แห่ข้าวพันก้อน บูชาพันพระคาถา ฟังเทศมหาชาติ กินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด เมืองร้อยเอ็ด
โดย สุเทพ ช่วยปัญญา เรื่อง-ภาพ
สิบเอ็ดประตูเมืองงาม เรืองนามพระสูงใหญ่
ผ้าไหมสำเกต บุญผะเหวดประเพณี
มหาเจดีย์ชัยมงคล งามน่ายลบึงพลาญชัย
เขตกว้างไกลทุ่งกุลา โลกลือชาข้าวหอมมะลิ
แห่ข้าวพันก้อน บูชาพันพระคาถา ฟังเทศมหาชาติ กินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด เมืองร้อยเอ็ด งานบุญเดือนสี่ถือเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้อยู่ในคำขวัญประจำจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นความภาคภูมิใจของชาวร้อยเอ็ดที่นำตำนานงานบุญที่ยิ่งใหญ่ มาจัดเป็นงานประเพณีที่มีเอกลักษณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ด ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 จนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 23 แล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นตัวตนของชาวร้อยเอ็ด
มีการแห่พระอุปคุต เทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสน ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงที่มาของ งานประเพณีบุณผะเหวดจังหวัดร้อยเอ็ด การแจกสัตสดกมหาทาน การแห่ข้าวพันก้อน เทศน์สังกาด เทศน์คาถาพัน เทศน์มหาชาติ แห่กัณฑ์จอบ กัณฑ์หลอน ขบวนแห่พระเวสสันดร 15 ขบวน การประกวดธงผะเหวด การแสดง แสงสีเสียง การแสดงศิลปินคืนถิ่นบ้านเฮาเอาบุญผะเหวด ณ บึงพลาญชัย กลางเมืองร้อยเอ็ด
“บุญผะเหวด” เป็นสำเนียงอีสานจากคำว่า “บุญพระเวส” หรือเทศน์มหาชาติพระเวสสันดร เป็นประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ตามความเชื่อของชาวอีสานที่ว่า หากผู้ใดได้ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรจบทั้ง 13 กัณฑ์ กัณฑ์ทศพร กัณฑ์หิมพานต์ กัณฑ์ทานกัณฑ์ กัณฑ์วนประเวศ กัณฑ์ชูชก กัณฑ์จุลพน กัณฑ์มหาพน กัณฑ์กุมาร กัณฑ์มัทรี กัณฑ์สักกบรรพ กัณฑ์มหาราช กัณฑ์ฉกษัตริย์ กัณฑ์นครกัณฑ์ รวม 1,000 พระคาถา ภายในการเทศน์ครั้งเดียว ภายในวันเดียว จะได้เกิดร่วมชาติภพกับพระศรีอริยเมตไตรย ซึ่งจะจุติมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อจาก “พระโคดม” พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
งานพาแลง การแสดงแสง เสียง บุญผะเหวด ณ บึงพลาญชัย
งานประเพณีบุญผะเหวด เมืองร้อยเอ็ด ประจำปี 2557 ในครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 9 มีนาคม 2557 ผมนั่งรถทัวร์ตามมาร่วมงานในตอนเย็นของวันที่ 7 มีนาคม 2557 เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากที่ผมมาไม่ทันขบวนแห่พระเวสสันดรชาดก จำนวน 15 ขบวน ที่สวยงามและยิ่งใหญ่ (ไม่ได้เห็นด้วยตาตนเอง แต่ถามจากน้องที่เดินทางมาทันขบวนแห่) จึงเข้าร่วม งานพาแลง การแสดงแสง เสียง บุญผะเหวด ณ บึงพลาญชัย ในตอนค่ำ พิธีเริ่มจากขบวนแห่ธงผะเหวดที่เข้าประกวดเดินขบวนเข้ามาในงาน ตามด้วยนายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด และสองพี่น้องนางสาวไทย น้องจีน่า นางสาวอัจฉราภรณ์ กนกนทีสวัสดิ์ นางสาวไทยปี2556 พร้อมกับ น้องโจอี้ นางสาวอรวิภา กนกนทีสวัสดิ์ นางสาวไทยปึ 2552 ร่วมเป็นเกียรติในงาน
นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป่าโหวดเพื่อเปิดงานและกล่าวเปิดงานว่า “ประเพณีบุญผะเหวด หรือ บุญมหาชาติ คืองานมหากุศลที่สะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวร้อยเอ็ดถืดปฏิบัติกันมาช้านาน เพื่อให้ประชาชนได้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญซึ่งหมายถึงการสร้างบุญที่ยิ่งให้ การสละความเห็นแก่ตัว เพื่อผลประโยชน์อันไพศาลของมวลมนุษชาติเป็นสำคัญ ดังนั้นประชาชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ดถือเป็นงานประเพณีที่สำคัญและร่วมกันบำเพ็ญโดยได้อนุรักษ์เป็นวัฒนธรรมจนถึงอนุชนรุ่นหลังให้เห็นคุณค่าสืบมาจนถึงปัจจุบัน ในโอกาสการจัดงานประเพณีบุญผะเหวดจังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปี 2557 ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วม กินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด ฟังเทศมหาชาติ ร่วมกันเด้อ และขอให้อานิสงส์แห่งการร่วมทำบุญผะเหวด จงเกิดแก่ท่านทั้งหลาย และร่วมอนุรักษ์งานบุญผะเหวดนี้ให้อยู่คู่จังหวัดร้อยเอ็ด สาเกตนครตลอดไปนานเท่านาน”
พอผู้ว่ากล่าวจบก็ต่อด้วยศิลปการแสดง 4 ภูมิภาค ด้วยการแสดงแสง เสียง ประกอบละครเรื่องพระเวสสันดรชาดก เริ่มจากแนะนำตัวแสดงในบทต่างๆ การแสดงละครพระเวสสันดรชาดก ปิดท้ายด้วยนายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ขึ้นร้องเพลงเป็นเกียรติในงาน และสองพี่น้องนางสาวไทยโชว์ตัวน่ารัก น่ารัก แล้วยังโชว์เสียงหวานๆให้ฟังอีกด้วย ทำเอาผมกลับไปนอนฝันหวานทั้งคืนเลย
ปั่นข้าวพันก้อนถวายพระอุปคุต
เสียงนาฬิการปลุกดังขึ้นผมเหลือกตาขึ้นมาดูนาฬิการ เข็มนาฬิการบอกเวลาว่าตีสี่ ต้องออกไปร่วมพิธีถวายข้าวพันก้อนแล้ว ลานพิธีตั้งอยู่ริมบึงพญาชัย มีนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นบ้างก็นุ่งขาวห่มขาว บ้างก็แต่งชุดไทยอีสาน นั่งปั่นข้าวเหนียวเป็นก้อนเล็กให้ได้พันก้อน อยู่ก่อนแล้วครับ แสดงว่ามีจิตศรัทธาอย่างมาก ที่จะเข้าร่วมในพิธีถวายข้าวพันก้อน การปั่นข้าวเหนียวจะช่วยกันปั่นหรือปั่นคนเดียวก็ได้ครับ ยิ่งใกล้ฟ้าสางคนยิ่งเยอะ
ใส่บาตรพระอุปคุตด้วยข้าวพันก้อน
เมื่อถึงเวลาตีห้านายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด มาเป็นประธานในพิธี จุดธูปเทียนถวายพระพุทธ พระสงฆ์ขึ้นธรรมาสน์เทศน์สังกาด เป็นการพรรณนาอายุกาลของพระพุทธศาสนาเริ่มแต่ต้นจนถึงอันตรธาน จากนั้นท่านผู้ว่าฯนำใส่บาตรพระอุปคุต เพื่อให้ช่วยปกปักรักษาให้พิธีกรรมในงานบุญผะเหวดเป็นไปอย่างราบรื่น ท่านผู้ว่าฯหยิบข้าวเหนียวก้อนเล็กๆออกจากกระติ๊บ แล้วใส่ลงในบาตรที่ตั้งเรียงรายอยู่หน้าพระอุปคุต จากนั้นผู้มาร่วมในงานก็ทยอยเดินออกมาใส่บาตรจนเป็นวงกลม เพราะทุกคนต้องเดินวนใส่บาตรคนละ 3 รอบ นอกจากเอาก้อนข้าวเหนียวใส่ลงในบาตรหน้าพระอุปคุตแล้ว ยังต้องเอาก้อนข้าวเหนียวติดไว้ที่เชือกสายสิญจน์รอบพิธี ต้นไม้ รูปพระเวสสันดรที่แห่รอบเมือง เครื่องเซ่นไหว้บายศรี จนถึงองค์พระอุปคุต เพื่อเป็นการถวายข้าวพันก้อนแด่เครื่องประกอบในพิธี
ตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้ง แด่พระสงฆ์ 101 รูป
ฟ้าสางสว่างแล้วพิธีใส่บาตรพระอุปคตก็เสร็จพอดี ได้เวลาตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้ง แด่พระสงฆ์ 101 รูป เพื่อถวายข้าวสาร อาหารแห้งแด่พระภิษุสงฆ์ อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย พระสงฆ์ที่นิมนต์มาจากวัดต่างๆทั้งขบวนเป็น 2 แถว เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ใส่บาตรกันอย่างทั่วถึง เริ่มจากท่านผู้ว่าฯก่อนที่ใส่บาตรเป็นคนแรก แล้วพระภิกษุสงฆ์ก็เดินหน้าให้นักท่องเที่ยวและชาวบ้าน ที่มาร่วมงานได้ใส่บาตรกันอย่างทั่วถึง ผ่านไปครึ่งชั่วโมงพระสงฆ์องค์สุดท้าย รับบาตรให้สิญจน์ให้พรแล้วก็เดินจากไป เป็นอันเสร็จพิธีตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้ง แด่พระสงฆ์ 101 รูป เช้านี้ผู้ที่ใส่บาตรแล้วหน้าตาจะสดชื่นแจ่มใส่ เพราะได้รับผลบุญกันไปทั่วหน้า
ร่วมรำฟ้อน แห่กัณฑ์หลอน เอาบุญผะเหวต
หลังจากทำบุญตักบาตรข้าวอาหารแห้งแล้ว พระสงฆ์ขึ้นเทศน์คาถาพัน เทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ เทศน์กันตั้งแต่เช้าไปจรดค่ำ เริ่มจากกัณฑ์ที่ 1 กัณฑ์ทศพร ไปถึงกัณฑ์ที่ 13 กัณฑ์นครกัณฑ์ ส่วนอีกทางในเวลา 9.00 น. ขบวนแห่ที่หน้าบึงพลาชัยเริ่มบรรเลงเพลง ผู้ว่าฯรำฟ้อนนำหน้าขบวนแห่ภาษาอีสานเ "จอบ" เป็นภาษาอีสาน แปลว่า “แอบดู” เป็นกัณฑ์เทศน์ที่ผู้ถวายเฉพาะภิกษุที่ตนชอบ เคารพศรัทธา จึงมีการส่งคนไปสอดแนมว่าขึ้นเทศน์หรือยัง จึงเรียกว่า "กัณฑ์จอบ" ส่วน “กัณฑ์หลอน” เป็นการแห่กัณฑ์เทศน์มา ถึงบริเวณที่พระกำลังเทศน์ก็ถวายกัณฑ์เทศน์โดยไม่เจาะจงว่าจะเป็นพระสงฆ์รูปใด
สองข้างทางที่ขบวนแห่ผ่านมีชาวบ้านนำขนมจีน (ข้าวปุ้น) มาตั้งให้นักท่องเที่ยวและประชาชนที่มาร่วมงานได้ “กินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด” กินฟรีกันด้วย ขบวนแห่เข้าบึงพลาชัยทางประตูสรวงนคร ผู้ว่าฯรำฟ้อนมาด้วยชุดผ้าไหมสีม่วง พร้อมกับเหล่ากาดจังหวัดร้อยเอ็ด นุ่งซิ่นไหมสีม่วงรำฟ้อนเรียงหน้ากระดานมาด้วยกัน ขบวนแห่กัณฑ์เทศน์เดินวน 3 รอบ แล้วขึ้นมาถวาย "กัณฑ์จอบ - กัณฑ์หลอน” แด่พระภิกษุสงฆ์ จากท่านผู้ว่าฯก็มาถ่ายชีวิตที่อยู่ข้างล่างเวที เป็นอันเสร็จพิธี
งานประเพณี แห่ข้าวพันก้อน บูชาพันพระคาถา ฟังเทศมหาชาติ กินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด เมืองร้อยเอ็ด งานบุญเดือนสี่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังศรัทธาของชาวพื้นถิ่น ที่มีต่อองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้ แม้กาลเวลาจะผ่านไปสองพันห้าร้อยกว่าปี พระธรรมคำสอนของพระองค์ก็ยังคงทันสมัยอยู่เสมอ และยังกล่าวถึงอนาคตในโลกหน้าอีกด้วย นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวร้อยเอ็ดจัดงานบุญผะเหวดนี้ขึ้นมาเป็นประจำทุกปี เพื่อนำคำสอนของพระพุทธองค์มาปฏิบัติใช้ คนร้อยเอ็ดจึงได้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวและแขกผู้ว่าเยือน ในงานบุญผะเหวดด้วยจิตใจเบิกบาน
ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นำฟ้อนด้วยตนเอง ซวดๆๆ