http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,277,057
Page Views16,603,701
« September 2024»
SMTWTFS
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930     
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

Incredible อินเดีย โดยเอื้อยนาง 5.โอ้...เนรัญชรา

Incredible   อินเดีย โดยเอื้อยนาง  5.โอ้...เนรัญชรา

Incredible  อินเดีย

เอื้อยนาง

๕.โอ้...เนรัญชรา

 

           ชมพูทวีป เป็นดินแดนที่เทพเจ้าประทานมาแก่มวลมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลาย  ความอุดมสมบูรณ์ และงดงามของธรรมชาติคือสิ่งที่พระองค์สร้างสรรค์มาไว้ในดินแดนนั้นเป็นนิรันดร์  แต่สัตว์โลก  มวลมนุษย์บนผืนแผ่นดินต่างหากที่เวียนว่ายในวัฏสงสาร  ไม่สิ้นสุด  เกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่พ้น   มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ประเสริฐผู้พึงสั่งสอนได้  จึงมุ่งแสวงหาปัญญา  ความหลุดพ้น

           ชมพูทวีปสมัยพุทธกาลนอกจากมีพราหมณ์  พราหมณ์มหาศาล  คุรุ   คุรุเทพ  แล้วยังมีเจ้าลัทธิต่าง ๆ ผู้นำทางจิตวิญญาณมากมายตั้งสำนัก  สั่งสอนให้ผู้คนปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้น

          เจ้าชายสิทธัตถะ  แห่งศากยวงศ์  กรุงกบิลพัสดุ์  แคว้นสักกะ  เป็นผู้หนึ่งที่ทรงสละความสุขทั้งปวงในโลกแห่งกามสุขเพื่อออกแสวงหาหนทางตรัสรู้  บรรลุพระโพธิญาณ ธรรมชาติ ภูเขา  ป่าไม้  สายน้ำ  ลำธาร คือแดนที่ทรงเลือกเพื่อความสงบที่ทำให้เกิดปัญญา

          ภูเขาดงคสิริในดินแดนแคว้นมคธคือที่ประทับอยู่ เพื่อบำเพ็ญเพียร หลากหลายวิธีตลอดจนการทรมานพระวรกายจนผ่ายผอม  จนมีปัญจวัคคีย์ทั้งห้ามาคอยอุปัฏฐากด้วยความเลื่อมใส และหวังว่าจะได้ฟังธรรมเมื่อพระองค์บรรลุพระโพธิญาณแล้ว

          ๖ ปีที่ทรมานพระวรกายในเขตดงคสิริยังไม่บรรลุพระโพธิญาณ  จึงทรงเปลี่ยนมาเสวยพระกระยาหารบำรุงพระวรกายอีกครั้ง  เป็นเหตุให้ปัญจวัคคีย์ทั้งห้าหมดศรัทธาและตีจากไปอยู่ยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  ใกล้เมืองพาราณสี  แคว้นกาสี  ห่างไปประมาณ ๑๘ โยชน์ ทิ้งพระองค์ให้อยู่เดียวดายกับร่มไม้  สายน้ำ 

            พระองค์เสด็จสู่ริมฝั่งอันรื่นรมย์แห่งแม่น้ำเนรัญชรา  ประทับที่ควงต้นนิโครธพฤกษ์ชายเขตอุรุเวลาเสนานิคม

สายน้ำใสไหลเย็นแห่งเนรัญชราจึงเป็นสายกระแสอันรองรับถาดทองคำพร้อมคำอธิษฐานที่ยิ่งใหญ่แห่งการกำเนิดพุทธศาสนา ในกาลนั้น

            ณ บัดนั้นเอง   นางสุชาดาธิดามหาเศรษฐีผู้เคยตั้งปณิธานความปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งนางยังไม่มีสามีว่า  ขอให้ได้คู่ครองที่มีฐานะเสมอกัน  และขอให้มีบุตรคนแรกเป็นชาย  แล้วนางก็ได้ดังประสงค์และไปอยู่บ้านสามี ณ กรุงพาราณสี  ครั้นได้กลับมาเยี่ยมบ้านบิดา  นางคิดจะบวงสรวงบูชาเทพยดาดังที่เคยตั้งปณิธานไว้จึงให้นางทาสีออกไปเสาะหาสถานที่เหมาะ

            บังเอิญนางทาสีมาพบพระมหาสัตว์ประทับนั่ง งามสง่า เปล่งรัศมีเรืองรองใต้ร่มไม้ดังกล่าว  นางเข้าใจว่าเป็นเทพเทวาเสด็จลงมาปรากฏให้เห็นจึงรีบไปบอกนางสุชาดา  และรีบนำข้าวมธุปายาสมาถวายพร้อมถาดทองคำ  เมื่อนางกลับไปแล้วพระองค์จึงทรงถือถาดมธุปายาสสู่ริมฝั่งเนรัญชรา  สรงพระวรกายแล้วประทับนั่ง ณ ริมฝั่งนที หันพระพักตร์สู่ทิศบูรพา ปั้นมธุปายาสเป็น ๔๙ ก้อน เสวยแล้วทรงยกถาดเสด็จสู่หาดทรายชายน้ำ  ตั้งพระทัยอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีในสายน้ำแห่งนี้

         

