ประเพณีแห่เทียนพรรษา อุบลราชธานี
“สืบฮีตวิถีชาวอุบล ยลพุทธศิลป์ถิ่นไทยดี เยือนชุมชน คนทำเทียน”
เรื่อง/ภาพ สุเทพ ช่วยปัญญา
ฟ้าฝนเริ่มโปรยปรายลงมาไม่เว้นตาละวัน เป็นการส่งสัญญาณว่าจะย่างเข้าฤดูฝนแล้วนะ ถ้าจะเข้าหน้าฝนอย่างเต็มตัวก็ต้องผ่านช่วงเข้าพรรษาไปก่อนครับ พุทธมามกะทั้งหลายต่างตั้งตารอคอย ให้ถึงงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาเสียที จะได้มีโอกาสได้ทำบุญตักบาตรถวายข้าวสารอาหารแห้งแด่พระภิกษุสงฆ์ ไว้ใช้ในระหว่างจำพรรษา
ประเทศไทยของเราคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จึงมีการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษากันทั่วประเทศ แต่ผมจะพาไปดู “สืบฮีตวิถีชาวอุบล ยลพุทธศิลป์ถิ่นไทยดี เยือนชุมชน คนทำเทียน” ประเพณีแห่เทียนพรรษา อุบลราชธานี ที่จัดได้สืบต่อเนื่องยาวนานถึง 112 ปี ว่ายิ่งใหญ่สวยงามตระการตาเพียงใด
“เยือนชุมชน คนทำเทียน” เรียนรู้วิธีการทำเทียนของชุมชนต่างๆ
นายวิชุกร กุหลาบศรี ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี (ททท.สอบ.) ร่วมกับคุ้มวัดต่างๆในเมืองอุบลฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “เยือนชุมชน คนทำเทียน” ขึ้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 ก่อนงานแห่เทียนพรรษา 2 สัปดาห์ ต่อเนื่องมาหลายปี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการส่งเสริมงานประเพณีแห่เทียนพรรษา อุบลราชธานี ให้มีความยั่งยืนและน่าสนใจยิ่งขึ้น
เนื่องจากคนส่วนใหญ่ จะรู้จักงานแห่เทียนเฉพาะในวันแห่เทียนเท่านั้น เมื่อมีการเปิดบ้านคุ้มวัดให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิธีการทำเทียนแบบดั่งเดิม สัมผัสกับต้นเทียนที่ยังไม่ได้แกะสลัก เห็นถึงแรงศรัทธาความร่วมมือสามัคคีของคนในชุมชน เพื่อสืบสานงานศิลป์แห่เทียนพรรษาให้อยู่คู่เมืองอุบลฯตลอดไป
ศูนย์การเรียนเทียนพรรษาศรีประดู่
ศูนย์การเรียนเทียนพรรษาศรีประดู่ ตั้งอยู่ หมู่ที่ 5 ต.ในเมือง อ.เมือง มีครูสมคิด สอนอาจ ครูภูมิปัญญาไทยรุ่น 3 เป็นประธานศูนย์การเรียนเทียนพรรษาศรีประดู่ คอยให้ความรู้แก่นักเรียนและหน่วยงานต่างๆ ที่มาศึกษาวิธีการทำเทียนพรรษา ท่านก็สอนนักเรียนที่มาช่วยทำ และก็ลงมือทำเทียนพรรษาเองเสียเป็นส่วนใหญ่
ที่นี่ทำเทียนพรรษาแบบติดพิมพ์ขนาดใหญ่ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน นี่ขนาดยังไม่เสร็จยังสวยงามมาก ถ้าเสร็จสมบรูณ์จะงดงามและยิ่งใหญ่ขนาดไหนติดตามต่อไปครับ
ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดศรีประดู่
เดินต่อมาถึงวัดศรีประดู่ ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์การเรียนเทียนพรรษาศรีประดู่ไม่ไกลนัก ที่นี่ก็ทำต้นเทียนพรรษาส่งเข้าประกวดด้วยและก็เป็นประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่เหมือนกัน แต่เรื่องราวไม่เหมือนกัน ต้นเทียนพรรษาวัดศรีประดู่จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับนรกสวรรค์ ใครทำชั่วไปเป็นสัมพะเวสี แขนขายาวผิดมนุษย์ตาปูดโป ใครทำดีได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ไปเฝ้าพระอินทร์สีเขียวตั้งองค์
วิธีการทำก็ขึ้นโครงสร้างด้วยเหล็กเส้น พอกด้วยปูนปาสเตอร์ให้เป็นรูปร่างตามแบบ แล้วจึงบรรจงติดพิมพ์ที่ทำจากเทียนที่ละชิ้น จนเต็มทั้งองค์ตามที่ร่างแบบไว้ ใช้เวลา 2-3 เดือน เป็นอย่างต่ำ ตอนที่ผมไปถึงก่อนวัน 7 วัน งานยังไปไม่ถึงไหนเลยครับ จะเสร็จทันหรือเปล่าผมจะกลับมาดูอีกครั้งในวันแห่เทียนพรรษาครับ
ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดพระธาตุหนองบัว
มาดูการทำเทียนของวัดพระธาตุหนองบัวกันบ้างครับ ตั้งอยู่ที่ถนนธรรมวิถี อ.เมือง มีนายสุวัฒน์ สุทธิประภา เป็นหัวหน้าช่าง ต้นเทียนพรรษาของวัดพระธาตุหนองบัว เป็นต้นเทียนประเภทต้นเทียนแกะสลักขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้ช่างเทียนที่มีฝีมือทางด้านนี้จริงๆมาแกะสลักเทียนพรรษา ถึงจะได้ต้นเทียนและองค์ประกอบที่สวยงาม ซึ่งก็มีการแย่งตัวช่างแกะสลักเทียนกัน ให้ไปแกะสลักเทียนพรรษาในจังหวัดต่างๆ
ผมยืนดูช่างกำลังเอาแผ่นเทียน ไปนาบกับแผ่นเหล็กที่เผาไฟในเตาถ่าน เพื่อให้แผ่นเทียนให้ละลาย จากนั้นจึงนำไปแปะลงไปบนโครงร่างของต้นเทียน จนไฟลุกโชติควันไฟคลุ้งไปทั่ว เสร็จแล้วปล่อยให้เย็นลงก่อน จึงค่อยมาแกะสลักให้เป็นลวดลายสวยงาม ทีมช่างแกะสลักเทียนช่วยกันเร่งมือทั้งวันทั้งคืน เพื่อให้เสร็จทันเวลาเข้าขบวนแห่เทียนพรรษา ที่ทุ่งศรีเมืองในปีนี้
ชุมชนทำต้นเทียนพรรษาวัดทุ่งศรีเมือง
