สืบสานประเพณี
ตากธรรม ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า วรรณกรรมธรรมล้านนาเมืองแพร่
โดย สุเทพ ช่วยปัญญา เรื่อง-ภาพ
ตากธรรม ประเพณีนี้ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย ตานข้าวใหม่กับหิงไฟพระเจ้า ก็ยิ่งไปกันใหญ่คือไม่รู้จักอย่างสิ้นเชิง เมื่อมีโอกาสได้ไปก็อยากไป สืบสานประเพณี ตากธรรม ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า อนุรักษ์วรรณกรรมธรรม ใบลานล้านนาเมืองแพร่ ให้เห็นกับตาว่าจะเป็นอย่างไร
งานนี้ต้องไปรถทัวร์ครับ ก็ดีไม่ได้นั่งรถทัวร์มานานแล้วเหมือนกัน ถึงเวลานัดหมายประมาณสามทุ่มที่ขนส่งหมอชิตใหม่ คณะเดินทางครั้งนี้เป็นกรุ๊ปเล็กๆแค่ห้าคนเท่านั้น ทุกคนมาตามนัดบัสโฮเตสให้การต้อนรับด้วยรอยยิ้มหวาน ทำป้ายติดกระเป๋าเดินทางให้เรียบร้อยพร้อมกับบอกว่า “รถทัวร์ออกสี่ทุ่มนะคะ” ผู้โดยเกือบเต็มคันนั่งประจำเลขที่นั่งของตนเอง เบาะปรับเอนนอนได้พอสบาย รถทัวร์ออกตรงเวลามุ่งหน้าไปตามเส้นทางสายเหนือ หลับๆตื่นๆอยู่หลายรอบ รถจอดพักทานข้าวต้มที่นครสวรรค์ ผมไม่ทานขอนอนต่อมารู้สึกตัวอีกที รถก็มาจอดที่สถานีขนส่งจังหวัดแพร่แล้ว
วัดพระธาตุดอยเล็งจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกที่สวยงามของเมืองแพร่
เอากระเป๋าเข้าห้องล้างหน้าล้างตาเรียบร้อย เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาก็เดินทางต่อกันเลยครับ มาถึงวัดพระธาตุดอยเล็งฟ้ายังไม่สว่าง เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ดูพระอาทิตย์ขึ้นบนยอดดอยเล็ง พระธาตุดอยเล็งอยู่ห่างจากพระธาตุช่อแฮ ประมาณ 3 กิโลเมตร สร้างเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันต่อๆมาว่า เกิดมาก็เห็นพระธาตุทั้ง 3 คือพระธาตุช่อแฮ พระธาตุจอมแจ้ง พระธาตุดอยเล็ง มีอยู่แล้วและองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาที่สามพระธาตุนี้ด้วย ปัจจุบันมีการบูรณะพระธาตุให้ กว้าง 5 เมตร สูง 11 เมตร ส่วนด้านหลังก็ยังมีการสร้างโบสถ์ขึ้นใหม่อยู่
ประเพณีขึ้นธาตุดอยเล็งจะมีพร้อมประเพณีขึ้นธาตุช่อแฮ เพื่อระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จุดชมวิวบนดอยเล็งสามารถมองเห็น พระธาตุช่อแฮตั้งเด่นสง่าสวยงามมาก ผมมายืนที่จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นด้วยความวิตก เพราะดูเวลาก็ปาเข้าไปเจ็ดโมงเช้าแล้ว ยังไม่มีแววของดวงอาทิตย์เลย และโชคก็เข้าข้างพวกเราครับ แสงสีส้มค่อยๆเคลื่อนโผล่พ้นก้อนเมฆออกมา เป็นภาพที่สวยงามจริงๆครับ สมกับการตั้งตารอคอยยิ่งนัก
วัดพระธาตุถิ่นแถนหลวง พระธาตุช้างล้อมแห่งล้านนา
ลงจากพระดอยเล็งแวะอาบน้ำทานข้าวเช้าที่โรงแรมให้อิ่มท้องก่อน จึงเดินทางต่อไปที่วัดพระธาตุถิ่นแถนหลวง พระธาตุช้างล้อมแห่งล้านนา ตั้งอยู่ในหมู่บ้านไทลื้อที่อพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนาทางตอนใต้ของจีน ต.บ้านถิ่น อ.เมือง
พระอุโบสถสี่ขาวทั้งหลังช่อฟ้าใบระกาประดับด้วยหงษ์สีขาวเช่นกัน หน้าพระอุโบสถมีบันไดนาคสามเศียรเพื่อขึ้นไปสู่ตัวพระธาตุ พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยมแบบล้านนา ตัวองค์ระฆังทรงแปดเหลี่ยม บัลลังก์ย่อมุมไม้สิบสอง ปล้องไฉนทรงกลม รองรับด้วยฐานสี่เหลี่ยมล้อมด้วยช้างประดับลวดลายปูนปั่นสวยงาม ทุกๆเช้าพ่ออุ้ยแม่อุ้ยที่ยังคงแต่งตัวแบบไทลื้อ จะพากันมาช่วยกันทำความสะอาดพระที่ชาวบ้านนำมาถวายวัด ชาวไทลื้อชอบที่จะสร้างพระไม้มาถวายวัดในโอกาสงานบุญต่างๆ
ล่องเรือลัดเลาะริมอ่างแม่ถาง
เลยเที่ยงมาได้พักใหญ่ก็มาถึงอ่างเก็บน้ำแม่ถาง เราทานอาหารกลางวันกันที่แพโชควิชัย เมนูปลาล้วนๆปลานิล ปลากดคัง ปลาบึก ลวก ทอด ต้มยำ มีให้ทานครบรสชาติหายห่วงอร่อยทุกเมนู อ่างเก็บน้ำแม่ถางเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เก็บกักน้ำ 30.60 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างแล้วเสร็จในปี 2538 ตั้งอยู่ที่ ต. บ้านเวียง ต. น้ำเลา อ. ร้องกวาง
อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภค ชาวบ้านใช้เลี้ยงปลาในกระชัง และสุดท้ายเป็นแหล่งท่องเที่ยว หลังอาหารเที่ยงเราได้ล่องเรือลัดเลาะริมอ่างแม่ถางเรือ ชมธรรมชาติในอ่างเก็บน้ำ ดูวิถีชาวบ้านเลี้ยงปลาในกระชัง เหวียงเบ็ดตกปลา ถ้ามาแบบครอบครัวกลุ่มใหญ่ก็มีแพขนาดใหญ่ ให้เช่าเพื่อพักผ่อนล่องชมธรรมชาติกันด้วยครับ
วัดสูงเม่นต้นกำเนิดสืบสานประเพณีตากธรรม
ครูบากัญจนอรัญญวาสี พระมหาเถระชาวสูงเม่น เป็นผู้ริเริ่มจัดประเพณีตากธรรมขึ้นมากว่าสองร้อยปีแล้ว ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ของทางล้านนา หรือสี่เป็งของทุกปี เพื่อเป็นการตรวจสอบสภาพคัมภีร์ใบลาน นำคัมภีร์ธรรมมาตากแดด ตรวจชำระ หรือจารขึ้นมาใหม่ มีการแห่คัมภีร์ธรรมเข้าวัด แล้วเวียนประทักษิณรอบอุโบสถ จากนั้นก็ถวายคัมภีร์ธรรมคืนให้แก่เจ้าอาวาส เพื่อนำไปเก็บรวบรวมและจัดหมวดหมู่คัมภีร์ธรรมใหม่ เสร็จแล้วก็เก็บรักษาไว้ในตู้คัมภีร์บนหอไตร สุดท้ายก็จะแสดงธรรมเทศนา ผู้มารวมพิธีจะได้กุศลและอานิสงส์อันยิ่งใหญ่
ถึงวัดสูงเม่นประมาณบ่ายสามโมง ขบวนแห่ สืบสานประเพณีตากธรรมเริ่มทยอยเดินเข้ามาในวัดสูงเม่น โดยนายอภิชาต โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ให้เกียรติมาเป็นประธานในงาน ขบวนแห่คัมภีร์ ขบวนบายศรี ขบวนไทลื้อ และอีกหลายขบวนรวมแล้วยาวมาก กว่าจะเข้ามาในวัดครบหมดกินเวลาเกือบชั่วโมง มีแม่อุ้ยนุ่งขาวห่มโปรยดอกไม้ นางรำฟ้อนรำสวยงาม ป่อชายตีกลองสะบัดชัยให้การต้อนรับ เป็นภาพที่สวยงามประทับใจที่หาดูได้ที่วัดสูงเม่น และมีที่เดียวในประเทศไทย
วัดพระธาตุช่อแฮพระอารามหลวง
เช้านี้มีโปรแกรมต้องไปไหวพระธาตุช่อแฮกัน ออกจากที่พักกันสายหน่อย เมื่อคืนกว่าจะได้นอนก็ปาเข้าไปเกือบเที่ยงคืน หลังจากเสร็จพิธีทานข้าวเข้าที่พักอาบน้ำ ล้มตัวลงนอนด้วยความอ่อนเพลีย แต่ก็คุ้มครับเพราะได้รับบุญกันมาเต็มๆอย่างทั่วหน้า
วัดพระธาตุช่อแฮพระอารามหลวง ตั้งอยู่ในตำบลช่อแฮ ห่างจากตัวเมืองแพร่ประมาณ
ภายในพระธาตุประดิษฐานพระเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า ใครมาเมืองแพร่ก็ต้องมากราบไหว้ เพราะเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองแพร่ และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีขาล ยิ่งผมเกิดปีขาลด้วยแล้วต้องหาเวลามาไหว้ให้ทุกปีตลอดไป
วัดพระธาตุจอมแจ้ง
ออกจากวัดพระธาตุช่อแฮแล้วไปต่อกันที่วัดพระจอมแจ้ง อยู่ห่างจากวัดพระธาตุช่อแฮ ประมาณ 2 กม. เป็นวัดที่สวยงามวัดหนึ่งของเมืองแพร่ พระธาตุทรงแปดเหลี่ยมศิลปะล้านนามีทองเหลืองงามตา มีพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนปรางค์ห้ามญาติ ประทับยืนอยู่หน้าจ้องทองเหลืองฉลุลายงดงามอยู่หน้าพระธาตุ ด้านหน้ามีสิงห์คู่ทรงเครื่องคอยอารักขาอยู่
วัดพระธาตุจอมแจ้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลช่อแฮ อำเภอเมือง มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นธาตุที่บรรจุพระเกศาธาตุสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1331 เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญรองจากวัดพระธาตุช่อแฮ นักท่องเที่ยวที่มาไหว้พระธาตุช่อแฮแล้ว ก็ต้องเลยมาไหว้พระธาตุจอมแจ้งด้วยเพราะอยู่ใกล้กัน มีงานประเพณีไหว้สาพระธาตุจอมแจ้ง มนัสการองค์พระธาตุทุกปี ในวันขึ้น 13 ค่ำ- 15 ค่ำ เดือน 3 ใต้ เดือน 5 ของทางภาคเหนือ
แพะเมืองผี เสาหินทรายในป่าละเมาะ
พักเติมพลังด้วยข้าวเหนียวไก่ย่างส้มตำในมื้อกลางวันแล้ว ก็เดินทางมาที่แพะเมืองผี เสาหินทรายในป่าละเมาะ จากที่จอดรถเดินเข้าไปไม่ทันเหงื่อออกก็เห็นหน้าผาสูงและเสาหินทราย 3 ต้น สีแหลืองอมแดงตั้งอยู่ ชั่งน่าอัศจรรย์ธรรมชาติสร้างสรรค์ความแปลกตาได้ถึงเพียงนี้ วันไหนท้องฟ้าแจ่มใส เสาหินทรายสีเหลืองแดงตัดท้องฟ้าสีคราม ดูสวยงามมากครับบอกตรงๆ
แพะเมืองผี เสาหินทรายในป่าละเมาะ ตั้งอยู่ระหว่างตำบลทุ่งโฮ้ง และตำบลน้ำชำ อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมือง 15 กิโลเมตร มีลำธารสายเล็กๆ ไหลผ่าน ในสมัยโบราณเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านให้ความนับถือมาก แพะเมืองผี แพะ หมายถึง ป่าละเมาะ เมืองผี หมายถึง ความเงียบเหงาเหมือนเมืองผี เสาเมโร หมายถึง เสารูปเหมือนปราสาทศพผู้ตายทางภาคเหนือ
ผ้าหม้อห้อมบ้านทุ่งโฮ้ง แหล่งผลิตเสื้อผ้าหม้อห้อมของเมืองแพร่
ปิดท้ายของทริปนี้ด้วยมาชมการผลิตเสื้อผ้าหม้อห้อมบ้านทุ่งโฮ้ง อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ
ผ้าหม้อห้อมบ้านทุ่งโฮ้ง แหล่งผลิตเสื้อผ้าหม้อห้อมชั้นดีของเมืองแพร่ เป็นเอกลักษณ์คนเมืองแพร่ที่นิยมแต่งตัวด้วยเสื้อหม้อห้อม ใครมาที่นี่ก็ต้องซื้อเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับไปเสมอ เพราะมีคุณภาพดีสีอ่อนลงเรื่อยๆ ไม่หด ลวดลายสวยงามแบบดั่งเดิม และแบบทันสมัยกว่าแต่ก่อนมาก มาแล้วไม่ซื้อกลับไปถือว่ามาไม่ถึงเมืองแพร่ครับ
ถึงเวลาก็ต้องลาก่อนสำหรับทริปนี้ 3 วัน 2 คืน อันสวยงามน่าทรงจำ ได้มาสืบสานประเพณี ตากธรรม ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า วรรณกรรมธรรมล้านนาเมืองแพร่ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนก็ได้เห็น สัมผัสธรรมชาติน่าตื่นตาตื่นใจ ทานอาหารเหนืออร่อยถูกปาก เรียนรู้วัฒนธรรมพื้นถิ่น ไหว้พระธาตุเพิ่มบุญ ต้องมาสัมผัสให้เห็นกับตาใครมีโอกาสเชิญครับ คนเมืองแพร่ยินดีต้อนรับเสมอ
ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานแพร่ สนับสนุนการเดินทาง