             และสายน้ำนี้ก็อยู่ในจินตนาการของชาวพุทธผู้เรียนรู้ประวัติพระพุทธองค์เสมอมา  โดยเฉพาะผู้อยู่ห่างไกลถึงสุวรรณภูมิอย่างชาวเรา  เคยเห็นเนรัญชราก็แต่ในความคิดฝัน  และภาพที่จิตรกรถ่ายทอดออกมาจากปลายพู่กันซึ่งช่วยเติมต่อจินตนาการถึงแม่น้ำนั้นให้เด่นชัดในความสวยใสน่ารื่นรมย์

             เราจึงใจจดใจต่อเมื่อชาวคณะจะข้ามฝั่งแม่น้ำเนรัญชราไปเยี่ยมชมสถูปโบราณบ้านของ(บิดา)นางสุชาดา  ด้านเชิงเขาดงคสิริ

จากฝั่งที่ตั้งพุทธคยาทางตะวันตก ข้ามสะพานที่ทอดยาวสู่ตะวันออก 

             แต่ภาพที่ปรากฏแก่สายตา  ณ ใต้สะพานลงไปนั้น  กลับเป็นผืนทรายกว้างและพุ่มไม้เตี้ย ๆ ขึ้นอยู่เป็นหย่อม ๆ มีเส้นสายสีดำแตกแยกออกเหมือนรากไม้ทอดยาวให้เห็นว่าเป็นสายน้ำอยู่ลิบ ๆ

            โอ้...เนรัญชรา  กาลเวลาผ่านไปกว่า๒๕๐๐ปีย่อมมีการเปลี่ยนแปร  อุปาทานที่ปรุงแต่งในจิตเราต่างหากที่ไม่เปลี่ยนแปลง

            “นั่นแหละคือแม่น้ำเนรัญชรา”

            มีผู้ยืนยันเมื่อเราเอ่ยปากถามในลำคออย่างไม่แน่ในในสายตาตน

 

โอ้...เนรัญชรา                          มหานทีที่พบมาในความฝัน

สุชาดาถวายถาดแต่ปางนั้น                 พระพุทธองค์ทรงฉันริมฝั่งชล

เนรัญชราวันนี้ที่ได้เห็น           มิได้เป็นดั่งจินตนาน่าฉงน

น้ำแห้งขอดมีโคลนทรายให้ได้ยล     ฤาฝั่งชลกับผืนทรายคือคล้ายกัน

ใดใดในโลกล้วนอนิจจัง          ฤาจะยังมีสิ่งใดไม่แปรผัน

ขอแต่เพียงศรัทธายังผูกพัน                  ทุกอย่างนั้นแม้เปลี่ยนแปลงอย่าแคลงใจ

 

        “ในฤดูฝนน้ำคงล้นเปี่ยมฝั่งอยู่หรอก”

            เสียงใครบางคนในรถดังขึ้นเหมือนจะบอกถึงความหวังในใจตนมากกว่า 

            ใช่เราก็คิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น  ณ กาลที่พระพุทธองค์ทรงลอยถาดทองคำก่อนตรัสรู้วันนั้นเป็นช่วงเพ็ญแห่งวิสาขะ  นี่ก็ยังไม่มาฆะ  เนรัญชราที่กว้างถึง ๓ กิโลเมตรนี้จึงยังแห้งขอดจมดินจมทราย  สะพานที่ทอดข้ามผู้รู้บอกว่ายาวถึง ๕ กิโลเมตรเชียว

            ฝั่งตรงกันข้ามเป็นชุมชนชาวฮินดู  ยอดแหลมของอาคารศาสนสถานผุดโผล่สูงเด่นเหนือบ้านเรือน(ตึก หรือห้องแถว)เตี้ย ๆ ติด ๆ กันตามสไตล์ชนบทอินเดีย

            ผ่านชุมชนเลี้ยวลดจนทะลุออกสู่ทุ่งกว้างที่เขียวขจี  มีต้นตาลสูงเด่นเป็นทิวแถว  ภูเขาดงคสิริเป็นเงาครึ้มอยู่ปลายทุ่ง

            เป็นหน้าแล้ง  น้ำในแม่น้ำแห้งขอดเป็นโคลนทราย  แต่ทุ่งนากว้างสุดสายตากลับยังเขียวสด  ดั่งมีใครมาวาดระบายสีเอาไว้ให้งามงด   ให้ได้ปรับเปลี่ยนความรู้สึกที่ห่อเหี่ยวกลับมาสดชื่นขึ้นอีกที

            ผืนนา  กับ โคลนทรายดูคล้ายดั่งเป็นคนละดินแดน  คนละโลกเลยทีเดียว 

            ดินแดนแห่งเทพ กับ โลกแห่งมนุษย์

            นี่แหละคืออินเดียที่มหัศจรรย์พันลึกให้ความรู้สึกขึ้น ๆ ลง ๆ แก่ผู้มาเยือนดนักละ  ถิอเป็นเสน่ห์แห่งอินเดีย

            ริมทุ่งชายเขตหมู่บ้านตรงหน้าที่รถมาจอดก็คือสถูปโบราณ   บ้านนางสุชาดามหาอุบาสิกา  ผู้เป็นเอตทัคคะผู้เป็นปฐมอุบาสิกาที่เป็นจุดหมายแห่งการมาของคณะเราในเช้านี้นั่นเอง

๐๐๐๐๐๐

(ยังมีต่อ)

 

 

Tags : Incredible อินเดีย4.ใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view