คึดฮอด...เมืองลาว ๑๘
จากเวียงคุก-เวียงคำ เวียงจันทน์
“เอื้อยนาง”
วันที่ ๑๙ – ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๗ ในโอกาสที่สโมสรนักเขียนภาคอีสานเดินทางไปเยี่ยมเยือนมิตรเก่าสองฝั่งโขง คือ สมาคมนักประพันธ์ลาวที่เวียงจันทน์ พร้อมจัดประชุมสมาชิกสโมสรฯที่เมืองวังเวียงต่อด้วย เอื้อยนางเลยถือโอกาสสืบต่อสารคดีชุด “คึดฮอด...เมืองลาว”
ชาวคณะทั้งหมดจะออกเดินทางจากขอนแก่นในเช้ามืดวันที่ ๑๙ แต่เอื้อยนางขอมาคอยที่หนองคาย เช่นเดียวกับครั้งแรกที่ข้ามโขงไปกับคณะสโมสรนักเขียนภาคอีสาน เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ โดยพักที่โรงแรมใกล้วัดหายโศกและท่าเสด็จที่เดิมอีกด้วย ต่างแต่ว่าครั้งนั้นยังไม่มีสะพานข้ามโขงเราต้องลงเรือข้ามไป และประธานสโมสรผู้นำพาคณะครั้งนั้นคือคุณสมคิด สิงสง นักสู้แห่งซับแดงเจ้าของบทเพลงแห่งตำนาน “คนกับควาย” อันเลื่องลือ มาครั้งนี้เป็นสุภาพสตรีสาวแกร่งชื่อ คุณสุมาลี สุวรรณกร ผู้มีบทบาทในฐานะประธานอันเป็นที่ยอมรับ ผ่านร้อนผ่านหนาวกับสโมสรมาหลายปี
หนองคาย กับ เวียงจันทน์ ห่างกันโดยทางรถยนต์ ประมาณไม่เกิน ๓๐ กิโลเมตร แต่หากเป็นทางเรือจะเยิ่นยาวกว่านั้น เพราะแม่น้ำโขงช่วงนี้โค้งงอเป็นคุ้งคด หากจะใช้เส้นรุ้งเป็นเส้นพรมแดนไทย-ลาว ต่างก็คงอยู่เหนือ อยู่ใต้กันสับสน แม่น้ำโขงคงโผล่ไทยมั่งลาวมั่งแบบหาฝั่งไม่เจอ นี่ขนาดใช้ร่องน้ำลึกเป็นเส้นแบ่ง เส้นนั้นยังเดี๋ยวใกล้ชิดติดไทย เดี๋ยวไปอิงแอบลาวตามธรรมชาติของร่องน้ำ
แต่จริง ๆ แล้ว แม่น้ำโขงไม่เคยกั้นความสัมพันธ์ของคนสองฝั่งได้เลย ยังคงไปมาหาสู่เยี่ยมเยือนอุปถัมภ์ค้ำจุนกันและกันไม่ว่าอะไร ๆ ในบ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร ความสัมพันธ์ยังคงแน่นเหนียวโดยเฉพาะภาคประชาชนคนพื้นถิ่น ดังที่ “พระไม้” ได้ประพันธ์ไว้เป็นบทเพลงเมื่อคราสโมสรนักเขียนภาคอีสานมาเยือนเวียงจันทน์ครั้งปี ๒๕๓๔ ว่า
“แม่โขงมิอาจขวางกั้น
ความสัมพันธ์มิอาจขวางได้
กำแพงเบอร์ลินยังพังทลาย
เพราะหัวใจของเราเสรี...
ถนนดอกไม้โรยไปหาเธอ...”
