าอิน ขายสินค้าไปแล้วก็รับซื้อสินค้าพื้นบ้านกลับไปส่งขายตลาดศาลเจ้าโรงทองด้วย  ได้ทั้งขาขึ้นและขาล่อง”

             “พบอาม่าก็ได้แต่สบตาและปราศรัยกันนิดหน่อย ในยุคสมัยนั้นจะแต่งงานกันต้องจัดผู้ใหญ่มาสู่ขอเรียกว่า “เฒ่าแก่”(พ่อ/แม่สื่อ) จะตกลงกับญาติผู้ใหญ่ของแต่ละฝ่ายว่า จะเรียกสินสอดทองหมั้นเท่าไร   อากงก็เลยให้พี่ชายมาสู่ขออาม่าอิน ได้เมียเป็นสาวลูกครึ่ง แต่เป็นครึ่งเจ๊กครึ่งไทย กลายเป็นเขยบ้านทุ่งปลูกฝังชีวิตอยู่ที่นี่”

            “ผู้ชายข้าวเปลือก ผู้หญิงข้าวสารเชียว” แม่สรุปเป็นสำนวนชวนฟัง

            “อะไรน่ะแม่ ฉันไม่เข้าใจ” พี่จันทร์ถาม

            “อากงเป็นผู้ชาย ก็เหมือนข้าวเปลือกหล่นที่ไหนก็งอกที่นั่น มาได้เมียที่นี่ก็คือมางอกที่นี่” แม่ทำทีเหนื่อยอ่อน แต่แววตาของแม่เอ็นดู

            “แล้วผู้หญิงข้าวสารล่ะจ๊ะ” พี่จันทร์ยังสงสัย

            “ผู้หญิงเป็นข้าวสารก็คือ ต้องรอให้เขามาแต่ง ไปตกที่ไหนก็ไม่งอก คือข้าวสารนี่พอหุงก็สุกเป็นข้าวสวย กินได้เลย”

             แม่พยายามอธิบายเต็มความสามารถ แต่..พี่จันทร์ตั้งท่าจะถามอีก แม่ก็หลบเลี่ยงเบี่ยงไปเรื่องอื่น แม่อาจจะหมดภูมิ

            “อากงเอ็งเนี่ย มาอยู่เมืองไทยตั้งแต่อายุ 9 ขวบ พูดไทยได้ชัดเปรี๊ยะ ด่าไฟแลบก็แล้วกัน ไม่เหมือนเจ๊กอ๋า เจ๊กอู๋ หรือเจ๊กซ้ง ที่ยังพูดไทยไม่ค่อยชัดเจนนัก แค่ฟังรู้เรื่อง” เล่าแล้วแม่นิ่งเหมือนคิด

            “เรื่องขยันเป็นที่หนึ่ง” น้ำเสียงแม่ชื่นชม

            “วันหนึ่งๆ อากงกับอาม่า จะแบกจอบกับบุ้งกี๋เข้าป่าสะแก ฟันต้นสะแกนา(ต้นสะแกนาเป็นต้นไม้ที่ขึ้นทั่วไปในที่ราบลุ่ม)ออก ทอนเป็นท่อนสั้นๆ แบกกลับบ้านทำฟืนหุงข้าวบ้าง ขายให้เพื่อนบ้านบ้าง บรรทุกไปขายจนถึงตลาดศาลเจ้าโรงทองบ้าง พอต้นสะแกหมดก็ถากถางจนเรียบเป็นนาข้าว ฟันป่าสะแกไปสองสามร้อยไร่ โล่งไปทั้งทุ่ง ร่ำลือกันไปทั่วมิใช่เพียงบ้านห้วยคันเหนือ บ้านห้วยคันใต้ มันเลยไปจนถึงบ้านหลักขร บ้านตลาดใหม่ บ้านอบทม บ้านห้วยโรง โอย ใครๆก็กลัวเจ๊กโหงว ทำงานดุที่สุด จนได้ชื่อว่า เจ๊กโหงวยายอินยอดขยัน”

