คึดฮอด...เมืองลาว๒๐
ทะเลสาบมรกต : เขื่อนน้ำงึม
“เอื้อยนาง”
ลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางด้านฝั่งซ้ายมีเวียงจันทน์เป็นศูนย์กลาง ทางฝั่งขวามีหนองคายทอดยาวแผ่ผืน เคยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเต็มไปด้วยป่าบุ่ง ป่าทาม หนอง บึง และลำน้ำสาขา ที่ไหลเลื้อยถักทอสายใยให้ความอุดมแห่งผืนดิน จึงเป็นที่ตั้งหลักปักฐานแห่งมวลมนุษย์มาแต่เนิ่นนานกาเล
แม่น้ำงึมและลำน้ำสาขามากมายด้านฝั่งซ้าย เกิดจากเทือกเขาในเขตเชียงขวางไหลเรื่อยคดโค้งลงใต้เซาะซอนภูผาป่าดงลงสู่ที่ราบลุ่มเวียงคำ เวียงไผ่หนาม บรรจบแม่น้ำโขงแถบเชิงภูเขาควาย(ตรงข้ามเขตโพนพิสัยหนองคาย) ภูเขาแห่งตำนาน ความลี้ลับ ศักดิ์สิทธิ์ เคยมีชื่อเสียงด้านเป็นแหล่งเรียนรู้ ปฏิบัติจิต แห่งพระธุดงค์ และไสยเวทย์วิทยาของผู้คนสองฟากฝั่งโขงแต่โบราณมา เคยเป็นที่ซ่อน อาศัยหลบภัยให้คน สิ่งของมีค่ามาแล้วมากมายในประวัติศาสตร์ ดั่งตำนานพระเสริม พระสุก พระใสที่ถูกค้นพบในเขตภูเขาควายก่อนเคลื่อนย้ายมาฝั่งไทย เป็นต้น ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติภูเขาควาย (Phou Khoa Khouay ) ในแขวงเวียงจันทน์ ประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์เมื่อปี ๑๙๙๓ ครอบคลุมเนื้อที่กว่า ๒,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มียอดเขาสูงสุดสูงถึง ๑,๖๗๑ เมตร
ธรรมชาติแห่งความลี้ลับสลับซับซ้อนของภูเขาแห่งนี้เป็นแหล่งก่อตำนาน ความศักดิ์สิทธิ์ แหล่งฝึกจิต ที่ตั้งสำนักไสยเวทย์วิทยาแห่งชนสองฝั่งโขงไม่น้อยหน้ากว่าสำนักเส้าหลินเลยทีเดียว
ลำน้ำงึมนับเป็นเส้นเลือดใหญ่รองจากแม่น้ำโขงของสปป.ลาว พระยาฟ้างุ้มแหล่งหล้าธรณีเคยยกไพร่พลจากเวียงคำไผ่หนามตามลำน้ำงึมบางช่วงสู่เชียงทอง ที่ปากน้ำงึมเคยมีตำนานพระพุทธรูปสำคัญจมหายลงไปตราบปัจจุบัน( ตำนานพระเสริม พระสุก พระใส)
ครั้นเมื่อไม่นานผ่านมานี้เข้าสู่ยุคเทคโนโลยีที่ครอบคลุมโลกหล้า เขื่อนใหญ่ก็เกิดขึ้นขวางลำน้ำงึม ก่อให้เกิดอ่างเก็บน้ำมหึมาดั่งเนรมิต กักขังน้ำเอาไว้เป็นผืนแผ่กว้างใหญ่ราวกับทะเลสาบน้ำจืด น้ำใสแหน๋วสีมรกตนั้นทำให้มองดูเป็น ทะเลมรกต
ผืนน้ำผืนกว้างแผ่ผืนท่วมท้น แปลงเปลี่ยนยอดเขาใหญ่น้อย สูงต่ำ ให้เป็นเกาะกลางน้ำไปโดยพลัน
แล้วทัศนียภาพโดยรอบก็เปลี่ยนแปลง ถนนสายใหญ่มาพร้อมเขื่อนและไฟฟ้า ทะเลมรกตแห่งน้ำงึมกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ หลายเกาะ(ดอนในภาษาถิ่น)ทั้งใกล้ไกลจากฝั่ง กลายเป็นดอนสวรรค์(ยกเว้นบางดอนเป็นที่กักขังนักโทษ เป็นเขตหวงห้าม) ท่าเรือ ร้านค้า ภัตตาคาร โรงแรม แหล่งคาสิโน เกิดขึ้นรองรับนักท่องเที่ยว
เช้านี้เราอำลาวังเวียง ผู้เขียนกับ อ.นายิกา อดีตอาจารย์จากม.ขอนแก่นผู้เกษียณอายุราชการแต่ไม่หมดไฟในการสร้างสรรค์งานเขียน เป็นเพื่อนร่วมห้อง เป็นพี่น้องที่ถูกคอออกมาถ่ายรูปวังเวียงกันจนถูกเตือนเรื่องเวลา เราจึงรีบเก็บของจนผู้เขียนลืมเสื้อตัวเก่งไว้ที่พัก นึกว่าเก็บลงกระเป๋าแล้ว มารู้ตัวก็ตอนเปิดกระเป๋าที่บ้านลูกที่ศรีสงครามแล้ว ได้แต่ภาวนาขอให้มีผู้เก็บไปใช้ประโยชน์ต่อไปเถิด เป็นเสื้อที่ท่านอาจารย์วิริยะ สั่งทำเป็นของขวัญให้พนักงาน ต่อมาไม่นานท่านก็เสียชีวิต จึงนับเสื้อแจ็คเก็ตตัวนี้เป็นที่ระลึกจากท่าน หอบไปไหน ๆ มาหลายที่ ทั้งพม่า อินเดีย ขึ้นเหนือ ลงใต้มาลืมไว้ในวังเวียงจนได้
ออกจากวังเวียงแต่เช้าเรามุ่งหน้าไปทานอาหารเที่ยงในเรือที่เขื่อนน้ำงึม ผ่านภูเขา ป่าไม้ที่เป็นเงาครึ้มมอยู่สองข้างทาง ลาวกำลังพัฒนาป่าหลายผืนให้เป็นสวนยางพารา ไกด์ให้ความรู้ว่าช่วงนี้ลาวปลูกยางพาราเยอะมาก ตั้งแต่ลาวใต้จนถึงลาวเหนือ ในแถบลาวใต้นั้นมีเวียดนามสนับสนุน ส่วนแถบนี้เป็นจีนสนับสนุน
ฟังเพลง และหมอลำ สลับเรื่องเล่าภายในรถ ผ่านหมู่บ้านที่น่าสนใจหลายหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านทำปลาที่มีปลา ๆ ๆ....ปลาแห้ง ปลาเค็ม ปลาเส้น ปลาแผ่น และปลาในไห ล้วนน่าซื้อติดมือติดรถ แต่ในฐานะผู้ชอบเดินตลาด ๆ ต่าง ๆ เมืองเห็นราคาแล้วสรุปในใจว่า มันออกจะแพงไปหน่อย จึงได้แต่เก็บภาพแล้วขึ้นรถ ยังมีหมู่บ้านหัตถกรรม ผลิตสินค้าหัตถกรรม สิ่งทอ เครื่องจักสาน อีกมากมายกว่าจะถึงท่าเรือ
นี่เป็นครั้งที่สามที่ผู้เขียนเคยลงเรือสู่ทะเลสาบมรกตแห่งนี้ แต่ก็จำไม่ได้อยู่ดี ว่าครั้งก่อน ๆ เคยลงเรือที่ตรงไหน เป็นที่เก่าหรือไม่ ดูเหมือนว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ลาวได้เปรียบตรงที่มีประชากรน้อยแต่ทรัพยากรเยอะ
เกาะดอนที่ครั้งแรกมากับสโมสรนักเขียนภาคอีสาน นอนฟังขับงึมจากน้องคำมะนีจนเมานั้นอยู่ตรงไหนกันหนอ ความทรงจำที่ฝังแน่นในห้วงคำนึง ที่ติดตรึงในส่วนลึกของสมองนั้นมันไม่ยอมแปรภาพตามสถานการณ์แวดล้อม และกาลเวลา จำได้แต่เพียงว่าไกลออกไปจากดอนนั้นมีดอนที่ชื่อ “ดอนท้าว” “ดอนนาง” ที่เป็นคุกกักขังนักโทษมองเห็นลิบ ๆ ตรงขอบฟ้า
ทะเลมรกตแห่งนี้กว้างใหญ่เรียกทะเลได้อย่างเต็มปากเต็มคำ สร้างขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๕ เสียพื้นที่ป่าไป ๒๕๐ ตารางกิโลเมตรทีเดียว เกิดเกาะเล็กเกาะน้อยกระจายอยู่หลายเกาะในห้วงแห่งทะเลนี้ หลายเกาะมองเห็นสิ่งปลูกสร้างอยู่ลิบๆในทิวไม้ หลายเกาะมีเรือ(ให้เช่า)เลาะเลียบเมืยงมอง
เราลงเรือที่เป็นภัตตาคารพาเลื่อนลอยชมเกาะ เลาะล่องทะเล ภูเขาควายแห่งตำนานมองเห็นเขียวครึ้มเป็นเงาลิบ ๆ ณ ขอบฟ้า ลมพัดเอื่อยผสานกับคลื่นใต้ท้องเรือ เสียงเครื่องยนต์เรือ เสียงเพลงจากชาวคณะฟังช่างครื้นเครง
มีโอกาสนั่งโต๊ะในเรือกับนักเขียนแห่งตำนานอีสานอย่าง ยงค์ ยโสธร และสมคิด สิงสง แต่เสียงต่าง ๆ ดังกล่าวไม่เป็นใจให้นั่งคุยทานข้างเสร็จมองเห็นใครบางคนหลบขึ้นดาดฟ้าจึงชวนอาจารย์นายิกาตามเขาเหล่านั้นขึ้นไป
แล้วเราก็พบอีกโลกหนึ่งซึ่งแตกต่างโดยพลัน
ภาพใหม่แห่งทะเลมรกตถูกบันทึกซ้อนทับภาพเก่าในห้วงความทรงจำที่มีมากว่ายี่สิบปี เพิ่มเป็นสีสันแห่งขอบฟ้าที่มีเมฆรายเกลื่อนเหนือเส้นขอบน้ำ ภูเขาควายที่อยู่ไกลออกไปดูใกล้แทบเอื้อมมือถึง
ทะเลมรกตแห่งลำน้ำงึม
๐๐๐