Incredible อินเดีย๗
“เอื้อยนาง”
คงคาอารตี
เทือกเขาหิมาลัยที่ทอดยาวอยู่เหนือชมพูทวีปเป็นเทือกเขาศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สถิตแห่งปวงเทพ ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกก็อยู่บนเทือกเขาศักดิ์สิทธ์นี้
แม้ปัจจุบันชนผู้ถือว่าตนเจริญแล้วจะขึ้นไปปีนป่ายเหยียบย่ำภูเขาบางลูก แต่ภูเขาบางลูกก็ได้รับการสงวนไว้เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ไม่เปิดให้คณะนักปีนเขาได้ปีนป่าย เหล่านักปีนเขาอาจมองว่าภูเขาเหล่านั้นเป็นอันตรายทางกายภาพ แต่สำหรับชาวชมพูทวีปแล้วกลับมองเห็นผลร้ายที่จะตามมาหากว่ามีใครไปรบกวนองค์เทพ ทำให้ท่านพิโรธ รำคาญ อาจทรงบันดาลให้เกิดเหตุเภทภัยแก่โลกมนุษย์ เช่น อุทกภัย แผ่นดินไหว หิมะถล่ม
คนเป็นพันล้านคนยังเชื่อว่าหิมาลัยเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์ และแม่น้ำคงคาอันไหลอยู่บนสรวงสวรรค์ ไหลลงมาสู่แดนมนุษย์ด้วยพระเมตตาก็เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นแม่น้ำจากสรวงสวรรค์ไหลผ่านมวยผมขององค์พระศิวะลงมาชำระบาปให้มวลมนุษย์ ยังความชุ่มชื้นให้ผืนดิน มนุษย์ทั้งหลายที่มีใจกตัญญูรู้คุณจึงยังคงทำพิธี คงคาอารตี
คงคาอารตี หรือพิธีบวงสรวง บูชา พระแม่คงคาเกิดขึ้นทุกค่ำคืนในจุดที่สำคัญ ๆ บนฝั่งแม่น้ำคงคา เพื่อแสดงความเคารพและกตัญญู
เทพเจ้าในอินเดียนั้นมีอยู่มากมาย สถิตในธรรมชาติทุกสิ่ง เช่น ดวงตะวัน ภูเขา แม่น้ำ ผืนดิน และอื่น ๆ ซึ่งมีผู้เคารพนับถือหลากลัทธิ หลากพิธีการ
การเคารพเทพเจ้าในวิถีอินเดียเป็นการเคารพและกตัญญูต่อธรรมชาติ ต่อสิ่งที่มีคุณ จิตใจที่เปี่ยมกตัญญูเป็นจิตใจที่อ่อนโยน อ่อนโยนแม้แต่กับสัตว์เลี้ยงอย่างวัว ควาย ที่มีคุณอนันต์ ทั้งให้นมที่แปรเป็นผลิตภัณฑ์อาหารแทบทุกชนิดในวิถีอินเดีย ทั้งให้มูลที่ให้พลังงานฟืนไฟ ทั้งเป็นอาหารแก่พืชและผืนดิน วัว ควาย สัตว์เลี้ยงในอินเดียจึงดูเป็นผู้ทรงสิทธิ์ในสังคมให้ผู้ที่คิดว่าตนเจริญกว่า ผู้ไม่เข้าใจเพราะได้ผันตัวเองออกจากวิถีธรรมชาติไปนานแล้วรู้สึกขัดอารมณ์ หรือขำ กระทั่งดูถูกวิถีนี้ด้วยจิตอกุศล และไม่เปิดกว้าง
คงคาอารตี หรือพิธีบูชาแม่น้ำคงคา เป็นวิถีหนึ่งที่เกิดจากความกตัญญูบูชาผู้มีบุญคุณ และศักดิ์สิทธิ์ เราผู้ไม่เข้าใจได้แต่เป็นผู้ชม เป็นนักท่องเที่ยวที่ท่องไปเห็นแต่ภายนอก มิเคยเข้าถึงภายในดั่งจิตใจของอินเดีย ความจริงพิธีบูชาแม่น้ำเราก็มี คือประเพณีลอยกระทงนั่นไง แต่ด้วยวิธีคิดแบบเศรษฐกิจนิยมเข้าครองจิตเรามากเกินไป ทำให้แก่นแท้ ๆ ของพิธีการแปรเปลี่ยนไป หรือเบาบางลง ... ช่างเถอะเนาะ
ค่ำคืนแห่งอารตี คืนนั้น ณ ท่าน้ำริมฝั่งพระแม่คงคาอันไหลผ่านเมือง พาราณสี เรากับชาวคณะแก้วกานดาทัวร์เป็นผู้ชมเฉกเช่นนักท่องเที่ยวต่างชาติอื่น ๆ ที่ลอยเรืออยู่ในแม่น้ำ ดับเครื่องเรือ นิ่ง ๆ แอบมอง ผู้ทำพิธีที่อยู่บนฝั่ง
สายน้ำที่เรือนักท่องเที่ยวมากมายลอยลำอยู่นี้ กำเนิดจากการละลายของหิมะบนเทือกเขาที่สูงสลับซับซ้อนในเทือกหิมาลัยด้านตะวันตก ยอดเขาเหล่านี้ขาวโพลนตลอดปีด้วยมีหิมะปกคลุม ปีแล้วปีเล่าจนอัดแน่นเป็นชั้นน้ำแข็งหนาหลายสิบเมตร แรงอัดทับถมส่งธารน้ำแข็งให้ไหลเลื่อนลงซอกเขา ไหลเซาะภูผาลงมาตามหุบเขาด้านล่างที่ร้อนกว่าจึงละลายเป็นสายน้ำบริสุทธิ์ใสเย็น มากมายหลายสายมารวมเป็นลำธาร และแม่น้ำด้านล่างไหลเซาะโกรกผา เกาะแก่ง เชี่ยวแรง ลงรวมเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ให้ผู้คนได้ดื่มกิน อาบ ชำระ และอารตี
จุดแรกที่ถือเป็นจุดกำเนิดของพระแม่คงคาที่ผู้คนโดยเฉพาะนักแสวงบุญปีนไต่(ปัจจุบันนั่งรถ)ขึ้นไปร่วมกันทำพิธีเคารพบูชา คือ พื้นที่เมือง คังโคตรี(Gangotri) ทางทิศเหนือของรัฐอุตรันจัล ซึ่งเป็นรัฐที่โอบล้อมชายแดนตะวันตกของเนปาล เหนืออุตตรประเทศและกรุงเดลีขึ้นไป จุดนี้ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแสวงบุญ มีชุมชนเมือง มีร้านค้า วัด(ฮินดู) มีที่พักให้นักแสวงบุญ แสวงธรรม(ชาติ)ได้นอนใกล้ชิดติดสายน้ำฟังเสียงน้ำไหลซัดซ่า กระโจนลงกระทบโขดหิน และเกาะแก่ง ที่สำคัญหากต้องการทำการบวงสรวงพระแม่ตามรูปแบบพิธีการก็มีเครื่องบูชาขายให้ พร้อมทั้งมีฤษีพราหมณ์ผู้รู้คอยให้บริการทำพิธีให้
แม่น้ำคงคาช่วงที่ไหลผ่านคังโคตรีเรียกชื่อว่า แม่น้ำ ภาคีรถี เป็นชื่อเรียกตามตำนานการเกิดแม่น้ำ เป็นช่วงที่น้ำไหลวกวนคดเคี้ยวตามหุบเขาและผาสูง ผ่านเกาะแก่ง โขดหิน ผ่านหมู่บ้าน เขตเมืองคังโคตรี อุตรกาสี และฤษีเกศ ซึ่งมีท่าน้ำสำหรับพิธีคงคาอารตี โดยผู้ศรัทธาที่เดินทางมาจากใกล้และไกลไม่ขาดสาย พิธีคงคาอารตีจะมีขึ้นทุกหัวค่ำหลังพระอาทิตย์ตกดินของแต่ละวันผ่านเมืองฤษีเกศลงมาแม่น้ำจึงได้ชื่อว่าแม่น้ำคงคา และเราก็มีโอกาสได้ชมพิธี คงคาอารตี ณ ท่าน้ำเมืองพาราณสีที่ไกลออกมาจากจุดกำเนิดหลายร้อยกิโลเมตร ในค่ำคืนของเดือนกุมภาพันธ์ที่พระจันทร์ไม่ส่องแสงเพราะเป็นคืนข้างแรม
