ในคมขวาน ๑๐
“สาวภูไท”
ปลายแล้งแห่งชายขอบทุ่งกุลา ๕๕
เดือน ๕ ปี ๕๕
เดินทางไกลป่าไอแดดชายขอบทุ่งกุลา ซอกซอนหาปราสาทหินที่มีในแถบถิ่นดินแดนอีสาน ที่หลบอยู่ห่างไกลไร้ชื่อเสียงเรียงนาม จึงลอดหูลอดตานักท่องเที่ยว
แดดเดือน ๕ เมษายน เจิดจ้าเผาพื้นถนนคอนกรีต และตึกรามในตัวเมืองดั่งจะหลอมทุกสิ่งให้ละลาย แม้แต่กายและใจของผู้คน ราวกับจะเป็นใจกับสถานการณ์บ้านเมืองที่รุ่มร้อนด้วยความแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายของคนในสังคมไทยปี๕๕ แต่ครั้นผ่านออกสู่ทุ่งโล่ง ความร้อนกลับคลายลง ผืนทุ่งที่เคยเป็นตำนานความแล้งร้อนร้ายกาจกลับมีสีเขียวของทิวไม้ให้เห็นอยู่ทั่วไปช่วยละลายความแล้งร้อน
ยุคสมัยนี้ ขอเพียงมีผืนดิน เกษตรกรเขาก็สามารถเนรมิตแหล่งน้ำเพื่อผลิตผล พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ กุ้ง หอย เป็ด ไก่ ปู ปลา นาข้าว พืชสวน พืชไร่ ได้ดั่งใจ แม้ในดินแดนที่เคยทำเอาเจ้ากุลานักเดินทางผู้ทรหดให้ร้องไห้มาแล้วตามตำนาน
ขอเพียงมีผืนดิน จะกว้างใหญ่ แล้งร้อนร้ายกาจขาดแคลนน้ำขนาดไหน มือยักษ์อัจฉริยะ และ ผานไถมโหฬารของเจ้าแม็คโครก็เป็นผู้ช่วยเขาเนรมิตได้หมด กว่าพันปีมาแล้วทีบรรพบุรุษของเขาได้ให้ภูมิปัญญาการสร้างบารายกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ยามขาดแคลน และสืบทอดไว้ตลอดมา ทั้ง ๆ มีเพียงสองมือ แรงกาย และหยาดเหยื่อที่หยดไหลไม่ย่อท้อ ดำรงสายเลือด และเผ่าพันธุ์มาจนถึงยุคเครื่องขุดเจาะ ไถ ตัก และสูบ(น้ำ)ด้วยจักรกลทั้งหลาย ที่เป็นดั่งเช่นมือยักษ์มาช่วย หากทุ่งกุลาไม่กลายเป็นทุ่งทองก็ต้องอายบรรพบุรุษท่านละ
เมษา ที่ได้ชื่อว่าเดือนแห่งความแล้งร้อนที่สุดในรอบปี ณ ชายขอบทุ่งกุลาแถบที่เป็นรอยต่อจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ยโสธรที่ซอกซอนไปในปี ๕๕ จึงได้พบความผ่อนคลาย ด้วยสีเหลืองเรืองทุ่งของดอกปอเทืองพืชคลุมดินแทนถั่ว สีเขียวขจีของทิวข้าวโพดที่ปลูกเป็นพืชหมุนเวียนในผืนทุ่ง สีทองของข้าวนาปรังในที่ลุ่ม สลับกันไปกับกลุ่มไม้ยืนต้นที่ขึ้นเป็นกลุ่มห่อหุ้มบารายสมัยใหม่ในทุ่งโล่ง ส่วนตามขอบถนนรนแคมก็มีต้นไม้ใหญ่เป็นทิวแถวเรียงราย ดอกคูนสีเหลืองทองห้อยระย้าพราวตา แต่งแต้มแซมด้วยหางนกยูงสีแสดสด ยังมีต้นตาลแผ่ก้านใบใหญ่ ๆ กั้งโกบบังแดดฝีมือดาบตำรวจวิชัย สุริยุทธ คนดีศรีสะเกษที่บ้าปลูกต้นไม้หลายล้านต้น จนถนนหนทางเขียวครึ้ม ร่มรื่น ไปทั้งแถบอีกละ(โลกนี้เป็นหนี้ท่านแล้วค่ะนายดาบวิชัย)
จากอำเภออุทุมพรพิสัย ไปชมปราสาทเมืองจันทร์ ที่อำเภอเมืองจันทร์ แล้วตรงสู่ปราสาทบ้านปราสาทอำเภอห้วยทับทัน เลี้ยวไปอำเภอบึงบูรณ์ ชมระฆังทองที่ใหญ่เกือบที่สุดในโลกที่วัดศรีบึงบูรณ์ ซึ่งนายกยิ่งลักษณ์ คนสวยของเรามาเป็นประธานในพิธีเททองหล่อไปเมื่อปลายปีที่แล้ว และบัดนี้เสร็จสมบูรณ์แขวนอยู่บนหอสูงที่ก่อสร้างด้วยศิลปะคล้ายแบบปราสาทขอม ซึ่งมีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้กว่าพันปีมาแล้ว
เราตามหาปราสาทขอมยุคเก่า กลับมาพบสิ่งปลูกสร้างหลายอย่างในวัดศรีบึงบูรณ์แห่งนี้ที่เป็นศิลปะ ประยุกต์ลวดลายจำหลักหินทรายมาใช้ผสมผสานได้อย่างลงตัว สวยงาม วิจิตร ตระการตา น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ความแล้งร้อนแห่งเมษายนเคลื่อนคลายไปภายใต้ต้นไม้ใหญ่สูงเด่น เช่น ต้นยางนาที่ยืนต้นเป็นสง่าท้าทายแดดฝน
จากบึงบูรณ์เราข้ามน้ำมูลสู่ราษีไศล ตัดไปอำเภอมหาชนะภัย สู่คำเขื่อนแก้วเขตจังหวัดยโสธร ซื้อไก่ย่างบ้านแคนอันขึ้นชื่อพร้อมข้าวเหนียวนุ่ม ๆ แล้ววกอ้อมกลับอุบลราชธานีก่อนตะวันลับขอบฟ้า
๐๐๐๐