คึดฮอดเมืองลาว 14
สะหวันนะเขต-ไหว้พระธาตุอิงฮัง
“เอื้อยนาง”
สะหวันนะเขต(Savannakhet) เป็นชื่อ และเมืองหนึ่งในประเทศลาว เป็นเมืองระดับสองทางด้านเศรษฐกิจของลาว ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงตรงกันข้ามกับจังหวัดมุกดาหารซึ่งมีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องเคยเป็นเมืองเดียวกันคนละฝั่งแม่น้ำมาก่อน เมื่อครั้งยังไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำโขงการไปมาหาสู่กันใช้ทางเรือจากฝั่งนี้ไปฝั่งนั้นตรงกันพอดี ครั้นมีสะพานซึ่งอยู่ไกลออกไปทางด้านทิศเหนือ เมื่อข้ามไปสะหวันนะเขตตรงที่ข้ามไปถึงจึงไม่ใช่บริเวณตัวเมืองมาแต่เดิม ต้องนั่งรถวกอ้อมมาตามแม่น้ำจึงจะถึงตัวเมืองเดิมซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับมุกดาหาร มองเห็นกันอยู่ลิบ ๆ ปัจจุบันเรือข้ามฟากก็ยังคงมีบริการอยู่ และสะดวกกว่าสำหรับผู้จะไปเที่ยวตัวเมือง ซื้อหาสินค้าพื้นเมืองราคาไม่แพงนัก
แต่สำหรับผู้จะไปบ่อนคาสิโน และตลาดสิงคโปร์ไปทางรถยนต์จะสะดวกกว่า ส่วนคณะของเราคราวนี้มีจุดมุ่งหมายอยู่พระธาตุอิงฮัง ซึ่งอยู่นอกเมือง เราจึงนั่งรถโดยสารข้ามฝั่งแล้วนั่งสามล้อเครื่องของลาวต่อก็สะดวกเช่นกัน
ไปเที่ยวไหน ๆ ในวันเทศกาลปัจจุบันนั้นต้องทำใจนะคะ ตั้งแต่การหาที่จอดรถไปจนถึงการต้องไปเบียดเสียดแออัดคอยคิว แถมต้องมองดูหน้านิ่วคิ้วผูกโบของเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ หากไม่อดทนพออาจทำให้อารมณ์เสียได้ง่าย ๆ
แต่อย่างไรก็ตามข้ามด่านตรวจคนเข้าเมืองมุกดาหารฝั่งไทยได้แล้วไปถึงฝั่งลาวก็ไม่มีปัญหาอะไร ค่อยหายใจสะดวกขึ้น แม่น้ำโขงกว้างใหญ่ไหลลอดสะพานใต้รถที่เรานั่งหันเหอารมณ์เบื่อ ๆ ระบบราชการไทยที่ด่านไปเป็นสงบเย็นขึ้นเป็นกอง
สะหวันนะเขตเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของผู้คนมาแต่โบราณยาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนมาถึงสมัยฟูนัน เจนละ และเข้าสู่วัฒนธรรมลาวเช่นเดียวกับบ้านเมืองในแถบใกล้เคียงทั้งสองฟากฝั่งของแม่น้ำโขง ตำนานการสร้างเป็นบ้านเป็นเมืองนั้นมีอยู่คู่กับเมืองมุกดาหารทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง โดยชาวผู้ไทกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาจากเมืองไลเมืองแถน(เดียนเบียนฟูในปัจจุบัน)บ้านน้ำน้อยอ้อยหนูอันเป็นเมืองในตำนานหลวงพระบางเป็นถิ่นที่ผู้ของผู้ไท มาตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บ้านหลวงโพนสิม ซึ่งเป็นบริเวณพระธาตุอิงฮังในปัจจุบัน
พระธาตุอิงฮัง
ประมาณทศวรรษที่ ๒๒๐๐ ราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์(ซึ่งตอนนั้นเป็นคนละอาณาจักรกับหลวงพระบางแล้ว)เกิดความวุ่นวายแย่งชิง พระเจ้าเวียงจันทน์สวรรคต พระยาเมืองแสนเสนาบดีใหญ่ชิงราชสมบัติ เจ้านางสุมังคลาพระมเหสี พระราชบุตรพร้อมข้าราชบริพารได้อาศัยพระครูหลวงโพนสะเม็ด พร้อมลูกศิษย์ลูกหาญาติโยมหลบหนีล่องลงมาตามลำน้ำโขง
แต่พระนางสุมังคลาพร้อมราชบุตรองค์น้อย คือเจ้าหน่อกษัตริย์ และไพร่พลจำนวนหนึ่งพระครูให้หลบซ่อนในบ้านโสมสนุกพันลำ ส่วนพระครูกับญาติโยม บริวาร และผู้ศรัทธาลูกศิษย์ลูกหาจำนวนหนึ่งเคลื่อนลงใต้ต่อไป เป็นการอพยพเคลื่อนย้ายวัฒนธรรมลาวครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งสู่แดนโขงตอนล่าง การอพยพนี้ใช้เวลาหลายปี พบที่เหมาะสมก็หยุดพักสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย มีชาวบ้านป่าอื่น ๆ เข้ามาอาศัยสมทบกลายเป็นชุมชนใหญ่อยู่อาศัยถาวรก็มี จึงมีบ้านเมืองชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่มากมายขึ้นต่อพระครูที่ผู้คนศรัทธาทั้งสองฝั่งโขง เมื่อมาถึงพระธาตุพนมพระครูได้ทำการบูรณะเสร็จแล้วมอบผู้คนไว้ดูแลพระธาตุก่อนพากันเคลื่อนย้ายต่อไป
หลายปีผ่านไปจนถึงนครจำปากะนาคะบุรีศรี(ต่อมาคือจำปาศักดิ์)ซึ่งมีแต่กษัตรีย์ครองเมืองอยู่ พระนางและชาวเมืองมีจิตศรัทธาจึงได้ถวายราชสมบัติแด่พระครูหลวงโพนสะเม็ด พระครูจึงให้ผู้คนลงไปเชิญเสด็จเจ้าหน่อกษัตริย์ขึ้นมาครองราชย์ ณ จำปากะนาคะบุรีศรีทรงพระนามว่าพระเจ้าสร้อยศรสมุทรพุทธางกูร จากนั้นมาการสร้างสาบ้านเมืองปลูกฝังวัฒนธรรมลาวจึงเกิดขึ้นเป็นการใหญ่ เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรได้ส่งคนดีมีฝีมือออกไปตั้งเมืองใหม่ ๆ หลายเมือง ทั้งเหนือ ใต้ ออก ตก ลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่อีสานชายทุ่งกุลาร้องไห้ ใต้ลงไปถึงแดนเขมร เหนือขึ้นมาถึงสาละวันคำทองใหญ่ และมุกดาหาร(รวมทั้งฝั่งสะหวันนะเขต)
สองฟากฝั่งโขงจึงเป็นเมืองเดียวกันเพียงแต่มีแม่น้ำกั้นกลาง เมื่อมีการแบ่งเขตประเทศเป็นไทย-ลาวนี่หรอกจึงกลายเป็นคนละประเทศ จะไปมาหาสู่กันต้องทำหนังสือผ่านแดน...
เดี๋ยวค่อยไปไหว้พระธาตุอิงฮังตอนต่อไปก็แล้วกันนะคะ
๐๐๐๐๐