http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 07/08/2024
สถิติผู้เข้าชม14,276,793
Page Views16,603,411
« September 2024»
SMTWTFS
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930     
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

ในคมขวาน1. กู่พระโกนา สุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด ศรัทธาที่ไม่เคยเสื่อมสูญ โดยสาวภูไท

ในคมขวาน1. กู่พระโกนา สุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด ศรัทธาที่ไม่เคยเสื่อมสูญ โดยสาวภูไท

ในคมขวาน ๑

กู่พระโกนา  สุวรรณภูมิ  ร้อยเอ็ด

ศรัทธาที่ไม่เคยเสื่อมสูญ

                                                                                                                                                                โดย สาวภูไท

                   หลังจากอำนาจขอมเสื่อมลงในพุทธศตวรรษที่๑๙  บ้านเมืองในดินแดนแห่งที่ราบสูงถูกทิ้งร้าง เช่นเดียวกับเทวสถานปราสาทหิน  อันเป็นสถานที่ที่ปวงชนเคยแวดล้อมก็ถูกทิ้งร้างห่างหาย   ผู้คนเหลือน้อยกระจัดกระจายกันอยู่ตามแหล่งทรัพยากรอุดมสมบูรณ์กว่าไร่นากลายเป็นป่าดง

                ประมาณสามศตวรรษ  วัฒนธรรมล้านช้างที่เคยมีอยู่เป็นบ้างก็ถึงคราไหลบ่าแทรกซอนเข้ามาในแผ่นดินใหญ่แห่งที่ราบสูง   เมื่ออาณาจักรล้านช้างเกิดความแยกแตก  บ้านเมืองวุ่นวาย   โดยเฉพาะในช่วงที่พระครูหลวงยอดแก้วโพนสะเม็ดได้อพยพผู้คนเคลื่อนย้าย  หนีจากเวียงจันทน์ประมาณทศวรรษที่๒๒๒๐  มุ่งหน้าลงใต้ตามลำน้ำโขงสู่ดินแดนเขมร  เพื่อเสาะหาทำเลใหม่เป็นที่สำหรับลงหลักปักเสา  สร้างชุมชนร่มเย็นเป็นปึกแผ่นให้แก่ลูกหลานญาติโยม  ที่ติดตามมาด้วยความศรัทธามากมาย  เพื่อความหวังใหม่ที่มีอิสระและเสรี  จนถึงนครจำปากะนาคะบุรีศรี(จำปาศักดิ์)ซึ่งช่วงนั้นมีเพียงกษัตรีย์(นางเพา นางแพง)ปกครองดูแลอยู่   พระนางพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ราษฎรในเมืองก็มีศรัทธาเลื่อมใสในพระครูยิ่งนัก  จึงพากันนิมนตร์ให้หยุดพัก  และพร้อมใจกันยกให้พระครูผู้อยู่ในสมณะเพศขึ้นครองเมืองจำปากะนาคะบุรีศรี   ท่านพระครูจึงได้ให้ขบวนไปอัญเชิญเจ้าองค์หล่อ  ผู้เป็นหน่อเนื้อเชื้อแนวพระเจ้าล้านช้างเวียงจันทน์พระองค์ก่อน  ที่ท่านได้ช่วยเหลือหนีภัยจากเหตุการณ์แย่งชิงราชสมบัติพร้อมด้วยพระมารดา   แต่ให้ซ่อนตัวอยู่ที่หมู่บ้านลับแห่งหนึ่งใกล้ภูสะง้อหอคำบ้านพันลำโสมสนุก(แถบหนองคาย บึงกาฬฝั่งขวา และปากซันฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง)  ให้มารับตำแหน่งแทน  เมื่อผ่านพิธีอภิเษกตามจารีตล้านช้างแล้วเจ้าองค์หล่อได้เป็นกษัตริย์แห่งจำปาศักดิ์ทรงพระนามว่า  “พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร”

               จำปาศักดิ์ยุคใหม่มีผู้คน พลเมือง หลากหลาย  ทั้งกลุ่มชาวลาวที่มาใหม่รวมกับชาวพื้นเมืองเดิมแล้วกลายเป็นเมืองใหญ่  เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรได้ปรับปรุงสร้างบ้านแปงเมืองเป็นการใหญ่ และขยายราชอาณาเขตออกไปครอบคลุมสองฝั่งแม่น้ำโขง  ตลอดแม่น้ำมูลและสาขา  ได้ส่งคนดีมีฝีมือพร้อมไพร่พลและครอบครัวตลอดครูบาอาจารย์ผู้สืบทอดศาสนาออกไปตั้งบ้านเมืองใหม่ ๆ ขึ้นอีกหลายเมือง

               ปีพ.ศ. ๒๒๕๖ นักสำรวจเสาะหาพื้นดินแหล่งเหมาะสมสำหรับตั้งบ้านเมืองจากจำปาศักดิ์กลับไปทูลพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรว่า  ได้เดินทางตามลำน้ำโขง  ลำน้ำมูลและสาขา  ขึ้นสู่ที่ราบสูงดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล  ที่เคยมีผู้คนเข้าจับจองถากถางสร้างบ้านสร้างเมืองมาก่อน  แต่ถูกทิ้งไว้รกร้าง  และบางแห่งก็เป็นที่งาม ๆ หลายแห่งเหมาะจะตั้งบ้านเมืองให้รุ่งเรือง เป็นที่สืบหน่อเผ่าพันธุ์ลูกหลานว่านเครืออยู่เย็นเป็นสุขสืบไป   พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรจึงได้มอบให้จาน(อาจารย์)แก้ว(เจ้าแก้วมงคล)พาผู้คน ครอบครัวประมาณ ๓,๐๐๐ คนอพยพมาตั้งบ้านเมืองอยู่ทุ่งใหญ่อันอุดมสมบูรณ์ ชายขอบทุ่งกุลาร้องไห้  ลงมือถากถางบุกเบิกทำไร่ไถนาสร้างบ้านแปงเมืองและเรียกชื่อว่า  เมืองท่ง(ทุ่ง)  

               เมืองท่งตั้งอยู่ในที่อุดมสมบูรณ์ในน้ำมีปลา  ในนามีข้าว ในป่าไม้ใหญ่ ใช้สร้างบ้านสร้างศาลา  มีสัตว์ป่า  พืชผลเลี้ยงผู้คนจนบ้านเมืองขยายใหญ่ขึ้น  ลูกหลานหลายรุ่นสืบทอดมาหลายชั่วคน  และแบ่งออกไปหลายบ้าน  หลายเมือง  จนเหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนผัน  เมืองท่งได้เข้าอยู่ในขอบขัณฑสีมาของกรุงศรีอยุธยาเมืองใหญ่แห่งอาณาจักรทางฝ่ายใต้  เมืองท่งได้เปลี่ยนเป็นชื่อเป็นเมืองสุวรรณภูมิ  พัฒนาการ เปลี่ยนแปลงมาตามยุคสมัย  จนเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน

              สุวรรณภูมิพัฒนาปรับตัวเข้าสู่การปกครองของอาณาจักรสยาม  และประเทศไทยต่อมาเรื่อย ๆ ตามสถานการณ์  มีประวัติศาสตร์ยาวนานเปลี่ยนแปลง ผันแปรไปตามยุคสมัยเช่นกับบ้านเมืองอื่น ๆ ในอีสานและประเทศไทย

              ทุ่งใหญ่ในเขตสุวรรณภูมิและใกล้เคียงเป็นเขตชายขอบทุ่งกุลาร้องไห้ที่กว้างใหญ่ไพศาล  เป็นชายขอบที่ยังมีป่าดงพงไม้และสายน้ำหล่อเลี้ยงผืนดิน  แม้สายน้ำจะขาดเขินแห้งขอดไปหลายในช่วงฤดูแล้ง  แต่ก็เหมือนพระอาทิตย์ท่านส่องแสงลงมาบ่มเพาะผืนดินให้สุกงอม  รอเวลาฝนฟ้ามาเยือนอีกที  กลายเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับการฟักฟื้นชีวิต  ไม่นานผืนป่า  แลไร่นาก็เขียวไสวแต้มสีสันให้หล้าโลกได้แย้มยิ้ม

              ชาวบ้านแถบอีสานแต่โบราณมา  มีประเพณีการแบ่งเขต  แบ่งโซน  จัดการผืนดินให้อำนวยประโยชน์แก่ทั้งผู้คน  และธรรมชาติเสมอมา  เขตวัด  เขตป่าช้า  ดงปู่ตา  ป่าต้องห้าม  หนองน้ำสารธารณะถูกแบ่งไว้ด้วยข้อกฎห้ามตามจารีตที่ทุกคนเข้าใจและยอมรับ  ถือปฏิบัติมาแต่ปู่สังกะสาย่าสังกะสี

