ผีตาโขน......วันนี้
โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ
เมื่อ 4 ปีก่อน ผมเคยไปชมประเพณีแห่ผีตาโขนที่ด่านซ้าย เมืองเลยมาแล้ว แต่ปีนี้โชคดีได้ไปอีกครั้ง โดยเจ้าภาพเจ้าเดิม คุณไตรเทพ ไกรงู นสพ.คมชัดลึก หน้าพระเครื่อง สองเราเดินทางด้วยรถจี๊บรุ่นเก่าๆแต่แต่งสวย วิ่งได้เร็วไม่เกิน 80 กม.ต่อชั่วโมง
“ปลอดภัยครับ วิ่งเร็วกว่านี้ไม่ได้ 555”
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงนั่งสบายๆไปอย่างเดียวตั้งแต่ 09.00 น. กว่าจะถึงอำเภอด่านซ้ายเมืองเลยก็ค่ำพอดี 19.10 น. ก็ได้บรรยากาศการเดินทางไปอีกแบบหนึ่ง เจออะไรตรงไหนสวยหรือมีความหมายที่ดีก็หยุดลงไปทำกิจกรรมบันทึกภาพกันตามสบาย ไม่เร่งร้อนจนเสี่ยง ไม่เกี่ยงเวลาถึงที่หมาย
เวทีกลางผีตาโขน
โยนกระเป๋าเสื้อผ้าในบ้านพักแรมแล้วก็ออกไปเก็บภาพบรรยากาศยามค่ำของงานผีตาโขน(10 กค.56) ได้ภาพมาฝากจากกล้องดิจิตอลเล็กๆ เล่าเรื่องราวได้ว่า ยามค่ำคืนนั้น มีผู้คนเดินไปมาตลอดถนนสายหลักที่จัดงาน พบเห็นอะไรแปลกตาหรือสื่อถึงผีตาโขนก็ถ่ายภาพไว้ ผู้คนที่เห็นเดินไปมานั้นเป็นคนรุ่นหนุ่มสาวๆมากกว่ารุ่นแรกแย้มฝาโลง เป็นคนท้องถิ่นมากกว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่ปีนี้มีฝรั่งมาเที่ยวมากขึ้น
มีสื่อมวลชนทั้งจากภายในประเทศและจากต่างประเทศแบกกล้องจ้องถ่ายกันทั่วไป มีผีเดินเกลื่อนกล่นเหมือนว่ายังไม่อยากลงหลุม(บ้าน) มีอาหารสารพัดรูปแบบให้หากินเล่นๆได้ มีถนนผีคนเดินให้เข้าไปสัมผัส มีวงดนตรีเร้าใจให้นั่งฟังแต่ส่วนใหญ่นั่งไม่ติด เต้นเด้งหน้าแอ่นหลัง เป็นคืนหนึ่งซึ่งดูมีความสุขสนุกสนาน เป็นอีกบรรยากาศยามราตรีผีตาโขนด่านซ้าย
หมากกะแหล่งที่ระลึก
ร้านรวงสองข้างทาง นำเสนอสินค้าที่เป็นผลพวงของการท่องเที่ยวประเพณีผีตาโขน เช่นมีร้านขายหมากกระแหล่ง(กะดึงไม้กระดึงโลหะ) ที่ผีผูกเอวให้เกิดเสียงดังตอนเดิน มีหัวผีตาโขนขายให้นักท่องเที่ยวซื้อหาไปเป็นของที่ระลึกหรือใส่ไปเต้นกับเขาก็ได้ มีหัวโขนเล็กๆจนถึงจิ๋วขายให้เก็บไปตั้งในตู้โชว์ และมีเสื้อผ้าซิ้ลสกรีนรูปผีตาโขนสวยงามวางขายเกลื่อน
ผมเดินถ่ายรูปจนสุดถนน ผ่านเวทีผีตาโขนหลัก ผีเต้นกับคนอยู่หน้าเวที ช่างน่าสนุกจริงๆ ถ้าเป็นเมื่อ 35 ปีก่อน ผมคงลงไปร่วมเต้นด้วยแน่นอน ผมน่ะรุ่นเพลงซันตาน่ากำลังฮิตนะครับ เขย่าจนตัวเกร็งก็แล้วกัน แต่ตอนนี้เวลามันล่วงเลยมาไกลซะแล้ว 65 ปีชักไม่ไหว ฮา
ได้เวลาเดินทางกลับไปพักแรมคืน บนบ้านพักเชิงดอยสูง 400 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หลังเที่ยงคืนอากาศเย็นจนต้องดึงผ้าห่มมาห่มกาย ใช่แล้ว อุณหภูมิลดเหลือ 24 องศาซี
หลังเปิดสปอตไลท์ ได้ภาพอย่างนี้ พระธาตุศรีสองรัก
ตี 5.10น.(11 กค.56) ผมตื่นแล้วปลุกคุณไตรเทพให้ขับรถพาไปถ่ายพระธาตุศรีสองรัก โดยมีคุณเกศรา คำเกษม อดีตบรรณาธิการสำนักพิมพ์เม็ดทรายและร้านพักเพลินจัง3 เป็นผู้ช่วยประสานให้ขึ้นไปถ่ายภาพยามเช้ามืดได้ ได้เวลาแสงทไวไลท์มาถึงพอดี ท้องฟ้าเป็นสีน้ำเงิน ผมขอให้เจ้าหน้าที่เปิดไฟสปอตไลท์ จึงได้ภาพแตกต่างไปอีกนิด การถ่ายแสงทไวไลท์พระธาตุศรีสองรักนี้ เพิ่งจะมีโอกาสปีนี้ครับ ทุกครั้งที่มากราบพระธาตุก็มาตอนกลางวันทุกคราว
พระธาตุศรีสองรักในแสงสีน้ำเงินยามเช้ามืด
เช้าแล้ว กราบพระธาตุศรีสองรักแล้ว ก็แจวซิครับ ไปหารับประทานไก่ย่าง ส้มตำ ตรงข้ามธนาคารกรุงไทยใกล้สี่แยกถนนผีตาโขนพอดี ผมไปครั้งนี้ได้พบ คุณสุรศักดิ์-ราณี นัยสุดใจ แห่งทัวร์วัยทอง เพื่อนเก่าสื่อมวลชนเก่า เดินทางมาสมทบด้วย บนโต๊ะอาหาร คุณสุรศักดิ์เล่าว่า
“รีสอร์ทเมื่อคืนนี้แพงกว่าเดิมในช่วงไฮซีซั่นมาก ราคาเดิม 600 บาท ขึ้นเป็น 2000 บาท น่าคิดนะครับว่า มากไปไหม การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต้องรวมถึงเรื่องที่พักด้วยไหม”
น่าคิดนะครับพี่น้อง แต่ผมและคุณไตรเทพนอนบ้านเพื่อนเกศ แฮ่ ฟรี แฮ่ๆๆ
บรรยากาศเช้าๆวันแห่
แล้วเราก็แยกกันไปทำงานตามหน้าที่ ไปถ่ายบรรยากาศยามเช้า ถ่ายร้านค้าที่เปิดขายอุปกรณ์ผีตาโขนต่างๆ ได้ภาพผู้คนที่แต่งตัวเตรียมแปลงร่างเป็นผี มีทั้งวัยเด็กๆกำลังน่ารัก และมีทั้งวัยรุ่นกำลังน่าชม แต่ไม่มีวัยทองหรือวัยไม้ใกล้ฝั่ง คุณจารุวรรณ คำเกษม ยืนยันในหนังสือชื่อ ผีตาโขนเล่าเรื่อง เล่มเล็กๆกะทัดรัด รูปหน้าปกเด่น แล้วผมก็พบว่าจริง ไม่มีเลย
แขกต่างชาติมีมากเชียว
ลูกกตัญญู พาคุณแม่มาชม
มีอยู่คนหนึ่ง ผมพบเขาร่วมขบวนเดินไปมาปะปนกับผีเกๆและนางงามสวยๆ เขาแต่งองค์ทรงเครื่องแตกต่างไปจากผีเด็กๆทั้งปวง เขาแต่งตัวด้วยสีสันสวยงาม เห็นแล้วอลังการ โปรดดูภาพของเขานะครับ ผมตั้งใจเอามาอวดจริงๆ เขาเป็นคนเดียวที่เดินตุรัดตุเหร่ในฝูงผี ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกเขาเป็นผีตาโขนหรือผีอะไร ผมถ่ายรูปเขาปุ๊บเขายื่นกระดาษให้ผมแผ่นหนึ่ง เขียนว่าสุเทพ พร้อมใบ้หวย 88-99 ซื้อทั้งบนและล่าง ฮา ไม่ถูกผมจะเรียกเขาว่าผีเปรตดีไหม
เขาละ ผีอะไรให้เลข 88-99
เสียดายที่ผมเดินทางมาไม่ทันพิธีการเบิกพระอุปคุตต์จากลำน้ำหมันตัดกับลำน้ำศอก ซึ่งทำในช่วง 04.00-05.00 น.เช้าวันโฮมหรือวันแรกของงาน ว่ากันว่าเป็นพิธีการของคณะแสนทุกคนเตรียมอุปกรณ์เช่นเสียม จอบ หอก ดาบ ฉัตร พานดอกไม้ ธูปเทียน ขัน 5 ขัน 8 (พานใส่ดอกไม้ 5 คู่ และ 8 คู่) นำขบวน
เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม
ขบวนแห่เข้าวัด
ขบวนแห่จากวัดโพนชัยไปยังลำน้ำหมัน เพื่อ “งม”(เบิก) หินสีขาวใต้ท้องน้ำอันสมมุติว่าเป็นพระอุปคุตต์ เมื่อได้พระอุปคุตต์แล้วก็แห่กลับวัด ตอนนี้แหละที่จะมีการจุดพลุ ประทัด ส่งเสียงบอกกล่าวว่า ได้พระอุปคุตต์แล้ว บรรดาผีตาโขนทั้งหลายก็จะกรูกันออกมาห้อมล้อมแล้วขบวนแห่ก็มุ่งหน้ากลับวัด วนรอบโบสถ์ 3 รอบ นำพระอุปคุตต์ไปใส่หาบบูชาในหอพระอุปคุตต์ (จารุวรรณ คำเกษม ผีตาโขนเล่าเรื่อง) วัดโพนชัย
เช้ามีขบวนแห่เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมผ่านมา เหล่านางฟ้าเทวดาร่ายรำนำขบวนเสลี่ยง(คานหาม) เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมแยกเสลี่ยงกันนั่ง เป็นองค์ประกอบสำคัญของการละเล่นผีตาโขน ด้วยว่า งานผีตาโขนนั้นจะละเล่นกันเฉพาะในงานบุญหลวง ฮีตเดือนเจ็ดเท่านั้น ได้แก่วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 7 ทุกปีไป
พระประธานในโบสถ์วัดโพนชัย
แต่ปีนี้ เจ้ากวนได้เปิดงานเมื่อวันขึ้น 3-4-5 ค่ำเดือน 8 ตรงกับวันที่ 10-11-12 กรกฎาคม 2556 แตกต่างออกไปจากประเพณีดั้งเดิม ในขบวนแห่เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมนอกจากเหล่านางฟ้าเทวดาแล้วก็มีผีตาโขนใหญ่ ชายหนึ่งหญิงหนึ่ง (ดูที่อวัยวะเพศ) ตามด้วยขบวนผีตาโขนเล็ก หลากสีสัน จุดสิ้นสุดขบวนคือวนรอบโบสถ์วัดโพนชัย 3 รอบแล้วสิ้นสุดการแห่แหน กลางคืนมีการจุดบั้งไฟ และมีเทศมหาชาติ 13 กัณฑ์
คุณพัฒน์มาศ วงศ์พัฒนสิริ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ความกระจ่างว่า
"ปีนี้ มีเดือน 8 สองหน เจ้าทรงได้ปกาศิตออกมาว่าต้องจัดงานในช่วงนี้ จึงได้ผิดไปจากแต่ละปีค่ะ"
ในประเพณีที่ทำติดต่อกันมา หลังการเต้นผีตาโขนแล้ว จะนำหน้ากากผี เสื้อผ้า และกระบอง รวมถึง ปลัดขิกทาหัวสีแดงๆ ไปทิ้งลงแม่น้ำหมัน เป็นการทำให้พ้นจากเสนียดจังไร โพยภัยพ้นตัว แต่ในภายหลังนี้ ได้เกิดความหมายใหม่ครับ การเก็บหัวผีตาโขนและกระบอง ปลัดขิก ไว้เป็นที่ระลึกแทน ใช่เลย วาดเสียสวย แต่งเสียงาม เอาไปโยนน้ำ น่าเสียดายจริงๆ แม้ว่าจะไม่นำกลับมาเล่นอีก แต่การสะสมไว้น่าจะมีค่าควรทำ
บนเวทีผีตาโขน มีการประกวดเยาวชนผีตาโขนจากหลายๆโรงเรียน ตัวเล็กๆน่ารัก และมีทั้งชายและหญิง เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งซึ่งช่วยให้การสืบสานประเพณีผีตาโขนยั่งยืน เพราะว่าเด็กนักเรียน 6-7 ขวบวันนี้คือ นักเรียน 14-15 ปีในวันหน้า นี่คือการเชื่อมต่อประเพณีดีงามจากรุ่นสู่รุ่น และนับวันจะยิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นๆ
จากอดีต ครูอภิชาติ คำเกษม ได้ลงลวดลายไทยในหน้ากากผีตาโขนเป็นคนแรกแล้ว ยังได้ลงในเสื้อเพื่อเป็นของที่ระลึก และลงด้วยสีถึง 7 สี นั่นคือต้องทำงานถึง 7 รอบ กว่าเสื้อผีตาโขนของครูอภิชาตจะเสร็จสักตัวหนึ่ง เป็นงานทำมือที่ประณีตบรรจงเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังจารในถ้วยกาแฟ เซรามิค อีกด้วย
เสื้อผีตาโขน 7 สี สกรีน 7 ครั้ง แน่นปึ้ก
วันนี้ สืบเนื่องมาแต่งานผีตาโขน ทำให้เกิดการวิวัฒนาการไปไกล เกิดศิลปินท้องถิ่นมากมายหลายเจ้า ทั้งสร้างหัวผีและลงลาย มีสินค้าอันเนื่องมาจากประเพณีผีตาโขนช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวด่านซ้าย จนกลายเป็นสัญลักษณ์ หนึ่งของจังหวัดเลย ถ้าเอ่ยคำว่าผีตาโขนคนรู้เลยว่าเป็นจังหวัดเลย และลงลึกไปจนถึงรู้ด้วยว่า ต้องอำเภอด่านซ้าย เมืองแห่งขุนเขา อากาศบริสุทธิ์และงดงาม
บ่ายแก่ๆ เราเดินทางไปที่ร้านพักเพลินจัง 3 ของเพื่อนเกศ ได้เห็นสินค้าที่ถักทอด้วยมือ ได้เห็นความแปลกใหม่ให้สัมผัส ได้เห็นวิถีชีวิตเพื่อนแสนเรียบง่าย ลาแล้วเมืองกรุงเมืองแห่งความศิวิไลซ์ กลับคืนสู่อ้อมกกอดของขุนเขาบ้านเกิดแสนอบอุ่น ได้ใช้เวลาในการถักทอแล้ววางจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว ร้านนี้ตั้งอยู่ท้ายสุดล็อกของพระธาตุศรีสองรัก นะครับ
คุณเกศ อดีตบก.สำนักพิมพ์เม็ดทราย สุขกับการถักทอ
ผมได้รับโทรศัพท์จากบ้าน จึงต้องเดินทางกลับ ทำให้คุณไตรเทพต้องขับรถไปส่งถึงที่หมายปลายทาง เย็นแล้ว แต่กะกันว่าไปหาขนมจีนกินแถวๆหล่มเก่าแล้วกัน รถจี๊บห้อตะบึงด้วยแรงขับเคลื่อนขึ้นเขาสูง 720 เมตรจากน้ำทะเลปานกลาง เป็นถนนช่วงสูงสุดก่อนโผล่พ้นไปจากหุบเขาเมืองด่านซ้าย ผมไม่อยากเหลียวกลับไปมองเมืองที่ไม่อยากจากลา
คุณยายนี่ไม่ได้แต่งผี เลยเต้นแหลก
รถวิ่งลงมาถึงช่วงโค้งถนน มีหมาตายอยู่กลางถนน คุณไตรเทพวิ่งเลยไปแล้วบอกผมว่า ขอเวลาฝังหมาตายก่อนนะ แล้วก็เลี้ยวกลับไปจอดริมถนน (สูง 550 เมตร) เขาคว้าเสียมประจำรถลงไปขุดหลุมจนไความลึกตามต้องการ ก็ใช้ถุงพลาสติกจับขาหมาแล้วโยนลงหลุม กลบฝังแล้วก็กลับมาขับรถต่อ ด้วยท่าทางมั่นใจ
“เดินทางปลอดภัยแล้ว วิญญาณเขาจะนำทางเราให้”
คนฝังหมา นี่แหละเพื่อนผม
เขาเล่าว่า เขาพบหมาตายกลางถนนและฝังมาแล้วกว่า 100 ศพ ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้เขาเดินทางปลอดภัย รถเขาไปจอดที่ไหนจะมีหมามานอนอยู่ใต้ท้องรถเสมอ เขาเล่าว่า มีอยู่สองครั้งที่เขาฝังหมาไม่สำเร็จ ครั้งที่หนึ่งที่สี่แยกสุพรรณบุรี หมาตายตัวใหญ่มาก เขาเตรียมกระสอบไปใส่ด้วย หลังจากขุดหลุมเป็นชั่วโมง แล้วพยายามใส่หมาลงกระสอบแต่ใส่ไม่เข้า มันอืดจนล้นกระสอบ ประกอบกับตายมาหลายวันแล้ว จึงตัดใจไม่ทำต่อ
ค่ำคืนสนุกสนาน วันผีตาโขนด่านซ้าย
สุดพรรณนา
ครั้งที่สองเขาไปกับคนขับรถสำนักพิมพ์ สั่งว่าถ้าพบหมาตายให้บอกเขาจะไปขุดหลุมฝัง แล้วจะตบรางวัลให้ตัวละ 100 บาท ทันใดรถวิ่งเลยหมาตาย ต้องไปกลับรถ 5 กิโลเมตร คนขับรถพยายามกลับไปที่หมาตายข้างถนนบนเส้นขอบถนนสีขาวๆ เขาลงไปขุดหลุมจนเสร็จ ก็สวมถุงพลาสติกเพื่อไปจับขาหมาเหวี่ยงลงหลุม พอเขาเอื้อมมือไปจะจับขาหมาตาย หมามันดันลุกขึ้นวิ่งหนีไป ชดโช้ เป็นไปได้ คนขับรถไม่ได้ตังส์และเขาก็ไม่ฝังหมา
อารมณ์แย้มกำลังอยาก
กูละเบื่อ เมื่อไหร่จะให้เต้นสักที
เรื่องยังไม่จบ เขาเผยเคล็ดลับให้ว่า ทุกครั้งที่เขาฝังหมาตายแล้วก็จะไปซื้อล็อตเตอรี่ เขาถูกแทบทุกครั้งมากบ้างน้อยบ้าง ผมฟังแล้วก็ได้แต่เอออวย ถ้าจะให้ไปช่วยฝังหมาด้วย ก็ขออำลา นอกจากไม่มีแรงขุดแล้วยังทนกลิ่นอันอบอวลไม่ไหว
ผีจมูกยาว ลวดลายแพรวพราว อะคร้าวเหลือใจ
ผีสีธงชาติ ผีสีน้ำเงิน โอ้ ศิลป์
แค่นี้ยังไม่จบ เขาเล่าต่ออีกว่า ถ้าหมาตายวันเดียว สบายมากไม่มีกลิ่นใดๆ ถ้าหมาตายสองวันแล้ว มีกลิ่นตุๆแต่กลิ่นไม่ติดเสื้อผ้าผมเผ้ามาด้วย แต่ถ้าตายสามวันไปแล้วแถมกลิ่นติดเสื้อผ้ามาด้วย และถ้าห้าวันขึ้นไป อืดจนแทบปริ จะได้กลิ่นเหม็นติดมาทั้งตัว ผมเผ้าต้องรีบไปสระ เสื้อผ้าต้องแยกซัก โอยๆๆๆๆๆ เหม็น
ผู้คนแห่แหนมาร่วมงานไม่ขาดสาย
ริมถนนรนแคม หน้าธนาคารก็ไม่เว้น เต้นๆๆๆ
ค่ำคืนนั้น กินข้าวผัดคะน้าราดข้าวจานเดียว กินมากไม่ได้ นึกถึงเรื่องหมาตายของคนฝังหมาแล้วผะอืดผะอม หลังอาหารอิ่มท้อง ผมหลับฝันดีว่ามีโชค ตั้งใจแทงล็อตเตอรี่ 77 หรือ 76 อันไม่ใช่เนื่องมาจากการฝังหมา สารคดดีนำเที่ยวชุดนี้แปลกไปละ มีเรื่องเล่าแถมด้วยความประทับใจ คนอะไรชอบฝังหมาตายกลางถนน เป็นสัจธรรมก็แล้วกัน
ผลิตหัวผี ....สยองไหม
เสื้อผีตาโขน
สีสันของคุณผีหนุ่มๆ
ศิลปินวาดลายหัวผีตาโขน