http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,396,409
Page Views16,729,569
« November 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

มอญ หรือ รามัญ ตอน1 อดีตที่รุ่งเรือง โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

มอญ หรือ รามัญ ตอน1 อดีตที่รุ่งเรือง โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

มอญ หรือ รามัญ

ตอน1. อดีตที่รุ่งเรือง

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

               ถ้าเอ่ยถึงคำว่ามอญหรือรามัญ ผมมีความรู้สึกเหมือนว่าเป็นพี่ร่วมเชื้อเนื้อร่วมเลือดกันมากกว่าชาติเชื้อเผ่าพันธุ์ใดๆ เกิดมาจำความได้ก็เคยได้ยินปี่พาทย์ลาดตะโพน บางทีก็ได้ยินเพลงมอญดูดาว มอญรำดาบ มอญแปลง กราวรำมอญ ดูลิเกเรื่องมะกะโท ได้ยินเสียงเรียกสาวมอญว่าแม่เม้ยแม่เอย อินไปกับความรู้สึกรักและสงสารแม่เม้ยจนน้ำตาไหลพราก แต่เมื่อโตขึ้นจึงได้รู้ว่า มอญไร้แผ่นดิน แม้จะพยายามเรียกร้องความเป็นรามัญประเทศเพียงใด ก็ยังไม่สามารถระบุลงไปได้ว่า ประเทศมอญอยู่ตรงไหนหรือ


               พงศาวดารพม่ากล่าวว่ามอญเป็นชนชาติเก่าแก่ที่มีอารยะธรรมรุ่งเรื่องมาก เดิมอาศัยอยู่ในตอนกลางของทวีปเอเซีย ภายหลังอพยพลงมาตั้งอาณาจักรบริเวณลุ่มน้ำสาละวินและลุ่มแม่น้ำสะโตง เมื่อหลายทศวรรษก่อนคริสตกาล จีนและอินเดียเรียกว่า สุวรรณภูมิ คนมอญเรียกตัวเองว่ามอญหรือรามัญหรือรเม็ง(Rmen) พม่าเรียกว่าพวก ตะเลง(Talaings) บางทีก็เรียกว่า มันหรือมูน จนเพี้ยนเป็น มอญ  มอญตั้งเมืองเมาะตะมะ หรือมะละแม่งเป็นเมืองหลวง


               ปีพ.ศ.1368 ปรากฎหลักฐานว่า พม่าตั้งเมืองพุกามเป็นเมืองหลวงด้านเหนือ และมอญตั้งอยู่ที่เมืองหงสาวดี(Pegu-พะโค)ด้านใต้ ต่อมา พระเจ้าอโนรธา พระมหากษัตริย์พม่าแห่งกรุงพุกามประเทศ ได้ยกทัพไปโจมตีอาณาจักรสุธรรมวดี มอญตกอยู่ภายใต้พม่าระหว่างปีพ.ศ.1600-1830  ระหว่างนี้เองที่พระเจ้ากยันสิทธะหรือคันชิตโอรสของพระเจ้าอโนรธาขึ้นครองราชระหว่างปีพ.ศ.1627-1655 ได้ทรงบันทึกไว้ว่า วัฒนธรรมมอญเหนือกว่าวัฒนธรรมพม่า 

               ปีพ.ศ.1830 มองโกลบุกพม่า มอญจึงได้รับเอกราชคืนมาอีกครั้งหนึ่ง โดยพระเจ้าฟ้ารั่ว(มะกะโท) ราชบุตรเขยของพ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้กอบกู้อิสระภาพได้ตั้งราชวงศ์ ชาน-ตะเลง เป็นอาณาจักรมอญอิสระอยู่ที่เมืองเมาตะมะ

               ครั้นปีพ.ศ.1912 จึงทรงย้ายราชธานีไปยังกรุงหงสาวดี ต่อมาพระเจ้าราชาธิราชได้สร้างให้กรุงหงสาวดีเจริญรุ่งเรืองมาก แต่ก็ยังเจริญรุ่งเรืองไม่เท่ายุคของพระเจ้าธรรมเจดีย์ ระหว่างปีพ.ศ.2015-2035 ซึ่งถือว่ามอญเจริญรุ่งเรืองที่สุด

