มอญหรือรามัญ
ตอน3. ประเพณีลอยเคราะห์ของมอญสังขละบุรี
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
มอญเป็นชนชาติเก่าแก่ในแผ่นดินพม่า มีศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อสืบทอดมาพร้อมกับภาษาพูดและภาษาเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมอญรับพระพุทธศาสนาเป็นสรณะ เข้มข้น และปฏิบัติด้วยความเชื่อและศรัทธายิ่ง ด้วยเหตุนี้นี่เอง เมื่อพระเจ้ากยันสิทธะขึ้นครองราชย์ในปีพ.ศ.1627-1655 จึงทรงบันทึกว่า วัฒนธรรมมอญนั้นสูงกว่าวัฒนธรรมพม่า ประเพณีลอยเคราะห์ของมอญสังขละบุรีเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตไปแล้ว
อาณาจักรสะเทิมของมอญมีมาตั้งแต่ก่อนพุทธศักราช 241 ปี สัณนิฐานว่ามอญรับเอาพระพุทธศาสนาหินยานมาตั้งแต่ยุคที่พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดียทรงเผยแพร่ ราวศตวรรษที่ 2 หลังจากนั้นศาสนาพุทธกลายเป็นความศรัทธาและความเชื่อของมอญ เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต ส่วนประเพณีการลอยเคราะห์นั้นตำนานเล่ากันว่า
เมื่อพม่าได้ครอบครองอาณาจักรสะเทิมหรือสุธรรมวดีของมอญไปแล้ว อยากจะรวมจิตใจให้เป็นหนึ่งเดียว จึงประสงค์ที่จะใช้พระพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลาง พระองค์ได้สั่งต่อเรือขนาดใหญ่เพื่อให้พระมอญชื่อพุทธะโกษาเดินทางไปยังกรุงศรีลังกาเพื่อคัดลอกพระไตรปิฏกจากต้นฉบับเพื่อนำมาเผยแพร่แก่ชาวพม่า ครั้นการคัดลอกสิ้นสุดแล้ว กำลังจะเดินทางกลับ แต่ได้ประสบกับมรสุมจึงล่าช้า
พระมหากษัตริย์พม่าร้อนใจจึงได้เตรียมเรืออีกลำหนึ่ง บรรจุอาหารและน้ำเตรียมไปส่งให้เรือพระไตรปิฏก ในที่สุดเรือพระพุทธะโกษาก็เดินทางกลับมาพร้อมกับพระไตรปิฏกอย่างปลอดภัย นั่นคือตำนานและถือเป็นการลอยเคราะห์ลอยโศกให้พ้นไป นำมาซึ่งความโชคดีมีชัย คิดสิ่งใดก็จะสมปรารถนา นับแต่นั้นมา ประเพณีการลอยเคราะห์ด้วยเรือจึงเป็นวัฒนธรรมหนึ่งในวิถีชีวิตมอญ
มารู้จักอำเภอสังขละบุรีกันหน่อยว่า เดิมชื่ออำเภอวังกะ ตั้งเมื่อปีพ.ศ.2438 เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอสังขละบุรีปีพ.ศ.2482 มีพื้นที่2,093,375 ไร่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยง 80% ไทย 14% และมอญ 5% ประชากรรวมๆ 39,405 คน(ปีพ.ศ.2552) คำว่าสังขละบุรีมาจากคำว่าสังเคลียะซึ่งเป็นภาษาพม่าแล้วเพี้ยนเป็นสังคละ ที่สุดเป็นสังขละบุรี อาณาเขตติดต่อกับรัฐมอญของพม่า
เมื่อพม่าได้รับอิสระภาพจากอังกฤษ เกิดสัญญาปางโหลงโดยนายพลอองซาน กะเหรี่ยง คะฉิ่น ยะไข่ มอญ ฯลฯ ต้องได้รับอิสระภาพเพื่อปกครองแผ่นดินของตนเอง แต่พม่าได้ฉีกสนธิสัญญาปางโหลงทิ้ง แล้วรวบอำนาจปกครองทั้งหมด นั่นคือต้นเหตุที่เกิดกองกำลังของแต่ละชนเผ่าลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลพม่า มอญก็เป็นอีกรัฐหนึ่งที่ไม่ยอม
จึงลุกขึ้นสู้แต่ด้วยกำลังที่กล้าแกร่งของพม่าจึงแตกพ่ยครั้งแล้วครั้งเล่า มอญเริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในเขตแดนของอำเภอสังขละบุรีเมื่อก่อนปีพ.ศ.2490 คนมอญอพยพมาอยู่ครั้งแรกที่หมู่บ้านนิเกะอันเป็นหมู่บ้านดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง ครั้งนั้นมากันราวๆ 30 ครัวเรือน
ต่อมามอญกลุ่มศรัทธาหลวงพ่ออุตตมะได้อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำสามประสบตอนล่าง(แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำรันตี และแม่น้ำบีคลี มาบรรจบกัน) สร้างบ้านเรือน วัด จนมั่นคง น่าจะไม่ต้องอพยพอีกแล้ว แต่เมื่อโครงการสร้างเขื่อนเขาแหลมเริ่มขึ้นในปีพ.ศ.2522 พี่น้องมอญและวัดวังกะต้องอพยพเคลื่อนพลอีกครั้ง ครั้งนี้ได้อพยพขึ้นมาอยู่บนขุนต้นน้ำซองกาเลีย ในพื้นที่ 614 ไร่ ราวๆ400 ครัวเรือน ทิ้งซากวัดวังก์วิเวการามไว้ใต้น้ำกลายเป็นเมืองบาดาลตราบจนถึงทุกวันนี้
พม่าโจมตีมอญจนแตกพ่ายเพิ่มขึ้นอีก พี่น้องชาวมอญจึงอพยพมารวมกันอยู่กับกลุ่มหมู่บ้านวังกะอีกกว่า 1,000 ครัวเรือน ในปีพ.ศ.2538 อันเป็นการปิดฉากการต่อสู้ของพี่น้องมอญกับพม่า วันนี้ประชากรมอญที่สังขละบุรีน่าจะมีมากกว่า 2,000 ครัวเรือน ปัจจุบันนี้ได้รับการประกาศให้ขึ้นทะเบียนเป็นพลเมืองไทยไปแล้ว เป็นคนไทยเชื้อสายมอญแห่งอำเภอสังขละบุรีโดยสมบูรณ์
ศูนย์รวมจิตใจให้รักและสามัคคีกันในหมู่พี่น้องมอญคือหลวงพ่ออุตตมะ ท่านได้รับความเลื่มใสและศรัทธามิใช่เพียงพี่น้องมอญ หากแต่พุทธศาสนิกชนคนไทยทั่วประเทศก็ศรัทธาท่านเช่นกัน ท่านเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติงาม เป็นเกจิอาจารย์ที่เลื่องชื่อ ได้สั่งสมวัฒนธรรมประเพณีพี่น้องมอญผ่านพุทธศาสนาตลอดมา ประเพณีลอยเคราะห์ที่จัดขึ้นทุกปี ทุกวันขึ้น 14-15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ ก็ด้วยหลวงพ่อนี่เอง
ปีนี้ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29-30 กันยายน และสิ้นสุดในวันที่ 1 ตุลาคม 2555 โดยมีประเพณีดังต่อไปนี้
วันขึ้น 14 ค่ำ(29 กย.55) พี่น้องมอญจากทั่วสารทิศอันมีทั้งในฝั่งไทยและเดินทางมาจากฝั่งพม่า ได้ร่วมกันทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ผู้ชายมอญกลุ่มหนึ่งจะช่วยกันสร้างเรือแพไม้ไผ่ขึ้นที่หน้าเจดีย์พุทธคยา ส่วนกลุ่มพี่น้องมอญทางบ้านจะทำตุง ธง พวงมาลัย พวงมะโหด กระดาษสี อาหารหวานคาว เพื่อนำมาบูชาและถวายไล่เคราะห์และทุกข์โศก มาประดับประดาเรือจนสวยงามด้วยสีสันสดใส