ที่วัดทุ่งศรีเมืองได้จัดทำต้นเทียนพรรษาแกะสลักขนาดเล็ก ช่างทำเทียนเทเทียนร้อนๆจากในกา ลงในพิมพ์ให้เทียนเป็นลวดลายต่างๆ ส่วนสามเณรก้มหน้าก้มตาแกะแผ่นเทียนจากพิมพ์ ตกแต่งให้ลายคมชัดสวยงาม จากนั้นส่งต่อให้ช่างอีกคน นำไปแปะลงบนตัวโครงเทียนพรรษา แล้วค่อยมาแกะสลักลวดลายอีกทีหนึ่ง ถึงจะไม่ยิ่งใหญ่เหมือนประเภทเทียนแกะสลักขนาดใหญ่ แต่ก็มีความคมสวยงามของลวดลาย ไม่แพ้ประเภทเทียนแกะสลักขนาดใหญ่ก็แล้วกัน
ชุมชนทำเทียนพรรษาอำเภอตระการพืชผล
นอกจากต้นเทียนพรรษาของวัดทุ่งศรีเมืองแล้ว ยังมีต้นเทียนของอำเภอตระการพืชผล ที่มาอยู่ที่วัดทุ่งศรีเมืองนี้ด้วย เป็นต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดเล็ก โดยมีน้องๆนักเรียนที่มาทำกิจกรรม “เยือนชุมชน คนทำเทียน” ช่วยกัน ปั๊มพิมพ์บ้าง แกะเทียนออกจากพิมพ์ คนละนิดคนละหน่อยก็ยังดี ขอให้ได้มีส่วนร่วมในงานบุญครั้งนี้เป็นใหญ่
ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดแจ้ง
ผมมาถึงชุมชนทำต้นเทียนพรรษาวัดแจ้งก็เย็นมากแล้ว คงเป็นชุมชนสุดท้ายสำหรับวันนี้ หลังจากตระเวร “เยือนชุมชน คนทำเทียน” กันมาทั้งวัน ชุมชนนี้ตั้งอยู่ที่ ถ.สรรพสิทธิ์ อ.เมือง ทำต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ ดูจะคึกคักกว่าชุมชนอื่นๆที่ผ่านมา มีช่างทำเทียนกำลังมุ่งมั่นเร่งมืออยู่บนนั่งร้านถึงสี่ห้าคน
ขั้นตอนการทำเทียนพรรษาของที่นี่มีอยู่ 4 ขั้นตอนคือ 1.การทำฐานตัวหุ่น 2.สร้างพิมพ์ลาย 3.ติดพิมพ์ที่ตัวหุ่น 4.ตกแต่งรถขบวน ณ.วันนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 3.ติดพิมพ์ที่ตัวหุ่น คุยกับช่างทำเทียนก็ให้ความมั่นใจกับผม มาว่าเสร็จทันตามแผนแน่นนอน และในปีนี้ต้นเทียนพรรษาสวยมากหวังคว้ารางวัลด้วย ยังไม่หมดครับสำหรับการ “เยือนชุมชน คนทำเทียน” ในครั้งนี้ต้องค้างคืนที่อุบลฯหนึ่งคืนครับ เหนื่อยมาทั้งวันแล้วขอตัวไปนอนก่อนครับ
ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดผาสุการาม
เช้านี้อากาศแจ่มใสฟ้าฝนเป็นใจ หลังจากทานอาหารเช้าแบบอุบลฯ ไข่กระทะ ก๋วยจั๊บญวน อิ่มแล้วก็ลุยกันต่อเลยครับ ออกมานอกเมืองมากันที่ ถนนเทศบาล 6 ต.วารินชำราบ อ.วารินชำราบ ชุมชนทำต้นเทียนพรรษาวัดผาสุการาม ทำต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ เล่าเรื่องราวพุทธประวัติ
ที่นี่ก็มีเด็กนักเรียนมาเรียนรู้การทำเทียนพรรษา เห็นน้องคนหนึ่งยืนเขียนรายงานเพื่อส่งคุณครู เป็นภาพที่น่าประทับใจผมอย่างยิ่ง เพราะตั้งแต่วันแรกที่ผมมา “เยือนชุมชน คนทำเทียน” ก็ได้เห็นเด็กนักเรียนมาเรียนรู้การทำเทียนพรรษาทุกชุมชนเลยครับ บ้างก็ช่วยแกะสลัก บ้างก็ช่วยพิมพ์เทียน มาถูกทางแล้วครับถือเป็นการปลูกฝังสร้างรากฐานทางวัฒนธรรมให้มั่นคงแข็งแรงตั้งแต่เด็กๆ
