ของฝากเมืองระนอง
ลุงดำ คำโต เรื่อง-ภาพ
อาหารการกินเมืองระนองเพียบพร้อม มีทั้งอาหารบกพื้นบ้านและอาหารทะเลพื้นบ้าน แต่ก็น่าเสียดายที่ไปกินแล้วบางทีอร่อยจนลืมถ่ายรูป เฮ้อ ! บ่อยครั้งที่คนแก่อย่างลุงดำทำเสียเรื่องเสียอย่างนี้ งวดนี้ก็เหมือนกัน กินได้กินดี กินจนลืมถ่ายรูป
อย่างไรก็ตาม อยากเล่าเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยประเภท ของฝากสดๆบ้าง ของกินเหมือนของว่างบ้าง ยกโทษให้ลุงเถอะ ไปงวดหน้า(ถ้ามี) จะถ่ายก่อนกินมาฝากให้เป็นเรื่องเป็นราวเชียว
เริ่มต้นด้วย สะตอ พวงละ 20 บาท แทบจะแย่งกันทันทีที่รถจักรยานของชาวบ้านจอดสนิทที่ลานแสดงการรำร่อนแร่ของเยาวชน เรียกว่าอยากได้สะตอกลับบ้านมากกว่าการแสดงเชียวนะ ว่าก็ว่าเถอะ สะตอมันอร่อยจริงๆ กินแล้วยิ่งมันเขี้ยวอยากกินอีก ทั้งๆที่กินแล้วกลิ่นปากบอกหมดว่าเพิ่งกินสะตอมา ชาวใต้เขากินมะเขือเปราะตามไป 2-3 ลูกแก้กลิ่นครับ
สะตอมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Parkia speciosa อยู่ในวงศ์ FABIACEAE ชื่อสามัญ Stin bean ใบแบบขนนกสองชั้น เมล็ดขับลมในลำไส้ แก้ปัสสาวะพิการ และไตพิการ ลดความดันโลหิต ลดการแบ่งตัวของเซลล์ ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เชื้อรา ลดน้ำตาลในเส้นเลือด และพอเห็นว่ามีสะตอมาขายจึงได้แย่งกันย้บ สะตอผัดกุ้งสด สะตอจิ้มน้ำพริกสดๆ สะตอแกงไตปลา ฯลฯ ล้วนแต่ชวนกิน
ผักเหลียง ไม้พุ่มเตี้ย สูง1-3 เมตร ใบเขียวขจี รูปเรียว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gnetum gnemon Linn. var. tenerum Markgr.อยู่ในวงศ์ GNETACEAE มีชื่อสามัญหลายชื่อเช่น เขลียง เรียนแก่(นครศรีธรรมราช) ผักกะเหรี่ยง(ชุมพร) ผักเมี่ยง,เหมียง(พังงา) ส่วนที่นิยมกินเป็นอาหารคือใบอ่อนๆ รสชาติหวานนิดๆ มัน ใช้เป็นผักแนมหรือผักเคียง ต้มจืด แกงกะปิ ลวกจิ้มน้ำพริก เคียงขนมจีนสดๆ และยิ่งอร่อยเมื่อกินกับคั่วกลิ้งเผ็ดๆ
บางทีก็ใช้เป็นผักผัดกับไข่ หมูสามชั้น ต้มกะทิ ฯลฯ แต่ที่แน่นอนเลยใบเหลียงมีเบต้าแคโรตีนสูงถึง 1,089 ไมโครกรัมหน่วยเรตินัล สารอาหารเพียบ แต่ที่แน่ๆ วันที่มาถึงระนอง มื้อค่ำมื้อแรก ได้กินผักเหลียงผัดใข่ชอบใจกันมาก พอเช้าวันกลับไปเจอผักเหลียงวางขายในตลาดน้ำวัดหาดส้มแป้นเท่านั้น ซื้อกันคนละสองสามมัดกลับบ้าน บ้านที่กรุงเทพนะครับ