วันขึ้น 15 ค่ำ(30 กย.55) ตื่นเต้นมากเมื่อเห็นพี่น้องมอญยืนเรียงรายกันไปทั่วหมู่บ้าน แต่ละบ้านจะมีทั้งลูกเล็กเด็กน้อย ผู้เฒ่าผู้แก่ มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง อุ้มขันข้าวและตั้งจตุปัจจัยเตรียมใส่บาตรไว้ข้างๆ ทุกคนยืนด้วยเท้าเปล่า พระสงฆ์ออกบิณฑบาตรไปตามถนนทุกซอกทุกซอย หลังตักบาตรเสร็จแล้วได้เห็นพี่น้องมอญก้มลงกราบพระทึ่ใส่บาตรแล้วอย่างนบนอบ
เมื่อบิณฑบาตรเสร็จแล้วได้ไปรวมกันฉันภัตตาหารที่บนศาลาการเปรียญขนาดใหญ่ ผู้ชายส่วนใหญ่ใส่โสรงสีแดง สวมเสื้อตามถนัด แต่ถ้าเคร่งจริงๆจะสวมเสื้อคอกลงแขนยาว สีเนื้อ หรือสีขาว ผู้หญิงจะนุ่งโสร่งสีน้ำตาลดำ สวมเสื้อคอกลมแขนยาวสีขาวหรือหลากสี แต่ขาดไม่ได้คือต้องห่มผ้าสะไบเฉีบงสีน้ำตาลทุกคน
หลังพระฉันเรียบร้อย พี่น้องมอญทุกผู้จะนำน้ำมันพืช น้ำผึ้ง และน้ำตาล อย่างใดอย่างหนึ่ง พร้อมด้วยดอกไม้เสียบสวยงาม เพื่อไปรอตักบาตรแด่พระสงฆ์ที่บันไดทางขึ้นองค์พระพุทธคยา ตกค่ำก็จะนำข้าวตอกดอกไม้มาถวายรูปปั้นหลวงพ่ออุตตมะที่ฐานเจดีย์พุทธคยา มีการปล่อยโคมลอยในค่ำคืนเดือนกระจ่างฟ้าด้วย
สามเณรฉันภักษาหาร
สำรับกับข้าวสาวมอญ สวยๆ
วันแรม 1 ค่ำ(1 ตุลาคม 2555) ตักบาตรทำบุญที่ศาลาการเปรียญพร้อมกับสวดมนต์อิตอปิโส 108 จบ แล้วพี่น้องลูกหลานครูบาอาจารย์แต่งตัวงดงามด้วยชุดประจำเชื้อชาติมอญ เดินทางมาร่วมกันที่หน้าเจดีย์พุทธคยา เตรียมพร้อมลากจูงเรือลอยเคราะห์ไปยังท่าน้ำข้างวัดอันเป็นทะเลสาบของเขื่อนเขาแหลม ขบวนแห่แหนแต่นแต้ด้วยเสียงมโหรีปี่เป่า มอญหญิงชายร่ายร้ำฟ้อนต้อนหน้าต้อนหลังกันเป็นที่สนุกสนาน ขบวนแห่ห้อมล้อมเรือและบ้านธูปเทียนแน่นขนัด
เมื่อขบวนเรือถึงริมฝั่งมหานที มีเรือลากโยงลอยเชือกมาผูกกับแพเรือไม้ไผ่ และแล้วก็ลากจูงกันไปในท้องทะเลกว้างใหญ่ พี่น้องบนฝั่งโบกมือหย่อยๆ ตราบจนเรือลากจูงพาเรือสะเดาะเคราะห์ไปถึงกลางมหานที จึงได้ปลดเชือกออกแล้วปล่อยให้เรือลอยล่องไปตามยะถากรรม เป็นการส่งอาหารหวานคาวไปให้กับเรือที่ไปรับพระไตรปิฏกฉะนั้นแล
ในการสืบทอดพระศาสนาของหลวงพ่อุตตมะเช่นนี้ มิได้เพียงพระศาสนาจะยืนยาว หากแต่จะเพิ่มความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากขึ้นในหมู่พี่น้องชาวมอญทั้งสองฝั่ง เป็นเหมือนเวลาที่นัดหมายให้ได้พานพบและสอบถามถึงสารทุกสุขดิบกันและกัน ได้ร่วมทำบุญกุศลด้วยกันทุกๆปี ได้อุทิศบุญทานให้กับญาติพี่น้องที่วายชนไปแล้ว ได้ให้ผีเปรตไร้ญาติได้รับอานิสงฆ์ส่วนบุญ ได้เพิ่มบุญบารมีให้กับตนเองและครอบครัว
ว่ากันตามความจริง ประเพณีนี้จัดได้ด้วยมวลชนคนมอญมากมายหลายพันคน และงานที่จัดก็หลากหลายได้เรื่องราว แค่ว่าค่ำคืนที่ผู้หญิงคราวแม่คราวยายไปนอนถือศีลบนศาลาวัดกันแน่นไปทั้งศาลาก็ได้ภาพความงดงามและซึ้งใจในรสพระธรรมคำสอน ตอนผมเป็นเด็กๆ ผมเคยไปช่วยแม่กางมุ้งนอนหลังสวดมนต์เย็นแล้วที่ศาลาการเปรียญ แต่เดี๋ยวนี้แก่แล้วกลับไม่เห็นวัฒนธรรมการนอนวัดอีกเลย
