พม่าไม่ไปไม่รู้ ๑๓
หงสาวดี เมืองนี้มีตำนาน
โดย“เอื้อยนาง” เรื่อง-ภาพ
เมื่อหลายพันปีก่อนอ่าวไทยอยู่ลึกเข้าไปจนถึงแถบนครสวรรค์ กรุงศรีอยุธยานั้นเป็นเพียงเกาะเล็ก ๆ ที่มีทะเลล้อมรอบ แถบลพบุรี กำแพงแสนเป็นชายฝั่งทะเลที่เริ่มก่อร่างสร้างชุมชนบ้านเมือง แต่เนื่องจากเกิดการทับถมของดินตะกอนแม่น้ำทำให้เกิดการตื้นเขินสะสม และแผ่นดินสูงขึ้นยื่นยาวออกเรื่อย ๆ ดินตะกอนแม่น้ำ โคลนเลนมีพืชพรรณงอกงาม มีแอ่งน้ำ ทางน้ำไปตามธรรมชาติเสกสรร เป็นที่อันอุดมสมบูรณ์มีทั้งสัตว์น้ำ สัตว์บกและนกบิน เหมาะสำหรับการตั้งถิ่นฐานทำมาหากินของมนุษย์ จึงเกิดมีบ้านเมืองค่อยเรืองรุ่งพัฒนาเรื่อยมา
จึงไม่แปลกหากหงสาวดี หรือพะโคบนดินแดนอีกฟากหนึ่งของเทือกเขา จะมีตำนานว่าบริเวณที่ตั้งแห่งหงสาวดีนั้นเป็นเพียงเกาะโพนดินเล็ก ๆ ในอ่าวมะตะบันมีที่เพียงนางหงส์อยู่ได้ตัวเดียว ครั้นหงส์ตัวผู้มาอยู่ด้วยนางหงส์ต้องเกาะอยู่บนหลังของเจ้าตัวผู้ เป็นตำนานสืบมา
เวลาผ่านไป โคลนตะกอนที่แม่น้ำพัดพามาก็ทับถมสะสมพอกพูนตื้นเขินกลายเป็นที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ ผู้คนก็เคลื่อนย้ายมาอยู่อาศัย และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ชนชาติแรกที่ก่อร่างสร้างอาณาจักรในลุ่มน้ำนี้ก่อนใครคือ มอญ หรือ ตะเลง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงสะเทิม (Thaton) พงศาวดารโยนกเรียกว่ากรุงสุธรรมวดี
ครั้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ พระอโนรธาแห่งอาณาจักรพุกามของพม่าก็กรีฑาทัพมาทำลายลงได้ มอญจึงตกเป็นส่วนหนึ่งของพม่าจนถึงรัชสมัยของพระเจ้าฟ้ารั่ว(มะกะโท)พระราชบุตรเขยแห่งสุโขทัยได้สร้างอาณาจักรมอญให้เข้มแข็งขึ้นใหม่มีศูนย์กลางอยู่เมืองเมาะตะมะ หงสาวดี หรือพะโคนั้นเป็นเมืองท่าที่สำคัญและตั้งเป็นเมืองหลวงของมอญในสมัยพระยาอู่ประมาณพ.ศ.๑๙๐๘
แต่ราชอาณาจักรพม่านั้นมีความใฝ่ฝันยาวนานสืบทอดในราชวงศ์ที่จะรวมมอญกับพม่าให้เป็นหนึ่งเดียว มอญหรือจะยอมง่าย ๆ จึงกลายเป็นคู่ขับเคี่ยวทำสงครามกันเรื่อยมา ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ บางครั้งก็เป็นมิตรไมตรีเป็นพี่เป็นน้อง แลกเปลี่ยนเจ้าหญิงและเครื่องราชบรรณาการต่อกันและกัน
พะโค แห่งราชอาณาจักรมอญรุ่งเรืองสุดขีดในสมัยของพระนางฉิ่นสอบู ซึ่งเคยถูกยกให้ไปเป็นราชินีของพม่า และกลับมาเป็นกษัตรีแห่งมอญ รัชสมัยของพระนางต่อเนื่องถึงสมัยพระเจ้าธรรมเชดี(ธรรมเจดีย์-ชื่ออย่างไทย) ถือเป็นยุคทองของราชวงศ์หงสาวดี แต่ครั้นถึงสมัยของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้แห่งตองอู หงสาวดีก็กลายเป็นเมืองหลวงแห่งราชอาณาจักรพม่ารวมเอามอญเข้าไว้ตามความใฝ่ฝันอันยาวนาน
ตะเบ็งชะเวตี้กับขุนศึกคู่พระทัย คือ บุเรงนองแผ่อำนาจอิทธิพลครอบครองดินแดนแห่งลุ่มน้ำอิรวดี สาละวิน จนมาถึงเจ้าพระยา นับเป็นยุคแห่งพม่าโดยแท้ โดยเฉพาะเมื่อเปลี่ยนรัชกาลเป็นบุเรงนองหงสาวดีกลายเป็นเมืองทองที่มีชื่อเสียงไปถึงแดนตะวันตก ฝรั่งนักค้ากำไรเคยเข้ามาเห็นพระราชวังถึงกับตะลึงมอง
แต่หลังจากยุคของบุเรงนองหงสาวดีก็ถูกทำลายลงย่อยยับด้วยฝีมือของตองอูกับยะไข่ ศูนย์กลางของพม่ากลับไปอยู่อังวะ และมัณฑเลย์จนถึงยุคตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษเมืองหลวงจึงกลายย่างกุ้งตลอดมาแม้ได้เอกราชจากอังกฤษในปี ๒๔๙๓แล้วย่างกุ้งก็ยังเป็นทั้งเมืองศูนย์กลางการค้า การอุตสาหกรรม การศึกษาของพม่า เพิ่งย้ายไปเนปิดอว์อย่างกล้าหาญเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง
หงสาวดีที่เราได้สัมผัสในสองวันนี้เป็นคล้ายคนฟื้นไข้กำลังบำรุงรักษาเรียกพลกำลังให้กลับแข็งแรงดังเดิมความเจ็บป่วยด้วยบาดแผลในอดีตยาวนาน ทำให้ผู้ฟื้นไข้ค่อยพยุงตัวลุกขึ้นอย่างระมัดระวัง เหลียวมองผู้ที่แข็งแรงกว่ากำลังร่าเริง หลงเหลิงในพละกำลังของตนวิ่งจนขาขวิดและกำลังจะหกล้มหัวทิ่ม ผู้ฟื้นไข้กำลังชั่งใจ และรำพึงว่า
“ข้าจะไม่วิ่งจนหกล้มอย่างเจ้าหรอกนะ”