มอญหรือรามัญ
ตอน2.มอญพ่าย แตกยะย่ายไกลบ้าน
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
เมื่อมอญสิ้นชาติสิ้นแผ่นดินไม่มีเมืองใหญ่ไว้ดำรง ไม่มีธงมอญปักให้ปลิวไสว ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินองค์ไหนนำ ไม่มีแม้เหล่าเสนาอำมาตย์ ทุกผู้เป็นเพียงคนอาศัยแผ่นดินอื่น ภายใต้อำนาจบาตรใหญ่ของพระเจ้ากรุงหงสาวดียุคพม่าครองเมือง ต้องพูดกันด้วยภาษาพม่า ภาษาเขียนของมอญต้องถอดออก คนมอญในพม่าจึงเป็นเพียงชนกลุ่มน้อย เป็นข้าทาสในเรือนเบี้ย ผู้ชายต้องถูกใช้แรงงาน ผู้หญิงถูกนำไปบำเรอตัณหาบริการ
ความคับแค้นใจสั่งสมและซ่อนปม แล้วความอดทนก็ถึงจุดสิ้นสุด ไม่คิดที่จะทน “หนี” จึงเป็นหนทางเดียวที่ต้องทำ ทุกครั้งที่ความทุกข์เข้าบีบคั้น คนมอญมองหาหนทางที่จะหลบหนี ในการหนีแต่ละครั้ง มีมูลเหตุ พี่น้องที่รักแห่งสุวรรณภูมิ ลองช่วยกันลำดับความกันสักหน่อยว่ามอญต้องระหกระเหิรเดินทางไกลบุกป่าฝ่าดงสิงห์เสือและความทุรกันดาร เพียงเพื่อมุ่งหาแผ่นดินใหม่อยู่อาศัยและดำรงชาติพันธุ์มอญไว้อย่างสงบสมยอม
การอพยพครั้งที่ 1 ปีพ.ศ.2082 เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ พระมหากษัตริย์พม่าแห่งกรุงอังวะ ราชวงศ์ตองอู โจมตีกรุงหงสาวดีอันมีพระเจ้าสการวุตพีเป็นพระมหากษัตริย์มอญจนแตกพ่าย ชาวมอญอพยพหนีการไล่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างอำมหิต โดยเดินทางข้ามทะเลภูเขาและความทุกข์แสนสาหัส เข้าไปพึ่งพระบรมโพธิ์สมภาร ณ กรุงศรีอยุธยาราชธานีอันมี พระไชยราชาธิราช เป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ทรงโปรดให้ตั้งบ้านเรือนแถววัดขุนแสน
การอพยพครั้งที่ 2. ปีพ.ศ.2127 สมัยของพระเจ้านันทบุเรง ราชวงศ์ตองอู ขึ้นครองราชย์แทนพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรจึงเสด็จไปกรุงหงสาวดี เพื่อร่วมงานปลงพระศพพระเจ้าบุเรงนอง (พม่าเรียกว่า พระเจ้าบาเยงนอง)หลังงานนี้ระหว่างการเดินทางกลับถึงเมืองแครง พระนเรศวรได้หลั่งน้ำสิโนทกประกาศเอกราช พระอาจารย์มหาเถรคันฉ่อง พระยาเกียรติ และพระยาราม ได้อพยพร่วมกับชาวมอญมุ่งสู่กรุงศรีอยุธยาราชธานีด้วย
การอพยพครั้งที่ 3. ปี พ.ศ. 2138 ในสมัยของพระเจ้านันทบุเรง ราชวงศ์ตองอู ให้เมือง”ยะไข่”ยกทัพมาตีกรุงหงสาวดี จนแตกกระเจิง เกิดการอพยพครั้งใหญ่ เดินทางรอนแรมไกลแสน เหนื่อย ป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บ แต่ก็ยังปักหลักชายแดนด้านตะวันออกของพม่า ปักหลักในเมืองชายแดน เพื่อหาทางออกมายังกรุงศรีอยุธยา ตรงกับสมัยของพระสรรเพชญ์ที่ 3 (พระเอกาทศรถ)
การอพยพครั้งที่ 4. ปีพ.ศ.2156 กษัตริย์พม่า พระเจ้าอโนเพตลุน ราชวงศ์ตองอูโจมตีมอญแห่งกรุงหงสาวดีแตกสลายแล้วยังไม่จบเมื่อมอญไปตั้งเมืองใหม่ในเขตมอญ พม่าก็ยังบุกมาตีจนต้องหนีร่นเข้ามาพึ่งกรุงศรีอยุธยา ในสมัยของพระเจ้าทรงธรรม พระองค์ทรงโปรดให้มอญอพยพอยู่ตามชายแดนกาญจนบุรี
การอพยพครั้งที่ 5. ปีพ.ศ.2204 ในสมัยของพระเจ้าปเย(มหาศรีหสุรสุธรรมราชา องค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์ตองอู ทรงขึ้นครองราชย์ พี่น้องมอญในเมืองเมาะตะมะก่อการกบฏขึ้นอีก เมื่อถูกปราบจึงหนีเข้ากรุงศรีอยุธยาทางด่านเจดีย์สามองค์ สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดให้มอญอพยพอยู่ตามแนวชายแดน
การอพยพครั้งที่ 6. ปีพ.ศ.2300 พระเจ้าอลองพญา ตั้งราชวงศ์อลองพญาขึ้น แล้วปราบมอญแบบถอนรากถอนโคน มอญต้องอพยพขึ้นเหนือ กลายเป็น “เม็ง” แถบล้านนา ตราบเท่าทุกวันนี้ ตรงกับสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ต่อมาในปีพ.ศ.2301 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต
การอพยพครั้งที่ 7. ปีพ.ศ.2316 พระเจ้าเชงพยูเชงหรือพระเจ้ามังระ แห่งราชวงศ์คองบอง ปกครองพม่า มอญก่อการกบฏในย่างกุ้ง พม่าเผาย่างกุ้งและปราบปรามอย่างทารุณ ในที่สุดมอญอพยพเข้ามาพึงบรมโพธิ์สมภารพระเจ้ากรุงธนบุรี(พระเจ้าตากสิน) ทรงโปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่แถวปากเกร็ด จึงมีทั้งกลุ่มมอญเก่า
การอพยพครั้งที่ 8. ปีพ.ศ.2336 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชการที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ตีเมืองทวายได้ แต่รักษาไว้ไม่ได้ ต้องถอยร่นกลับเข้าอาณาเขตของกรุงรัตนโกสินทร์ ในการถอยร่นนี้ได้อพยพมอญเข้ามาอยู่ในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย
การอพยพครั้งที่ 9. ปีพ.ศ.2357 สมัยพระเจ้าปดุง (พระเจ้าโบดอพญา) แห่งราชวงศ์คองบอง ปรารถนาที่จะสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่ จึงเกณฑ์แรงงานพี่น้องมอญไปสร้าง ในท่สุดทนการกดขี่ไม่ไหวจึงเดินทางกลับภูมิลำเนา การอพยพครั้งนี้มากถึง 40,000 คน พระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรกรี ทรงโปรดให้ไปตั้งรกรากอยู่ที่ ปทุมธานี(สามโคก) ปากเกร็ด และพระประแดง ตราบเท่าทุกวันนี้
มอญได้เข้ามาอยู่ร่วมกับคนไทยและอีกหลายชนชาติด้วยความผาสุก กลมกลืน มีความเป็นมิตร ได้อยู่อย่างสมถะ ทำมาหากินกันไปตามประสา มอญยังดำรงไว้ซึ่งภาษาพูดและภาษาเขียนด้วยอักษรของมอญ มอญยังคงมีความโดดเด่นอยู่ด้วยศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ความเชื่อ และยึดมั่นในพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด ทุกวันนี้ มอญได้ผสมข้ามเผ่าพันธุ์กันไปทุกชนชาติเสมือนหนึ่งเป็นชาติเชื้อเดียวกัน
แม้มอญจะไม่มีแผ่นดินเป็นอาณาเขตประเทศแล้ว แต่ก็ยังมีความเป็นมอญ ชนชาติที่ยังสำแดงถึงความเป็นมอญอยู่อย่างมั่นคง