เมืองลี้ ลำพูน3. สีสันและลีลาการแต่งกาย
โดย ดำ จรกา ภาพ-ธงชัย เปาอินทร์-จันทร์แรม ท้วมเนตร
ฐานข้อมูลวิกิพีเดียระบุว่าทั้งโลกมีกะเหรี่ยงหรือกระเหรี่ยง 7 ล้านคน อาศัยอยู่ในประเทศไทย 352,295 คน กระจายทั่วไปใน 15 จังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันตก รวม 1,993 หมู่บ้าน 60,353 หลังคาเรือน นับเป็น 46.8%ของชาวไทยภูเขาของประเทศไทย มีภาษาพูดเป็นของตนเองอยู่ในกลุ่มจีต-ทิเบต นับถือศาสนาพุทธเถรวาท คริสต์ และผี
ในประเทศไทยแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆออกไปเป็น กะเหรี่ยงสะกอ หรือยางขาว หรือปกาเกอะญอ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมากที่สุด กะเหรี่ยงโป หรือโพล่ อาศัยอยู่แถวจังหวัดกาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน และลำพูน กะเหรี่ยงปะโอ หรือตองสู อาศัยอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และบะเวหรือคะยา ซึ่งก็อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนเช่นกัน
กะเหรี่ยงเมืองลี้ ลำพูน จึงน่าจะเป็นกะเหรี่ยงโป หรือโพล่ ใช่ไหมหนอ
คนเชียงใหม่นิยมเรียกว่ายาง แต่บางกลุ่มนิยมให้เรียกว่า ปกาเกอะญอ เช่นที่บ้านแม่กลางหลวง เชิงดอยอินทนนท์ กาญจนบุรีนิยมเรียกตนเองว่ากะเหรี่ยงโป แต่ไม่ว่าจะเรียกชื่อใด ส่วนใหญ่ที่ผมเห็นมีวัฒนธรรมการแต่งกายที่ใกล้เคียงกัน นั่นคือ
หญิงแต่งงานแล้วสวมผ้าถุงกรอมเท้าสีแดงหรือสีน้ำเงินหรือสารพัดสีเว้นขาว เสื้อผ่าอกแขนปล่อยลุ่ยมีระบายทั้งแขนและชายเอว สีเดียวกัน โพกผ้าหรือไม่โพกแล้วแต่สไตล์นิยมของแต่ละคน กินหมากเกือบทุกคน
เด็กชาย-หญิง หญิงสาวโสด และชายไปวัด นิยมแต่งด้วยชุดกระสอบสีขาวริ้วแดง มีระบายที่ปลายแขนเสื้อและชายเอว หรือปลายเท้า เรียกชุดนี้ว่า เชวา
ชายทั่วไป นิยมแต่งตัวด้วยเสื้อคอวีผ่าอก มีระบายที่แขนและเอวเป็นเส้นด้ายแดงหรือชมพู สีเสื้อและชุดแดงอมส้ม โพกผ้าหรือไม่แล้วแต่สถานการณ์ ผู้ชายกินหมากปากดำปื๋อ แถมสูบบุหรี่ตามสมัยนิยม
ผมไปเร่ร่อนเมืองลี้ ลำพูนก็ด้วยการข่าวบอกว่า กะเหรี่ยงเมืองนี้ยังคงวัฒนธรรมการแต่งกายแบบดั้งเดิม วิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณี ดั้งเดิม เป้าหมายอยู่ที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ในงานประเพณีออกพรรษา
ไม่ผิดหวังครับ ผมได้เห็นเด็กๆน่ารักทั้งหญิงและชายแต่ตัวด้วยชุด ”เชวา “สีขาวทรงกระสอบ นัยน์ตาใสบริสุทธิ์ ได้เห็นภาพผู้ใหญ่ชายและหญิงนุ่งห่มตามวัฒนธรรมสีสันแพรวพราว สวยสะดุดตา และได้เห็นหญิงระดับอาวุโสจำนวนมาก นุ่งห่มตามวัฒนธรรมดั้งเดิม แถมด้วยสไตล์การโพกผ้าบนศีรษะงดงาม อลังการ สีสันโดดเด่น
เหมือนไปเดินชมแฟชั่นการแต่งกายของพี่น้องกะเหรี่ยงบ้านห้วยต้ม ซึ่งทั้งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเหล่านี้ ถักทอด้วยมือของแต่ละคน แต่ละครอบครัว ลวดลายและความประณีตของฝีมือจึงแตกต่างตามความสามารถเฉพาะตัว โปรดชมภาพสวยงามจากเมืองลี้ ลำพูนได้เลยครับ ปีหน้าหรือปีไหนก็จะยังคงความสวยงามให้ได้ชมกันอย่างเต็มพิกัด
ขาดก็แต่พิธีกรที่จะบรรยายสไตล์การแต่งกายของพี่น้องชนเผ่ากะเหรี่ยงศรัทธาวัดพระพุทธบาทห้วยต้มที่มีครูบาวงศ์เป็นผู้พลิกฟื้นศรัทธาพี่น้องกะเหรี่ยงได้อย่างเข้มแข็ง ซ้ำเป็นผู้เดินตามรอยท่านด้วยการกินมังสวิรัติกันทั้งหมู่บ้าน ทุกวันพระใหญ่หรือเทศกาลสำคัญทางพุทธศาสนา กะเหรี่ยงเมืองลี้จะแต่งกายสวยงามเช่นนี้ออกมาทำบุญร่วมกัน