              หลายทศวรรษที่ผ่านมา  แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รุกล้ำกฎข้อห้ามตามจารีตที่ไม่ได้ตราไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ผืนทุ่ง ไร่ นา ขยายกว้างรุกล้ำผืนป่า  เขตศักดิ์สิทธิ์  เขตต้องห้ามหลายแห่งถูกล่วงเกินรุกล้ำ  ถนนบางสายตัดผ่านดงป่าช้าขุดไถกระดูกคนตายขึ้นอัดแน่นด้วยยางมะตอยกลายเป็นเนื้อเดียว  ความเกรงกลัว  หวั่นหวาดต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ  สิ่งที่เคารพในหัวใจผู้คนถูกป่นเป็นผุยผง  ทุกสิ่งทุกอย่างแปรเป็นเงินที่ผันมาเป็นพระเจ้าองค์ใหม่  โบราณสถานหลายแห่งถูกล่วงล้ำ  ศิลปวัตถุล้ำค่าถูกเคลื่อนย้าย  มีไม่น้อยที่ถูกขโมยไป  และมีไม่น้อยที่ต้องเคลื่อนย้ายไปสู่ศรัทธาความเชื่อใหม่  มีไม่น้อยถูกทางการนำไปเก็บยังแหล่งปลอดภัย

               ณ  ป่าใหญ่แห่งนี้  เป็นที่ตั้งกู่พระโกนา(กู่-เป็นคำภาษาถิ่นใช้เรียกสิ่งปลูกสร้างรูปทรงสถูป หรือเจดีย์  บางถิ่นเรียกอูบมุง)  ห่างจากอำเภอสุวรรณภูมิเพียง  ๑๒  กิโลเมตร  เป็นป่าพงดงกว้างที่ไม่มีใครกล้ากล้ำกลายเพราะถือเป็นที่ที่มีเจ้าของ  ตามครรลองจารีต ความเชื่อของชาวบ้านชาวเมืองแต่เดิมมา  จะให้ความเคารพยำเกรงสถานที่  ที่ถือว่ามีเจ้าของครอบครองเสมอ  แม้เจ้าของนั้นจะไม่มีตัวตน  หรืออาจเป็นเพียงผู้ที่เคยมีในตำนาน เล่าขาน สืบทอดกันมา  ผ่านกาลเวลาเนิ่นนานไปแล้วก็ตาม

                กู่พระโกนาปราสาทหินยุคขอมเรืองอำนาจที่ถูกทิ้งร้างมาหลายศตวรรษจึงยังคงอยู่  แม้จะผุพังไปตามกาลเวลาก็ไม่มีใครกล้าเฉียดกรายเข้าไปใกล้  ดงใหญ่แห่งนี้จึงยังมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ต้นไม้ใหญ่สูงสล้างโดยเฉพาะยางนาและไม้อื่น ๆ ของป่าเบญจพรรณอันเป็นป่าทั่วไปในพื้นถิ่น   ปล่อยให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานา

               ประมาณกลางทศวรรษที่ ๒๔๐๐ หนุ่มชาวสุวรรณคนหนึ่ง  ชื่อ  ชม  จันทร์หนองสรวง  (ต่อมาคือ หลวงปู่ชม  ฐานะธัมโม)ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน เช่นกับชาวบ้านทั่วไป  ทุก ๆ ปีครั้นเสร็จจากฤดูทำนาก็รวบรวมสมัครพรรคพวกได้จำนวนหนึ่งเดินทางออกไปค้าขาย วัว-ควาย เรียกว่า “นายฮ้อย” โดยซื้อขายวัว-ควายจากท้องถิ่นใกล้เคียงแล้วไล่ต้อนไปขายตามแนวชายแดนเขมรแถบจังหวัดสุรินทร์-ช่องจอม  จนมีสร้างฐานะทางครอบครัวมั่นคงแล้วก็ขอลาบวชด้วยศรัทธาทางศาสนา  สะสมบุญบารมีหลังจากที่สะสมสมบัตินอกกายมาจนอิ่มพอแล้ว

