http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,277,338
Page Views16,604,004
« September 2024»
SMTWTFS
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930     
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ผึ้งเชย ดอกไม้ วัดไทยในอินเดีย

ผึ้งเชย  ดอกไม้ วัดไทยในอินเดีย

ผึ้งเชย ดอกไม้    วัดไทยในอินเดีย

“สาวภูไท”   

 

            บทสืบพันธุ์แห่งพฤกษาชาติที่อาศัยเพศ  เป็นกระบวนการอันสลับซับซ้อน  ที่ได้รับการวางแผน บงการมาอย่างเป็นระบบ คำสั่ง จากรหัสยีนพันธุกรรมแห่งชาติพฤกษานั้น ๆ ดั่งเป็นพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า

            หากไม่รวมพืชชั้นต่ำ  ประเภทแบ่งเซลล์ สร้างสปอร์ แตกหน่อ แยกกอ เพื่อก่อแนวสืบทอดพฤกษชาติพันธุ์แล้ว  พืชดอกทั้งหลายล้วนต้องใช้พลังมหาศาลในการสร้างรังไข่  และยอดเกสร 

            และเพื่อให้รังไข่เจริญเป็นผล  เป็นเมล็ดเพื่อสืบสานเผ่าพันธุ์  พืชต้องสร้างเรณูหรืออับละอองเกสรเพศผู้ขนาดเล็กจิ๋วไว้เป็นล้าน ๆ หน่วย(อับ)ในต้นหนึ่ง ๆ เรณูนี้มีขนาดจิ๋วมาก  เขาว่า(ตำรา)จิ๋วถึงประมาณ ๒๐ – ๒๕๐ นาโนมิเตอร์เชียวนะ  ซึ่งนาโนมิเตอร์หนึ่ง ๆ เท่ากับหนึ่งส่วนล้านของมิลลิเมตรนั่นเชียว  เรณูนี้มีหน้าที่ไปผสมกับยอดเกสรเพศเมียในดอกอื่น ๆ ต้นอื่น ๆ หรือแม้แต่ในดอกเดียวกันที่เป็นสมบูรณ์เพศการทำงานนี้ของเจ้าเรณูจิ๋วต้องอาศัยแรงลมเป็นหลัก

            แต่สายลมเอย...ใช่จะมีเพียงแผ่วพลิ้ว พัดโชยเอาธงมนตราให้ปลิวไสวโปรยปรายคำอวยพรให้หล้าโลก  และโบกพัดอ่อน ๆ อุ้มละอองเรณูสู่ยอดเกสรเพศเมียที่แย้มยวนรอคอยเท่านั้น  ในบางครั้ง  และบ่อยครั้งที่สายลมพัดกระโชก กระหน่ำ กระพือโหม พัดละอองเรณูไปแสนไกลไร้ปราณี  พืชต้องสูญเสียพลังในการสร้างเรณูนี้ไปเปล่า ๆ นับไม่ถ้วน

            แล้วจะทำอย่างไรจะได้ผสมพันธุ์  สืบหน่อก่อแนวแห่งพันธุ์พฤกษา

            ต้องอาศัยสัตว์ทั้งหลายที่เคลื่อนที่เดินทางไปมาแล้วหละ

            นกเล็ก ๆ กับเหล่าแมลงนักดูดน้ำหวานคือเป้าหมายหลัก

            ดอกไม้จึงจ่ายค่าตอบแทน  ด้วยการสร้างต่อมน้ำหวานเยิ้มหยาดไว้ให้เจ้าสัตว์นักดูด  แล้วส่งกลิ่นหอมเย้ายวนออกไปเรียกร้อง 

หากการผลิตสารส่งกลิ่นเป็นกระบวนการที่พืชบางชนิดไม่ชอบ  หรือยุ่งยากเกินไป

            ทางเลือกคือ

            ผลิตกลีบดอกที่แปลกใหม่ เตะตา  ใส่สีสัน  แสนสวย แข่งกัน บานไสวให้เหล่าแมลงมองเห็นแต่ไกล

           

            ดอกผีเสื้อ  ดาวเรือง  บานชื่น  รักเร่  คาร์เนชั่น  ทานตะวัน  หงอนไก่  กุหลาบสร้อยทอง.....และอีกมากมายที่บรรจงสร้างกลีบให้สดสวย  ล่อใจเหล่าแมลงภู่ ผึ้ง ให้หลงใหล    แต่...ความสวยของดอกไม้แสนสวยในหล้าโลก  ใช่จะมีแต่แมลงเท่านั้นที่หลงใหล  ยังมีมนุษย์สัตว์ประเสริฐที่ชื่นชม  หลงใหล ทั้งกลิ่น สีสัน รูปแบบหลากหลาย สุดท้ายนำมาปลูกขยายพันธุ์เสียเอง  เหล่าแมลงและดอกไม้จึงได้กำไร

            หากคุณไปอินเดีย  แวะพักตามวัดไทยต่าง ๆ ไม่ว่าวัดไทยพุทธคยา  วัดไทยสารนาถ  นาลันทา  ไวสาลี สาวัตถี  และอื่น ๆ สิ่งที่ตื่นตาตื่นใจในท่ามกลางเมืองแขกก็คือดอกไม้ในแปลงปลูกที่บรรจง และทะนุถนอมของชาววัด  โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว  ดินอุดมและอากาศที่เป็นใจทำให้ดอกไม้แข่งกันบานไสว  อวดรูปโฉม  และสีสัน  สร้างความรื่นรมย์ใจ ประทับใจให้นักแสวงบุญมิรู้ลืม

            และคุณรู้ไหม  การปลูกดอกไม้  ถนอมดอกไม้ของชาววัดไทยในอินเดีย  สิ่งที่ติดตามมาโดยไม่ตั้งใจ คือผึ้งรวงค่ะ

              ผึ้ง ก็คือแมลงนักสะสมน้ำหวานจากดอกไม้ตัวฉกาจ  เหล่าผึ้งนักล่าน้ำหวานจากดอกไม้จึงตามมามากมายในวัดไทย  มาเกาะอาศัย  สร้างถิ่นฐานถาวร  คือรวงรังที่หยาดหย่อนอยู่ตามที่ต่าง ๆ ในวัด ตามกิ่งไม้ ชายคา อาคาร โบสถ์ วิหาร  แบบตามใจผึ้ง  เช่น ในวัดไทยไวสาลี มีรวงผึ้งขนาดกระด้งรูปครึ่งวงกลมคู่หนึ่งแขวนเกาะอยู่ใกล้ประตูทางเข้าศาลาใหญ่เลยทีเดียว  ส่วนที่วัดไทยนาลันทานั้นนอกจากคุณผึ้งและพลพรรคจะแขวนรวงไว้มากมายตามชายคาที่พักกินข้าว  ยังมีเป็นแถวในแนวชายคาโบสถ์  เป็นรูปครึ่งวงกลมสีดำ ๆ มองไกล ๆ คล้ายชายอุบะที่โค้งเว้าประดับอาคาร

            มีผึ้ง มีรังผึ้ง ก็ย่อมมีน้ำผึ้ง  ซึ่งมนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์ในทางยา  และอาหารมาแต่โบราณ 

            ชมพูทวีป  ดินแดนที่มีป่าหิมพานต์ ดินแดนก่อเกิดอารยะธรรมมนุษย์มาแสนนาน  ในสมัยพุทธกาลมีกล่าวถึงลิงกับช้างที่อุปัฏฐากพระพุทธองค์  ในพรรษาที่ทรงออกจากวัดโฆสิตาราม  กรุงโกสัมพี  ไปจำพรรษาในป่าปาลิเลยยะ แคว้นเจดีย์ เพียงลำพังพระองค์เดียว  มีเพียงช้างปาลิไลยก์เข้ามาอุปัฏฐาก เก็บกวาดที่ประทับ  ต้มน้ำร้อน และหาผลกล้วยมาถวาย  ลิงเห็นเข้าอยากทำบ้างจึงได้นำรวงผึ้งมาถวายด้วยใจกุศล 

 

             ตามธรรมดาในรวงผึ้งก็จะมีห้องเล็ก ๆ สำหรับอนุบาลลูกผึ้ง หรือตัวอ่อน  โดยนางพญาจะหยอดไข่ไว้ให้ฟักเป็นตัวอ่อนภายในห้องนั้น  เมื่อลิงนำมาถวายคราแรกพระพุทธองค์ไม่ทรงรับ  ลิงแสนฉลาดจึงกลับไปจัดการเอาตัวอ่อนของผึ้งออกไปหมดเหลือแต่รวงและน้ำผึ้งมาถวาย  พระพุทธองค์ทรงรับและฉัน  ลิงนั้นแสนดีใจ ปลาบปลื้ม จนกระโดด โลดเต้น ห้อยโหน โยนตัวตามกิ่งไม้ประสาลิง จนพลาดตกต้นไม้ลงมาตาย  และได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรบนสรวงสวรรค์  เช่นเดียวกับช้างที่ตรอมใจตายเมื่อออกพรรษาแล้ว  และพระพุทธองค์ทรงได้รับนิมนตร์ออกจากป่าไปอยู่ยังวัดโฆสิตาราม ในกรุงโกสัมพีตามเดิม

            มาอินเดียวันนี้ อย่าลืมไปชมดอกไม้  และสอดสายตาชมรวงผึ้งที่วัดไทยในอินเดียกันนะคะ

๐๐๐๐๐

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view