พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์
ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อ.เมือง จ.สิงห์บุรี
โดย ป่าน ศรนารายณ์ เรื่อง-ภาพ
ในประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่อยู่ที่วัดขนอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี และพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ซึ่งทั้งสองแห่งนี้ ผมเพิ่งจะได้ไปชมแห่งแรกคือ ที่สิงห์บุรี จึงเพิ่งจะรู้ว่าหนังใหญ่นั้นแตกต่างจากหนังตะลุงที่เคยดูตอนเป็นเด็กในงานมหรสพประจำปี อายุ 65 ปีเพิ่งจะได้เรียนรู้ แต่ยังไม่ถึงกับ ช้าไปต๋อย ชิมิ ชิมิ
วัดสว่างอารมณ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลต้นโพธิ์ ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา เขตอำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี สร้างเมื่อปีพ.ศ.2418 โดยเจ้าอาวาสองค์แรกชื่อ พระครูสิงหมุนี(เรือง) ในระหว่างนั้น มีนายหนังเร่ซึ่งใช้เรือเป็นพาหนะขึ้นล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยาชื่อว่าครูเปีย ต่อมาก็ปักหลักอยู่ใกล้ๆวัดสว่างอารมณ์และได้นำตัวหนังใหญ่ทั้งหมดของเขาถวายให้เป็นสมบัติของวัดสืบมาพร้อมทั้งได้สอนการแสดงหนังใหญ่ให้กับบุตรหลาน
ไม่มีการกล่าวถึงประวัติครูเปีย นายหนังเร่ จึงไม่รู้ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน เหตุใดจึงยกสมบัติทั้งหมดให้กับวัดสว่างอารมณ์ และเขาเกี่ยวข้องอะไรกับขุนบางมอญ กิจประมวล อย่างไร หรือไม่ จากเอกสารจึงได้รู้เพียงนี้ แต่วัดสว่างอารมณ์ได้ ขุนบางมอญ กิจประมวญ (นวม ศุภนคร) ต้นตระกูลศุภนคร ได้สืบทอดการแสดงหนังใหญ่พร้อมทั้งสอนให้บุตรหลานแสดงหนังใหญ่สืบต่อกันมาจนหมดยุครุ่งเรื่องของหนังใหญ่ไปตามกาลเวลา
หนังใหญ่ถูกเก็บไว้ที่วัดสว่างอารมณ์ ผุพังไปตามกาลเวลา แต่แล้วก็เกิดกระแสการอนุรักษ์การละเล่นพื้นบ้านขึ้น กำนันฉะอ้อน ศุภนคร จึงได้รับเป็นนายหนังคนปัจจุบัน และสืบทอดการแสดงหนังใหญ่ให้ฟื้นคืนสู่จออีกครั้งหนึ่ง วันเวลาที่ผ่านเลยมานั้นเนิ่นนานจนตัวหนังใหญ่ชำรุดเสียหายไปไม่น้อย จึงได้มีการซ่อมแซม ทำหนังใหม่มาแทนหนังเก่า
ลุงอาวุธ ศุภนคร
นายอาวุธ ศุภนคร อดีตพนักงานเทศบาลเกษียนราชการได้ใช้เวลาว่างมานั่งทำการซ่อมและสร้างหนังใหม่