ชุมชนทำเทียนหอมพรรษาหอมวัดเมืองเดช
แล้วก็มาถึงไฮไลท์ของการมา “เยือนชุมชน คนทำเทียน” ในครั้งนี้ ชุมชนทำเทียนหอมพรรษาวัดเมืองเดช ตั้งอยู่ที่วัดเมืองเดช อ.เดชอุดม เป็นครั้งแรกที่ชุมชนทำเทียนวัดเมืองเดช ได้จัดทำเทียนหอมพรรษาเข้าแสดงในงานแห่เทียนพรรษาในครั้งนี้ด้วย เพราะปกติก็ทำแต่เทียนพรรษาแบบดั่งเดิม ที่ใช้ใบตองทำบายศรีส่งเข้าประกวด
กลิ่นเทียนหอมโชยมาเตะจมูกของผมก่อนเป็นการทักทาย ทั้งๆที่ผมยังเดินมายังไม่ถึงที่ทำต้นเทียนเลย ผมถึงกับตะลึงทั้งสวยทั้งหอม ถ้าไม่ได้มาดูให้เห็นกับตาก็คงนึกภาพไม่ออกว่าจะสวยถึงเพียงนี้ นี่ขนาดยังไม่เสร็จสมบรูณ์นะครับ ต้องมาดูวันแห่อีกที่ครับ ว่าจะสวยสมเป็นไฮไลท์ของงานหรือไม่
“สืบฮีตวิถีชาวอุบล ยลพุทธศิลป์ถิ่นไทยดี”
นายวันชัย สุทธิวรชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน“สืบฮีตวิถีชาวอุบล ยลพุทธศิลป์ถิ่นไทยดี”งานเทศกาลประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาอุบลราชธานี ประจำปี 2556 ที่บริเวณศาลหลักเมืองในวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 โดยมีนายวิชุกร กุหลาบศรี ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี มาร่วมงานด้วย ถือเป็นการเปิดงาน “สืบฮีตวิถีชาวอุบล ยลพุทธศิลป์ถิ่นไทยดี” อย่างเป็นทางการอีกด้วย หลังจากได้จัดกิจกรรม “เยือนชุมชน คนทำเทียน” มาก่อนหน้านี้แล้ว
ภายในงานก็พิธีสมโภชเทียนพรรษาพระราชทาน ถนนสายเทียน ถนนสายธรรม กิจกรรมแสดงภาพถ่าย “เยือนชุมชน คนทำเทียน” สาทิตการทำเทียน งานพาแลง ตลาดยามเย็น ย้อนยุค ร้านจำหน่ายสินค้าโอท็อป การแสดงแสง สี เสียง ม่านน้ำ โชว์เรือไฟของอาชีวะอุบลฯ เป็นต้น และชมขบวนแห่เทียนพรรษา “สืบฮีตวิถีชาวอุบล ยลพุทธศิลป์ถิ่นไทยดี”งานเทศกาลประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาอุบลราชธานี ประจำปี 2556 ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2556
ขบวนเทียนพรรษาวัดผาสุการาม
เช้ามืดวันที่ 23 กรกฎาคม 2556 ผมติดอยู่ที่โรงแรมครับเนื่องจากฝนตกหนัก ตื่นตั้งแต่ตีสี่คิดไว้ว่าจะไปถ่ายรูปต้นเทียนพรรษากันแต่เช้า เพราะคนยังไม่ค่อยเยอะ ทำอะไรไม่ได้ก็ต้องนอนต่อครับ คิดอยู่ในใจถ้าฝนไม่หยุดตกงานแห่เทียนพรรษาครั้งนี้ดูไม่จืดแน่ เก้าโมงเช้าทานอาหารเช้าเสร็จ ฝนก็ยังโปรยปรายอยู่ยังไม่มีทีถ้าว่าจะหยุดตก ผมตัดสินใจเรียกรถแท็กซี่ไปรออยู่ที่หน้าปะรำพิธีดีกว่า (ที่อุบลฯมีรถแท็กซี่มิเตอร์ให้บริการแล้ว เริ่มต้นที่ 30 บาท ค่าโทร.เรียกอีก 20 บาท) ระหว่างนั่งรถมาปรากฏว่าฝนหยุดตกอย่างสิ้นเชิง ได้ความจากพี่แท็กซี่ว่าเจ้าหน้าที่เขาทำพิธีบวงสรวงศาลหลักเมือง ขอให้ฝนหยุดตก ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับเพราะฝนหยุดตกจริงๆ
ฝนฟ้าเป็นใจอากาศครึ้มเมฆแต่ฝนไม่ตกแล้ว ขนบวนแห่เทียนพรรษาโดยมีผู้ว่าราชจังหวัดอุบลราชธานีมาเป็นประธานเปิดงาน จึงเริ่มขึ้น ขบวนแรกเคลื่อนผ่าปะรำพิธีไปก็คือ ขบวนเทียนพรรษาวัดผาสุการาม ที่ผมไป“เยือนชุมชน คนทำเทียน” มาเมื่ออาทิตย์ก่อน ไม่น่าเชื่อมาจะเสร็จทันเวลาและสวยงามยิ่งใหญ่ได้ถึงเพียงนี้
ขบวนเทียนพรรษาศูนย์การเรียนเทียนพรรษาศรีประดู่
ขบวนแรกผ่านไปขบวนที่สองตามมา ขบวนเทียนพรรษาของศูนย์การเรียนเทียนพรรษาศรีประดู่ เป็นแบบติดพิมพ์ขนาดใหญ่ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน เคลื่อนผ่านผมไปแทบจำไม่ได้เลย สีเหลืองอ่อนลวดลายอ่อนช้อยงดงาม สวยกว่าตอนที่ยังไม่เสร็จมาก สมกับความร่วมมือของเด็กนักเรียน คนในชุมชนและครูสมคิด สอนอาจ ที่ช่วยกันทำเทียนพรรษาขึ้นมาจนสำเร็จ จะได้รับรางวัลหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นหลักแล้วล่ะ การได้เข้าร่วมในขบวนแห่เทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ผมก็ว่าชนะแล้วครับ
ขบวนเทียนพรรษาวัดศรีประดู่
สองขบวนผ่านไปขบวนที่สามก็เข้ามา เป็นขบวนเทียนพรรษาวัดศรีประดู่ อยู่ในชุมชนเดียวกันกับศูนย์การเรียนเทียนพรรษาศรีประดู่ แต่แยกกันทำ ขบวนเทียนพรรษาวัดศรีประดู่ก็เป็นแบบติดพิมพ์ขนาดใหญ่เหมือนกัน ต่างกันที่ศูนย์การเรียนเทียนพรรษาศรีประดู่ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน แต่ขบวนเทียนพรรษาวัดศรีประดู่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับนรกต่างจากสวรรค์อย่างสิ้นเชิง ใครทำดีได้ขึ้นสวรรค์ทำชั่วตายไปเป็นสัมพะเวสี ขนาดตัวเปรตที่ดูหน้าเกลียดน่ากลัว เมื่อติดพิมพ์เทียนลายไทยเข้าไปทั้งตัว ยังดูดีไม่น่ากลัวเลย
ขบวนเทียนพรรษาชุมชนวัดพระธาตุหนองบัว