มีมานะมากจนยอมหอบไปยังกับยายเพิ๊งหอบฟาง
ยาวเย อาหารจานที่เห็นสีสันสดๆอยู่ในจานนี่แหละ บ้างก็ว่าพระรามลงสรง แต่คนระนองเรียกว่ายาวเย ส่วนประกอบของยาวเยคือ ผักบุ้งซอยสั้นๆ ลวก กุ้งลวกสุก ลูกชิ้นปลาลวกสุก เต้าหูทอด ปลาท่องโก๋หั่นขวาง กุ้งแห้งชุบแป้งทอด ไข่ต้ม ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ ราดด้วยน้ำจิ้มงาดำ เหยาะซอสมะเขือเทศผสม คลุกเคล้าให้เข้ากัน กินเป็นของว่าง รสชาติเปรี้ยวนิดๆ เค็มหน่อยๆ คล่องคอดี
ใกล้ๆกันมีต้มเนื้อเปื่อย ประกอบด้วยเนื้อติดกระดูก ไส้ กระเพาะ ตับ กระดูกอ่อน หนังวัว ใส่ผสมในตะไคร้ดับกลิ่น ข่าหั่นขวาง หอมแดงและกระเทียม ปรุงด้วยน้ำส้มสายชูผสมพริกขี้หนู เกลือ และน้ำตาลนิดๆ เป้นน้ำจิ้มหรือปรุงผสมก็แล้วแต่ชอบ
ช่วงก่อนถึงบ้านทับหลี จำชื่อหมู่บ้านไม่ได้แล้ว มีปูเนื้อ ปูไข่ และ ปูนิ่ม วางขายรวมๆกับหอยตลับ หอยนางลม เป็นของฝากที่ยังเป็นๆอยู่ การเดินทางอีก 5 ชม.ไม่มีปัญหา ทั้งปูและหอยยังไม่ตาย นักท่องเที่ยวที่ขับรถยนต์มาเองนิยมซื้อกลับไปกินที่บ้าน ส่วนคนที่มีรถประจำทางคงไม่ซื้อ เว้นแต่มากับทัวร์ด่วนๆ ดิ่งกลับทันทีซื้อได้ไม่น้อยเลย
นี่ถ้าชาวบ้านตรงจุดนี้มีวัตถุดิบสม่ำเสมอ สด และราคาย่อมเยาว์ หากจะปรุงน้ำจิ้มรสแซบๆ พร้อมรับนึ่งหรือเผา ให้นั่งกินกันริมทางได้ก็น่าจะมีลูกค้าไม่น้อย
ปูทะเล หอยตลับ หอยนางรม
เมืองระนองติดชายฝั่งทะเลอันดามัน อาหารทะเลมีมากมายให้เลือกหากินได้ทั่วไป แต่ถ้าคิดถึงคนทางบ้านที่ไม่ได้ไปด้วย จะซื้อหามาฝากก็ได้ไมตรี ช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
ขาดไม่ได้ก็ซาลาเปาทับหลี เป็นหมู่บ้านโอทอปสำคัญเรื่องซาลาเปา โด่งดังมาก มีนักท่องเที่ยวนิยมซื้อไปฝากญาติมิตรไม่ขาดสาย จนถึงกับตั้งเป็นชมรมซาลาเปาทับหลีได้ สมาชิก 44 ราย แต่เนื่องจากมีร้านดังๆ แย่งลูกค้าไปแทบหมด ในที่สุดสมาชิกเลิกทำไปเสีย 20 ราย
นักท่องเที่ยวที่รักและเคารพครับ ส่วนใหญ่เขาทำด้วยสูตรเดียวกัน ฝึกสอนสืบต่อกันมา ไม่น่าจะแตกต่าง ดังนั้นเมื่อไปถึงหมู่บ้านทับหลีขอได้ดปรดช่วยกระจายรายได้ให้ทั่วถึงหน่อยครับ แต่ถ้าเชื่อว่ามีอยู่ร้านเดียวที่อร่อยก็ตามใจ
สำหรับลุงดำแล้ว กินดูก็เหมือนๆกัน ความแตกต่างน้อยมาก ผ่างๆๆ