เพราะบ้านเมืองในลุ่มน้ำโขงทั้งสองฝั่ง ซ้าย ขวา แถบนี้เคยเป็นบ้านเมืองในอาณาล้านช้างด้วยกัน ร่องรอยเมืองโบราณที่คงมีอยู่นั้น มีทั้งตำนาน ความเชื่อ ชื่อบ้านนามเมือง และโบราณวัตถุ-สถาน โดยเฉพาะที่ตำบลเวียงคุกจังหวัดหนองคาย มีการสำรวจทางโบราณคดีพบโบราณวัตถุที่เป็นศิลปะเขมรตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ เป็นต้นมา
จากข้อมูลประวัติตำบลเวียงคุกระบุว่า เวียงคุก เคยเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของเวียงจันทน์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งฝั่งตรงกันข้ามเป็นที่ตั้งแห่ง เวียงคำ ซึ่งถือเป็นเมืองคู่แฝดของ เวียงจันทน์
จารึกสุโขทัยได้ระบุอาณาเขตของอาณาจักรด้านทิศตะวันออกว่า ถึง “ฮอดเวียงจัน-เวียงคำ เป็นที่แล้ว” ตำนานฟ้างุ้ม (พระเจ้าฟ้างุ้มแหล่งหล้าธรณี(พ.ศ.๑๘๕๙-๑๙๓๖) ผู้ทรงรวบรวมอาณาจักรล้านช้างเป็นอาณาจักรเดียวกันได้เป็นปึกแผ่น) กล่าวถึงเวียงคำว่าเดิมคือ เวียงไผ่หนาม เพราะมีกอไผ่หนามเป็นปราการล้อมรอบเข้มแข็ง ทหารของพระองค์ต้องใช้อุบายเอาทองคำไปหว่านไว้ตามกำแพงไผ่หนามทำให้ชาวเมืองพากันถางกอไผ่เสาะหาทองคำ จึงสามารถตีเมืองแตก และได้ชื่อว่า เวียงคำ
ต่อมาความสัมพันธ์ของเมืองสองฝั่งโขงแถบนี้ไร้พรมแดนตลอดมา ในสมัยของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชทรงย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้าง จากเมืองเชียงทองมาตั้งที่เวียงจันทน์ ขนานนามว่า กรุงศรีสัตตนาคะนะหุตล้านช้างฮ่มขาวเวียงจันทน์ ทรงทำนุบำรุงสร้างบ้านแปงเมือง สร้างวัด สร้างพระพุทธรูปสำคัญที่อยู่สืบมาทั้งสองฝั่งโขง เช่น พระเจ้าองค์ตื้อที่ทรงสร้างนั้นมีทั้งที่ฝั่งซ้ายเวียงจันทน์ และฝั่งขวาเมืองท่าบ่อ ทรงสร้างวัดพระธาตุ(ในหนองคายปัจจุบัน)และพระประธานในโบสถ์ปรากฏนามว่า พระไชยเชษฐา ฯลฯ
ชื่อหมู่บ้านในตำบลเวียงคุกเกือบทั้งหมดมีชื่อว่า “เวียง” นำหน้า คือ
หมู่บ้านเวียงคุกใต้ หมู่บ้านเวียงคุกกลาง หมู่บ้านเวียงคุกเหนือ
หมู่บ้านเวียงขัน หมู่บ้านเวียงแก้ว หมู่บ้านไผ่สีทอง เป็นต้น
เราข้ามโขงในวันนี้จึงเป็นการเดินทางจากอาณาบริเวณเวียงคุกสู่เวียงคำ-เวียงจันนั่นเอง
หลายปีที่ไม่ได้มาเยือน ถนนหนทางในเวียงจันทน์เปลี่ยนไปเยอะ รถราวิ่งกันขวักไขว่จนดูถนนแคบไปถนัด แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงยืนแถวตระหง่าน สง่างามในสายตาคือ ทิวต้นหำงัว(มะฮอกกานี) ยังคงหยัดอยู่อย่างท้าทายและดูเหมือนว่า มันเติบใหญ่เข้มแข็งกว่าเมื่อครั้งปี ๒๕๓๔ อย่างภาคภูมิใจ
กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม(ปัจจุบันแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว)ที่มาประชุมร่วมกันครั้งแรกเมื่อมาเยือนก่อนนั้นยังมีมะฮอกกานีขนาบข้าง แม้สีสันที่สดสวยขึ้นของตัวอาคารก็หาได้ทำให้สีเขียวเย็นตาของมะฮอกกานีลดทอนลงไป เช่นกับฝั่งตรงกันข้ามเฉียง ๆ ขึ้นไปซึ่งเป็นที่ตั้งของ “หอคำ” ที่ทำการของประธานประเทศ
คณะสโมสรนักเขียนภาคอีสานกับสมาคมนักประพันธ์ลาวมีนัดประชุมร่วมกันในภาคบ่าย เพื่อสานต่อความสัมพันธ์และมีโครงการจะจัดมหกรรมหมอลำร่วมกัน เราจึงเข้าเยี่ยมชมหอสมุดแห่งชาติ และทานอาหารเที่ยงกันก่อนจะถึงเวลานัดหมาย
๐๐๐