แม่น้ำคงคาช่วงนี้กว้างมาก มองเห็นฝั่งตรงข้ามลิบ ๆ เราโชคดีมีโอกาสได้ชมพระอาทิตย์ตกดินเหนือท่าน้ำศักดิ์แห่งพระแม่ที่ไหลมาจาสรวงสวรรค์ โดยนั่งเรือชมน้ำยามเย็น ผู้คนที่มาอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์เบาบางลงไปมากแล้ว เหลือแต่เด็ก ๆ ที่มาเสนอขายกระทงดอกดาวเรืองใบเล็ก ๆ ทำขึ้นแบบง่าย ๆ แต่ดูงามสดใสแบบซื่อ ๆ เช่นกับใบหน้าและแววตาของผู้มาเสนอขาย ฉันอยากเหมากระทงดอกไม้ทั้งหมดจากพวกเธอด้วยซ้ำ กระทงละ ๑๐ รูปีซื้อทั้งหมดในถาดในอ้อมกอดของเธอคิดเป็นเงินก็ไม่เท่าเศษเสี้ยวของเงินทำบุญในวาระต่าง ๆในชีวิตของเรากระมัง ทั้งงานบุญประเพณี เทศกาล และโอกาสอื่น ๆ แต่เมื่อมีคำขอจากคณะผู้จัดว่า อย่าซื้อ เราได้จัดไว้ให้แล้วก็เลยหดมือ และเมินหน้าไม่มอง ไม่สบตากับผู้ขายเจ้าของกระทงตัวน้อย ๆ ที่เดินตามลงมาจากฝั่งจนถึงเรือ ด้วยเกรงจะใจอ่อน บางครั้ง บางกรณี คนเราต้องทำตามหมู่คณะจึงจะถือได้ว่าเป็นผู้เจริญ
นั่งลงในเรือแล้วก็ได้รับกระทงคนละใบ ลักษณะเหมือนกันกับกระทงของเด็กหญิงผู้เสนอขายที่จากมา ทำให้ใบหน้า และแววตาที่พยายามไม่มองกลับมาเด่นชัดในใจอีก บรรยากาศบนเรือจึงดูเศร้า ๆ ในความรู้สึก โดยเฉพาะเมื่อพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว และเรือก็ผ่านท่าน้ำที่ทำการเผาศพของชาวฮินดู
เรือพาไปจนสุดโค้งน้ำแล้ววกอ้อมกลับมา คราวนี้บรรยากาศเปลี่ยนไปด้วยแสงไฟที่สว่างไสววับวาวพราวพร่างบนท่าน้ำ มองไกล ๆ ให้เห็นดั่งเป็นแดนเนรมิตที่เทพสรรสร้างมาไว้หว่างสายธารและขอบฟ้า
“พิธีคงคาอารตีจะเริ่มแล้ว”
คุณกิตติชัยบอกและให้เรือพุ่งตรงไปใกล้ท่าน้ำ ซึ่งมีเรืออื่น ๆ มากมาย ที่ต่างต้องดับเครื่องไม่ให้เสียงดัง ทุกลำพยามยามเบียดแทรกเข้าให้ใกล้ท่าน้ำที่สุดเรือของเรามาถึงทีหลัง แต่คนเรือก็เก่งพากันกระโดดขึ้นเรือลำอื่นที่ลอยลำอยู่เรียงราย เพื่อดึงเชือก ลากเรือเบียดแทรกเข้าไปให้เราได้มองเห็นบนฝั่งชัดเจน แต่ไม่นานลำอื่น ๆ ก็มาเบียดเราออกบ้าง แถมบางคนในเรือบางลำยังยืนขึ้นอีก บางคนก้าวผ่านไปมาบนเรือของพวกเรา ทำเอาเรือโคลงเคลง บรรยากาศการชมพิธีจึงออกจะทุลักทุเล
กระนั้น เท่าที่มองเห็น พิธีการบนท่าน้ำที่ทำพร้อม ๆ กันสองท่า ก็ดูยิ่งใหญ่ด้วยฝูงชนผู้ร่วมพิธีที่มากมายแออัด หากว่าพิธีนี้มีขึ้นทุกวันอย่างที่คุณกิตติชัยบอกก็ถือว่าไม่ใช่ธรรมดา ออกจะน่ามหัศจรรย์ด้วยซ้ำ มหัศจรรย์ในความศรัทธาและศักดิ์ของพระแม่คงคา
เราน้อมใจเคารพพระแม่คงคา และได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งคงจะได้เข้าไปดูหรือมีส่วนร่วมให้รู้ซึ้ง ให้หยั่งถึงวิถีแห่งอินเดียอย่างแท้จริงสักครั้งหนึ่งในชีวิต
๐๐๐๐