http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,397,761
Page Views16,731,084
« November 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ไทยพวน บ้านโพธิ์ศรี อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

ไทยพวน บ้านโพธิ์ศรี อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

ไทยพวน

บ้านโพธิ์ศรี ต.-อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

                    เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2556 เดินทางไปชมวัฒนธรรมพี่น้องไทยพวนที่บ้านโพธิ์ศรี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับกองทัพสื่อมวลชน 300 ชีวิต  ประทับใจที่ได้เห็นวัฒนธรรมการปลูกบ้านทรงไทยเพื่ออยู่อาศัย เห็นวัฒนธรรมการแต่งกายชายหญิง  ได้สัมผัสวัฒนธรรมการบายศรีสู่ขวัญ  ได้ชมวัฒนธรรมด้านศิลปะการแสดงและเครื่องดนตรี   และสุดอลังการเมื่อได้ชมวัฒนธรรมการหาบสำรับกับข้าวคาวหวานเพื่อต้อนรับแขกบ้านในลานโล่ง  

                     กองทัพนักข่าวไปสมทบกันที่วัดโพธิ์ศรี พี่น้องไทยพวนแต่งองค์ทรงเครื่องตามวัฒนธรรมดั้งเดิม ผู้หญิงสวมเสื้อสีม่วงแขนสามส่วนเป็นเสื้อที่พาดทับจากขวาไปซ้ายมีลวดลายที่ขลิบโดดเด่น สวมผ้าซิ่นลายดอก สวยงามตระการตา ยืนรอคล้องพวงมาลัยให้แขกพร้อมเพรียง แต่เห็นแล้วไม่พอจำนวนสื่อที่มาเป็นกองทัพ

                       ส่วนผู้ชายแต่งกายสบายๆ ไม่เคร่งครัดอย่างหญิง บ้างก็ใส่เสื้อหม้อฮ่อม บ้างก็สวมโสร่งลายตาหมากรุก บ้างก็สวมกางเกงขายาวอย่างสากล แต่คาดเอวด้วยผ้าขาวม้าสีสันสวยงาม อันอาจเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของชายไทยพวน กลุ่มหนึ่งยืนอยู่โดยมือถือแคนอย่างแคนเป่าชาวอีสานบ้านเรา บ้างถือกรับ ถือฉิ่ง ถือพิณดีด แต่กี่สายไม่ทันสังเกต

หน้าบันไม้สักฉลุลายวิจิตร

                        ผมเหลือบไปเห็นโบสถ์วัดโพธิ์ศรี สวยล้ำจำต้องจรแล้ว ผมแจวอ้าวไปทันใด ได้ภาพหน้าบันวัดมาอวด หน้าบันบนสุดเป็นไม้สักฉลุลายสวย ประณีต บรรจงประดิษฐ์ มีองค์เทพพนมสลักไว้กลางหน้าบันนี้

                         หน้าบันกลางต่ำลงมาเป็นปูนปั้น ลวดลายดอกไม้ไพรพนา เส้นสายช่างอ่อนช้อย สีสันที่แต้มแต่งคล้ายสีโบราณ งดงามจับใจ มีพระอินทร์ทรงครุฑอยู่ตรงกลาง รายล้อมด้วยลวดลายไม้เลื้อย ปูนปั้นที่ต้องบอกว่างามเหลือใจไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนเลย

                         หน้าบันชั้นล่างสุดเป็นลวดลายปูนปั้นที่ประดิษฐ์บรรจงสร้างให้ล้อมองค์พระแม่ธรณีบีบมวยผม  สีสันที่ใช้คล้ายคลึงหน้าบันกลาง แต่เป็นลายพฤกษาพรรณที่เรียงขึ้นลง แปลกตาไปจากเดิมอีก ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะเป็นช่างชาวไทยพวน

หงส์สวยในดอกไม้

                         มุมของหน้าบันกลางและหน้าบันล่าง มีลวดลายที่ปั้นแตกต่างกัน หน้าบันกลางเป็นลวดลายเฉพาะ ส่วนหน้าบันล่างมีหงส์ประดับลาย ทั้งสองส่วนอ่อนช้อยตามแบบฉบับ เสียดายที่ไม่ได้พบพี่น้องไทยพวน มิเช่นนั้นอาจได้ความรู้เรื่องลวดลายปูนปั้นมากกว่านี้

ใบบัวงามประทับใจ

                        ออกจากวัดไปเดินชมบ้านทรงไทยใต้ถุนสูงฝาประกนมาตรฐาน หน้าต่างประตูในรูปแบบเดียวกัน ทรวดทรงเอนลู่เข้าหาหลังคาที่มุงด้วยกระเบื้องแบบเดิมๆ ความอ่อนระแน้ของจั่วทรงไทยสวย เสียดายที่ไม่ขึ้นบ้านซึ่งน่าจะมีชานโล่งๆอยู่ด้วย เป็นโฮมสะเตย์ด้วย

บ้านไทยพวนและฝาประกน

                        ผมเห็นบ้านทรงไทยหลังหนึ่ง ฝาบ้านเป็นฝาประกนที่ขัดด้วยไม้ระแนงที่เหลากลมจากไม้ไผ่ กำลังผุพัง คาดว่าอาจจะรักษารูปแบบบ้านไทยพวนไว้อย่างเดิมหรืออาจจะตีฝาไม้แทน ซึ่งก็คงน่าเสียดายเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมการสร้างบ้านเรือนไทยของไทยพวน

นายสมศักดิ์ ภูรีศรีศักดดิ์ รมว.กกท.รับการผูกข้อมือ

                        สุดท้าย สองรายการที่น่าจะจัดการให้สุดอลังการอย่างมืออาชีพ นั่นคือวัฒนธรรมการบายศรีสู่ขวัญ และวัฒนธรรมการหาบสำรับกับข้าวคาวหวานให้แขกเหรื่อที่มาเยือน กล่าวคือ   

สู่ขวัญ

                        พิธีบายศรีสู่ขวัญควรจัดที่ลานโล่งแจ้ง ตกแต่งบายศรีให้อลังการ ประดับด้วยกระดาษสี พวงมะโหดระย้า หมอทำขวัญจะเป็นหญิงหรือชายได้ทั้งนั้น พี่น้องไทยพวนชายหญิงก็ตามแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างไทยพวน ประกบนักท่องเที่ยวตัวต่อตัว

ผ้าถุงของหญิงไทยวนสวยหลายลาย

                        เมื่อการสวดหรือการทำขวัญจบแล้วก็ให้ต่างคู่มัดด้ายสายสิญน์ที่ข้อมือแขกเหรื่อผู้มาเยือน แล้วต่างก็ยกมือไหว้ตอบกัน ถ้าผมเป็นผู้มาเยือน ผมประทับใจในวัฒนธรรมการบายศรีสู่ขวัญแน่นอน ผมจะปล่อยให้สายสิญน์ติดตัวกลับไปบ้าน เราะเป็นมงคลชีวิตชิ้นหนึ่งที่ได้รับมา ภาพที่ออกมาขณะทำพิธีดังกล่าวงดงามมะลังมะเลืองก็แล้วกัน

นายธวัชชัย อรัญญิก รองผู้ว่าการ ททท.

                         โดยเฉพาะวัฒนธรรมการหาบส่งสำรับกับข้าวคาวหวานของพี่น้องไทยพวนนั้น งดงามอย่างหาที่เปรียบมิได้ ไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน ถ้าจัดขบวนแห่หาบเข้ามายังหน้างานอย่างมืออาชีพ หญิงที่แต่งชุดไทยพวนหลากสีสัน สวยอลังการ

ชุดประจำของหญิงไทยพวน หาบสำรับกับข้าวคาวหวาน

                        หญิงหนึ่งหาบสำรับกับข้าวคาวหวานด้วยไหล่ของเธอ มือหนึ่งต้องจับคานหาบ ถาดสำรับที่ใส่”สาแหรก” แต่อีกมือหนึ่งเธอหิ้ว”ขันข้าว”มาด้วย แต่งคานหาบ สาแหรก และเครื่องหิ้วขันข้าวให้สวยตระการตา ตอนคราไคลให้มีแสงสาดส่อง สวยจับใจ

                         ตอนสำคัญเมื่อเธอหาบถึงแขกเหรื่อกลุ่มใด แขกเหรื่อต้องช่วยเธอรับขันข้าวมาก่อน แล้วค่อยๆบรรจงยกสำรับออกจากสาแหรก แล้วส่งกลับคืนให้เธอด้วยการยกมือไหว้ขอบพระคุณ แน่นอนเธอเหลือแต่สำรับเปล่าๆ ยกมือรับไหว้ได้สวยงาม

                         อาหารพื้นบ้านที่หากินตามปกติของพี่น้องไทยพวนอันเป็นวัฒนธรรมเรื่องอาหารการกินปกติ เช่นผักสดผักลวกจิ้มน้ำพริกสารพัดชนิด  แกล้มด้วยปลาทอดหอมๆ แกงป่าผักรวมเผ็ดตามวัฒนธรรมไทยพวน และสุดยอดปลาร้าทรงเครื่อง โฮกฮือ

วัฒนธรรมการหาบสำรับส่งแขกเหรื่อ

                        ระหว่างดื่มกินอาหารหวานคาว เสียงพิณประกอบแคนดังเคล้าคลอ แม้ไม่มีเสียงเพลงขับขานประกอบ แต่ก็ได้บรรยากาศของวัฒนธรรมการแสดงและศิลปะการดนตรีพี่น้องไทยพวน  เสียงแคนแล่นแต้ๆนั้นฟังแล้วมีทั้งเศร้าโศก สนุกสนาน หวานซึ้ง โววๆ

                       ก่อนจากลา เปิดเวทีให้แขกเหรื่อออกมารำวง แต่ถ้าให้มันต้องลำเพลิน ลำซิ่งไปกับเสียงแคนที่เป่า โหวดที่ถุย และพิณที่ดีดเคล้าเสียงกันจนไพเราะเหลือใจ  แน่นอนว่าพี่น้องไทยพวนมีประเพณีกำฟ้ามาฟ้อนให้ได้ชมกัน เป็นแบบอย่างเฉพาะของประเพณีหนึ่ง

                      บ้านโพธิ์ศรี อยู่ที่หมู่ 3 ตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี วัดโพธิ์ศรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 10 ไร่ 34 ตารางวา อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 10 เมตร ยาว 26 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2470 ศาลาการเปรียญ กว้าง 14 เมตร ยาว 26 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2484

เปรมเขาและเธอ

                       กุฏิสงฆ์ จำนวน 10 หลัง ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 14 เมตร ยาว 26 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2543 ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 1 หลัง ปูชนียวัตถุมี พระประธานประจำอุโบสถ วัดโพธิ์ศรี ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2335 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2469 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 10 เมตร ยาว 26 เมตร

ขนมใส่ไส้ห่อใบตอง

                        การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือรูปที่ 1 พระหลำ รูปที่ 2 พระครูโสภณสุตกิจ รูปที่ 3 พระครูสิริโพธารักษ์ พ.ศ. 2519-ปัจจุบัน การศึกษามีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2500

หัตถกรรม

ดูซิ สวยไหม

Tags : เที่ยวตลาดคลองสวน

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view