             แม่นิ่งครู่เดียวก็เล่าต่อด้วยดวงตาเป็นประกาย  

            “แม้จะงานหนักขนาดไหน อากงกับอาม่าก็ยังขยันทำลูกอีกด้วยซี  มีจนมากกว่าบ้านไหนๆ” แม่นิ่งอยู่ชั่วอึดใจก็โพล่งขึ้นเบาๆ “ 11 คน”

              แม่หัวเราะชอบใจ พี่จันทร์กับผมและไอ้ทุยก็พลอยหัวเราะตามไปด้วย พี่เจนหลับเหมือนทุกคืน   เรื่องเล่าเก่าๆของแม่มีเป็นปี๊บ เดี๋ยวก็เรื่องนั้น เดี๋ยวก็เรื่องโน้น แต่อย่างไรก็ไม่พ้นเรื่องใกล้ตัวของแม่

              คืนเดือนแรมคืนหนึ่ง ในเรือนร้อนอบอ้าวมาก แม่ชวนออกไปนอนนอกชานบ้านเหมือนเคย อากาศร้อนน้อยกว่า แม่เริ่มต้นด้วยเสียงเหมือนนักเล่านิทานในวิทยุ

           “กาลครั้งหนึ่ง ท้องทุ่งนาหน้าแล้งและร้อน ตอซังข้าวเหลืองแหล่ๆรกเรื้อรายรอบแนวป่าไผ่ใบสีเขียวเหลืองรอหล่น วัวควายเดินและเล็มตอซังข้าวและหญ้าในท้องทุ่งนาของบ้านห้วยคันเหนือ ที่ซุกซ่อนตัวอยู่หลังม่านไม้ไผ่ไหวเอน โอบล้อมด้วยคลองห้วยคัน บ้านเรือนส่วนใหญ่ปลูกเป็นทรงไทยใต้ถุนสูง(หนีน้ำท่วมเมื่อถึงหน้าน้ำ) ฝาไม้ขัดแตะก็มี ฝาเฟี้ยมไม้สักก็มี  นอกชานกว้างขวางบ้าง เล็กบ้างตามขนาดของตัวเรือน บ้างก็ปลูกกันเป็นหลังคาหน้าจั่วธรรมดา  กระต๊อบเล็กๆก็ยังมี  ตามแต่กำลังทรัพย์ศฤงคาร(เงินทองที่ดินฯลฯ) ที่แตกต่างกันไป

          เรือนไทยหลังใหญ่โดดเด่นอยู่ชายหมู่บ้านริมคลอง รู้กันทั่วว่าเป็นบ้านเจ๊กโหงวยายอินคู่ผัวตัวเมียที่ได้รับความเชื่อถือในเรื่องความขยันขันแข็งทำมาหากินทุกอย่างที่ขวางหน้า ตั้งแต่ซื้อขายโชว์ห่วย ทำขนมประกิมไข่เต่าให้ลูกสาวหาบขาย ลูกชายเข้าทุ่งมุ่งถากถางป่าสะแกนาแปลงให้เป็นนาข้าว 

            เสียงไก่ขานขันตอนย่ำรุ่งปลุกให้ เจ๊กโหงวตื่น  แล้วออกมายืนล้างหน้าแปรงฟันกันอย่างพร้อมเพรียงเรียงแถว ลูกชายและลูกสาว 11 คน ชายห้า(กุ่ย ฮวด  หงี เซ้ง ใช้) หญิงหก(ฮวย ป่วน จำปี เฮียะ กิม หงส์) อายุไล่กันอย่างกับนิ้วมือ ทุกคนมีขันน้ำอลูมิเนียมอยู่ในมือ ตัวใหญ่ขันใบใหญ่ ตัวเล็กขันก็ใบเล็ก พร้อมก็ลงมือแปรงฟัน กันหน้ายู่ไปยู่มา

           “สีฟันแรงๆ สีให้ถูกถึงจะสะอาด ไอ้ใช้ มึงสะบัดปลายแปรงขึ้นลงซิ ขี้ฟันมึงจะได้กระเด็นออกมา อีเฮียะ มึงเสร็จเร็วจริงนะมึง อ้าวอีหงส์ นั่งลงทำไม”

           “ฉันปวดฉี่” พร้อมกันก็เบ่งฉี่พุ่งกระฉูดเปรอะตับปิ้ง(เงินสานรูปสามเหลี่ยมมีสายคาดเอวปิดอวัยวะเพศหญิง) น้ำฉี่หยดแมะๆ                       

