ลาวโซ่ง4.
ประเพณีสงกรานต์ไทยทรงดำ
โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
ตอนหนุ่มผมเคยฟังเพลงที่ร้องโดย ก.วิเสส ศิลปินจากแดนลาว ดังมาก และทุกครั้งที่ไปนั่งร่วมวงกันเมื่อไรในร้านอาหาร ก็มักจะขอเพลง "ไทดำรำพัน" แม้นมิใช่ ก.วิเสส ร้อง แต่ศิลปินไทยก็ร้องกันได้ทุกคน เนื้อเพลงที่รำพึงรำพันถึงความคิดถึงบ้าน เพราะว่าช่วงปีพ.ศ.2517-18 แผ่นดินลาวแตกกระสานซ่านเซน เนื้อร้องสั้นๆมีดังนี้คือ
หนุ่มใหญ่คนนี้แต่งด้วยเสื้อฮีเท่
สิบห้าปี ที่ไตเฮา ห่างแดนดิน (เยิกเข้าไป)
จงเอ็นดูหมู่ข้าน้อย ที่พอยพากบ้าน
เฮาคนไต ย้ายกันไป ทุกถิ่นทุกฐาน
จงฮักกันเนอ ไตดำเฮานา.........
สิบห้าปี ไตดำเฮา เสียดายเด (เยิกเข้าไป)
เมืองเฮาเพ แสนเสียดาย ปู่เจ้าเสินหล้า
เฮือนเคยอยู่ อู่เคยนอน ต้องจรจำลา
ปะไฮ ปะนา น้ำตาไตไหล
สิบห้าปี ที่ไตเฮา เสียแดนเมือง (เยิกเข้าไป)
เคยฮุงเฮือง หมู่ข้าน้อย อยู่สุขสบาย
ลุงแก่งตา ได้ส้างสา บ้านเมืองไว้ให้
บัดนี้จากไก ไตเสียดาย เด...........
หงำมา น้ำตาไตไหล ยามเมื่อจากไก ปู้เจ้าเสินหล้า
โอบฟาโยย หลบหนีไพรีมา ไตดำทั่วหน้า หงำหา จูมือ จูวัน
กลองยาว
จ่าตรี ก.วิเสส เป็นทหารในราชอาณาจักรลาว อยู่วงดนตรีชื่อ ราบอากาศวังเวียง โดยเป็นนักร้องนำวงและโด่งดังเข้ามาถึงเมืองไทย ตั้งแต่ปีพ.ศ.2514 ครั้นลาวแตกพ่าย เมื่อปีพ.ศ.2517-2518 อันเป็นช่วงบ้านเมืองระส่ำระสาย แม้ผมเป็นไทยในแผ่นดินแหลมทองที่สุขสงบ ฟังแล้วน้ำตาซึม แล้วหมู่พี่น้องชาวไทยดำ(ไตดำ)ที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเมือง ระเหระหนไปหนใดกันบ้างหรือ เพียงนี้ ทั้งเมาเหล้าเคล้าน้ำตาทุกที แต่ด้วยเนื้อร้องที่อ้อยสร้อย พิรี้พิไร จึงอยากฟังซ้ำ
นั่นคือเหตุการณ์เมื่อประเทศลาวแตก เปลี่ยนระบอบการปกครอง แล้วพี่น้องไทยดำที่จากบ้านเมืองมาไกล ทั้งจากสิบสองจุไท หรือเมืองแถง ในเวียดนาม จากกันมานานกว่า 200 ปีแล้ว ตราบทุกวันนี้น่าดีใจและภาคภูมิใจที่ พี่น้องไทยดำ หรือไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง หรือภูไท ยังยึดมั่นในศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อไว้ได้อย่างเหนียวแน่น วันนี้จึงดีใจมากที่ไทยลูกผสมเช่นผมได้มีโอกาสมาร่วมงานประเพณีสงกรานต์บ้านห้วยท่าช้าง อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี
เมื่อมาถึงแล้วจึงได้ทราบเรื่องราวต่างๆจากเพื่อน(ครอบครัว ดต.สุธี-วรรณี สระทองแขม) ว่า ช่วงเช้าจะแต่งตัวด้วยชุดไทยทรงดำแล้วก็มีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ขนทรายเข้าวัด ก่อพระเจดีย์ทราย สงฆ์น้ำพระ เหมือนๆกับประเพณีสงกรานต์ของคนไทย และที่ขาดเสียมิได้คือการแสดงความกตัญญูรู้คุณบุพการีและบรรพบุรุษ ด้วยการอุทิศส่วนกุศลผลบุญให้กับผู้วายชนย์ไปก่อนแล้ว ส่วนคนเป็นก็ได้ทำการรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่เช่นกัน
หนุ่มลาวโซ่งรดน้ำขอพรแม่เฒ่า
พอย่างเท้าเข้าไปในงานสงกรานต์ลาวโซ่ง บ้านห้วยท่าช้าง ได้พบเห็นแต่ผู้หญิง ใส่ชุดฮ้างนม ห่มผ้าเปรียว(ผ้าสะไบ)แสนสวยแทบทุกคน ส่วนซิ่นก็ลายแตงโม ผมหรือครับเกล้ากันเต็มอัตราศึกของเผ่าเลยทีเดียว เช่นทรงเอื้อมไหล่ของเด็กสาว ทรงปั้นเกล้าต่วงของสาวใหญ่แม่บ้านแม่เรือนหรือผู้สูงอายุ นอกจากนั้นยังทัดดอกไม้ไว้ที่ทรงผม เพื่อความสวยงามอีกด้วย ส่วนผู้ชายก็สวมเสื้อตามวัฒนธรรมของชนเผ่าลาวโซ่ง เช่นเสื้อฮีมีกระดุมเงินพราวถึง 9 เม็ด คาดเอวด้วยผ้าขาวม้า และสวมกางเกงขายาว(ส้วงก้อม)
ฟ้อนตามศิลปะลาวโซ่งประยุกติ์
หน้าลานวัดกว้างขวาง ผู้เฒ่าทั้งชายหญิงนั่งเรียงกันเพื่อรอรับการรดน้ำดำหัวจากลูกหลานที่มาร่วมงาน อันนี้คือการกระทำพิธีตามวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นส่วนรวม แต่บ้านใครก็ล้วนทำกันภายในครอบครัวแล้ว มีกลองยาวประโคมสนุกสนาน มีนางรำและผู้เข้าร่วมด้วยอย่างครึกครื้น แต่เสียดายพอไปถึงเขาก็วางกลองกันพอดี ก็เลยไม่มีภาพมาประกอบให้ได้เห็นกัน น่าแปลกใจไหมว่าทั้งไทยในประเทศไทยกับไทยทรงดำนั้นใช้กลองยาวบรรเลงเพื่อความสนุกเหมือนๆกัน
คืนนั้น หลังจากพิธีการต่างๆแล้ว ได้เปิดฟลอร์ให้เต้นรำ เอ้ย ให้ อินคอนฟ้อนแคน กันเต็มบริเวณ ลูกเล็กเด็กแดงร่วมรำไปกับผู้ใหญ่ มีทุกวัยครับ เขารำกันไปรอบๆเสากลาง ท่ารำก็เป็นแบบฉบับเฉพาะของลาวโซ่ง จะว่าคล้ายๆรำวงบ้านเราก็ไม่ใช่ การจีบนิ้วและการวาดวงแขนแตกต่างกันไกลทีเดียว การขยับแข้งขยับขาก็แตกต่างกัน จังหวะของเพลงประกอบที่มี"แคน" ส่งเสียงแล่นแตร แล่นแตร ช่างเร้าใจให้ออกไปร่วมรำ ท่านผู้อ่านลองชมภาพที่เห็นเอาเถอะ รำกันได้รำกันดีทีเดียว โฆษกบอกว่าจะรำกันไปจนฟ้าแจ้งจางปาง โฮะ
สาวสวมชุดฮ้างนม(คนกลาง)ซิ่นฝ้ายลายแตงโม
ความที่เป็นชนเผ่าชาติเชื้อไทด้วยกัน วัฒนธรรมประเพณีและศิลปะจึงใกล้ๆเคียงกัน ว่ากันว่าที่สิบสองปันนาซึ่งก็เป็นไทลื้อ หรือไตลื้อ ก็มีประเพณีวันสงกรานต์เหมือนๆกัน แต่จะแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างไรก็ไม่เคยได้เห็น ถ้าได้ไปเล่นสงกรานต์ที่สิบสองปันนาเมื่อไรคงได้ภาพและเรื่องราวมาเล่าสู่กันอ่าน ผมมางานลาวโซ่งคราวนี้ก็ไม่ได้เห็นผู้ชายโพกหัวหรือคาดผมด้วยผ้าใดๆ ผู้หญิงก็ได้เห็นเพียงทรงผมของประจำเผ่าและการทัดดอกไม้ ใส่เครื่องประดับประเภทลูกปัด สร้อยรูปแบบต่างๆ
เด็กๆก็ร่วมสนุกด้วย
สรุปว่า ได้เห็นประเพณีสงกรานต์ของชาวลาวโซ่งเพียงเสี้ยวหนึ่งซึ่งยังไม่ลึกพอ ผมต้องไปอีกสักครั้งในปีต่อไป หรือผมต้องเข้าไปเจาะลึกให้ได้มากกว่านี้
อย่างไรก็ดี ผมรู้สึกชื่นชมชาวลาวโซ่งมากเลยทีเดียว ที่เขายังรักษาวัฒนธรรมการแต่งกาย การไว้ทรงผม และการแสดงไว้ได้แย่งค่อนข้างเหนียวแน่น มากกว่าชนเผ่าอีกหลายๆชนเผ่าในบ้านเมืองของเรา
อินคอนฟ้อนแคน เต็มลานหน้าเวที
ถ่ายจากหน้าหอสมุดม.เกษตร กำแพงแสน
ครอบครัวดต.สุธี-วรรณี สระทองแขม