บุญสงกรานต์บ้านไทพวน
ณ.วัดโภคาภิวัฒน์ ต.บางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
บ้านผมอยู่แขวงเมืองวิเศษไชยชาญจังหวัดอ่างทอง ที่มีบ้านพี่เมืองน้องเป็นเมืองสิงห์บุรี ผมรู้ว่าเมืองสิงห์บุรีมีประวัติศาสตร์เรื่องชาวบ้านบางระจันอันเป็นวีรบุรุษของคนไทย แล้วผมก็รู้ว่าถ้าจะกล่าวถึงปลาช่อนละก็ ต้องเมืองสิงห์บุรีมีปลาช่อนแม่ลาดังกระช่อน ผมฟังเพลงมาแต่เด็กๆจากนักร้องศิลปินแห่งชาติ ชาย เมืองสิงห์
นายอภิชาติ อินทร์พงษ์พันธุ์ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ต้อนรับสื่อมวลชน
แต่ผมเพิ่งรู้ว่าพี่น้องร่วมแผ่นดินที่อยู่ในเมืองสิงห์บุรีนั้น มีพี่น้องร่วมชาติเชื้อเป็นชาว “ไทพวน” ผมตื่นเต้นครับ เพราะรู้มาแต่เดิมว่าไทพวนหรือลาวพวนนั้นอยู่แถวลพบุรี ปราจีนบุรี นครนายก ซึ่งเรียกกันว่า ลาวพวน แท้ที่จริง ใกล้ๆตัวผมนี่เองก็มีพี่น้อง ไทพวน มีศิลปินแห่งชาติชาวไทพวนชื่อประหยัด พงษ์ดำ อยู่ที่นี่อีกคน
เสวนาหาข้อมูลจากพี่น้องไทพวน ณ วัดกุฎีทอง
ฟ้อนกำฟ้าของไทพวน บ้านบางน้ำเชี่ยว
ผมได้รับหมายเชิญจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลพบุรี แจ้งเชิญให้ไปร่วมชมการฟื้นตำนานบุญสงกรานต์บ้านไทยพวน ที่วัดโภคาภิวัฒน์ หมู่ 5. ต.บางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ดีใจจริงๆ ตามกำหนดการนั้นระบุว่า จะไปชมพิพิธภัณฑ์ไทยพวน ณ วัดกุฎีทอง ต.วังน้ำเชี่ยว ก่อน
อ.วิโรจน์ อินทร์พงษ์พันธุ์ เล่าความ
นายณรงค์ ชูเนตร เล่าเรื่องให้ฟัง
ที่นี่ ท่านรองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คุณอภิชาต อินทร์พงษ์พันธุ์ให้การต้อนรับพร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(ภาพพิมพ์) ปีพ.ศ.2541 อาจารย์วิโรจน์ อินทร์พงษ์พันธุ์ ประธานวัฒนธรรมอำเภอพรหมบุรี และคุณณรงค์ ชูเนตร อดีตนายกเทศมนตรีสองสมัย นอกจากนั้นยังมีพี่น้องไทยพวนมาร่วมต้อนรับมากมาย
ชุดผู้บ่าว ไทพวน
แม่หญิงไทพวนอวดโฉม น่ารักๆ
ไม่มีการบันทึกชัดเจนว่า พี่น้องไทพวนอพยพจากเมืองเชียงขวางลงมาเมื่อใด แต่เริ่มต้นที่ ชาว
ไทพวนหรือลาวพวนอพยพจากเมืองเชียงขวางล่องลงมาหาที่ดินทำกินสองฝั่งแม่น้ำโขง สร้างบ้านแปลงเมืองที่เวียงจันท์ แล้วข้ามมาฝั่งขวาแม่น้ำโขงคือแถวๆอุดรธานี หนองคาย นครพนม ช่วงรัชกาลที่ 3 พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ให้เจ้าพระยาบดินทร์เดชา(สิงห์ สิงหเสนีย์) กวาดต้อนพี่น้องไทพวนลงมาอยู่แถวปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา
ระเบียงหน้าบ้านไทพวน