แล้วขบวนเทียนพรรษาชุมชนวัดพระธาตุหนองบัว ก็เคลื่อนผ่านหน้าผมไปแล้วก็สวยสมคำล่ำลือจริงๆ ที่เป็นตัวเต็งในประเภทเทียนพรรษาแกะสลักขนาดใหญ่ ชุมชนนี้เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ช่างทำเทียนต้องเร่งมือ ทำกันทั้งวันทั้งคืนเพื่อให้เสร็จทันวันแห่เทียนพรรษา ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดพระธาตุหนองบัว ได้ทำเทียนเข้าพรรษาเข้าประกวดในประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นประเภทที่ยากที่สุด ต้องเอาเทียนแผ่นนาบกับเหล็กเผาไฟ แล้วนำไปติดกับตัวโครงที่ทำขึ้น แล้วต้องใช้ช่างที่มีฝีมือในการแกะสลักเทียนจริงๆ มาทำการแกะสลักให้เป็นลวดลายไทย อ่อนช้อยสวยงาม ต่างจากแบบติดพิมพ์ที่นำเทียนอ่อนไปปั๊มลงในพิมพ์แล้วจึงนำไปติดที่ตัวโครงที่สร้างขึ้นมา แบบนี้ใช้ใครพิมพ์ลายก็ได้ครับ จะใช้ช่างฝีมือในขั้นตอนในการติดพิมพ์เท่านั้น
ขบวนเทียนพรรษาวัดทุ่งศรีเมือง
ต่อจากขบวนเทียนพรรษาชุมชนวัดพระธาตุหนองบัว ก็มาถึงขบวนเทียนพรรษาวัดทุ่งศรีเมือง ซึ่งประกวดในประเภทต้นแทนแกะสลักขนาดเล็ก แกะสลักให้ต้นเทียนอยู่บนช้างมังกร สัตว์ในป่าหิมะพาน นำขบวรด้วยพระนารายณ์ทรงสุบรรณ ตามด้วยนาค 7 เศียร นางฟ้าฟ้อนรำถวาย ล่องมาในลำเรือปลา เป็นจินตนาการที่งดงามจริงๆ
ขบวนเทียนพรรษาอำเภอตระการพืชผล
ถึงแม้จะทำเทียนพรรษาอยู่ด้วยกันที่วัดทุ่งศรีเมือง แต่ชุมชนทำเทียนพรรษาอำเภอตระการพืชผล ก็ทำเทียนพรรษาไม่เหมือนของชุมชนทำเทียนวัดทุ่งศรีเมือง เทียนพรรษาของอำเภอตระการพืชผล เป็นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดเล็ก เล่าเรื่องราวพระมหาชนก ตอนนางมณีเมขลาอุ้มพระมหาชนก ที่กำลังจะจมกลางมหาสมุทรไปเมืองมิถิลานคร ตอนที่ยังไม่เสร็จสมบรูณ์ก็ว่าสวยแล้ว มาดูตอนที่ขบวนเทียนพรรษาอำเภอตระการพืชผล ผ่านไปตรงหน้าเกือบจำไม่ได้ ว่าเป็นขบวนเทียนพรรษาของอำเภอตระการพืชผล เพราะเห็นนางมณีเมขลาอุ้มพระมหาชนก นำขบวนมาถึงจำได้ดูสมส่วนน่ารักจริงๆ
ขบวนเทียนหอมพรรษาหอมวัดเมืองเดช
แล้วก็มาถึงไฮไลท์ของงานประเพณีแห่เทียนครั้งนี้จริงๆเสียที เมื่อขบวนเทียนหอมพรรษาวัดเมืองเดช ของอำเภอเดชอุดม เล่าเรื่องราวนางกินรีทั้ง 8 นาง นำดอกบัวมาถวายแด่พระพุทธเจ้า เคลื่อนขบวนเข้ามา นับเป็นปีแรกที่มีขบวนเทียนหอมพรรษาเข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย มาเพื่อเปิดตัวไม่ได้แข่งกับใคร เพราะมีขบวนเทียนหอมพรรษาอยู่ขบวนเดียว ซึ่งเป็นดำริของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯคนปัจจุบัน เพื่อไม่งานประเพณีแห่เทียนพรรษาของชาวอุบลฯ ที่สืบเนื่องต่อกันมาถึง 112 ปี ย่ำอยู่กับที่ ควรจะมีสิ่งใหม่ๆเข้าบ้าง ถึงจะใช้งบในการจัดทำค่อนข้างสูงถึงล้านกว่าบาท แต่ก็คุ้มค่ากับความสวยงามและแปลกใหม่ที่ไม่เหมือนใคร หวังว่าปีหน้าน่าจะมีการประกวดเทียนหอมพรรษา ขึ้นมาอีกประเภทหนึ่งครับ นอกจากนี้ยังมีขบวนเทียนพรรษาที่ผมไม่ได้ไป “เยือนชุมชน คนทำเทียน” มามีทั้งต้นเล็ก ต้นใหญ่ แบบประยุกต์ใหม่ แบบเก่าดั่งเดิม ที่เข้าร่วมขบวนแห่ในงานนี้อีกมากมาย
ขบวนเทียนพรรษาวัดกลาง
เป็นต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลักขนาดเล็กเล่าเรื่องพุทธประวัติ เหล่าทวยเทพยาดาอันเชิญพระองค์เสด็จไปห้ามญาติ โดยมีเทพองค์หนึ่งเป่าสังข์พ่นออกมาเป็นละอองน้ำ นำหน้าขบวน
ขบวนเทียนพรรษาวัดพลแพน
ต้นเทียนพรรษาตั้งอยู่บนเรือพระนารายณ์ทรงสุบรรณรายล้อมด้วยเทพยดา
ขบวนเทียนพรรษาวัดบูรพา
ครุฑยุดนาคนำขบวนเทียนพรรษามา
ขบวนเทียนพรรษาวัดสุทัศนาราม
ครุฑถือป้ายยินดีต้อนรับอาเชียนนำหน้ามา
ขบวนเทียนพรรษาอำเภอบุณทริก
เล่าเรื่องเจ้าชายสิทธัตถะทรงออกบวช
ขบวนเทียนพรรษาวัดเวตะวันวิทยาราม
เป็นต้นพรรษาแบบดั่งเดิมที่ต้นเทียนไม่ได้แกะสลักอะไร แต่จะประดับตกแต่งด้วยใบตอง ทำแบบบายศรีเป็นรูปพญานาค ก็สวยงามไปอีกแบบหนึ่งครับ
ขบวนเทียนพรรษาอำเภอพิบูลมังสาหาร
เป็นต้นเทียนแบบประยุกต์นำใบตองและผ้ามาประดับตกแต่งต้นเทียนให้สวยงาม และก็เป็นขบวนท้ายแล้วสำหรับต้องออกจากงานมาก่อน เพื่อหารถบขส.กลับกรุงเทพฯซึ่งก็โชคดี เหลือสองที่นั่งสุดนอกนั้นทุกเที่ยวเต็มหมด ถึงแม้นจะเป็นรถหวานเย็นแวะจอดเกือบทุกจังหวัดที่ผ่าน ก็ยังดีครับที่ได้กลับบ้านตามกำหนด ไม่อย่างนั้นคงต้องนอนค้างที่อุบลอีกหลายคืนเป็นแน่
“สืบฮีตวิถีชาวอุบล ยลพุทธศิลป์ถิ่นไทยดี เยือนชุมชน คนทำเทียน” ประเพณีแห่เทียนพรรษา อุบลราชธานี ประจำปี 2556 ในครั้งนี้ ตั้งแต่วันแรกที่ผมมา “เยือนชุมชน คนทำเทียน” เห็นการปลูกฝั่งให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับชุมชน บริษัทห้างร้านต่างๆ ช่วยกันทำเทียนพรรษาขึ้นมาในแต่ละท้องถิ่น และทางจังหวัดกับททท.อุบลราชธานี ก็ให้การสนับสนุน ในการจัดงานได้อย่างยิ่งใหญ่จริงๆ น่าเชื่อใจได้ว่าในอนาคตเด็กๆเหล่านี้ คงไม่หลงวัฒน์ของตนเองอย่างแน่นอน
ปล.ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดอุบลราชธานี