คึดฮอด...เมืองลาว ๑๙
เวียงจันทน์-วังเวียง ไปกับสโมสรนักเขียนอีสาน
“เอื้อยนาง”
ห้องประชุมในกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวที่ชาวสโมสรนักเขียนภาคอีสานได้เข้าประชุมปรึกษาหารือกับสมาคมนักข่าวลาวในวันนี้ นับเป็นห้องประวัติศาสตร์ของทั้งสองฝ่ายจากสองฟากฝั่งโขง แม้ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่จะเปลี่ยนเป็นคนใหม่ไปตามกาลเวลา ก็ยังมีคนเก่าที่เป็นรุ่นบุกเบิกสร้างสัมพันธ์เคยมาพบกัน ณ ที่ตรงนี้เมื่อปี ๒๕๓๔ คือ ฝ่ายนักเขียนจากฝั่งขวามีคุณสมคิด สิงสง อดีตประธานสโมสรนักเขียนภาคอีสานคนแรก คุณปราโมทย์ ในจิต (จินตรัย) นักเขียนนักแปลวรรณกรรมลาว และเอื้อยนาง ฝ่ายนักเขียนลาวมีคุณบุนทะนอง ซมไซยผน กวีซีไรท์ลาว คุณผิวลาวัน ทิดาจัน (รักษาการประธานสมาคมนักประพันธ์ลาว)นักเขียนหญิงที่มีผลงานมากมาย และทำหน้าที่ต้อนรับชาวคณะจากฝั่งขวา
กาลเวลาผ่านไปตั้งแต่วันเริ่มความสัมพันธ์ที่นักเขียนลาวกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า “คะนะส้างตั้งสะมาคมนักปะพันลาว” ที่คุณสมคิด สิงสงบันทึกไว้ในบทความชื่อ “วรรณกรรม : สะพานข้ามของสองฝั่ง” (file.siam2web/somkhitsin/files(document)/pdf2013/201365_31225.pdf) ว่า คณะดังกล่าวซึ่งมีนักเขียนลาว ๙ คนได้ไปเยือนฝั่งขวาเพื่อปรึกษาหารือสร้างก่อความสัมพันธ์ และเป็นที่มาของแถลงการณ์ร่วมของนักเขียนสองฝั่งของ(โขง)อันเป็นการเริ่มต้นสร้างสัมพันธ์แน่นแฟ้นและสานต่อเรื่อยมา มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมร่วมกันหลายหลาก หลายต่อหลายครั้งสืบเนื่องตลอดเรื่อยมา
เมื่อการแนะนำให้รู้จักกันทั้งสองฝ่ายผ่านไปแล้ว ก็เริ่มเข้าสู่การประชุมปรึกษาหารือที่จะมีกิจกรรมร่วมกันครั้งต่อไปคือ การจัดงานมหกรรมหมอลำ ที่คิดกันไว้แล้วให้ได้ภายในปี ๒๕๕๘ นี้
ฝ่ายสมาชิกสโมสรนักเขียนภาคอีสานที่ไปครั้งนี้ทั้งหมด ๓๕ คน ซึ่งมีทั้งนักเขียนสมัครเล่น นักเขียนอาชีพ นักเขียนใหญ่อย่าง “ยงค์ ยโสธร” “สมคิด สิงสง” “จินตรัย” “วีระ สุดสังข์” นักวิชาการผู้ศึกษาค้นคว้ามรดกลาว-ไทย ครู-อาจารย์จากสถาบันการศึก มหาวิทยาลัยในอีสาน นักกวี ศิลปิน และหมอลำระดับอาจารย์ด้วยทั้งหลายหญิง ดังนั้นเมื่อจบรายการประชุม ก่อนจากลาจึงได้มีเสียงลำดังขึ้นขับกล่อม ทำให้คิดถึงครั้งแรกที่ศิลปินนักร้องลาว “แม็กซ์” เป็นผู้ขับกล่อมต้อนรับ(ได้ทราบว่าเขาเสียชีวิตแล้วจึงขอแสดงความเสียใจด้วยไว้ ณ ที่นี้)
เวลาผ่านไปรวดเร็ว เรามีโปรแกรมจะต้องไปทานอาหารเย็นที่เมืองวังเวียง พักค้างคืนที่นั่น ประชุมเฉพาะสมาชิกสโมสรฯกันที่นั่นในวันพรุ่งนี้ ดังนั้นเราจึงต้องจากลาและมาขึ้นรถ จึงได้ยลเวียงจันทน์อีกเพียงสองข้างทางที่รถผ่าน กระนั้นก็ยังสร้างความแปลกตาแปลกใจให้คนที่เคยมาเวียงจันทน์หลายครั้งและครั้งสุดท้ายก็ผ่านไปเมื่อหลายปีก่อนไม่น้อย ในความเป็น สปปลาว.ปัจจุบันที่กฎหมายบ้านเมืองและอำนาจรัฐมีเต็ม เมื่อมาประกอบกับบทเรียนความเจ็บปวดจากสงครามช่วงชิง ขัดแย้งที่ผ่านมา รวมทั้งสถานการณ์โลกและเพื่อนบ้าน ทำให้ดูเขาจะเดินหน้าไปข้างหน้าอย่างรอบคอบ และมีเป้าหมายชัดเจนในการแก้ไข พัฒนา สังคมบ้านเมือง สิ่งแวดล้อม รื้อฟื้นและธำรงไว้ซึ่งความดีงามของมรดกวัฒนธรรมประจำชาติ อาจไม่ชัดเจนนักในสายตาคนนอกอย่างเรา แต่ภาพจากสิ่งปรากฏตรงหน้าก็ทำให้มองดูเขาด้วยความรู้สึกเป็นสุขที่ได้มาเยือนยล
สองข้างถนนหนทางในเวียงจันทน์ย่านที่เราผ่านคือตามทางหลวงหมายเลข ๑๓เหนือช่วงเวียงจันทน์-วังเวียง ดูสะอ้าน เอี่ยมไปหมด และนี่เป็นช่วงใกล้คริสตมาสอีฟ จึงเห็นซุ้มชานต้า กวางเรนเดียร์ ต้นครีสตมาสประดับประดาแต่งสีสันมะลังมะเลือง
อย่าแปลกใจเลยหากเราต้องตามหลังใคร ๆ ในอาเชี่ยนวันนี้ หากเรามัวแก่งแย่งแข่งขันกันไม่สิ้นสุดอย่างที่เป็นอยู่ เพื่อนบ้านทั้งหลายต้องทิ้งห่างเราไปหลายก้าวแน่ ซึ่งก็เป็นวัฏจักรของโลกที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามครรลอง ก็กลอนลำผญาก่อนโน้นยังเคยกล่าวไว้ว่า
เวียงจันเส่าสาวเอ้ยอย่าฟ่าวหว่า มันสิโป้บาดหล่าบักแตงซ่างหน่วยปาย...
หรือ
เวียงจันฮ้างสิเป็นโพนขี่หมาจอก บาดฮ่าบางกอกฮ้างสิเป็นหม่องกระต่ายนอน...
ทุกสิ่งย่อมมีเปลี่ยนแปลง ดั่งครั้งหนึ่ง(ดังเช่นบรรพบุรุษของผู้เขียนชาวอุบลราชธานี)เคยหลั่งไหลข้ามโขงจากฝั่งซ้ายมาฝั่งขวา มาวันนี้(เมื่อเช้านั่งคอยคณะที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเชิงสะพานมิตรภาพ)มีผู้คนมากมายหลายสิบคันรถบัสเดินทางหลั่งไหลข้ามโขงจากฝั่งขวาสู่ฝั่งซ้าย เรียกให้เงินบาทปลิวสะพัดในสปป.ลาวขณะตลาดตรงท่าเสด็จที่เคยมีคนพลุกพล่านคึกคักวันนี้กลับเงียบเหงา หนาวสั่น จริงอยู่ชาวฝั่งซ้ายที่ข้ามมาจับจ่ายในหนองคายฝั่งขวาก็มีอยู่ แต่เป้าหมายกลับเป็นที่ห้างใหญ่ของทุนข้ามชาติที่มีอยู่แทบทุกจังหวัดในประเทศไทยนั่นมากกว่า
“ซำบายดีเจ๊า...”
เสียงหวาน ๆ ของไกด์สาวคนสวยนาม อาจารย์น้องนางน้อย วุฒิไธสง ดังขึ้นขณะกำลังเคลิ้ม ๆ เพื่อทำหน้าที่แนะนำตัวเอง สถานที่ แผนการ การเดินทางสามวันกับสองคืนที่อยู่ด้วยกัน ให้ความรับรู้ว่าหญิงสาวผู้นี้เป็นตัวแทนของคนลาวรุ่นใหม่ที่มากความสามารถ กระตือรือร้น มีชีวิตชีวา และไม่ทิ้งความอ่อนหวานเต็มไปด้วยมิตรไมตรีของความเป็นลาวได้เลย เธอแต่งงานแล้วกับอาจารย์หนุ่ม(ไทย)ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะไปเรียนที่นั่นและเธอก็ได้เป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาลาวที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ในปัจจุบัน
ตำนานรักของเธอและสามี(ที่ช่วยกันเล่า)เป็นเรื่องยาวที่เกี่ยวพันถึงประเพณีวัฒนธรรมการแต่งงาน ในช่วงขณะขนบธรรมเนียมปฏิบัติของคนบนสองฝั่งโขงที่มีรากเหง้าเดียวกัน แต่แยกห่างกันออกไปนานทำให้ดูแปลกแตกต่าง แต่ก็แฝงความอบอุ่น ยินยอมพร้อมใจ และแฮปปี้เอ็นดิ้งกันทั้งผู้เล่าและผู้ฟังโดยเฉพาะผู้ฟังอย่างเอื้อยนางที่มีจิตวิญญาณฝังแน่นในวัฒนธรรมสองฝั่งโขงมาแต่บรรพบุรุษปู่สังกะสาย่าสังกะสีค่ะ
๐๐๐
(ยังมีต่อ)