เมื่อมาเห็นภาพแม่ย่าตาเฒ่าเตรียมที่นอนหมอนพร้อมมากับกระติกน้ำดื่ม ปิ่นโตใส่อาหาร เพื่อมานอนและกินที่วัดร่วมกัน ผมรู้สึกอิ่มเอมใจไปกับพี่น้องชาวมอญจริงๆ ถ้าปีหน้าฟ้าใหม่ ผมอยากหอบเสื่อผืนหมอนใบไปนอนวัดกับเขาบ้าง คงได้บรรยากาศสมัยตามแม่ไปนอน เป็นความรู้สึกดีที่ปีหนึ่งจะได้ละเว้นการนอนฟูกนิ่มกินอิ่มจนพุงกางสักปี ถวายเป็นพุทธบูชา ปีหน้าใครจะไปกับผมบ้าง ยกมือ
ที่ผมเสียดายมากคือ ผมเห็นสำรับกับข้าวที่พี่น้องวางเรียงกันเต็มหน้าทุกผู้ทุกคน ล้วนใส่ในภาชนะสวยงาม ผู้คนผู้เป็นเจ้าของก็แต่งองค์ทรงเครื่องสวยงาม ดูมีวัฒนธรรมที่ล้ำลึก วัดเขาจัดระเบียบให้นั่งเรียงหันหน้าเข้าหากัน ไม่ระเกะระกะ ดูสงบงามซาบซึ้งตรึงใจจริงๆ เมื่อถึงซึ่งเวลาที่พระสงฆ์และสามเณรเริ่มฉัน พี่น้องที่เตรียมสำรับกันมาก็เปิดฝาออก แล้วก็ลงมือรับประทานอาหารหวานคาวร่วมกัน นี่ก็ปีละหนอีกที่ได้มานั่งกินข้าวร่วมกัน
เรือลอยเคราะห์ที่ปล่อยไว้กลาวทะเล
และที่ผมเสียดายมากๆคือ ไม่มีใครเรียกหรือชวนเชิญผมและตากล้องทั้งหลายให้ร่วมกินเลย ได้แต่มองจ้องอาหารของแต่ละเจ้า ดูน่ากินและน่าเข้าไปร่วมวงจัง ในที่สุดจึงเสพด้วยสายตาและเสพด้วยจมูก(แอบดมกลิ่น) แล้วกลืนน้ำลายลงคอที่แห้งผาก เดินจากมาทั้งๆที่อยากรู้และอยากลิ้มรสชาติอาหารที่พี่น้องมอญทำมาถวายพระและทำมากินร่วมกัน ใจร้าย
แห่เรือไปลอยเคราะห์
แม้ผมมิได้เสพอาหารหวานคาวของพี่น้องมอญ ผมก็ได้รู้และเห็นวัฒนธรรมการกินอาหารร่วมกันของมอญหนึ่งอย่างแหละ ได้เห็นวัฒนธรรมการแต่งกายเมื่อไปวัดทำบุญกับพระสงฆ์ ได้เห็นวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ชาวมอญที่คร่ำเคร่งและจริงจัง ได้เห็นการสืบทอดพระศาสนาจากรุ่นสู่รุ่น จากคนเฒ่าคนแก่ส่งลงมาถึงคนวัยกลางคน หนุ่มสาวและเด็กน้อยๆน่ารัก
ได้เห็นประเพณีลอยเคราะห์ซึ่งงดงามของพี่น้องมอญแห่งบ้านวังกะ หมู่ 2 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
ได้ภาพสวยงามและเรื่องราวมาเล่าสู่กันอ่านใน www.thongthailand.com และเชื่อมต่อไปถึง Facebook กระตุกใจให้หันมาแล
อุปกรณืเตรียมมานอนวัด
ได้ความภูมิใจที่มีสารคดีงดงามมาฝากแฟนของเว็บไซต์และเฟชบุ๊ก ได้เห็นภาพและอ่านเรื่องเล่ามันส์
และยังได้ไปนอนพักแรมที่ "ป้อมปี" บ้านพักรับรองของอุทยานแห่งชาติเขื่อนเขาแหลม ที่มีบรรยากาศดี อากาศดี เจ้าหน้าที่นิสัยใจคอดี
ทั้งนี้ก็ด้วยความกรุณาของคุณครรชิต ศรีนพสุวรรณ อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนเขาแหลมและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี
คุณยายมอญตักบาตร