           “อั้วก็ฉี่ได้ด้วย ฮิฮิ “ ใช้น้องชายสุดท้องบอกกล่าว พลางก็เบ่งเร่งกำลังเต็มที่ ฉี่พุ่งกระฉูดๆ  ทันทีนั้นเอง เฮียเซ้ง  ก็อวดศักดาบ้าง เหลือก็แต่เฮียกุ่ย เฮียฮวดและเฮียหงีที่โตจะเป็นหนุ่มแล้วไม่ทำตาม

            “ไอ้ใช้มึงดู ของกูไกลกว่าโว๊ย” เฮียเซ้งตะโกนเสียงดัง อากงเหลือบมองแล้วได้แต่ส่ายหัวอมยิ้ม  นอกชานบ้านอากงมีดีก็ตรงนี้แหละ สีฟันไปก็ฉี่ไปด้วย ด้วยนอกชานเรือนติดคลองพอดีฉี่ลงน้ำป๋อมแป๋ม

           แปรงฟันเสร็จ ทุกคนต้องเก็บอุปกรณ์เข้าที่ เสียบแปรงสีฟันไว้ใต้ชายคาครัว ขันอลูมิเนียมครอบไว้เป็นแถว  พวกผู้หญิงรีบจัดจานข้าว กับข้าว ให้ล้อมวงลงนั่งกินพร้อมกัน  เตรียมข้าวใส่ปิ่นโตชุดใหญ่ 2 ชุด ตั้งรอ เป็นอาหารกลางวันที่หน้างาน  เสร็จแล้วก็ชักแถวพร้อมแบกจอบ มีด มุ่งไปป่าสะแกนา บุกเบิกที่นาเพิ่มขึ้น ๆ     

           “มีอยู่วันหนึ่ง อากงเข้าไปเมืองบางกอก กลับมาพร้อมกับเอ็นจิเนียร์(นายช่าง) วันๆอากงกับเอ็นจิเนียร์ก็จะไปเดินรอบทุ่งนาระหว่างบ้านห้วยคันเหนือกับบ้านห้วยคันใต้ พื้นที่ราวๆ 30 ไร่เศษๆ เป็นที่ดินตรงข้ามกับหน้าวัดห้วยคันพอดี เป็นช่วงที่เวิ้งน้ำกว้างใหญ่ไพศาลที่สุดของคลองนี้  ชั่วเวลานานนับสิบเดือน โรงสีก็กำเนิดเกิดขึ้น ปล่องสีไฟเป็นอิฐมอญสีแดงอมสีส้มชูช่อสูงลิบลิ่ว เสียงทดลองเครื่องดังกระหึ่มไปไกลจนถึงหลักแก้ว ยี่ล้นโน่น    เสียงหวูดเปิดเครื่องดังแปล้นๆๆ สื่อสารให้ชาวนารู้ว่า โรงสีติดเครื่องสีข้าวแล้ว อากงฉลาดจริงๆ ขี้แกลบก็นำกลับมาใส่ในห้องเตาเผาเชื้อเพลิง แปลงเป็นพลังงานไปปั่นกระแสไฟ บ้านเราก็เลยมีไฟฟ้าใช้จากโรงสีนี่แหละ โรงสีไฟพลังแกลบ ได้ทั้งข้าวและได้ทั้งไฟฟ้าสว่างไสว”

              “ต่อมาอากงก็อพยพพวกเรามาอยู่ที่โรงสี ตั้งอยู่ระหว่างบ้านห้วยคันเหนือกับห้วยคันใต้พอดี” แม่สรุป   

              “พวกผมก็เลยกลายเป็นลูกหลานเจ๊กโรงสีเลยซี”

               ผมพูดขึ้นแบบชวนหัว เสียงหัวเราะดังผสมด้วยใบหน้าที่ยิ้มระรื่นชื่นบานกับความยิ่งใหญ่ของอากง ต้นตำนานเจ๊กโรงสี 

Tags : บ้านทุ่งแสนสุข โดยมณีดิน ตอน1.ห้องเรียนธรรมชาติ

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view