             จำพรรษา ณ วัดกลางได้หนึ่งพรรษาแล้วพระภิกษุชมก็ออกธุดงค์วิปัสสนากรรมฐานแสวงบำเพ็ญเพียรตามแนวชายขอบอีสานใต้  บุรีรัมย์  สุรินทร์  ศีรสะเกษ  อุบลราชธานี  และในเขมรเขมร  ศึกษากับอาจารย์ทางด้านวิปัสสนาหลายท่านเป็นเวลาหลายพรรษาจึงย้อนกลับมายังสุวรรณภูมิ  ผ่านมาทางดงกู่  ซึ่งปกคลุมไปด้วยแมกไม้รกครึ้มวังเวง 

              กลางดงแห่งนี้เป็นที่ตั้งของปราสาทหินเก่าแก่ ๓ องค์ที่ชาวบ้านเรียกว่า  “กู่พระโกนา”ฝูงลิงเข้าอาศัยอยู่คลาคล่ำจนบางคนเรียกว่า “กู่ลิง”  และเรียกชื่อดงนี้ว่า  “ดงกู่ลิง”  พระภิกษุชม  จึงปักกรด ณ บริเวณใกล้เคียงกลางดงใหญ่แห่งนี้ที่ชาวบ้านร้านถิ่นทั้งหลายไม่เคยย่างกรายเข้ามา  เชื่อกันว่าในกู่ หรือปราสาทหินมีผีดุ มักทำร้ายผู้บังอาจรุกล้ำเข้าไปภายใน  แต่ด้วยบารมี  ของพระภิกษุชมที่พำนักอยู่ได้ชาวบ้านจึงเกิดศรัทธาบุกป่าฝ่าดงเข้ามาหา ขอพึ่งบารมี  และทำบุญด้วยที่สุดก็มีการสร้างวัดขึ้น ชื่อวัดกู่พระโกนาตามชื่อสถานที่เดิม 

               ในปีพ.ศ. ๒๔๗๑ วัดขยายใหญ่ขึ้นปรางค์ ๓ องค์ที่มีจึงถูกปรับเปลี่ยน สร้าง เสริมขึ้นใหม่ตามความคิด และศรัทธาของชาวบ้าน 

               ปรางค์อิฐ ๓ องค์บนฐานศิลาทรายหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบและซุ้มประตูตามแบบศิลปะขอมสมัยปาปวน(พ.ศ.๑๕๖๐-๑๖๓๐)จึงมีรูปร่างแบบผสมผสานขึ้นมา  ปรางค์องค์กลางถูกฉาบปูนทับและก่อเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป แต่ละชั้นมีซุ้มประตูทั้ง ๔ ทิศ ด้านหน้าสร้างเป็นวิหารพระพุทธบาท และนำเศียรนาคของเดิมประดับไว้ด้านหน้า  ปรางค์อีก ๒ องค์แม้ไม่ได้สร้างใหม่อย่างองค์กลางแต่ก็ได้รับการบูรณะปรับเปลี่ยนเช่นกัน รูปเคารพ  ภาพสลัก ตามคติความเชื่อเดิมคือฮินดูพราหมณ์ถูกนำไปใช้ที่เดิมเช่นทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ  ภาพนารายณ์ทรงครุฑ ส่วนหน้าบันภาพพระนารายณ์วางไว้ด้านในวิหาร  และที่หักพังไม่สมบูรณ์ก็วางไว้ที่พื้นซึ่งมีอยู่ไม่น้อย  แสดงให้เห็นว่าในอดีตสถานที่แห่งนี้มีความสำคัญต่อผู้คนมากมายเพียงใด  และแม้ปัจจุบันจะได้ถูกปรับเปลี่ยนไปด้วยความไม่เข้าใจทางหลักวิชาการแต่ความสำคัญ  ความศรัทธาต่อสถานที่นี้ยังคงอยู่สืบเนื่องตลอดไป

*หลวงปู่ชม ฐานะธัมโม ละสังขารเมื่อปี ๒๔๙๖ (อายุ ๖๙ ปี พรรษา ๓๕)ยังเป็นที่เคารพนับถือในใจของผู้คนแถบถิ่นนี้ไม่เสื่อมสูญ

๐๐๐๐๐

Tags : เรื่องสั้น/ยาว โดยเอื้อยนาง สาวภูไท

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view