วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร
ประเพณีปารุปะนังพระนอนจักรสีห์
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
สงกรานต์ปีนี้ไม่ได้ขึ้นเหนือ แต่ไปสิงห์บุรีแค่นี้เอง เหมือนว่าไม่น่าจะมีอะไรนักหนา แต่เมื่อได้ไปแล้ว จึงรู้ว่า ชาวสิงห์บุรีมีประเพณีที่ทำกันมาตลอดทุกปี นั่นคือประเพณีปะรุปะนังองค์พระนอนจักรสีห์ ในวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันที่ 15 เมษายน พี่น้องชาวสิงห์บุรีเขาแห่ผ้าจีวรขนาดยาวมาจากแต่ละหมู่บ้านเพื่อนำมาห่มองค์พระพุทธไสยาสน์องค์โตทุกปี ตื่นเต้นทีเดียวครับ
สันนิษฐานกันมาว่า วัดพระนอนจักรสีห์ สร้างมาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ พุทธลักษณะแบบสุโขทัยมีความงดงามมาก ยาว 47 เมตร 42 เซนติเมตร (1 เส้น 3 วา 2 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว) พระพักตร์หันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก พระหัตขวารองรับพระเศียร
ภายในวิหารยังประดิษฐาน พระกาฬ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลาลงรักปิดทอง และพระแก้วระหล่อนั่งขัดสมาธิเพชรพุทธลักษณะงดงาม สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้เป็นพระประธานในการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการ อันเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่เตือนสติข้าราชการให้ตั้งมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่และประชาชน
ปัจจุบันนี้ วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ตำบลจักรสีห์ อำเอเมือง ห่างจากจังหวัดสิงห์บุรีไปตามถนนมุ่งสู่จังหวัดสุพรรณ 4 กม. (3032) ระยะทางจากกรุงเทพเพียง 140 กม. เท่านั้น ใกล้ๆกันยังมีวัดสว่างอารมณ์เพื่อเยี่ยมชมหนังใหญ่ได้อย่างเหลือพรรณนา กว่า 300 ชิ้นหนัง
ในวันทำพิธีปะรุปะนังองค์พระนอนจักรสีห์มีขบวนแห่มากมายหลายขบวนด้วยกัน พุทธศาสนิกชนแต่งชุดสีสันสวยงามตามแต่สมัยนิยม มีกองดุริยางค์นำขบวนเพื่อให้เสียงและความครึกครื้นรื่นเริง พร้อมกันนั้นมีนางรำทั้งที่เป็นเด็กๆและที่เป็นผู้ใหญ่ แต่ละขบวนเลือกเฟ้นท่าร่ายรำทำเพลงกันตามชอบ เป็นที่สนุกสนานกันถ้วนหน้า
ขบวนแห่ผ้าจิวรของแต่ละหมู่บ้าน
เมื่อขบวนแห่แหนกันมาถึงหน้าวัด ได้เข้าไปรวมกันอยู่หน้าวิหาร เพื่อทำพิธีปะรุปะนังในเวลา 16.00 น. น่าเสียดายที่ไม่ได้อยู่ร่วมพิธีแท้จริง จึงมีเพียงภาพทั่วๆไปมาให้ได้ชมกัน หากปีหน้าฟ้าใหม่ใครสนใจจะไปร่วมพิธีก็เตรียมแผนการไว้ให้พอดี ครั้นถึงเวลาจริงๆอาจเข้าไม่ถึง เนื่องจากพุทธศาสนิกชนคนเมืองสิงห์และศรัทธาจากรอบๆวัด หนาแน่นมากๆ
ภายในวิหาร มีผ้าจีวรให้บูชาแล้วห่มคลุมองค์พระพุทธไสยาสน์ รอบๆองค์พระนอกจากมีพุทธรูปปางต่างๆแล้วยังมีเครื่องเคลือบและพระเครื่องให้เดินชมจนอิ่มใจ นอกวิหารมีเจ้าแม่กวนอิม พระโพธิสัตว์ ให้กราบไหว้อยู่ด้วย ที่น่าทึ่งคือหลวงพ่อโต พรหมรังสี ที่หน้าทางเข้า โดยมีบาตรรับบริจาคเพื่อสร้างอยู่ด้วย
มันเขาละ
ก่อนกลับต้องฝ่าด่านการสาดน้ำสงกรานต์ในปัจจุบันนี้ พร้อมกับการประแป้งที่สองข้างแก้ม วัฒนธรรมใหม่ของคนไทยที่กำลังนิยมไปทุกแห่งแหล่งที่มีการละเล่นสาดน้ำ ยิงปืนฉีดน้ำ จนลืมเลือนวัฒนธรรมการรดน้ำดำหัวที่งดงามของประเพณีสงกรานต์ที่แท้จริงไปแล้วแต่อย่างไรก็ดี อาจเป็นวิวัฒนาการตามยุคสมัย
ขอขอบคุณ สุรชัย ศรีพลอย ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลพบุรี และคณะ ที่อำนวยความสะดวกในการเดินทางและการนำชม
วัฒนธรรมเปลี่ยน