“ตั้งแต่เด็ก ผมเห็นญาติพี่น้องเขามานั่งแกะตัวหนังใหญ่ สนใจก็ลักจดจำเรื่อยมา ไม่นึกว่าจะต้องมาช่วยทำหรอก จนเมื่อแก่แล้วไม่มีงานแล้ว ก็มานั่งดื่มน้ำชากาแฟกันที่ศาลาวัด คนที่แกะหนังใหญ่ก็ยังทำกันไป ผมก็เลยเข้ามาช่วยทำบ้าง ไม่มีใครจ้าง หนังใหญ่เป็นสมบัติเก่าแก่ของวัดนี้ ซึ่งบ้านพวกผมก็อยู่ติดกับวัดนี้แหละ”
“เครื่องมือก็มีมาแต่เดิม อันใดหักไปก็ซ่อมใหม่ เช่นเดียวกับหนังใหญ่ ตัวไหนชำรุดก็วาดลายใหม่ แกะใหม่ ต้นแบบก็อาศัยจากหนังเก่าที่ชำรุด หนังที่ใช้น่ะซิเรื่องใหญ่ ผมต้องไปซื้อหนังวัวจากอ่างทอง แถวหมู่บ้านทำกลอง ตัวหนึ่งก็ราวๆ 2-3000 บาท แล้วก็มาขึ้นตรึงจนหนังอยู่ตัวอย่างที่เห็นนั่นแหละ” ลุงอาวุธชี้ไปที่กำแพงวัดริมฝั่งเจ้าพระยา
ใกล้ๆตัวลุงอาวุธมีกาน้ำชาพร้อมแก้วตั้งอยู่ เพื่อนบ้านคนใดว่างก็มานั่งพูดคุยกันตามประสา ลุงอาวุธนั่งอยู่บนศาลา เบื้อหน้าเป็นแผ่นหนังที่วาดลายแล้ว เล่าเรื่องราวให้ฟังไปพลางก็ตอกหนังไปด้วย นานๆก็เว้นจังหวะพูดคุยเสียที ดูไม่เร่งไม่ร้อน สบายๆไม่เครียด เครื่องมือเรียงรายอยู่รอบกาย จะใช้ตัวไหนก็หันไปหยิบขึ้นมาใช้ ดูเพลินแต่ต้องมีสมาธิไม่น้อย
หนังวัวที่ขึงตรึงจนเข้าที่
ผมนึกสงสัย แล้วใบชาที่ลุงชงเลี้ยงเอนฝูงเอาเงินที่ไหนไปซื้อ ดูตามสภาพแล้วต้องมีเอนบ้านแวะเวียนเข้ามานั่งพูดคุยกันตลอดเวลา เหมือนว่าศาลาทำตัวหนังหลังนี้เป็นเวทีชาวบ้าน เป็นที่สร้างงานศิลปะประดิษฐ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คนที่แผ้วพานเข้ามา จนกระทั่งถึงว่าวกสื่อมวลชนอย่างผมและเพื่อนๆก็เข้ามาหาข้อมูล
บนศาลาการเปรียญหลังใหญ่ เป็นที่วางจอหนังกว้างขวางแทบว่าจะเต็มศาลา ตัวหนังใหญ่ถูกจัดโชว์ไว้อย่างมีระเบียบ ผมเดินไปชมและถ่ายรูปมาบางส่วน มันมืดไปหน่อยเพราะว่าทางวัดไม่ได้เปิดไฟฟ้าให้เข้าชม มีกองหนังใหญ่หลายสิบชิ้นวางซ้อนๆกันที่หลังเวทีที่เป็นจอ เพื่อใช้แสดงเมื่อมีการีติดต่อขอชมอย่างเป็นทางการ
ใช่แล้ว พวกเราไม่ได้ชมการแสดงหนังใหญ่ แต่ได้เห็นเพียงองค์ประกอบของหนังใหญ่ จากรูปน่าจะเป็นการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ส่วนจะแสดงตอนไหนบ้างไม่อาจทราบได้ ไปครั้งนี้ไม่ได้พบกำนันฉอ้อน ศุภนคร(โทร.036-512760) นายหนังคนปัจจุบัน
เรื่องราวที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็ได้มาจากลุงอาวุธ ศุภนคร คนซ่อม-สร้าง หนังใหญ่วัยชราบนศาลาวัดหลังน้อยเท่านั้น ขอขอบพระคุณที่สละเวลาเล่าเรื่องราวให้ฟัง ขอขอบระคุณที่สละเวลาอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านโบราณมีเอาไว้ให้ลูกหลานได้เห็นกันต่อไป
วิมลฤดี ฟักมณี คนพาไปชม