               ปีพ.ศ.2094 พระมหากษัตริย์ราชวงศ์พุกามนามว่า ตะเบ็งชะเวตี้ ได้กรีฑาทัพไปตีกรุงหงสาวดีจนแตกสลาย


               ปีพ.ศ.2283 สมิงทอพุทธิเกศ ได้กอบกู้เอกราชชาติมอญอีกครั้งพร้อมทั้งยกทัพไปตีเมืองอังวะอีกด้วย

               ปีพ.ศ.2290 พระยาทะละครองอำนาจแทนสมิงทอพุทธิเกศเรื่อยมา

               ปีพ.ศ.2300 พระเจ้าอลองพญา กอบกู้เอกราชชาติพม่าคืนพร้อมกันนั้นก็โจมตีจนมอญแตกพ่ายล่มสลายตราบเท่าทุกวันนี้ ไม่มีแผ่นดินของชาวมอญอีกเลย

               มอญกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในอาณาจักรพม่าเหลือเพียงรัฐมอญตั้งแต่แม่สอดลงไปถึงเมืองเมาะตะมะ ทวาย เย


               กล่าวได้ว่า มอญเจริญรุ่งเรืองอยู่ 3 ช่วงเวลาคือ 

               ยุคราชวงศ์สะเทิม-สุธรรมวดี มีพระมหากษัตริย์ปกครองอยู่ถึง 57 พระองค์ นั่นคือตั้งแต่พระเจ้าสีหราชาจนถึงพระเจ้ามนูหา 

               ยุคราชวงศ์พะโค-หงสาวดี มีพระมหากษัตริย์ปกครองถึง 17 พระองค์ นั่นคือตั้งแต่พระเจ้าสมละ จนสิ้นสุดที่พระเจ้าติสสะ ในการสร้างกรุงหงสาวดีนั้นสร้างเมื่อวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ปีพ.ศ.

               ยุคราชวงศ์เมาะตะมะ-พะโค มีพระมหากษัตริย์ปกครองกี่พระองค์ไม่ปรากฎโดยเริ่มต้นที่พระเจ้าฟ้ารั่วราชบุตรเขยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ต่อมาราชโอรสของพระองค์คือพระเจ้าราชาธิราชปกครองต่อจนถึงพระเจ้าพยะมองธิราช เป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์พะโคในปีพ.ศ.2300(วันแรม 8 ค่ำเดือน 6) 

                ตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีที่มอญครองราชอาณาจักรสะเทิม-สุธรรมวดี อาณาจักรพะโค และอาณาจักรหงสาวดีได้สร้างสถาปัตยกรรมแบบปรางค์ขอม-เขมรแบบเรือนยอด(กุฏาคาร)นั่นคือหลังคาต่อกันเป็นยอดแหลมๆ และทรงมณฑปเรือนยอด(Spire)  ด้านดนตรีปีพาทย์กลายเป็นต้นธารวัฒนธรรมของชนชาติพม่า ชนชาวกรุงศรีอยุธยา ลาว เขมร และวัฒนธรรมต่างๆมากมายที่ได้รับการซึมซับไปใช้ทั่วไป 

                สูงสุดสู่สามัญ อดีตเจ้าแห่งอาณาจักรสุวรรณภูมิได้กลายมาเป็นเพียงเศษเท่าธุลีในแผ่นดินอื่น รามัญประเทศได้กลายเป็นความเพียรพยายามที่จะหวลคืนสู่อดีตที่เคยยิ่งใหญ่ แม้มอญจะไร้แผ่นดินเป็นของตนเอง แต่ชนชาติมอญที่กระจัดกระจายพลัดพรายไปทั่วประเทศข้างเคียงนี้ยังคงอยู่ร่วมกันอย่างเหนียวแน่นด้วยศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเข้มแข็ง 

               



 

Tags : พม่าไม่ไปไม่รู้ 12.

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view