การอพยพย้ายถิ่นยังไม่สิ้นสุด เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการค้าและนวัตกรรม “เรือสำเภาจีน” ที่เข้ามาค้าขายเกี่ยวกับของป่าและเครื่องเทศ จากกลุ่มเรือจีนและอินเดีย เกิดการอพยพเพื่อเข้ามาทำการค้ากับชาวต่างชาติ และกลุ่มนี้เองที่เคลื่อนย้ายถิ่นมาปักหลักอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา การเลือกสองฝั่งแม่น้ำของชาวไทพวนนั้นถือว่าเป็นภูมิปัญญาหนึ่งที่ชาญฉลาดเพราะว่าแม่น้ำเป็นทั้งเส้นทางการสัญจรไปมาในยุคสมัยนั้นและแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่สุขสบาย ทำไร่ทำนาก็ได้ผลผลิตเพียบพูน
กลองยาวเป็นดนตรีพื้นบ้านไทย-ลาว
พี่น้องไทพวนตำบลบางน้ำเชี่ยวนั้น เมื่อตั้งถิ่นฐานบ้านช่องมั่นคงแล้ว จึงได้สร้างวัดอุตมะพิชัย ณ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ปีพ.ศ.2345 ได้วิสุงคามสีมาเมื่อปีพ.ศ.2390 แต่ด้วยว่าประชากรเพิ่มมากขึ้นจึงได้มีการสร้างวัดกุฎีทองขึ้นอีกหนึ่งวัด ในปีพ.ศ.2443 ที่วัดนี้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุบนยอดแหลมของเจดีย์ทรงย่อไม้สิบสอง ภายใต้องค์พระเจดีย์มีแท่นบูชาพระพุทธบาท 4 รอยประดิษฐานอยู่ด้วย
ศ.ประหยัด พงษ์ดำ และผู้อาวุโสรับการรดน้ำดำหัววันสงกรานต์
พิพิธภัณฑ์เฮือนไทพวน ตั้งอยู่ที่วัดกุฎีทอง (ไม่รู้ปีพ.ศ.ที่สร้างวัดนี้) ภายในพิพิธภัณฑ์แสดงถึงวิถีชีวิต เครื่องมือทำกิน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม บ้านเรือน และหลากหลายเรื่องราวอันน่าชมยิ่ง หลังจากฟังบรรยายสรุปแล้วได้ชมการฟ้อนกำฟ้าของเหล่าพี่น้องไทพวน ได้สงน้ำพระและได้ร่วมกันรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสของชาวไทพวน
ต่อจากนั้นได้เดินทางไปยังวัดโภคาภิวัฒน์ สร้างเมื่อปีพ.ศ.2380 ได้วิสุงคามสีมาเมื่อพ.ศ.2400 เดิมชื่อวัดดอนคา มาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโภคาภิวัฒน์ 2483 วัดนี้ประดิษฐานหลวงพ่อหินปางประทานพร ประทับยืน อันเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สลักจากหินทราย
แม่หญิงไทพวนแต้มแก้มสองข้างด้วยดินสอพอง งานสงกรานต์
นายณรงค์ ชูเนตร นายอภิชาติ อินทร์พงษ์พันธุ์ และนพ.สุวิทย์ เกียรติเสวี
ภายในวัดวันนั้น(14เมย.56) มีพี่น้องไทพวนล้วนประแป้งดินสอพองสองข้างแก้ม อันเป็นวัฒนธรรมการแต่งหน้าทาแป้งยามมีงานสงกรานต์เช่นนี้ สตรีสวมเสื้อคอกลมแขนยาวทรงกระบอก สีเหลืองไพร ห่มด้วยผ้าสไบเฉียงสีต่างๆ นุ่งผ้าถุงมัดหมี่ลายขวางและมีตีนจกสีแดง ส่วนผู้ชายสวมเสื้อหม้อฮ่อมสีคราม แขนสั้นบ้างยาวบ้าง ประแป้งดินสอพองสองข้างแก้ม คาดพุงด้วยผ้าขาวม้าผืนหนึ่ง แต่บางคนก็พาดไหล่
สาวไทพวนเมืองสิงห์บุรี
เบื้องหน้ามีบ่อนสรงน้ำพระบรมธาตุ และบ่อนสรงน้ำพระสงฆ์ โดยมีรางไม้ให้พุทธศาสนิกชนคนไทพวนได้รดน้ำในรางไม้ น้ำที่ใช้รดน้ำจะผสมด้วยน้ำอบไทย ดอกมะลิหอมกรุ่น เมื่อรินน้ำไปบนรางไม้ น้ำจะไหลไปยังพระบรมธาตุ ซึ่งประดับประดาด้วยดอกไม้พวงมาลัยงาม อันว่ารางไม้นี้สมัยโบราณใช้ลำไม้ไผ่ผ่าซีก แต่ปัจจุบันนี้วิวัฒนาการขึ้นเป็นรางไม้จริง
บ่อนสรงน้ำพระบรมธาตุ
ข้อแตกต่างระหว่างบ่อนสรงน้ำพระบรมธาตุกับบ่อนสรงน้ำพระสงฆ์คือ บ่อนสรงน้ำพระบรมธาตุมีรุกขเทวดา 5 องค์ แต่งด้วยเสื้อผ้าสีขาว สวมหมวกทรงแหลม คอยเฝ้าระวังอยู่ด้วย ส่วนบ่อนสรงน้ำพระสงฆ์ไม่มีรุกขเทวดา แต่บ่อนสรงน้ำหลวงพ่อหินนั้นเดินขึ้นไปในศาลเจ้าเพื่อสรงน้ำท่านได้เลย
รุกขเทวดานำพระบรมธาตุมาประดิษฐาน ณ ที่เดิม
หลังจากพิธีสรงน้ำบ่อนทั้งสามแล้วเสร็จ เหล่ารุกขเทวดาจักได้นำพระบรมธาตุไปประดิษฐานไว้ในมณฑปหน้าองค์พระประธานในอุโบสถดังเดิม
บ่อนสรงน้ำพระสงฆ์
ส่วนภายนอกก็รดน้ำดำหัวผู้อาวุโสกันจนถ้วนทั่ว เป็นที่ครื้นเครงและสุขสำราญบานใจ เพียบพร้อมไปด้วยรอยยิ้มอิ่มอกอิ่มใจกันทุกคน
ส่วนประเพณีขนทรายเข้าวัดนั้น ตามประเพณีมีเจตนารมณ์อยู่สองด้านคือ ด้านหนึ่งเพื่อทดแทนเม็ดดินเม็ดทรายที่เคยติดเท้าออกมาจากวัด ส่วนอีกด้านหนึ่ง เพื่อเป็นการขนทรายมากองไว้ให้วัดใช้ประโยชน์ในการซ่อมสร้างพุทธสถานที่อาจชำรุดหรืออาจสร้างขึ้นใหม่
เจดีย์ทราย
บ่อนสรงน้ำพระสงฆ์
แต่ดั้งเดิมมานั้น ประเพณีขนทรายเข้าวัด หนุ่มสาวจะถือโอกาสนี้หาบทรายมาจากแม่น้ำหรือลำห้วยหรือชายหาดเพื่อมากองแล้วตกแต่งเป็นเจดีย์ ปักด้วยตุงอธิษฐานหลากสีสัน ตอนผมหนุ่มๆก็เคยร่วมประกอบพิธีการขนทรายเข้าวัดกับหญิงสาวเหมือนกัน แต่ทุกวันนี้ผมยังตามหาสาวอนงค์นั้นไม่เจอ แม้เวลาจะล่วงเลยไปแล้วกว่า 36 ปี เธออยู่ไหน...........
ค่ำคืนแสนงาม เดือนลอยดวงไกลโพ้น ด้วยว่าเป็นคืนขึ้น 4 ค่ำเดือน 5 มองไปทางไหนก็มืดสลัวๆ แต่แสงไฟจากวัดโภคาภิวัฒน์ยามนี้ มีพี่น้องไทพวนร่วมใจกันมาทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อหาทุนสมทบทุนการศึกษาให้กับโรงเรียนวัดแห่งนี้ โดยมีท่านพระครูใบฎีกาโชค สนตมโน รักษาการเจ้าอาวาสวัดโภคาภิวัฒน์ เป็นพระผู้รับผ้าป่าสามัคคี E-mail:pokapiwat@hotmail.com
พระครูใบฎีกาโชค รักษาการเจ้าอาวาสวัดโภคาภิวัฒน์ รับผ้าป่าสามัคคี
โฆษกประกาศว่า ได้เงินผ้าป่าสมามัคคีถึง 160,000 บาทเศษ เป็นการกลับมาเยือนบ้านเฮือนโฮมด้วยน้ำใสใจบุญพรั่งพร้อม นี่ไม่ใช่การมาเยือนแล้วเมาเหล้ากลับไปมือเปล่า หากแต่ได้สร้างทุนเพื่อการศึกษาแก่รุ่นลูกรุ่นหลานสืบไป
หนุ่มไทพวน แต้มแป้งดินสอองสองข้างแก้มอย่างนี้แหละคร๊าบ
เสร็จพิธีสงฆ์ เริ่มประเพณีเฉลิมฉลองวันคืนแสนสุขด้วยวงดนตรีขุนทอง ด้านหน้าเวทีเป็นลานรำวงกว้างๆ บนเวทีมีป้ายหน้าของนักร้องดังศิลปินแห่งชาติ ชาย เมืองสิงห์ และรองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายอภิชาต อินทร์พงษ์พันธุ์ ซึ่งท่านเป็นชาวไทพวนบ้านบางน้ำเชี่ยวนี่เอง จึงให้เกียรติมาร่วมงานวันคืนสู่เหย้าเนาบ้านเกิด ในปีใหม่แบบไทยๆ ในครั้งนี้ด้วย
นายอำเภอพรหมบุรี เป็นประธานเปิดงาน
นายอำเภอพรหมบุรี ให้เกียรติมาเป็นประธานการเปิดงาน ประธานการจัดงานสงกรานต์บ้านโภคาภิวัฒน์ กล่าวรายงาน พิธีการเสร็จสิ้นก็ถึงเวลาของการแสดง
ประธานจัดงานสงกรานต์วัดโภคาภิวัฒน์ ประจำปี 2556
ศิลปินแห่งชาติ ชาย เมืองสิงห์ หรือ สมเศียร พานทอง ได้ขับเคลื่อนล้อเลื่อนไปยังเวที แล้วได้บุตรชายคนโตแบกหามขึ้นไปบนเวทีท่ามกลางแสงไฟแพรวพราย แต่ด้วยหัวใจระริกระเริงของพี่น้องคนเมืองสิงห์ อยากเห็นและอยากฟังเพลงอมตะของเขา ชาย เมืองสิงห์ ผู้มีสมญานามว่า เดอะ แมน ซิตี้ ไลอ้อน ก็ขึ้นไปปรากฏกายได้อย่างปลอดภัย
ฟ้อนไทพวนของเยาวชนโรงเรียนวัดโภคาภิวัฒน์ น่ารัก
วงดนตรีลูกทุ่งขุนทอง
การแสดงจากศิลปินนักร้องคนดังเมืองสิงห์เรียกร้องให้พี่น้องซึ่งอยู่ในวัยไม่ใกล้ไม่ไกลกว่าชายเมืองสิงห์มากนัก เดินดิ่วๆออกไปโค้งกันฟ้อน นางรำวันนี้ไม่ได้นุ่งห่มด้วยผ้าน้อยชิ้นอย่างวันวาน หากแต่นุ่งโจงกระเบนผ้าลายพร้อย สวมเสื้อคอกลมแขนสั้นบ้างยาวบ้าง ต่างก็แต่งว่างามตามสมัยนั้นนั่นเทียว
เสียงเพลงเร้าใจ เสียงไมค์ดังแน่น เสียงร้องยังคงมนต์เสน่ห์อย่างหาตัวจับมาเปรียบเทียบมิได้ นี่แหละ ศิลปินนักร้องที่ทำให้เมืองสิงห์บุรีดังกระฉ่อนไปทั่วแผ่นดินแหลมทอง
มันขึ้นมาแล้ว ชาย เมืองสิงห์ก็ลุกขึ้นยืนโชว์
รำวงย้อนยุคเมื่อตอนหนุ่มๆสาวๆ
จบสิ้นการแสดงของชาย เมืองสิงห์ คนดังเมืองสิงห์อีกคนหนึ่งก็เดินขึ้นไปตามคำเรียนเชิญ เขาคือ ธนิศร์ ศรีกลิ่นดี พี่น้องไทพวนของชาวเมืองสิงห์บุรีนี่แหละ ที่สร้างชื่อเสียงจากเพลงขลุ่ยเรียกหา เขาเป่าขลุ่ยไพเราะจนได้รางวัล คนดีศรีเมืองสิงห์ ในอนาคตน่าจะได้เป็นศิลปินแห่งชาติอีกคนหนึ่งของเมืองสิงห์บุรี
ธนิศร์ ศรีกลิ่นดี คนดีศรีเมืองสิงห์
ธนิศร์ สร้างชื่อเสียงด้วยเสียงเป่าที่ตราตรึงใจไปทั่วแผ่นดิน มิใช่เพียงในประเทศไทย หากแต่ขจรขจายไปถึงต่างประเทศ นอกจากนั้น ยังผลิตขลุ่ยไม้ไผ่จำหน่ายไปทั่วแคว้นแดนไกล พร้อมกับรับสอนวิธีการเป่าขลุ่ยให้กับชาวต่างชาติอีกด้วย
ชาย เมืองสิงห์ ไทยแท้ ธนิศร์ ศรีกลิ่นดี ไทพวน ฮา
สุดท้าย ชาย เมืองสิงห์และธนิศร์ ศรีกลิ่นดี ร่วมกันบรรเลงเพลงด้วยกลอนเปล่าๆ อันเป็นการด้นสดๆด้วยไหวพริบที่ยังเข้มแข็ง ก่อนที่ชาย เมืองสิงห์จะเดินทางกลับไปบ้านบางมัน อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี เขาได้สร้างบรรยากาศการรำวงย้อนยุคให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ชาวไทพวน สิงห์บุรี มีความสุข
ณ ที่แห่งนี้ งานย้อนรอยประเพณีสงกรานต์บ้านไทพวนวัดโภคาภิวัฒน์ ตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
ชาย เมืองสิงห์ ปลุกระดมให้รำวงฟื้นชีวิตมีชีวาอีกครั้ง
นายอภิชาติ อินทร์พงษ์พันธุ์
รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย