ประเพณี ตักบาตรดอกเข้าพรรษา จ.สระบุรี
มหัศจรรย์แห่งเดียวในโลก
เรื่อง –ภาพ โดย แซงค์ ชายคาตะวัน
เมื่อช่วงวันหยุดยาวเข้าพรรษา 21-23 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฝ่ายภูมิภาคภาคกลาง ให้เข้าร่วมทริปเดินทางกับ โครงการขับรถเที่ยวภาคกลาง คาราวาน “เที่ยวเข้าพรรษาภาคกลาง” เส้นทางกรุงเทพฯ-สระบุรี-พระนครศรีอยุธยา-สุพรรณบุรี
ตลอด 3 วัน 2 คืน ได้เดินทางไปทำบุญหลายที่ครับ แต่ผมจะพาทุกท่านไปชมไฮไลท์ของทริป นั่นก็คือ งานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา และถวายเทียนพระราชทาน ประจำปี 2556 ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ซึ่งเป็นงานประเพณีประจำปีหนึ่งเดียวในโลก
เริ่มด้วยบรรยากาศการเปิดงาน ที่สำนักงานใหญ่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ในเช้าวันที่ 21 กค.56 โดยมี นายสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการ ภูมิภาคภาคกลาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงาน และ นางสาวอัญชลี วัจนะรัตน์ หนง.ประสานงานสำนักงานภาคกลาง นำทริปเดินทาง
ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา เป็นประเพณีสำคัญที่อยู่คู่กับวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารมาช้านาน พี่น้องประชาชนชาวพระพุทธบาทและพื้นที่ใกล้เคียง จะถือเอาวันเข้าพรรษาของทุกปีเป็นวันตักบาตรดอกเข้าพรรษา
โดยตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา จังหวัดสระบุรีได้เพิ่มจำนวนวันตักบาตรดอกเข้าพรรษา จาก 1 วันเป็น 3 วัน ซึ่งจะมีพิธีตักบาตรดอกเข้าพรรษาวันละ 2 รอบ คือรอบเช้าและรอบบ่าย ซึ่งกิจกรรมนี้ ถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและต่าง ประเทศ เพื่อเผยแพร่อีกหนึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของประเทศไทย
เมื่อถึงวันเข้าพรรษาของทุกปี ชาวอำเภอพระพุทธบาทและบุคคลทั่วไปจะพากันไปเก็บดอกเข้าพรรษาตามไหล่เขาโพธิ ลังกา หรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุในเขตอำเภอพระพุทธบาท นำมาจัดรวมกับธูปเทียนเพื่อตักบาตรถวายพระ ซึ่งที่ทางจังหวัดสระบุรีได้จัดพิธีตักบาตรดอกเข้าพรรษาและถวายเทียนพระราช ทาน ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง
ที่พระอารามหลวงแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาท” อันศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพบูชา ซึ่งมีความเชื่อในคติชาวลังกาว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ 5 แห่ง และรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทฯ แห่งนี้ เป็น 1 ใน 5 แห่ง
ต่อมารอยพระพุทธบาทนี้ถูกค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม เมื่อพระสงฆ์ได้รับบิณฑบาตแล้วก็จะนำไปสักการะรอยพระพุทธบาท อันจะส่งผลบุญให้ผู้ทำบุญตักบาตรได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
การจัดงานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษาและถวายเทียนพระราชทาน จังหวัดสระบุรีนั้น เป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นกระทั่งมาเป็น ประเพณีของจังหวัด และปัจจุบันเป็นประเพณีระดับประเทศ และได้ชื่อว่าเป็น “ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก”
สำหรับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เป็นวันเข้าพรรษา ชาวอำเภอพระพุทธบาท จะนำดอกไม้ชนิดหนึ่งใช้ตักบาตร กระทั่งเกิดเป็นประเพณีท้องถิ่น ดอกไม้ที่นำมาใช้ตักบาตรในประเพณีนี้จึงเรียกขานกันว่า “ดอกเข้าพรรษา” หรือ “ดอกหงส์เหิน” เพราะลักษณะของดอกและเกสรประดุจดังตัวหงส์ ที่กำลังเหินบินด้วยท่วงท่าลีลาอันสง่างามนั่นเอง
หงส์เหิน (Globba winiti) เป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์ขิง เป็นไม้ดอกเมืองร้อนเกิดในป่าร้อนชื้น พบในประเทศไทย, พม่า และเวียดนาม ภายใต้ร่มเงาไม้ใหญ่หรือตามชายป่า มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น กล้วยจ๊ะก่า (ตาก), กล้วยจ๊ะก่าหลวง (ลำพูน), กล้วยเครือคำ (เชียงใหม่), ก้ามปู (พิษณุโลก), ขมิ้นผีหรือกระทือลิง (ภาคกลาง), ว่านดอกเหลือง (เลย), ดอกเข้าพรรษา (สระบุรี) เป็นต้น
เชื่อว่า “ดอกเข้าพรรษา” เมื่อนำมาตักบาตรจะได้บุญกุศลแรง และสีของกลีบประดับมีหลายสี เช่น สีเหลือง สีขาว และ สีม่วง แต่ละสีมีความเชื่อแตกต่างกันไป สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา สีเหลือง หมายถึง สีแห่งพระสงฆ์ สีม่วง เป็นสีที่หายากที่สุด และชาวอำเภอพระพุทธบาทเชื่อว่า การใส่บาตรด้วยดอกสีม่วงจะได้บุญกุศลมากที่สุด ซึ่งเมื่อพระสงฆ์ได้รับบิณฑบาตแล้ว ก็จะนำไปสักการะรอยพระพุทธบาท อันจะส่งผลบุญให้ผู้ทำบุญตักบาตรได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ดอกเข้าพรรษาหรือดอกหงส์เหิน หนึ่งปีจะออกดอกเพียงครั้งเดียวเฉพาะในช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาเท่านั้น ในท้องที่อำเภอพระพุทธบาท พบว่ามี 2 สกุล ได้แก่ สกุลกระเจียว มีดอกสีขาวหรือขาวอมชมพู และสกุลหงส์เหิน เมื่อถึงวันเข้าพรรษา คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี
ชาวอำเภอพระพุทธบาทจะพากันไปเก็บดอกเข้าพรรษามาตักบาตรถวายพระ ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และเป็นสถานที่ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาท” อันศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพบูชา