http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,415,537
Page Views16,749,780
« November 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ในคมขวาน 18 เสียงแคนแห่งแดนอีสาน

ในคมขวาน 18 เสียงแคนแห่งแดนอีสาน

ในคมขวาน ๑๘

 เสียงแคนแห่งแดนอีสาน

“สาวภูไท”

             ลึกลงไปในชนบทแห่งดินแดนในคมขวาน  เมื่อคราครั้งที่ผู้เขียนยังเป็นเด็กน้อยนู้น  ทุกยามค่ำคืนก่อนหลับใหล ในความเงียบแห่งราตรีกาล โดยเฉพาะแม่นคืนเดือนหงายที่ลมหนาวเริ่มวี่วอนนั้น อ่อนโยน ยังมีเสียงแห่งสวรรค์ชั้นแถน ดังแว่วมาขับกล่อมให้นอนหลับฝันไปกับเสียงพลิ้วหวานและวังเวงในบางท่องทำนอง

            เสียงแคนค่ะ

            ทำนองลมพัดพร้าวที่พลิกพลิ้ว ราวกับใบของมะพร้าวสะบัดเป็นริ้ว ๆ ยามต้องสายลมโชยมาสัมผัสสัมพันธ์ปลุกหัวใจให้ระริกไหวไปด้วย

            ทำนองแม่ฮ้าง(ร้าง-ม่าย)กล่อมลูกที่อ้อยสร้อย สะอึกสะอื้น กระซิกกระซี้ ดึงอารมณ์ชวนเศร้าแทบฟายน้ำตา

            ทำนองนกเต็นเต้นข้ามห้วย เปลี่ยนเป็นอารมณ์สนุกแทบลุกขึ้นมาฟ้อนแทนหลับฝันในทันที  ยิ่งมีเสียงซุงตุ้งลุงตุง...คลอเคล้าคลุกเข้าไปด้วย โลกทั้งโลกเป็นเหมือนของข้าแต่ผู้เดียวเชียว

 

            จำได้ว่า ณ หมู่บ้านของเราในยุคนั้นมีหมอแคนอยู่หลายคน  เป็นชายหลายวัยตั้งแต่ผู้บ่าวใหญ่ผู้ชำนาญการเป็นหมอแคน หมอ(ดีด)ซุง ถึงผู้บ่าวส่ำน้อยที่เพิ่งพากเพียรเรียนเป่าแคน และ ดีดซุง ในยามค่ำคืนหลังพาแลงไปแล้วหมอเหล่านี้จะจับกลุ่มกันออกเดินเล่น เทค  อะวอลค์ เลาะเลียบหมู่บ้าน  ตั้งแต่คุ้มบ้านเก่าทางทิศใต้วกวนสู่ตะวันตก  ตัดผ่านคุ้มวัดไปจนทะลุคุ้มบ้านใหม่  ผ่านคุ้มทุ่งหนองผักแว่น  อ้อมโค้งสู่คุ้มทุ่งหนองในทางทิศตะวันออกสุดของหมู่บ้าน

            กลุ่มคนเหล่านี้มิใช่เพียงเดินเลาะเล่นเปล่า ๆ เฉยๆ  ยังพกพาเสียงขับกล่อมหลายท่องทำนองดังแว่วล่องลอยในทุกอณูอากาศเหนือหมู่บ้าน

            เสียงแคนกล่อมเสียงซุง

            ตุ้งลุงตุง อ้อน อ๋อ  อ้อน  อออออ...

            แตรแล่นแตร๋  แล่นแตร๋  แล่นแตรรร...

            คุณพนม นพพร ศิลปินแห่งอีสานลูกน้ำมูลผู้ล่วงลับ  เคยถ่ายทอดเสียงดนตรีชนิดนี้ออกมาเป็นเสียงเพลงกล่อมอีสานอันโด่งดังในอดีต

            แคน  เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองของชนในวัฒนธรรมลาว จึงมักถูกเรียกเป็นคำคู่กันว่า  แคนลาว

            แคนลาว  คุณ กงเดือน  เนตตะวง  ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติลาวได้ให้ความหมายไว้ว่า  แคนลาว เป็นเครื่องดนตรีหลัก และพื้นเหง้าของคนลาวเฮา  นับว่าเป็นมิ่งขวัญชีวิตของการดำรงชีวิตของคนลาวแต่สมัยเกิดมีชาติลาวจนฮอดปัจจุบัน”*

 

 

            ในตำนานขุนบูฮม(บรม)ก็กล่าวถึงชนกลุ่มที่เป่าแคนไว้ว่า

กินข้าวเหนียว  เคี้ยวหมาก

 อยู่เฮือนมีฮ้าน อยู่กว้านมีเสา

เป่าแคน ก็ว่าลาวแล   

            และคนอีสานส่วนใหญ่โดยเฉพาะแถบลุ่มน้ำโขงและสาขาก็เป็นไทลาว  เสียงจากเครื่องดนตรีชนิดนี้จึงดังแว่ววอนไปถั่วถิ่นแดนดิน เราเรียกคนที่มีความชำนาญการต่าง ๆ ว่า “หมอ” ดังนั้นคนเป่าแคนก็จึงถูกเรียกเป็น หมอแคน แม้ปัจจุบันจะมีสิ่งอื่นมากลบกลืน  มาดึงผู้คนให้ห่างไป  แต่เสียงแคนยังคงดังแว่วหวานหว่านเสน่ห์สะท้านอารมณ์ทุกครั้งที่ตั้งใจฟัง

            เสียงแคนให้แค่ความบันเทิงขับกล่อมเท่านั้นหรือ

            มิใช่เลยค่ะ


            แต่เดิมแคนใช้เป่าคู่กับการขับลำอ้อนวอน อ่อนน้อมต่อเทพไทท้าวแถนแห่งแดนฟ้า  ในพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกิดจากความทุกข์กังวลของผู้คน  เช่น พิธีเหยา ในแถบลุ่มหนองหาน  พิธีลงไถ้ไหว้แถนในแถบลุ่มน้ำมูล  หมอลำ คือผู้ขับร้องเปล่งเสียงในขณะ  หมอแคนคือผู้เสกเป่าทำนองเคล้าคลอกันไป  ในบางท้องถิ่นเรียกหมอแคนว่า  หมอม้า  เพราะเป็นผู้พาหมอลำขับลำเดินดงลงทุ่งหรือขึ้นฟ้าหาแถน ส่วนผู้ขับลำก็จะถูกเรียกว่า       

            หมอแคนเป็นผู้เสกสรรเสียงดนตรีพลิกพลิ้วเป็นริ้วทำนองตามลายแคน  ขณะหมอลำเป็นผู้ขับขานเสียงร้องเป็นถ้อยคำพร่ำพลิ้วตามทำนองล่องลาย  ใส่ลูกคอสั่นพลิ้วหวิวไหวไปกับลายแคน   และเสกใส่เนื้อหา  พัฒนาสู่การเล่าเรื่องราว  การใส่กาพย์กลอน(ลำ)ที่มีเนื้อหาทันสมัย  น่าสนใจให้ความบันเทิงแก่ผู้ฟัง   ช่วงต่อ ๆ มาพัฒนาเป็นหมอลำคู่  หมอลำหมู่  สู่วงดนตรีลูกทุ่งหมอลำ  หมอลำซิ่ง  หมอลำประยุกต์ที่โด่งดังคับฟ้าอีสานมากมายหลายรุ่นเป็นมูนมังอีสานสืบทอดกันต่อ ๆ มา  จนหมอลำได้รับเกียรติ์เชิดชูให้เป็นศิลปินแห่งชาติไปก็หลายคน เช่น คุณตาทองมาก  จันทะลือ(หมอลำถูทา)  คุณพ่อเคน  ดาเหลา(หมอลำเคนฮุด) คุณแม่ฉวีวรรณ  พันธุ   และคนล่าสุดคุณป้าบานเย็น  รากแก่น เป็นต้น


            ช่วงประมาณหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา  บอกไปก็ไม่น่าเชื่อว่า  ในสังคมโดยเฉพาะชนบทอีสานที่ยังยึดถือเรื่องฤกษ์งามยามดีกันอยู่นั้น  แต่มีหลายแห่ง หลายเจ้าภาพจะจัดงานบวช งานบุญ แทนจะหาวันดีตามตำรา  กลับพอใจจะรอวันว่าง ตามคิวอันยาวเหยียดของวงหมอลำแม่นกน้อย(นกน้อย อุไรพร) บางทีรอกันเป็นเดือนเป็นปีเลยก็ยอมละเพราะญาติโกโหติกาผู้จะมาร่วมงานล้วนเป็นแฟนของแม่นกน้อยและคณะ

            ก่อนมาถึงยุคหมอลำประยุกต์ที่ผันแปรตามกระแสสังคมนั้นนอกจากการขับลำคลอเสียงดนตรีจากแคนในพิธีกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้ว  หมอลำหมอการได้พัฒนาสู่การให้ความบันเทิงซึ่งพอจะจำแนกได้เป็นประเภทต่าง ๆ คือ หมอคู่  หมอลำหมู่


            หมอลำคู่มีเพียงสองคนชายหญิงพัฒนามาจากหมอลำเล่าเรื่อง(หมอลำพื้น)เป็นรากเหง้าที่สุดของการแสดงหมอลำหมอแคน  ซึ่งเดิมทั้งหมอลำและหมอแคนจะนั่งอยู่ในวงล้อมของผู้ฟัง  มักนำเอาเรื่องราวในตำนาน  ในนิทานพื้นบ้าน นิทานชาดกตลอดข่าวสารบ้านเมืองมาขับเป็นกลอนลำให้ไพเราะน่าฟัง    หมอลำจึงเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในบริบททางสังคมแห่งยุคสมัย ทั้งประวัติศาสตร์ ศาสนา  ความเป็นไปในสังคม  มีไหวพริบปฏิภาณ สามารถใช้ภาษา สุภาษิต คำพังเพยอย่างคล่องแคล่ว  โต้ตอบกันระหว่างชายหญิงอย่างออกรส               

              เมื่อได้รับความนิยมมากขึ้นจึงมีการจัดเวทียกพื้นสูง  กลอนที่นำมาขับก็เป็นระบบมากขึ้น  มีช่วงไหว้ครู  บูชาครู  ช่วงประกาศศรัทธาของเจ้าภาพ  ช่วงกลอนลำเกี้ยวเย้าแหย่ระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง  เรียกว่ากลอนเกี้ยว  เนื่องจากการเกี้ยวพาราสี   ช่วงลำเรื่องทั่วไป  มักนำประเด็นที่อยู่ในความสนของผู้คนมาเป็นแก่นในการต่อกลอนหากเป็นเรื่องชมนกชมป่าชมธรรมชาติก็มักใช้กลอนสั้น ทำนองสนุก เรียกว่าลำทางสั้น แลหากเป็นเรื่องเศร้า ๆ ก็มักใช้กลอนยาวทำนองเนิบช้า เรียกว่าลำล่องหรือลำทางยาง  ช่วงสุดท้ายซึ่งมักเป็นช่วงดึก ๆ หรือใกล้สว่างเป็นช่วงลำลา  มักใช้กลอนยาวทำนองเนิบช้าใช้ลูกคอเอื้อนพลิ้วสะกดคนฟังให้อาลัยก่อนจบและจาก

                หมอลำหมู่  เป็นวิวัฒนาการขั้นสำคัญของการขับลำ  จากการแสดงเพียงสองคนของหมอลำคู่กลายมาเป็นมีผู้ช่วยทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง  กลายมาเป็นคณะใหญ่มีตัวละครหลากหลายให้ครบตามบทบาทในเรื่องที่นำมาแสดง  เพิ่มรสชาติความสนุกเพลิดเพลินผู้ชมได้รับมากขึ้น  มีกลอนลำเพลินเดินดง  กลอนลำเต้ย  และเพลงลูกทุ่งกลายเป็นหมอลำซิ่งมีหางเครื่อง มีฉากและเวทีอลังการอย่างในปัจจุบัน

                หมอลำคู่แบบเดิมจึงหาดูได้ไม่ง่ายแล้ว ต้องขอบคุณคณะผู้จัดงานจุลกฐิน๒๕๕๗แห่งวัดไชยมงคลอุบลราชธานีที่จัดให้มีหมอลำคู่มาแสดงให้ได้รำลึกถึงครั้งหนึ่งเราเคยนั่งแหงนคอเบิ่งหมอลำคู่อย่างออกรสตลอดทั้งคืน

                คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้  ขอบคุณยายผู้มีน้ำใจให้ข้อมูลการเข็นฝ้าย  ขอบคุณอาจารย์ผู้นำการละเล่นโบราณที่ชื่อ “ขาโถกเถก” มาแสดงรวมถึงอุปกรณ์การเดินแบบขาโถกเถกมาให้ผู้สนใจลองพลังขาของตนเองด้วยนี่คือมูนมังมั่งค่าแห่งดินแดนในคมขวานค่ะ


๐๐๐

 

 

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view